15 มิ.ย. เวลา 03:46 • ปรัชญา

ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายใน (Internal locus of control) เราเป็นนายแห่งชะตากรรมของตนเอง

ข้าเป็นนายแห่งชะตากรรม ข้าคือกัปตันผู้กุมจิตวิญญาณของตัวข้าเอง
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)
ผู้อ่านบางคนอาจมีความเห็นว่าชื่อบทความอาจดูเวอร์ไปเล็กน้อย แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายใน (Internal locus of control) มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสำเร็จ และการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
ผมใช้เวลาหลายปีในการศึกษาตัวแปรนี้ แต่ไม่เคยได้เขียนออกมาเป็นบทความเสียที ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอความสำคัญและประโยชน์ของตัวแปรนี้อย่างเป็นกันเองผสมกับความเป็นวิชาการเช่นเดิม
ในปี ค.ศ. 1954 จูเลียน รอตเตอร์ (Julian Rotter) นักจิตวิทยาสังคมชายอเมริกันได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อในอำนาจควบคุมตนเอง (Locus of Control) โดยมีกรอบแนวคิดว่า ความสำเร็จ และความล้มเหลวของมนุษย์นั้น เกิดจากปัจจัยภายในที่อยู่ในการควบคุมของเขาหรือปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบุคคลนั้น
ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางในด้านจิตวิทยา และมีความสำคัญต่อพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ
อำนาจควบคุมตนเองเป็นมุมองที่เราระบุสาเหตุโดยอิงกับความเชื่อของเราเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับตัวของเราเองหรือถูกกำหนดโดยสิ่งที่ตนไม่สามารถควบคุมได้ "มันคือความเชื่อ" ซึ่งมนุษย์เราจะมีทั้งเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลกับชีวิตของเรา หรือตัวตน ความคิด พฤติกรรมของเรามีผลต่อการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามนุษย์ทุกคนมีระดับของความเชื่อภายในภายนอกที่แตกต่างกันออกไป
ยิ่งไปกว่านั้นความเชื่อจะเป็นตัวกำหนดให้เรามีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป แม้ว่าบางครั้งความเชื่อนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงก็ตาม ความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเช่นนี้แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ (Rotter, 1975) คือ
1) ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายใน (Internal locus of control) คือ ความเชื่อที่ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นผลมาจากการกระทำ และลักษณะพฤติกรรมของตนเอง และเราสามารถควบคุมมันได้ การเชื่อในอำนาจควบคุมภายในตนสัมพันธ์ทางบวกกับการเห็นคุณค่าในตนเองด้วย
เช่นเดียวกับกรอบความคิดเชิงบวกก็มีความสอดคล้องกับความเชื่อในอำนาจของตนเอง (Nallapothula et al., 2020) เช่นเดียวกัน เพราะการเชื่อในศักยภาพหรือความสามารถของตนเองทำให้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามผลมักจะเป็นไปในทิศทางบวก
คนที่มีความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในมากกว่าภายนอกจะเชื่อว่าตนเองหรือบุคคลมีความสามารถที่จะเรียนรู้หรือทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตั้งใจหรือมุ่งมั่นที่จะทำ พวกเขาจะไม่เชื่อแนวคิดเกี่ยว "ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้" หรือ "เธอเกิดมาเพื่อสื่งนั้น" หรือที้เราเรียกกันว่า "Born to be" อีกทั้งในกรณีที่มีความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในสูงมาก พวกเขาจะมองข้ามเรื่องผี วิญญาณ ไสยศาสตร์ หรืออะไรก็ตามที่เหนือธรรมชาติแทบจะทั้งหมดเลย
2) ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายนอก (External locus of control) คือการเชื่อว่าเหตุการณ์หรือผลที่เกิดขึ้นกับตนทั้งด้านดีและด้านร้าย เป็นผลของโชคชะตา ความบังเอิญ หรือเป็นสิ่งที่ผู้อื่นผลักดันให้เกิดขึ้นกับตัวของเราเอง เมื่อศึกษาเรื่องพฤติกรรมการซื้อสินค้า พบว่า ผู้ที่เชื่อในอำนาจควบคุมภายนอกมากกว่าภายในมีพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าแบบหุนหันพันแล่น (Busseri, Lefcourt & Kerton, 1998) เช่น โดนชักจูงโดยโฆษณา หรือกลยุทธ์ทางการตลาด
ผู้ที่เชื่อในอำนาจควบคุมภายนอกมากกว่าภายใน มีแนวโน้มคล้ายกับบุคคลที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) คือความเชื่อที่ว่าสติปัญญา คุณสมบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือพรสวรรค์เป็นสิ่งตายตัว ไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ (คาลอส บุญสุภา, 2564)
ปัจจัยแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างมากต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ยกตัวอย่างเช่น เราไม่ได้เกิดมามีความสามารถทางคณิตศาสตร์แตกต่างกับเพื่อนของเรา หรือ ครอบครัวของเราไม่ได้เกิดมาร่ำรวย ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับคนอื่น
ทุกท่านจะเห็นแล้วว่าผมค่อนข้างเชียร์ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในค่อนข้างมาก และจากงานวิจัยที่ผมยกมาก็พบว่า บุคคลที่เชื่อในอำนาจตนเองจะประสบความสำเร็จและสามารถควบคุมตนเองได้มากกว่า เพราะความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในสัมพันธ์กับความสามารถในการควบคุมตนเองและผลลัพธ์ของการมีสุขภาพที่ดี (Botha & Dahmann, 2023)
