13 มิ.ย. เวลา 12:55 • กีฬา

ค่ำคืนที่ทรมานที่สุดของวงการฟุตบอลญีปุ่น "โศกนาฏกรรมแห่งโดฮา"

ทีมชาติญี่ปุ่น และแฟนบอลทั้งประเทศ เคยเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส จากการร่วงรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกโซนเอเชีย ด้วยช่องว่างแค่ "ลูกเดียว" เท่านั้น ความผิดพลาดแค่นิดเดียว ทำให้พวกเขาต้องรออีก 4 ปีเต็ม กว่าจะได้โอกาสแก้ตัวอีกครั้ง
เหตุการณ์นี้ มีชื่อว่า Agony of Doha (ความเจ็บปวดแห่งกรุงโดฮา) มันคือความเจ็บที่ฝังอยู่ในใจ และต้องใช้เวลาเยียวยานานมาก กว่าจะก้าวข้ามไปได้
ในฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐอเมริกา ทวีปเอเชียได้โควต้า 2 ที่นั่ง วิธีการคัดก็คือ จะเล่นรอบคัดเลือกกันมาหลายรอบ จนเหลือแค่ 6 ชาติสุดท้ายที่เก่งที่สุดเท่านั้น
1
จากนั้นจะเอา 6 ชาติ มาแข่งแบบพบกันหมด แต่ไม่ใช้ระบบเหย้า-เยือน ทางเอเอฟซี จะเอา 6 ชาติ มารวมกันในเมืองโดฮา ของประเทศกาตาร์ แล้วแข่งกันให้รู้ผลไปเลยภายในช่วงเวลาแค่ 2 สัปดาห์
1
ณ เวลานั้น ญี่ปุ่นไม่เคยไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อน ทั้งนักเตะ แฟนบอล และ สมาคม จึงมีแพสชั่นอย่างมาก ที่จะไปบอลโลกให้ได้ในคราวนี้เลย และผลงานของพวกเขาก็ดีเยี่ยมจริงๆ
ผ่านไป 4 นัด ญี่ปุ่นนำเป็นจ่าฝูงของตาราง โดยมีคะแนนดังนี้
อันดับ 1 ญี่ปุ่น
5 แต้ม ลูกได้เสีย +3
อันดับ 2 ซาอุฯ
5 แต้ม ลูกได้เสีย +1
อันดับ 3 เกาหลีใต้
4 แต้ม ลูกได้เสีย +2
อันดับ 4 อิรัก
4 แต้ม ลูกได้เสีย +0
อันดับ 5 อิหร่าน
4 แต้ม ลูกได้เสีย -2
อันดับ 6 เกาหลีเหนือ
2 แต้ม ลูกได้เสีย -4
ใน 6 ทีมนี้ เอา 2 ทีม ที่อันดับดีที่สุดไปบอลโลก ซึ่งญี่ปุ่นนำเป็นจ่าฝูงของตาราง พวกเขาได้เปรียบทุกอย่าง โอกาสไปบอลโลกอยู่ในมือตัวเองแล้ว
นัดสุดท้าย (นัดที่ 5) ของรอบคัดเลือก ญี่ปุ่นมีโอกาสเข้ารอบ ใน 3 เงื่อนไข ขอแค่ลงล็อกอะไรสักอย่าง พวกเขาก็ไปบอลโลกทันที
เงื่อนไข 1 - เกาหลีใต้ ไม่ชนะ เกาหลีเหนือ
เงื่อนไข 2 - ซาอุดิอาระเบีย ไม่ชนะ อิหร่าน
เงื่อนไข 3 - ญี่ปุ่น ชนะ อิรัก
ขอแค่เงื่อนไขใด เงื่อนไขหนึ่ง เกิดขึ้น ญี่ปุ่นก็จะผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของเวิลด์คัพ 1994 ที่สหรัฐอเมริกา
1
แน่นอนว่า แฟนบอลญี่ปุ่นจะแช่งเกาหลีใต้ และ แช่งซาอุดิอาระเบียให้แพ้ๆ ไปเลย พวกเขาจะได้เข้ารอบสบายๆ แต่ถ้าสองทีมนั้น ดันชนะพร้อมกันทั้งคู่ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ญี่ปุ่นชนะอิรักก็เข้ารอบได้อยู่ดี ทุกอย่างยังอยู่ในกำมือตัวเอง
