13 มิ.ย. เวลา 15:04 • การศึกษา

เช็คเด้งติดคุกทุกกรณีหรือไม่

คดีน่าสนใจที่มีผู้มารับคำปรึกษาวันนี้คือคดีเช็คเด้ง ผู้เสียหายต้องการแจ้งความร้องทุกข์ฐานความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คซึ่งมีโทษอาญา ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
ข้อเท็จจริงคือผู้เสียหายว่าจ้างผู้รับเหมาให้ทำการก่อสร้างต่อเติมบ้านโดยให้ผู้รับเหมาตีเช็คล่วงหน้าลงวันที่เรียบร้อยเพื่อประกันความเสียหาย หมายความว่าเมื่อถึงวันที่ในเช็คแล้วไม่เกิดความเสียหาย ผู้ว่าจ้างก็จะไม่นำเช็คไปขึ้นเงินแต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อใดก็ตามที่เกิดความเสียหายจึงจะนำเช็คไปขึ้นเงิน
ปรากฏว่าผู้เสียหายเพิ่งนำเช็คไปขึ้นเงินเมื่อวานแล้วเช็คเด้ง วันนี้จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ แต่เมื่อตรวจสอบวันที่ในเช็คปรากฏว่าลงไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อสอบถามจึงได้ความว่าเพิ่งเกิดความเสียหายเดือนนี้จึงเพิ่งไปขึ้นเงิน ดังนั้นเช็คนี้จึงไม่ใช่เช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงในวันออกเช็ค ไม่สามารถเอาผิดคดีอาญาได้ แต่สามารถฟ้องเป็นคดีแพ่งให้รับผิดตามตั๋วเงิน (เช็ค) ได้
ดังนั้นหากผู้เสียหายจะฟ้องเป็นคดีอาญาต้องแน่ใจก่อนว่าเป็นเช็คที่ออกตามหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่การออกเช็คในมูลหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงแล้วมาแกล้งแจ้งความร้องทุกข์หรือแกล้งฟ้อง เพราะอาจจะถูกฟ้องกลับในฐานฟ้องเท็จหรือเบิกความเท็จได้
หมายเหตุ:
🔹พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค
มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชําระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทํา อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจํานวนสูงกว่าจํานวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจํานวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจําคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจํา
มาตรา5 ความผิดตามมาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้
🔹ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 วางหลักว่าในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ เช่น คดียักยอก คดีฉ้อโกง การนับอายุความกรณีนี้นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัว กล่าวคือ รู้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและ รู้ตัวผู้กระทำความผิด
ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/6862457/
โฆษณา