16 มิ.ย. เวลา 04:01 • ความคิดเห็น

สงครามนิวเคลียร์จะจบลงใน 72 นาที

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ฟังพ็อดแคสต์ The Diary Of A CEO ที่ Steven Bartlett สัมภาษณ์ Annie Jacobsen นักข่าวสืบสวนสอบสวน (investigative journalist) ที่เขียนหนังสือมาหลายเล่มเกี่ยวกับองค์กรสำคัญในอเมริกาอย่าง CIA และ The Pentagon
6
หนังสือเล่มล่าสุดของ Jacobsen มีชื่อว่า Nuclear War: A Scenario ตีพิมพ์เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2024
Jacobsen ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกามากมาย ทั้งผู้ออกแบบระเบิดนิวเคลียร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Secretaries of Defense) อดีตผู้คุมเรือดำน้ำระเบิดนิวเคลียร์ (Nuclear Submarine Commander) และอดีตหน่วยอารักขาบุคคลสำคัญ (The Secret Service)
2
หนังสือเล่มนี้ได้เรตติ้ง 4.5 ดาวบน Goodreads (จากประมาณ 6,500 ratings 1,300 reviews) โดยคุณ Jordan (Jordy’s Book Club) ที่เขียนรีวิวหนังสือมาแล้ว 403 เล่ม บอกว่า Nuclear War: A Scenario คือหนังสือที่น่ากลัวที่สุดที่เขาเคยได้อ่านมาทั้งชีวิต
2
ผมเพิ่งได้หนังสือมาสองวัน อ่านไปแล้วประมาณ 1 ใน 4 ส่วนบทความนี้ซึ่งเขียนขึ้นจากเนื้อหาในพ็อดแคสต์ ก็เขียนทิ้งเอาไว้ประมาณสัปดาห์กว่าๆ แล้ว เพราะไม่แน่ใจว่าจะเอามาเผยแพร่ดีหรือไม่
แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจว่าเอามาเล่าสู่กันฟังดีกว่า เพราะแม้ว่ามันจะทำให้หลายคนกลัวหรือวิตกกังวล แต่การที่เราเผชิญหน้ากับความจริง (แม้จะเพียงส่วนหนึ่ง) อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับอีกหลายคนก็ได้
3
ผมเขียนบทความนี้ขึ้น ด้วยหวังใจว่มันจะส่งแรงกระเพื่อมไปถึงใครที่จะช่วยให้สถานการณ์ในหนังสือไม่เกิดขึ้นจริง
โดยผมจะสรุปเป็น bullet points หากมีประเด็นไหนที่ผมเสริมขึ้นมาเอง จะใส่เอาไว้ใน [วงเล็บแบบนี้] นะครับ
1
- Jacobsen เคยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานสำคัญของอเมริกามากมาย และหลายคนก็บอกเธอด้วยความภูมิใจว่าพวกเขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งจะเป็นสงครามนิวเคลียร์
2
- แต่ ณ วันนี้ ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์โลกนั้นขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์จึงพุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จาคอบเซ่นจึงตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มใหม่ขึ้นมา
2
- ในหนังสือ Nuclear War: A Scenario ผู้เขียนสมมติสถานการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง โดยแบ่งเป็นสามองก์ องก์ละ 24 นาที เพราะสงครามนิวเคลียร์จะจบลงภายใน 72 นาทีเท่านั้น
2
- ตอนที่หนังสือของเธอวางตลาดในเดือนมีนาคม 2024 เป็นจังหวะเดียวกับที่ประธานาธิบดีปูตินเคลื่อนย้ายขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปไว้ในประเทศเบลารุส และเริ่มให้สัมภาษณ์ว่ารัสเซียอาจมีสิทธิ์ได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์
- ใครที่อายุไม่ถึง 50 ปี อาจไม่เคยรู้เลยว่าโลกของเราเคยตกอยู่ในความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มาก่อน แถมโอกาสการเกิดสงครามนิวเคลีย์ก็ยังเป็นไปได้เสมอ แม้ว่าสงครามเย็นระหวังอเมริกากับสหภาพโซเวียตจะจบไปแล้วก็ตาม