1
เข้าสู่วันที่ 28 ตุลาคม 1993 การแข่งขันเกมสุดท้ายของฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ก็เริ่มต้นขึ้น ญี่ปุ่นนำอิรักไปก่อนตั้งแต่นาทีที่ 5 จาก "คิงคาซู" คาซูโยชิ มิอูระ นำ 1-0 แต่พอครึ่งหลังอิรักตีเสมอได้ 1-1 จากอาเหม็ด ราห์ดี้ ในนาทีที่ 55
1
ญี่ปุ่นไม่ถอดใจ นำ 2-1 จากมาซาชิ นากายามะ ในนาทีที่ 69 ขอแค่รักษาสกอร์นี้ได้จนจบเกม พวกเขาได้ไปบอลโลกทันที
การแข่งขันของอีกสองสนาม จบก่อนเล็กน้อย เกาหลีใต้ถล่มเกาหลีเหนือ 3-0 ส่วน ซาอุดิอาระเบียชนะอิหร่าน 4-3 ทำกับว่า เงื่อนไข 1 และ เงื่อนไข 2 ไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่สำหรับญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ เพราะถ้าเงื่อนไข 3 เกิดขึ้น คือพวกเขาชนะอิรัก ยังไงก็ได้ไปบอลโลกอยู่ดี
หลังจากสกอร์นำ 2-1 ญี่ปุ่นเลือกถอยมาเล่นเกมรับ ไม่คิดจะบุก ทั้งทีมตั้งใจแพ็กเต็มที่ เพื่อให้จบเกมไปแบบนี้เลย
เวลาถอยหลังลงเรื่อยๆ ใกล้จะจบทุกที นัดนี้กรรมการจะทดเวลาแค่ 1 นาทีเท่านั้น
ตอนนี้แฟนๆ ญี่ปุ่นบนสแตนด์เตรียมฉลองกันแล้ว ขณะที่นักเตะเองก็ใจลอยไปถึงฟุตบอลโลก
สิ่งที่ญี่ปุ่นประเมินพลาด คือความมุ่งมั่นของฝั่งอิรัก ความหมายคือ สถานการณ์ตอนนั้นอิรักตกรอบแน่ๆ อยู่แล้ว ต่อให้ยิงรัวพลิกชนะญี่ปุ่นได้ ก็ไม่เข้ารอบอยู่ดี ตามหลักก็น่าจะแค่เล่นประคองให้จบๆ ไป อย่างไรก็ตาม อิรักกลับเล่นด้วยสปิริต เพราะเมื่อสวมเสื้อทีมชาติ นักเตะทุกคนตั้งใจเต็มที่ แม้จะไม่มีลุ้นอะไรแล้วก็ตาม
ช่วงเสี้ยววินาทีที่ญี่ปุ่นไม่ทันระวังตัว นาที 89:50 รุย รามอส ของญี่ปุ่น จ่ายบอลเสียให้อิรักตัดบอลได้ จึงได้โต้กลับมา และมาได้เตะมุมในนาที 90.09
ระหว่างที่ญี่ปุ่นยังไม่ทันจัดระเบียบป้องกันลูกเตะมุม อิรักเล่นบอลสั้น แล้วครอสบอลเข้ามากลาง ก่อนจะเป็นจาฟฟาร์ ออมราน โหม่งเข้าประตูไปดื้อๆ ผู้รักษาประตูญี่ปุ่นขาตาย ตีเสมอเป็น 2-2 ในนาที 90.17
ฮาจิเมะ โมริยาสุ โค้ชคนปัจจุบันของทีมชาติญี่ปุ่น ที่วันนั้นก็เล่นอยู่ในสนาม เล่าว่า "ลูกครอสของคู่แข่งมันลอยข้ามหัวผมไปเลย แล้วนักเตะอิรักก็โหม่งบอลได้ สิ่งที่ผมทำได้อย่างเดียวคือ มองดูลูกโค้งเข้าประตู"
นักเตะญี่ปุ่นช็อก บางคนล้มกลิ้งไปกองกับพื้น พวกเขารู้ว่าสถานการณ์นี้คืออะไร
หลังจากเอาลูกมาเขี่ย ได้สัมผัสบอลอีก 3 ที กรรมการก็เป่านกหวีดหมดเวลา เกมนี้ทดแค่นาทีเดียวเท่านั้น
