15 มิ.ย. 2024 เวลา 09:00 • การเกษตร

ข้าวไทย ทำ “โลกเดือด” กระทบส่งออกในอนาคต

บทความ “ ข้าวไทย ทำ “โลกเดือด” กระทบการส่งออกในอนาคต” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด
1
ตลอด 173 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปีค.ศ. 1850 ถึง 2023) สามารถแบ่งการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกออกเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนปี 1970 อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส และหลังปี 1970 (50 ปีหลัง) อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี และมากกว่า 0 องศาเซลเซียส
2
โดยในปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 องศาเซลเซียส (องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก) การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง มาจากมีปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่ห่อหุ้มโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 1990 โลกมีปริมาณ GHG 38,000 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า และปี 2022 เพิ่มเป็น 58,000 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า
มาจาก 4 ก๊าซหลักคือ ร้อยละ 70% มาจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ร้อยละ 19 มาจากก๊าซมีเทน (CH4) และร้อยละ 5 มาจากก๊าซไนตรัลออกไซด์ (N2O) ที่เหลือมาจากก๊าซฟลูโอนิเนต (F-Gase) ทั้ง 4 ก๊าซข้างต้นมาจากแหล่งที่มาที่แตกต่างกันและเหมือนกัน
สำหรับภาคเกษตร กิจกรรมปศุสัตว์และข้าวทำให้เกิด GHG มากสุด หรือทำให้โลกร้อนมากสุด จากรายงานของ Creating Sustainable Food Future : A Menu of Solutions to Feed Nearly 10 billion People by 2050, Synthesis Report, December 2018 ได้เปรียบเทียบการปล่อย GHG ของปศุสัตว์กับข้าวระหว่างปี 2010 และ 2050 พบว่าการทำนาข้าวปล่อย GHG สัดส่วน 17% ส่วนปศุสัตว์ปล่อย GHG สัดส่วน 33%
สอดคล้องกับรายงาน Livestock Don’t Contribute of Global GHG Emission MAR 20, 2023 บอกว่าปศุสัตว์ปล่อย CH4 มากถึง 11-19.6% และปล่อยไนตรัสออกไซด์ (N2O) 6% ของ GHG ส่วนในบรรดาพืชทั้งหมด การทำนาข้าวปล่อย CH4 มากสุดสัดส่วน 1.5% ของ GHG (Innovation in Reducing Methane Emissions from the Food Sector : Side of Rice, hold the methane, Julia Kurnik, 12 April 2022)
ขณะที่การศึกษาของ ดร.อัครพล ฮวบเจริญ จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เมื่อปี 2014 เรื่องการจัดการฟาร์มกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ พบว่าการผลิตข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม (กก.) มีการปล่อย GHG จำนวน 2.7 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 32 ล้านไร่ จากสัดส่วนการปล่อย GHG ของข้าวดังกล่าว
สามารถประเมินการปล่อย GHG .ในการทำนาข้าวทั้งประเทศ โดยพบว่าในปี 2565 การทำนาข้าวของไทยปล่อย GHG ปริมาณ 43 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า แยกออกเป็นมีเทน 85% คาร์บอนไดออกไซด์สัดส่วน 5.7% ที่เหลือเป็นไนตรัสออกไซด์
โดยการทำข้าวนาปีมีการปล่อย GHG สัดส่วน 76% ที่เหลือเป็นการปล่อย GHG จากข้าวนาปรัง ปริมาณการปล่อย GHG ของข้าวไทยคิดเป็น 60% ของปริมาณการปล่อย GHG ของภาคเกษตรกรรมรวม (จำนวน 70 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า)
ที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบปริมาณการปล่อย GHG ข้าวไทยกับข้าวเวียดนามแล้วพบว่า เวียดนามมีการปล่อย GHG ต่อภาคเกษตรกรรมน้อยกว่าไทย ที่สัดส่วน 40% ในปี 2030 ข้าวเวียดนามมีแผนการปล่อย GHG เหลือ 36% ของปริมาณ GHG ภาคเกษตรกรรม ตัวเลขการปล่อยข้าวไทยกับข้าวเวียดนาม สะท้อนแผนการปล่อย GHG ที่แตกต่างกัน ในอนาคตจะส่งต่อศักยภาพการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก เพราะต่อไป ตลาดผู้ซื้อข้าวไม่ได้ถามว่า “จะขายราคาเท่าไร แต่จะถามว่าข้าวคุณปล่อย GHG เท่าไร”
โฆษณา