- เคยเกิดเหตุการณ์ฉิวเฉียดที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่นในปี 1979 ที่ศูนย์บัญชาการพบว่าโซเวียตยิงขีปนาวุธใส่อเมริกา เจ้าหน้าที่เตรียมจะแจ้งประธานาธิบดี Jimmy Carter อยู่แล้ว แต่หยุดไว้ทันเพราะพบว่าเป็นความเข้าใจผิด เหตุเกิดจากมีคนใส่ม้วนวีดีโอ VHS ลงไปในเครื่อง ซึ่งวีดีโอนั้นเป็น simulated war game หรือภาพจำลองสงครามว่าโซเวียตกำลังโจมตีสหรัฐด้วยระเบิดนิวเคลียร์อยู่ ซึ่งภาพนั้นก็เหมือนจริงจนเจ้าหน้าที่ในศูนย์บัญชาการเชื่อและเกือบจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
- เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 นาย António Guterres เลขาธิการ UN ได้กล่าวว่า "Humanity is just one misunderstanding, one miscalculation away from nuclear annihilation." หากเกิดการเข้าใจผิดเพียงครั้งเดียว หรือคำนวณพลาดเพียงครั้งเดียว มนุษยชาติก็อาจดับสูญ
5
- ที่โลกรอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็เพราะผู้นำของอเมริกาและสหภาพโซเวียตใช้คอนเซ็ปต์ที่ชื่อว่า Mutual Assured Destruction - MAD (ซึ่งแปลว่าความบ้าคลั่ง)
4
- นั่นก็คือสมมติฐานที่ว่า ถ้าทั้งอเมริกาและรัสเซีย (หรืออดีตสหภาพโซเวียต) มีระเบิดนิวเคลียร์นับพันลูกที่พร้อมจะยิงเข้าใส่กัน หากใครยิงก่อน อีกฝ่ายย่อมจะยิงตอบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะมากมายเกินรับไหว อารยธรรมมนุษย์จะล่มสลาย ดังนั้นย่อมไม่มีผู้นำคนไหนบ้าพอที่จะเปิดฉากยิงอาวุธนิวเคลียร์หรอก
2
- เมื่อก่อนมีแค่ 2 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ นัน่คืออเมริกากับรัสเซีย แต่ตอนนี้มีถึง 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ โดย 7 ประเทศที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลีเหนือ และอิสราเอล แถมอิหร่านก็พยายามจะมีระเบิดนิวเคลียร์เป็นประเทศที่ 10 อีกด้วย
6
- ประเทศเหล่านี้มีข้อขัดแย้งกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกากับรัสเซีย จีนกับอเมริกา อินเดียกับปากีสถาน อเมริกากับเกาหลีเหนือ อิสราเอลกับอิหร่าน ส่วนอังกฤษกับฝรั่งเศสก็อยู่ใน NATO ซึ่งอาจถูกดึงไปพัวพันในสงครามยูเครน
3
- หลายคนอาจไม่รู้ว่าในอเมริกานั้น การตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว นั่นคือประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
- เหตุผลที่กฎหมายอนุญาตให้ประธานาธิบดีมีอำนาจตัดสินใจมากขนาดนี้ เพราะว่ามันเป็นสถานการณ์นาฬิกานับถอยหลัง - the ticking clock scenario
2
- ระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกใช้ในฮิโรชิมานั้นมีขนาดเท่ากับลูกช้างหนึ่งตัว หนักประมาณ 15 ตัน ต้องถูกขนส่งด้วยเครื่องบิน โดยมีแรงระเบิด 15 kilotons และคร่าชีวิตคนได้หลายหมื่นคน
5
- แต่ระเบิดนิวเคลียร์ยุคใหม่นั้นเป็น thermonuclear bomb (อีกชื่อคือ hydrogen bomb) โดยเป็น "ระเบิดที่อยู่ในระเบิด" ที่มีพลังทำลายล้างสูงแต่ขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินในการปล่อยระเบิดอีกต่อไป แต่ใช้มิสไซล์หรือขีปนาวุธยิงได้เลย แถมพลังทำลายล้างยังมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าเป็นพันเท่า จึงคร่าชีวิตคนได้หลายล้าน