แปลว่า เงื่อนไข 1, 2, 3 ไม่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเลยแม้แต่ข้อเดียว นั่นทำให้พวกเขาตกรอบคัดเลือกโซนเอเชียในเสี้ยววินาทีสุดท้าย กลายเป็นซาอุฯ กับ เกาหลีใต้ ได้โควต้าไปแบบกลับตาลปัตร นี่คือความเจ็บปวดที่ยากจะบรรยายของญี่ปุ่น อีกแค่ก้าวเดียวเท่านั้นพวกเขาก็ทำไม่ได้
แค่ยันประตูไว้ลูกนั้น ลูกเดียว เกมก็จบแล้ว แต่พวกเขาพลาดแบบไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกเลย
1
แล้วอีกสองสนาม ขอแค่ผลเป็นใจสักสนามเดียว ญี่ปุ่นก็ได้ไปต่อแล้ว แต่ผลการแข่งก็ไม่เข้าข้างพวกเขาอีก
บทสรุปคือ จบแบบเจ็บๆ
เท็ตสึจิ ฮาชิราตานิ กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นร้องไห้ในสนาม คาซูทรุดลงไปกองกับพื้น นักข่าวในห้องส่ง เงียบกริบ มันเป็นโมเมนต์ที่เศร้าเหนือจะบรรยาย
เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Agony of Doha (ความเจ็บปวดแห่งโดฮา) แฟนบอลทีมชาติญี่ปุ่นไม่มีใครลืมเรื่องนี้ได้ เพราะมันทรมานจริงๆ อีกแค่ไม่กี่วินาที คุณจะได้ไปฟุตบอลโลกครั้งแรกอยู่แล้ว ไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องน้ำตาหลั่งไหลทั่วแผ่นดิน
เรื่องราวนี้ถูกย้อนกลับไปเล่าถึงบ่อยครั้ง ใน Pop Culture เช่น ในการ์ตูนเรื่องยิงประตูสู่ฝัน ก็ย้อนเอาเรื่องนี้มาเล่า เพราะมันคือประวัติศาสตร์ที่สำคัญของฟุตบอลญี่ปุ่น
ใครเจอแบบนี้เข้า เจ็บปวดหนักขนาดนี้ คงเป๋ไปเลย และต้องใช้เวลาเยียวยาจิตใจนานมากแน่ๆ ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นแบบนั้น ใจแข็งแค่ไหน ก็ไม่ไหวจริงๆ
1
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ปล่อยให้ความเจ็บช้ำครั้งนั้นสูญเปล่า ญี่ปุ่นค่อยๆ เก็บเศษซากความเจ็บปวด หาข้อผิดพลาดว่าเกิดอะไรขึ้น
หลังจากตกรอบในฟุตบอลโลก พวกเขาหันมาพัฒนาฟุตบอลเจลีก ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อป้อนนักเตะคุณภาพเข้าสู่ทีมชาติ (เจลีก ฤดูกาลแรก เปิดตัวในปี 1993)
แม้จะเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่โดฮา แต่พวกเขา "ลุกได้เร็ว" ยอมรับความจริง และ ยืนหยัดสู้กับมันอีกครั้ง
1
พวกเขาจะกลับมาอีกครั้ง ด้วยความแข็งแกร่งขึ้น พร้อมมากขึ้น และไม่ยอมให้เหตุการณ์ที่โดฮาต้องเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง
ในการคัดบอลโลกครั้งต่อมา ฟรองซ์ 98 ญี่ปุ่นทำได้ เข้ารอบสุดท้ายเวิลด์คัพได้สำเร็จ
