17 มิ.ย. เวลา 09:57 • การเมือง

ภูมิศาสตร์ความมั่นคงจีน - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ผู้นำคนใหม่ของไต้หวันคือ ไล่ชิงเต๋อจากพรรค DPP นับเป็นผู้นำไต้หวันที่มีจุดยืนที่ร้อนแรงที่สุดต่อจีนเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไต้หวัน ภายหลังจากการรับตำแหน่งของเขาเมื่อเดือนพฤษภาคม จีนจึงได้ปฏิบัติการซ้อมรบรอบเกาะเป็นเวลา 2 วัน เหมือนต้องการส่งสัญญาณเตือนดังๆ อีกครั้ง
จีนย้ำมาเสมอว่าเรื่องไต้หวันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของจีน เป็นหัวใจของหัวใจของประโยชน์ของชาติจีน (the core of China’s core interests)
 
เพราะเหตุใดไต้หวันจึงเป็นกล่องดวงใจของจีน บางคนอธิบายจากประวัติศาสตร์ชาตินิยมว่า ไต้หวันเป็นพื้นที่แรกที่ราชวงศ์ชิงเสียให้กับต่างชาติ (ญี่ปุ่น) ในยุคความตกต่ำของชาติจีน และยังเป็นพื้นที่เดียวที่เหลืออยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังปลดแอกเพื่อนร่วมชาติไม่ได้ หลังนายพลเจียงไคเช็กพากองทัพพรรคก๊กมินตั๋งจากจีนแผ่นดินใหญ่หนีตายไปเกาะไต้หวันในช่วงสงครามกลางเมือง
บางคนพูดถึงความสำคัญของที่ตั้งของไต้หวันในทางยุทธศาสตร์ บางคนพูดถึงความสำคัญของไต้หวันในทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
 
แต่เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ จีนต้องยึดมั่นในบูรณภาพของดินแดนจีนทั้งหมด เพราะถ้าเสียไปที่หนึ่ง ก็อาจจะล้มตามกันเป็นโดมิโน หากยอมปล่อยไต้หวันเป็นเอกราช พรุ่งนี้ฮ่องกงจะเรียกร้องเอกราชด้วยหรือไม่ วันถัดไปซินเจียง ธิเบต มองโกเลียในจะลุกเป็นไฟหรือเปล่า ดินแดนเหล่านี้ล้วนเคยมีการเรียกร้องการแยกตัวออกจากจีนมาแล้วทั้งสิ้น
1
ทั้งซินเจียง ธิเบต มองโกเลียใน ล้วนเป็นพื้นที่ของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง มีความเชื่อ วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างจากคนจีนชาวฮั่นส่วนใหญ่ตอนในของประเทศ
แม้หัวใจของเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจีนจะอยู่ในพื้นที่ตอนในของประเทศ แต่พื้นที่ชายแดนรอบทิศเหล่านี้เป็นเสมือนเขตกั้นประกันความมั่นคงให้กับพื้นที่ตอนในของจีนจากการรุกรานของต่างชาติ
ซินเจียงสำคัญอย่างไร ซินเจียงแม้มีแต่ทะเลทราย แต่นับเป็นพื้นที่ราบที่สำคัญที่สุดต่อจีนในเชิงยุทธศาสตร์ ภัยจากด้านนอกหากจะบุกเข้ามาตอนในของประเทศจีน จำเป็นต้องผ่านที่ราบซินเจียง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ในสมัยราชวงศ์ชิง ราชสำนักชิงต้องยึดครองซินเจียงไว้ให้ได้
ซินเจียงมีชายแดนติดกับแปดประเทศ และมีทรัพยากรธรรมชาติคือน้ำมันมหาศาล และยังเป็นพื้นที่ทดลองนิวเคลียร์ของจีนอีกด้วย
 
แล้วธิเบตสำคัญอย่างไร จีนปล่อยธิเบตไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะเท่ากับปล่อยให้อินเดียยึดพื้นที่ราบสูงธิเบต ซึ่งจะเป็นสมรภูมิสำคัญที่อินเดียอาจรุกเข้ามาประชิดพื้นที่ตอนในของจีน รวมทั้งธิเบตยังเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำสำคัญสามสายของจีน แม่น้ำเหลือง แม้น้ำแยงซี และแม่น้ำโขง จีนไม่สามารถปล่อยให้คนอื่นมาคุมต้นน้ำของจีนได้เด็ดขาด
ทั้งธิเบต ซินเจียง รวมทั้งมองโกเลียในจึงเป็นเสมือนพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างจีนตอนในกับโลกภายนอก พื้นที่เหล่านี้จีนได้เข้าไปสร้างอิทธิพลและทำการปกครองมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ส่งผลให้รัฐจีนในยุคราชวงศ์ชิงเป็นรัฐรวมหลายชาติพันธุ์ ไม่ใช่เฉพาะรัฐของชาวชาติพันธุ์ฮั่น ราชวงศ์ชิงเองก็ปกครองโดยชาวแมนจู ซึ่งแต่เดิมก็เป็นคนนอกด่าน ไม่ใช่คนชาติพันธุ์ฮั่นจากพื้นที่ตอนในของจีน
2
ทะเลจีนใต้เองก็เช่นกัน มีเหตุผลเรื่องภูมิศาสตร์ความมั่นคงที่ทำให้จีนจำเป็นต้องเรียกร้องสิทธิในเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากทรัพยากรธรรมชาติในทะเลแล้ว จีนยังยอมให้ใครมาปิดเส้นทางการเดินเรือและการขนส่งสินค้าและพลังงานในทะเลจีนใต้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจีนจะไม่มีทางออกทางทะเล
2
เราต่างก็เป็นทาสของภูมิศาสตร์ (Prisoners of Geography) ภูมิศาสตร์ของจีนแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ มีทางออกทางทะเลทั้งสองฝั่ง และปราศจากความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับสหรัฐฯ ขณะที่จีนนั้น มีทางออกทางทะเลเพียงฝั่งเดียวคือทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งเต็มไปด้วยจุดเปราะบาง ไม่ว่าจะข้อพิพาทหมู่เกาะกับญี่ปุ่น ปัญหาไต้หวัน และข้อพิพาททะเลจีนใต้ ส่วนชายแดนจีนกับอินเดียเองก็ยังคงขัดแย้ง ทำให้สองยักษ์เอเชียไม่สามารถสนิทกันได้
ส่วนตัวจีนมองปัญหาไต้หวัน ฮ่องกง ซินเจียง ธิเบต มองโกเลียใน และทะเลจีนใต้ว่าเป็นปัญหาภายในของจีนและเป็นเรื่องบูรณภาพของดินแดนจีน ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน
มีคำกล่าวในวงยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ว่า ไม่มีใครปิดล้อมจีนได้ดีเท่าตัวจีนเอง หรือจีนนั้นอยู่เฉยๆ ก็ถูกปิดล้อมเองโดยปริยายจากปัญหา “ภายใน” รอบจีน
1
ในยุคที่สหรัฐฯ แข่งขันกับจีนอย่างดุดัน ย่อมต้องเร่งเครื่องกระแสพื้นที่พิพาทและจุดเปราะบางรอบจีน เพื่อยกระดับการปิดล้อมจีนและกดดันให้จีนวุ่นวายกับการจัดการกับปัญหาภายในของตน เพราะรู้ดีว่าจีนต้องหลีกเลี่ยงการล้มเป็นโดมิโน
โฆษณา