7
- ขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่เรียกว่า Intercontinental ballistic missile หรือ ICBM นั้นสามารถเดินทางได้เร็วถึง 22,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง [ประมาณ 25 เท่าของความเร็วเครื่องบินที่เรานั่งไปต่างประเทศ] การยิงขีปนาวุธข้ามจากทวีปหนึ่งไปสู่อีกทวีปหนึ่งจึงใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น
1
- ถ้าอเมริกาตรวจจับได้ว่ามีขีปนาวุธนิวเคลียร์กำลังถูกยิงมาที่อเมริกา ประธานาธิบดีในฐานะ "จอมทัพ" หรือ Commander-in-chief จึงมีเวลาตัดสินใจเพียง 6 นาทีเท่านั้นว่าจะตอบโต้อย่างไร
- จะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ถือกระเป๋าหนังสีดำเดินติดตามประธานาธิบดีอยู่ตลอด ในกระเป๋าใบนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า the nuclear Football [ถ้าลองกูเกิลคำนี้ก็จะเห็นว่ากระเป๋าที่ใส่นิวเคลียร์ฟุตบอลมีความคล้ายกระเป๋านักเรียนที่เราเคยใช้ตอนเด็กๆ แต่เราจะไม่เห็นภาพของสิ่งที่อยู่ในกระเป๋า ผมก็เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่านิวเคลียร์ฟุตบอลหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เดาว่าน่าจะคล้ายกับลูกอเมริกันฟุตบอลมากกว่าลูกฟุตบอลกลมๆ ที่เราคุ้นเคย]
3
- ใน Nuclear football จะมีระบบให้ประธานาธิบดียืนยันตัวตน และมีสิ่งที่เรียกว่า the Black Book
- ที่มันชื่อว่า "สมุดดำ" ก็เพราะว่ามันคร่าชีวิตคนได้มากมาย โดยในสมุดดำเล่มนี้มี "เมนู" ที่คัดสรรมาให้ประธานาธิบดีเลือกว่าจะยิงระเบิดนิวเคลียร์แบบไหน ยิงเมืองใด ยิงมากเท่าไหร่
- เมื่อประธาธิบดีตัดสินใจแล้วจึงใส่ passcode และคำสั่งก็จะถูกส่งไปที่ National Military Command Center ซึ่งเป็นบังเกอร์ใต้ The Pentagon ที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ เพื่อทำการปล่อย ICBM ตามคำสั่งของประธานาธิบดี
- เมื่อประธานาธิบดีสั่งการเรียบร้อย หากทางการยืนยันว่าขีปนาวุธจากศัตรูจะยิงมาในพื้นที่ที่ประธานาธิบดีอาศัยอยู่ หน่วยอารักขาจะพาประธานาธิบดีขึ้น Marine One ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่ง เพื่อหนีไปให้ไกลที่สุดจาก Ground Zero หรือจุดที่ระเบิดนิวเคลียร์จะตกลงมา
2
- แต่แม้ว่า Marine One จะอยู่ห่างจากจุดระเบิดเป็นสิบกิโลเมตรแล้วก็ยังไม่ปลอดภัย เพราะเมื่อเกิดการระเบิด จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Electromagnetic Pulse หรือ EMP ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ทุกอย่างในเฮลิคอปเตอร์ไม่ทำงานและเฮลิคอปเตอร์ตกได้ หน่วยอารักขาจึงต้องพร้อมพาประธานาธิบดีกระโดดร่มชูชีพออกมาก่อนที่เครื่องเฮลิคอปเตอร์จะดิ่งพสุธา
5
- ในสถานการณ์ที่ประธานาธิบดีเสียชีวิต พาสเวิร์ดพิเศษที่เป็น universal unlock code จะถูกส่งไปให้ผู้บัญชาการของ The US Strategic Command (USSTRATCOM) เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งยิงระเบิดนิวเคลียร์ต่อไป
- อเมริกามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า "ซิบเบอร์ส" (Space Based Infrared System - SBIRS) ที่ใช้ดาวเทียมตรวจจับความร้อนของไอพ่นของขีปนาวุธ ICBM และคำนวณได้เลยว่าถูกยิงมาจากที่ไหน กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด โดยสามารถตรวจทราบภายในไม่กี่วินาทีที่ขีปนาวุธถูกปล่อยตัว
