17 มิ.ย. เวลา 04:54 • ความคิดเห็น

มรณานุสติอย่างเป็นรูปธรรมผ่านพินัยกรรมชีวิต

เมื่อวานผมได้มีโอกาสฟังศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ นักกฏหมายมือวางอันดับต้นของประเทศและประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเล่าถึงเรื่องการจัดการ family business ที่ HOW Club
2
อาจารย์กิติพงศ์เป็นผู้ใหญ่ในระดับประเทศที่ไม่ใช่มีแค่ความรู้ความสามารถ แต่เป็นคนที่มีเมตตา มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นจนเป็นที่เลื่องลือ ผมเองก็ได้รับความเมตตาและความเอ็นดูจากอาจารย์อยู่หลายครั้ง
1
อาจารย์กิติพงศ์ หรือที่ใครหลายคนเรียกว่าอาจารยกี๊ด เป็นผู้ที่สนใจศึกษาและรู้ลึกรู้จริงในเรื่อง family business มากๆ และทุ่มเทความพยายามในการสร้าง ecosystem ให้ความรู้กับธุรกิจครอบครัวของไทยมาหลายปี เพราะอาจารย์เชื่อว่าถ้าธุรกิจครอบครัวไทยแข็งแรง ประเทศก็จะมีรากฐานที่ดีในการเติบโตต่อไป อาจารย์สอนหลักการที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวยั่งยืนได้อย่างเข้าใจง่ายและได้ความรู้กลับบ้านไปกันทุกคน
แต่ที่ผมสะกิดใจ ไม่ใช่เรื่องความรู้แต่เป็นเรื่องท้ายๆที่อาจารย์สอนแนวคิดการทำพินัยกรรมชีวิตที่อาจารย์ใช้ความรู้ทางกฏหมายประกอบกับการตกผลึกในชีวิตมาออกแบบวิธีคิดและวิธีทำให้มากกว่า
อาจารย์เตือนสติถึงความไม่ประมาทในชีวิต ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยไหนก็ตามเพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ การทำพินัยกรรมเพื่อทำให้คนที่ยังอยู่ไม่ทะเลาะกันและทำให้ธุรกิจยังดำเนินต่อได้อย่างมั่นคงจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำทันที แต่พินัยกรรมชีวิตหรือ living will เป็นแนวคิดที่ต่างออกไปจากพินัยกรรมปกติอยู่พอสมควร
1
พินัยกรรมชีวิตคือการเตรียมตัวตายอย่างมีคุณภาพ เป็นส่วนหนึ่งของมรณานุสติที่เราควรจะระลึกถึงความตายที่เป็นเรื่องธรรมชาติไว้เสมอ ไม่ได้เป็นการแช่งใดๆ โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มสูงวัย การ “ตายดี” นั้นนอกจากการที่เราได้ “ตาย” โดยที่ไม่เจ็บ ไม่ทรมานตามอายุขัยแล้ว การที่เราทำเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรแสดงเจตจำนงเพื่อเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะ “ตายดี” ได้อย่างที่เราต้องการ
เพราะอาจารย์บอกว่า ในทางกฎหมาย เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงเจตจำนงว่าในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งในตอนนั้นเราอาจจะไม่มีสติสัมปะชัญญะครบถ้วน หรืออยู่ในขั้นที่สื่อสารไม่ได้ เจตจำนงของเราในเรื่องต่างๆนั้นเป็นอย่างไร ผู้ที่ดูแลเราไม่ว่าจะเป็นลูกหลายหรือแพทย์จะได้เข้าใจและปฏิบัติตามได้โดยง่าย
5
เจตจำนงดังกล่าวรวมถึงว่าจะให้รักษาถึงแค่ไหน จะยอมยื้อชีวิตหรือไม่อยากทรมานไม่ขอรับการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นในวาระสุดท้าย การจัดการทรัพย์สินส่วนตัวว่าจะบริจาคสาธารณะแบบไหน การจัดงานศพว่าอยากให้จัดลักษณะใด และมีงานอะไรคั่งค้างที่ต้องดำเนินการแทนบ้าง
2
การเตรียมตัวไว้แบบนี้ก็จะทำให้พอถึงเวลาที่เราสื่อสารไม่ได้ ก็จะมีคนเข้าใจและรับปฏิบัติตามที่เราออกแบบไว้อย่างรอบคอบและไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานหลังจากนั้น….
อาจารย์กี๊ดสนใจด้านมรณานุสติอย่างจริงจังก็เพราะเหตุที่ภรรยาของอาจารย์เป็นมะเร็งเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในช่วงที่อาการทรุดหนัก อาจารย์ได้ไปเรียนปฏิบัติมรณานุสติกับพระอาจารย์ไพศาลและคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ไปซ้อมการตาย ทำให้ตระหนักรู้ว่าถ้าจะตายควรตายอย่างไร
อาจารย์ดูแลภรรยาอย่างดี พาไปทุกที่ที่ยังพอไปได้และได้ทำพินัยกรรมชีวิตไว้ตามเจตจำนงภรรยาว่าจะไม่ปั๊มท่อและไม่เจาะคอ พอเวลานั้นมาถึง ภรรยาอาจารย์ก็จากไปอย่างสงบ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้สื่อสารกับภรรยาชัดเจนในเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง ทำให้อาจารย์รู้สึกเสียดาย งานศพก็วุ่นๆจนมาพบอีกทีว่าลืมบอกว่าไม่เอาพวงหรีด ทำให้มีพวงหรีดที่แพงและไม่มีประโยชน์ส่งมาจำนวนมาก
1
จากความเสียดายที่ทำไม่สมบูรณ์ในครั้งนั้นและอยากจะเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ต่อในวงกว้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หลังจากนั้นอาจารย์ก็ไปเป็นประธานกรรมการองค์กรไม่แสวงผลกำไรชีวามิตรโดยมีผู้ร่วมก่อตั้งที่สำคัญคือคุณหญิง จำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เพื่อให้ความรู้ผู้คน ทั้งหมอ ญาติผู้ป่วยในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าจากการยื้อชีวิตที่ไม่จำเป็นเสียเงินเสียทองจำนวนมากกับผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวอีกแล้วจนพาทั้งบ้านพังลูกหลานทรุดตามไปด้วย
1
อาจารย์บอกว่าคนรู้เรื่องพินัยกรรมชีวิตน้อยมากและไม่ค่อยกล้าคุยเพราะคิดว่าเป็นลางไม่ดี แช่งตัวเอง แต่ในที่สุดแล้ว ทุกคนก็ต้องตาย ถ้าเราระลึกถึงความตาย มีมรณานุสติ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ฝึกตายเท่านั้น การวางแผนเจตจำนงของตัวเองให้ดี และชัดเจนว่าวาระสุดท้ายจะเอาแบบไหน มีภาระอะไรที่คั่งค้างและทำตัวไม่ให้เป็นภาระต่อคนที่อยู่ต่อ ถ้าไม่เข้าใจ ตายไปก็อาจจะสร้างภาระให้กับลูกหลานได้โดยไม่จำเป็นก็เป็นได้
อาจารย์บอกว่า เวลาบรรยายเรื่องพินัยกรรมชีวิต ผู้ฟังก็จะเห็นประโยชน์และอยากทำขึ้นมา แต่ก็จะมีสองเดี๋ยว เดี๋ยวก่อนค่อยทำ รออีกนิด กับทำเดี๋ยวนี้เลย เดี๋ยวก่อนค่อยทำนั้นมีหลายเคสที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดและก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะทำ ด้วยสติสัมปะชัญญะหรือการเจ็บป่วยที่เกินสื่อสารได้ ก็เลยชวนให้ทำเดี๋ยวนี้ด้วยความไม่ประมาทและระลึกถึงมรณานุสติกันดีกว่า
1
เป็นข้อคิดที่ผมได้จากอาจารย์กี๊ดผู้มีความสามารถด้านกฎหมาย มีเมตตาและเข้าใจเรื่องมรณานุสติได้ดีว่า ไม่เฉพาะแค่ยอมรับเรื่องการตายเท่านั้น แต่ต้องคิดถึงเรื่องพินัยกรรมชีวิตเพื่อลดปัญหาต่อเนื่องที่ไม่จำเป็นสำหรับคนที่ยังอยู่
2
และได้ “ตายดี” สมใจ สมเจตนารมณ์ของตัวเองอีกด้วยครับ….
1
โฆษณา