15 มิ.ย. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ชีวิตคู่กับทรัพย์ จัดการอย่างไรไม่ให้กระทบความสัมพันธ์

ชีวิตคู่กับทรัพย์ จัดการอย่างไรไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ เพื่อรักษารักให้ลงตัว
ชีวิตคู่ ย่อมมีทั้งวันที่สุข และทุกข์ วันที่ถูกใจและวันที่ขัดใจกัน แต่เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว แน่นอนว่า การจัดการทรัพย์สินก็ถือเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้ และควรอย่างยิ่งที่จะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดการทรัพย์สิน จากที่ตอนแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคนรักกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทองที่ยิ่งมูลค่าหรือจำนวนทรัพย์สินมากขึ้นเท่าไหร่ จำนวนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นก็มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
การจัดการทรัพย์สินคู่สมรส
ในทางกฎหมาย ทรัพย์สินต่าง ๆ ของคู่สมรส จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
สินส่วนตัว หมายถึง ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายมีก่อนจดทะเบียนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน ยานพาหนะ เงินทอง และยังมีทรัพย์สินอื่นๆ ที่แม้ได้มาระหว่างสมรสแต่ก็ยังถือเป็นสินส่วนตัว เช่น เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ มรดกหรือของที่ได้รับโดยเสน่หา รวมไปถึงทรัพย์สินหรือเงินที่ได้มาจากการนำสินส่วนตัวไปแลกเปลี่ยนหรือขาย ในขณะที่ของหมั้นตามกฎหมายจะถือเป็นสินส่วนตัวของภรรยาเท่านั้น
สินสมรส หมายถึง ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสกันตามกฎหมาย ได้แก่
  • 1.
    ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาจากการทำงาน และสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรส เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาเช่า เป็นต้น
  • 2.
    ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการรับให้โดยเสน่หา เฉพาะที่มีการระบุว่าเป็นสินสมรส
  • 3.
    ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ประกอบด้วย ดอกผลธรรมดา เช่น ผลไม้จากสวน ข้าวจากนาข้าว แม่วัว มีน้ำนม ลูกวัว และ ดอกผลนิตินัย เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล กำไร เป็นต้น
ซึ่งหากคู่สมรสเข้าใจแล้วว่าทรัพย์สินประเภทใดเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส หากการสมรสสิ้นสุดลง ในด้านทรัพย์สินก็น่าจะไม่เกิดปัญหา
แต่สิ่งที่คู่สามีภรรยาต้องพึงระวังในการจัดการทรัพย์สินระหว่างกัน ได้แก่
  • การใช้ทรัพย์สินส่วนตัวในการทำธุรกิจร่วมกันเป็นเวลานาน เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ่าน อาจเกิดความสับสนจนทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินธุรกิจกลืนกันไปในที่สุด
  • การไม่ได้ระบุรายการทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายเอาไว้ก่อนสมรสไว้ ทำให้การตกลงแบ่งสินสมรสหลังหย่าทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลยจนต้องพึ่งกระบวนการทางศาล เพิ่มความบาดหมางระหว่างกันมากขึ้น
  • การทำสัญญาก่อนสมรสต้องทำก่อนจดทะเบียนสมรส (Prenuptial Agreement) มิเช่นนั้น จะกลายเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่บอกเลิกได้ระหว่างสมรสหรือภายใน 1 ปีหลังหย่า รวมทั้งต้องทำให้ถูกหลักเกณฑ์และมีข้อตกลงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย
แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยาก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้น การไม่จดทะเบียนสมรสจึงอาจไม่ใช่ทางออกอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาตามมาเมื่อการสมรสสิ้นสุดลง นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย แนะนำให้คู่สมรสวางแผน ดังนี้
  • ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินและผลของการสมรส ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัว สินสมรส หรือเป็นทรัพย์สินที่ถือร่วมกันเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ทำทะเบียนทรัพย์สินและระบุรายละเอียดการได้มา และควรแจ้งให้บุคคลที่ 3 ที่เชื่อถือได้/หุ้นส่วนธุรกิจรับทราบตรงกัน
  • แบ่งแยกการถือครองสินส่วนตัวให้ชัดเจน เช่น ไม่ใส่ชื่ออีกฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมในสินส่วนตัวของตน เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมภายหลัง หรือหากต้องการให้อีกฝ่ายบริหารจัดการให้ ก็ควรมีเอกสารชี้แจงชัดเจน
  • ทำสัญญาก่อนสมรส เพื่อระบุสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายและแนวทางจัดการทรัพย์สินระหว่างกันให้ชัดเจน หากข้อตกลงมีความซับซ้อน เช่น มีหนี้จากการทำงานร่วมกัน หรือมีทรัพย์สินของครอบครัวแต่ละฝ่ายร่วมด้วย ควรปรึกษาทนายเพื่อให้มั่นใจว่าสัญญาก่อนสมรสเป็นไปตามหลักเกณฑ์และบังคับใช้ได้
  • ใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาจัดการทรัพย์สินแต่ละประเภท เช่น การใช้ทรัสต์ช่วยบริหารทรัพย์สินครอบครัว การทำพินัยกรรมส่งต่อสินส่วนตัว หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพื่อส่งต่อสภาพคล่องให้ทายาทโดยตรง เป็นต้น
นายพีระพัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับหลายๆ ครอบครัว และไม่ใช่เรื่องระหว่างสองคนเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึง เช่น ความแตกต่างของการจัดการทรัพย์กงสีของครอบครัวแต่ละฝ่าย ความราบรื่นของธุรกิจที่ทำร่วมกัน รวมไปจนถึงทรัพย์สินที่ต้องการจะส่งต่อให้ทายาท เป็นต้น
นอกจากนี้ การสิ้นสุดลงของการสมรส ไม่ได้เกิดจากการหย่าร้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสียชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญเพื่อให้การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสเป็นไปอย่างราบรื่น คือการวางแผนจัดการทรัพย์สินก่อนที่จะเกิดความขัดแย้ง โดยเริ่มจากการทำข้อตกลงร่วมกัน วางแผนการถือครอง และเลือกใช้เครื่องมือที่ตอบโจทย์
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา