16 มิ.ย. เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

💵 De-Dollarization เรื่องจริงหรือเพ้อเจ้อไปเอง?

มีแฟนเพจถามกันเข้ามาเยอะค่ะว่า ดอลลาร์ จะกลายเป็นแบงก์กงเต๊กจริงไหม จะโดนจีนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในฝั่ง BRICs แย่งความเป็นผู้นำของโลก และจะเป็นยุคตกต่ำของสหรัฐฯ
จริงๆต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ เพราะเราจะได้ยินกันมานานมากๆแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆซักที แต่ข่าวประเภทนี้ก็ยังคงเรียกแขกได้เสมอค่ะ ดังนั้นวันนี้นิคกี้ไปเจอข้อมูลตัวนึงที่น่าสนใจ จึงเอามาให้ดูกันค่ะ แล้วเราจะพอเห็นภาพว่าความจริงแล้วเรื่องนี้มันเป็นแบบไหนกันแน่
รายงานเป็นของ OMFIF หรือชื่อเต็มๆคือ Official Monetary and Financial Institutions Forum โดยเป็นการไป survey ธนาคารกลางทั่วโลก 73 แห่ง ในหัวข้อต่างๆค่ะ รวมถึงเรื่องดอลลาร์และทองคำด้วยค่ะ
เรื่องนี้เริ่มจากการที่เราเห็นข่าวว่าราคาทองคำได้ทำ New High มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยสวนทางกับปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นมาในอดีตค่ะ ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์แข็งค่า ดอกเบี้ยสูง และเงินเฟ้อปรับตัวลง จนสุดท้ายเราได้ทราบเหตุผลแล้วว่า เกิดขึ้นเพราะมีแรงซื้อเข้ามาจากธนาคารกลางทั่วโลกนั่นเองค่ะ โดยสัดส่วนของทองคำในพอร์ตของธนาคารกลางเพิ่มขึ้นเป็น 11% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2023
ประกอบกับมีรายงานออกมาว่าสัดส่วนของดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองลดลงจาก 65% ในปี 2016 มาเหลือ 58% ในปีนี้ หลายๆฝ่ายเลยมาจับเชื่อมโยงกันว่า ดอลลาร์เสื่อมแล้วนั่นเองค่ะ
1
แต่ความจริงแล้ว Financial Times รายงานว่าสัดส่วนของดอลลาร์นั้นเพิ่มขึ้นใน 31 ประเทศจากทั้งหมด 55 ประเทศค่ะ และลดลงเพียงแค่ 4 ประเทศ ซึ่งก็พอเดาได้ว่ามี จีน กับรัสเซียแน่นอน ส่วนอีก 2 ประเทศคือ อินเดีย และตุรกี ค่ะ
1
ดังนั้นอันนี้คือ คำตอบแรกว่า สัดส่วนดอลลาร์ลดลงในไม่กี่ประเทศเท่านั้นค่ะ ซึ่งแต่ละคน (ถ้าไม่นับอินเดีย) คือ คู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯทั้งนั้น
ซึ่งพอเราไปดูที่ผล survey ของ OMFIF แล้วเราก็จะพอรู้สาเหตุว่าทำไมราคาทองคำถึงได้ขึ้นเอาๆ โดยผล survey ในรูปแรกจะเป็น สัดส่วนสุทธิของธนาคารกลางที่คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการถือทองคำในช่วง 12-24 เดือนหน้าข้าง ซึ่งจากรูปเราจะเห็นว่า จำนวนมีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 15% ค่ะ ซึ่งถ้าธนาคารทำจริงๆเหมือนในปีที่ผ่านมา OMFIF คาดว่าจะมีแรงซื้อทองคำเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก 6 แสนล้านดอลลาร์ค่ะ
1
อย่างที่นิคกี้เคยบอกมาตลอด ธนาคารกลางเข้าซื้อราคาทองคำไม่ใช่เพราะเหตุผลของการต้องการกำไรค่ะ ดังนั้นต่อให้ราคาทองคำจะแพงแค่ไหนก็ตาม ธนาคารกลางก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักคะ
มาต่อกันรูปที่ 2: รูปนี้จะเป็นสาเหตุว่าทำไมธนาคารถึงลงทุนในทองคำ
เหตุผลแรกคือ เพื่อการกระจายการลงทุนหรือ Diversification นั่นเองค่ะ โดยมีสัดส่วนถึง 68% ส่วนเหตุผลอันดับสองคือ เอาไว้ป้องกันความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 40% ส่วนการถือทองคำเพื่อเอามาป้องกันเงินเฟ้ออยู่อันดับที่ 3 ที่ 32% เท่านั้น
3
ส่วนเหตุผลที่กองแช่งมักพูดถึงกันคือ จะโดนกลุ่ม BRICs มาแย่งความเป็นผู้นำไปนั้น ปรากฏว่ามีสัดส่วนอยู่แค่ 18% เท่านั้นค่ะ (Uncertainty over international monetary system)
1
ดังนั้นแล้วเราจะเห็นว่าเหตุผลหลักที่ลงทุนทองคำเยอะขึ้นมาจากความต้องการในการกระจายการลงทุนนั่นเองค่ะ เพราะก่อนหน้านี้ถือดอลลาร์กันเยอะมากๆ ไม่ใช่เป็นเพราะกลัวการเปลี่ยนขั้วของระบบการเงินโลกค่ะ
1
ทีนี้ข้ามมาดูกันที่ ดอลลาร์ กันบ้างค่ะ ในรูปที่ 3
แท่งสีน้ำเงินเข้มคือ สัดส่วนที่คาดว่าจะเพิ่มการลงทุน
แท่งน้ำเงินอ่อนคือ สัดส่วนที่คาดว่าจะลดการลงทุน
ส่วนจุดมีขาวคือ สุทธิ (คนที่จะเพิ่มหักด้วยคนที่จะลด)
เราจะเห็นว่าสัดส่วนสุทธิมากที่สุดก็ยังคงเป็น ดอลลาร์ อยู่ดีที่ 18% ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังต้องการซื้อดอลลาร์อยู่นั่นเองค่ะ ซึ่งสัดส่วนนี้มากกว่าปีที่แล้วถึง 3 เท่า
1
ขณะที่อันดับที่ 2 คือ ยูโร ค่ะ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 7% ส่วนประเทศที่น่ากังวลกลับกลายเป็นญี่ปุ่นค่ะ โดยมีสัดส่วนสุทธิติดลบค่ะ สะท้อนว่าธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มไม่เชื่อมั่นในค่าเงินเยนแล้วนั่นเอง (ก็แหงแหละ เพราะค่าเงินอ่อนมากๆ แถมดอกเบี้ยต่ำ และดูเหมือนว่าจะสูญเสียสถานะของ Safe Haven ไปแล้วด้วยค่ะ)
ส่วนอีกฝั่งที่กองแช่งบอกว่าจะมาแทนสหรัฐฯอย่างจีนนั้น ปรากฏว่ามีสัดส่วนสุทธิอยู่ที่ 2% เท่านั้นค่ะ ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วที่สูงถึง 10% และต่ำกว่าปี 2022 และ 2021 ที่ประมาณ 30%
1
เทียบกันแค่นี้ก็พอเห็นภาพแล้วนะคะว่า หยวน ยังห่างไกลกับการขึ้นมาแซง ดอลลาร์ ค่ะ
3
มาดูของ หยวน ให้ชัดๆกันมากขึ้นในรูปที่ 4 ค่ะ
สีน้ำเงินเข้มคือ สัดส่วนของธนาคารกลางที่คาดว่าจะเพิ่มการลงทุน
สีน้ำเงินอ่อนคือ สัดส่วนของธนาคารกลางที่คาดว่าจะคงการลงทุนไว้เท่าเดิม
สีม่วงคือ สัดส่วนของธนาคารกลางที่คาดว่าจะลดการลงทุน
เราจะเห็นชัดเจนว่า สัดส่วนของธนาคารกลางที่คาดว่าจะเพิ่มการลงทุนในหยวนลดลงมากกว่าครึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเราเริ่มเห็นแล้วว่ามีธนาคารกลางบางแห่งกำลังจ้องที่จะขายหยวนออกด้วยเช่นกัน โดยสาเหตุหลักมาจากความโปร่งใสและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ค่ะ (มีสัดส่วนถึง 73% และ 70% ตามลำดับ)