1
- ความยากก็คือ ICBM อาจจะไม่ได้ถูกปล่อยตัวมาจากแผ่นดินของประเทศคู่อริก็ได้ เพราะหลายชาติมี nuclear submarine หรือเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีเรือดำน้ำเหล่านี้ก็ลึกล้ำมากจนไม่สามารถตรวจจับได้เลยว่าเรือแล่นอยู่ที่ไหนในมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง
3
- มีผู้เชี่ยวชาญเคยบอกไว้ว่า ให้ตรวจจับวัตถุขนาดเท่าลูกองุ่นในอวกาศยังง่ายเสียกว่าการตรวจจับเรือดำน้ำใต้ท้องทะเล และเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของรัสเซียก็เคยแล่นมาใกล้ชายฝั่งของอเมริการในระยะไม่กี่ร้อยกิโลเมตรแล้วด้วยซ้ำ
3
- ดังนั้น ถ้ามี ICBM ถูกยิงมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก มุ่งหน้ามาทางอเมริกา อเมริกาไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าใครเป็นคนยิงมา อาจจะเป็นเกาหลีเหนือก็ได้ เป็นรัสเซียก็ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นอังกฤษก็ได้ ดังนั้นการตัดสินใจจะโต้ตอบของประธานาธิบดีภายในเวลา 6 นาทีจึงยากเย็นขึ้นไปอีก
3
- ในหนังสือ ผู้เขียนจำลองสถานการณ์ให้ผู้ที่ยิงขีปนาวุธใส่อเมริกาคือเกาหลีเหนือ เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกเกาหลีเหนือ เพราะเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ผู้เขียนมองว่าเป็น rogue nuclear nation คือชอบทำตัวเกเร แอบทดสอบขีปนาวุธโดยไม่แจ้งใครล่วงหน้า
1
- โดยมารยาท ถ้าชาติไหนจะทดสอบขีปนาวุธ ชาตินั้นจะบอกประเทศเพื่อนบ้านก่อนเสมอ แต่เกาหลีเหนือนั้นทดสอบโดยไม่บอกใคร นับแค่เฉพาะปี 2022-2023 เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ (โดยที่ไม่ได้ใช้ระเบิดจริง) เกิน 100 ครั้งเข้าไปแล้ว
2
- ตามสถานการณ์สมมติในหนังสือ เมื่ออเมริกาตรวจจับได้ว่าเกาหลีเหนือยิงเข้ามา อเมริกาก็ยิงตอบโต้ แต่วิถีของขีปนาวุธของอเมริกานั้นไม่อาจวิ่งอ้อมไกลได้มากนัก เพราะเชื้อเพลิงมีจำกัด ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะบินผ่านน่านฟ้าของรัสเซีย และในสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดเช่นนี้ รัสเซียอาจเข้าใจว่าอเมริกายิงขีปนาวุธใส่ตัวเอง รัสเซียจึงต้องยิงขีปนาวุธตอบโต้อเมริกาเช่นกัน
2
- และเวลามีใครยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่เราหนึ่งลูก เราจะไม่ยิงกลับแค่ลูกเดียว แต่จะยิงกลับแบบ "จัดเต็ม" เพื่อให้อีกฝ่ายเสียหายมากที่สุด ไม่ให้ทำร้ายเราได้อีกต่อไป
2
- เมื่อขีปนาวุธ ICBM ถูกปล่อยออกไปแล้ว จะไม่สามารถหยุดหรือเรียกกลับฐานได้
2
- หลายคนเชื่อว่าอเมริกามีความสามารถพอที่จะยิงขีปนาวุธให้ระเบิดกลางอากาศได้ ซึ่งอเมริกาก็ได้สร้าง interceptor missile เพื่อการนี้จริงๆ แต่ระบบนี้อาจจะหวังพึ่งได้ไม่มากนัก
- อเมริกามี interceptor missile ที่เอาไว้หยุดการโจมตีทั้งหมด 44 ลูก ในขณะที่อเมริกามีขีปนาวุธนิวเคลียร์ ICBM ที่พร้อมยิงประเทศอื่นถึง 1770 ลูก รัสเซียมี 1674 ลูก จีนมีมากกว่า 500 ลูก อินเดียกับปากีสถานมีประเทศละ 165 ลูก เกาหลีเหนือมี 50 ลูก ดังนั้น "กองกำลังป้องกัน" จึงน้อยกว่า "กองกำลังโจมตี" อยู่นับสิบหลายร้อยเท่า