และมีงานวิจัยที่พบว่าความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในสัมพันธ์กับสุขภาวะทางจิตทั้ง 6 องค์ประกอบตามแนวคิดของ แครอล ริฟฟ์ (Carol Ryff) ที่ประกอบไปด้วย 1) การยอมรับในตนเอง 2) การมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับบุคคลอื่น 3) ความสามารถในการจัดการสภาพแวดล้อม 4) ความเป็นตัวของตัวเอง 5) การมีเป้าหมายในชีวิต และ 6) การมีความงอกงามในตน (Shojaee & French, 2014)
นอกนั้นยังมีการศึกษาที่พบความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในที่มากขึ้นกับสุขภาพกายและพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนิสัยการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร การรับประทานอาหาร รวมไปถึงรุปแบบการใช้เงินเพื่อการบริโภค (Cobb-Clark, Kassenboehmer & Schurer, 2014; Hoffmann & Risse, 2020)
ผู้ที่มีความเชื่อในอำนาจการควบคุมภายใน มักจะยอมรับว่าสถานการณ์ต่าง ๆในชีวิตประจำวันของตนเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ เช่น หากเราได้รับการประเมินผลปฏิบัติงานในระดับต่ำหรือปานกลาง บุคคลที่เชื่อในอำนาจควบคุมภายในมากกว่าภายนอกจะคิดว่า เพราะเราพยายามไม่มากพอ แตกต่างกับผู้ที่เชื่อในอำนาจควบคุมภายนอกมากกว่าภายในอาจคิดว่า เพราะมีอคติในการประเมินเกิดขึ้น
ในบรรดาตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อในอำนาจควบคุมภายใน ผมอยากพูดถึงความสามารถในการควบคุมตนเอง เพราะเป็นตัวแปรที่สามารถทำนายผลลัพธ์ชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ การทำงาน การเงิน การศึกษา และสุขภาวะทางจิตในเชิงบวก (Cobb-Clark et al., 2022)
ผมแนะนำว่าไม่สำคัญที่เราจะเลือกใช้ ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายใน การควบคุมตนเอง หรือแม้แต่กรอบความคิดแบบเติบโต เพราะเราสามารถเลือกมาหนึ่งตัวแปรแล้วหาแนวทางในการพัฒนา เราก็สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีมากขึ้นได้แล้ว (เนื่องจากตัวแปรทั้งหมดมีความสัมพันธ์เชิงบวก)
อย่างที่เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เคยกล่าวไว้ว่า "ข้าเป็นนายแห่งชะตากรรม ข้าคือกัปตันผู้กุมจิตวิญญาณของตัวข้าเอง" ทุกสิ่งที่อย่างในชีวิตอาจมีปัจจัยแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง แต่มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ การไปโทษแต่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราควบคุมไม่ได้มันไม่ประโยชน์อะไร
แต่การจัดการกับความพยายาม การทุ่มเท การศึกษาหาความรู้ การใฝ่หาความสัมพันธ์ที่ดี รวมไปถึงการบริโภคอย่างมีวิจารณญาณ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ขึ้นอยู่กับตัวเราย่อมเป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจโดยทันที เพราะมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ทั้งสิ้น กล่าวคือ เราสามารถเป็นนายแห่งชะตากรรมของตนเองได้ จากการโฟกัสอำนาจที่เราควบคุมได้ ซึ่งก็คือสิ่งที่อยู่ภายในตัวเราเอง
อ้างอิง
คาลอส บุญสุภา. (2564). บาดแผลทางจิตใจ (Trauma) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน. https://sircr.blogspot.com/2021/11/trauma.html
Awaworyi Churchill S., Munyanyi M.E., Prakash K., Smyth R. (2020). Locus of control and the gender gap in mental health. Journal of Economic Behavior & Organization.178: 740–758.
Botha, F., & Dahmann, S. (2023). Locus of control, self-control, and health outcomes. Population Health 25(4):101566
Busseri, M., Lefcourt, H., & Kerton, R. (1998). Locus of Control for Consumer Outcomes: Predicting Consumer Behavior. Journal of Applied Social Psychology. 28(12): 1067-1087
Cobb-Clark, D.A., Dahmann, S.C., Kamhöfer, D.A., & Schildberg-Hörisch, H. (2022). The predictive power of self-control for life outcomes Journal of Economic Behavior & Organization, 197: 725-744.
Cobb-Clark, D.A., Kassenboehmer, S.C., Schurer, S. (2014). Healthy habits: The connection between diet, exercise, and locus of control. Journal of Economic Behavior & Organization. 98:1–28.
Hoffmann, A.O.I., Risse, L. (2020). Do good things come in pairs? How personality traits help explain individuals' simultaneous pursuit of a healthy lifestyle and financially responsible behavior. Journal of Consumer Affairs. 54:1082–1120.
Nallapothula, D., Lozano, JB., Han, S., Herrera, C., & Sayson, HW. (2020). M-LoCUS: a scalable intervention enhances growth mindset and internal locus of control in undergraduate students in STEM. Journal of microbiology & biology education 21 (2): 1-12. https://doi.org/10.1128/jmbe.v21i2.1987
Rotter, J. B. (1975). Some problems and misconceptions related to the construct of internal versus external control of reinforcement. Journal of Consulting and Clinical Psychology, 43(1), 56–67. https://doi.org/10.1037/h0076301
Shojaee, M. & French, C. (2014). The Relationship between Mental Health Components and Locus of Control in Youth. Psychology, 5, 966-978. https://doi.org/10.4236/psych.2014.58107
โฆษณา