1
ดังนั้นแล้วเราตัดโอกาสที่หยวนจะขึ้นมาเทียบเท่าดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้นี้ไปได้เลยค่ะ เพราะปัญหาทั้ง 2 อย่างที่ว่ามา รัฐบาลจีนน่าจะทำได้ยากในเวลาเร็วๆนี้ค่ะ
3
ทีนี้เรามาเทียบ จีน กับ สหรัฐฯ กันต่อค่ะในรูปที่ 5
เราจะพอเห็นในภาพรวมแล้วว่า ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจกว่าสินทรัพย์ทางการเงินของจีนอยู่ค่ะ
โดยเหตุผลเบอร์ 1 จากฝั่งสหรัฐฯก็คือ ความสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกค่ะ โดยมีสัดส่วนมาก 80%
ส่วนในฝั่งจีน เหตุผลเบอร์ 1 คือ เพื่อกระจายการลงทุนเท่านั้นค่ะ ส่วนความสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกืจอยู่เป็นอันดับ 2 ที่ประมาณ 60% เท่านั้น
นอกจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่ยังมองอีกว่าการลงทุนในสหรัฐฯน่าสนใจกว่าจีนเพราะ คาดว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่า และเศรษฐกิจดีกว่าอีกด้วยค่ะ ซึ่งส่วนทางกับฝั่งจีนที่ได้คะแนน 2 หมวดนี้ต่ำมากๆ
และเหตุผลนี้น่าจะเปลี่ยนยากเพราะ อย่างที่เราทราบๆกันว่าเศรษฐกิจจีนย่ำแย่ ดอกเบี้ยเป็นขาลง หุ้นจีนก็ติดดอย ตราสารหนี้ก็ผิดนัดชำระหนี้กันเยอะ สวนทางกับสหรัฐฯที่เศรษฐกิจดี ดอกเบี้ยสูง หุ้นทำ All Time High นั่นเองค่ะ
2
เรามองภาพสั้นๆ 1-2 ปีกันไปแล้ว นิคกี้ของปิดท้ายด้วยภาพระยะยาวๆในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วยรูปที่ 6 ค่ะ
รูปเป็นการคาดการณ์จากธนาคารกลางแต่ละแห่งว่าค่าเงินแต่ละสกุลเงินจะมีสัดส่วนเท่าไหร่ในทุนสำรองค่ะ
เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่ยังมองว่า อย่างน้อย 50% จะยังคงเป็นดอลลาร์อยู่นั่นเองค่ะ โดยมีแค่ 4 จุดเท่านั้นที่คาดว่าสัดส่วนของดอลลาร์จะต่ำกว่า 50% (ลองไปเดาๆกันดูค่ะว่าเป็นประเทศไหน)
2
แต่สิ่งที่ต้องสังเกตุคือ ส่วนใหญ่จุดๆจะอยู่ต่ำกว่า เส้นสีเขียว ที่เป็นระดับปัจจุบัน สะท้อนว่าสัดส่วนของดอลลาร์มีแนวโน้มลดลงในอนาคตค่ะ แต่ยังไงๆก็ยังเป็นผู้นำอยู่เหมือนเดิม
ส่วนสกุลเงินที่น่าจะมีบทบาทมากขึ้นคือ ยูโร นั่นเองค่ะ โดยจุดส่วนใหญ่อยู่ในแนวเท่าเดิมกับมากขึ้นเล็กน้อยค่ะ
ส่วนสกุลเงินหยวนเองก็มีแนวโน้มมีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน โดยจุดเกือบทุกจุดอยู่สูงกว่าเส้นสีแดงหมดเลย อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากสัดส่วนแล้วก็ยังไปกองๆกันอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้นค่ะ
2
ดังนั้นแล้ว de-dollarization ยังไม่เกิดขึ้นคะ ไม่ได้ใกล้เคียงเลยด้วยซ้ำค่ะ แถมคู่แข่งอย่างหยวนก็ไม่ได้น่าสนใจอะไรขนาดนั้นค่ะ และแทบจะไม่ได้มีความสำคัญอะไรในทุนสำรองเลยค่ะ ส่วนคนที่ต้องหนักใจจริงๆน่าจะเป็นญี่ปุ่นที่สุดแล้วค่ะ
Source: Financial Time, OMFIF Global Public Investor 2024
โฆษณา