- ICBM เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 22,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วน interceptor missile นั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 32,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การยิง interceptor missile ใส่ ICBM จึงไม่ต่างอะไรกับการยิงลูกกระสุนด้วยลูกกระสุน
3
- ในการทดสอบ interceptor missile ช่วงปี 2010-2013 ไม่มีครั้งไหนที่ interceptor missile ป้องกันได้สำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว และในอีก 5 ปีถัดมา จากการทดสอบ 20 ครั้ง interceptor missile ทำสำเร็จเพียง 11 ครั้ง คิดเป็น 55% เท่านั้น
2
- FEMA อ่านว่าฟีม่า ย่อมาจาก Federal Emergency Management Agency มีหน้าที่บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย FEMA จะมีแผนการที่เรียกว่า Population Protection Planning ไว้สำหรับดูแลประชาชนในสถานการณ์คับขันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งอุกกาบาตชนโลก
3
- มีเพียงสถานการณ์เดียวเท่านั้นที่ FEMA ไม่มีแผนคุ้มครองประชาชน นั่นก็คือในสงครามนิวเคลียร์ เพราะ FEMA ไม่อาจทำอะไรได้เลย
- ระเบิดนิวเคลียร์แต่ละลูกจะทำให้เกิดแสงสว่างวาบและอุณหภูมิ 100,000,000 (หนึ่งร้อยล้าน) องศาเซลเซียส [เพื่อให้เห็นภาพ ดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิพื้นผิว 5,600 องศา และอุณหภูมิแกนกลาง 15 ล้านองศา]
1
- ผู้คนและสิ่งทีมีชีวิตทุกอย่างรอบบริเวณนั้นจะกลายเป็นเถ้าถ่านในพริบตาเดียว ทุกอย่างในรัศมี 15 กิโลเมตรจะลุกเป็นไฟ สิ่งก่อสร้างทุกอย่างจะถล่มลงมา ไฟจะลุกลามไปเรื่อยๆ และกลายเป็น mega-fire ที่กินพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร สารกัมมันตรังสีแผ่กระจายไปทั่วและคร่าชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน
2
- ในนาทีที่ 72 ของสงครามครั้งนี้ ระเบิดนิวเคลียร์ของรัสเซียนับพันลูกจะถูกยิงใส่อเมริกา เมืองนับร้อยนับพันเมืองจะจมอยู่ในทะเลเพลิง มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยล้านคนในทันที
1
- Nikita Khrushchev (นิกิต้า ครุซชอฟ) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต เคยกล่าวไว้ว่า "After the nuclear war, the survivors will envy the dead." เมื่อสงครามนิวเคลียร์เสร็จสิ้น คนเป็นจะอิจฉาคนตาย
5
- เพราะสารกัมมันตภาพรังสีจะทำให้เราต้องลงไปเก็บตัวอยู่ใต้ดิน แต่เมื่อถึงวันที่เสบียงหมดและไม่มีน้ำมันดีเซลหรือพลังงานทดแทนหลงเหลือ พวกเขาก็ต้องขึ้นมาบนดินอีกครั้ง อยู่ในโลกอันป่าเถื่อนเพราะไม่มีรัฐบาล ไม่มีผู้รักษากฎหมาย ต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรอันน้อยนิด มนุษย์จะกลับไปสู่สัญชาตญาณดิบแต่ก่อนเก่า ในสภาวะที่แต่ละคนเพิ่งสูญเสียทุกอย่างที่เคยมีและทุกคนที่เคยรักไปแล้ว
1
- โลกจะเข้าสู่ Nuclear Winter เพราะฝุ่นละอองที่เกิดจากแรงระเบิดเหล่านี้จะปกคลุมชั้นบรรยากาศจนแสงอาทิตย์ไม่อาจส่องมาถึงโลก ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ เมื่อปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ ก็ย่อมนำไปสู่ famine หรือ ทุพภิกขภัย ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 5 พันล้านคน
4