และจากนั้นเป็นต้นมา พวกเขาเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ทุกครั้ง ไม่เคยพลาดอีกเลยแม้แต่หนเดียว ความเจ็บปวดจากเรื่องราวที่โดฮา ก็ค่อยๆ ลบเลือนลงไป แม้จะยังเศร้าที่นึกถึงบ้าง แต่ความสำเร็จที่เข้ามาแทนที่ มันก็เยอะมากพอ ที่เรื่องในวันนั้นจะไม่เจ็บปวดอีกต่อไป
1
ฮาจิเมะ โมริยาสุ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในภายหลังว่า "ผมอยากจะกล่าวถึงใครก็ตาม ที่ความฝันแหลกสลายในวันนั้นที่โดฮา คุณก็เห็นว่าในที่สุดญี่ปุ่นก็กลับมาแข็งแกร่งได้ และสักวันหนึ่ง เราอาจจะแกร่งพอจนได้แชมป์ฟุตบอลโลกเลยก็ได้ ใครจะรู้"
สำหรับคนที่ดูฟุตบอลแล้ว การเชียร์ทีมชาติ มันมีความหมายยิ่งใหญ่ เมื่อทีมชาติของเราชนะ มันก็มีความสุขมาก แต่เมื่อทีมชาติพ่ายแพ้ มันก็เจ็บช้ำมากเช่นกัน
คนที่ยังเสียใจจากการตกรอบที่ราชมังคลากีฬาสถาน ผมอยากบอกว่า ไม่แปลกหรอกครับ เพราะผมก็ยังเป็นอยู่ มันเฮิร์ทมากจริงๆ อีกแค่นิดเดียวเท่านั้น เราก็จะเข้ารอบอยู่แล้ว
1
แต่เมื่อเราทำไม่ได้ ก็ต้องรอโอกาสแก้ตัวไปอีก 3 ปี กว่าที่รอบคัดเลือกจะกลับมาอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนปี 2027
อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดในแง่ดีคือ ความเจ็บแบบนี้ ไม่ได้เกิดกับเราเป็นชาติแรก หลายประเทศก็เคยผ่านมาแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ "การตอบสนอง" เมื่อเราพลาดแล้ว เรามีรีแอ็กชั่นกับมันอย่างไร
1
ทนทุกข์ โทษทุกอย่าง หรือ รวมพลังแล้วสู้ต่อ เตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เพื่อที่โอกาสต่อไปมาถึง จะได้ไม่พลาดอีก
ผมขอปิดท้ายที่สปีช ของโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก ที่ไปพูดให้กับนักศึกษาจบใหม่ ของมหาวิทยาลัยดาร์ธมัธ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ
เฟเดอเรอร์ บอกว่า "คนที่เก่งที่สุดในโลก ไม่ได้สุดยอดเพราะพวกเขาเอาชนะได้ทุกแต้ม คือพวกเขารู้ ว่าในอนาคตตัวเองก็ต้องมีวันแพ้อีกจนได้ แต่ความสุดยอดของคนเหล่านั้น เกิดขึ้นจากการรับมือกับความพ่ายแพ้ต่างหาก"
2
"การรับมือกับความผิดหวัง คือต้องมูฟออนด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ ปรับตัวให้เร็ว และเติบโตขึ้นให้มากกว่าเดิม"
3
ล้มได้ก็ลุกได้ครับ เชื่อไหมว่าในโลกฟุตบอล สามปี ไม่ได้นานขนาดนั้นหรอกครับ รู้ตัวอีกที ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกครั้งต่อไป ก็มารอเราแล้วล่ะครับผม
#TIMETOMOVEON
โฆษณา