- สองประเทศที่มีโอกาสรอดจากหายนะมากที่สุด คือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพราะเป็นพื้นที่อยู่ห่างไกลความขัดแย้ง และยังทำเกษตรกรรมที่พอจะเลี้ยงคนทั้งประเทศได้
4
- เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว มีอุกกาบาตชนโลก ทำให้ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตบนโลกประมาณ 70% ของสายพันธุ์ชีวิตทั้งหมดสูญพันธุ์
- อุกกาบาตชนโลกถือเป็นโชคร้ายที่ไม่มีใครทำอะไรได้ แต่สงครามนิวเคลียร์ถือเป็นโชคร้ายที่มนุษย์สร้างขึ้นเองกับมือ
- ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนเคยเป็น "สายเหยี่ยว" เชื่อเรื่องการสะสมอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้มากๆ เพื่อข่มขู่โซเวียตไม่ให้ทำอะไร ด้วยหลักการ MAD - Mutual Assured Destruction
2
- แต่ในปี 1983 ช่อง ABC ได้สร้างหนังชื่อ The Day After ที่ประชาชนในอเมริการวมถึงเรแกนได้รับชมถึง 100 ล้านคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในปีนั้น
5
- The Day After เล่าถึงสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอเมริกากับโซเวียตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเรแกนได้ดูหนังจบ เรแกนบอกว่าเขา depressed อยู่หลายวัน ก่อนที่จะติดต่อมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียต และจัดประชุม Reykjavík Summit ในไอซ์แลนด์ เพื่อพูดคุยเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร
2
- ผู้นำทั้งสองชาติออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า "A nuclear war cannot be won and must never be fought."
5
- ในปี 1986 ทั่วโลกมีระเบิดนิวเคลียร์ถึง 70,000 ลูก ปัจจุบันมีประมาณ 12,500 ลูก แม้จะยังมากเกินไปอยู่ดี แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปถูกทาง
2
- ถามว่าเราจะมีวันที่ระเบิดนิวเคลียร์จะเป็น 0 หรือไม่ Annie Jacobsen บอกว่าเธอไม่ขอออกความเห็น หน้าที่ของเธอคือการนำเรื่องราวมาเล่าให้สาธารณชนรับรู้ ส่วนการลดจำนวนระเบิดนิวเคลียร์เป็นหน้าที่ของ disarmament expert หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการปลดระเบิดนิวเคลียร์ที่กำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น
1
-----
1
เมื่ออ่านบทความนี้จบ บางท่านอาจถามว่า แล้วคนตัวเล็กๆ อย่างเราจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง?
ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ผมชอบคำที่ Brian Klaas เขียนเอาไว้ในหนังสือ Fluke ว่า "We control nothing, but we influence everything." เราไม่อาจควบคุมอะไรได้ แต่สิ่งที่เราทำก็มีผลต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้
7
ด้วยการนำเรื่องราวนี้มาถ่ายทอด ผมเองมีความหวังไม่ต่างจาก Annie Jacobsen ผู้เขียนหนังสือ นั่นคือ เมื่อผู้คนตระหนักถึงความเสี่ยงและผลลัพธ์ของสงครามนิวเคลียร์แล้ว เราจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำในสิ่งที่เราพอจะทำได้ในวันที่โอกาสและบริบทเปิดทางให้เราทำเช่นนั้นครับ
5
-----
ขอบคุณข้อมูลจาก พ็อคแคสต์ The Diary Of A CEO: Nuclear War Expert: 72 Minutes To Wipe Out 60% Of Humans, In The Hands Of 1 Person! - Annie Jacobsen
หนังสือ Nuclear War: A Scenario by Annie Jacobsen
1
โฆษณา