Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 มิ.ย. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ
บทความ Blockdit ตอน 10 นิทานเซนที่ลึกซึ้งที่สุด
ถ้าตัวเราคือห้องปิดทึบห้องหนึ่ง นิทานธรรมของเซนออกแบบมาเพื่อเปิดหน้าต่างให้แสงสว่างสาดเข้ามา บางครั้งเป็นเรื่องจริง บ้างเป็นเรื่องแต่ง เป็นอุบายหนึ่งให้ศิษย์เซนขบคิดและเข้าใจ หรือ ‘หวด’ จิตของศิษย์ให้ตื่น มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ขึ้นกับความเข้าใจของผู้ขบคิด
6
ดังนั้นหากเราอ่านเผินๆ บางเรื่องก็ค่อนข้างแปลกประหลาด แต่อ่านดีๆ คิดนานๆ บางทีมันก็กระตุกความคิดเราดีเหมือนกัน
1
เรื่องที่ 1
ชายตาบอดคนหนึ่งไปเยี่ยมเพื่อนตอนค่ำ ก่อนกลับเพื่อนส่งโคมใบหนึ่งให้เขา โคมไฟนั้นทำด้วยโครงไม้ไผ่บุกระดาษ ภายในวางเทียนไขเล่มหนึ่ง เขาบอกเพื่อนว่า “ฉันเป็นคนตาบอด ไม่ต้องการโคมไฟ สำหรับฉันแสงสว่างหรือความมืดก็เหมือน ๆ กัน”
2
“ฉันรู้ว่าท่านไม่ต้องการโคมไฟนำทาง แต่หากท่านไม่ถือโคม คนอื่นอาจเดินชนท่านได้”
3
ชายตาบอดเดินถือโคมไฟกลับบ้าน ระหว่างทางใครคนหนึ่งเดินชนเขาเต็มแรง เขาเอ่ยกับผู้ชนเขาว่า “ระวังหน่อยท่าน ไม่เห็นโคมไฟรึ?”
คนแปลกหน้าเอ่ย “ไฟในโคมของท่านดับไปแล้วท่านเอ๋ย!”
ข้อคิด
‘ตาบอด’ ในเรื่องนี้คือความไม่รู้ หรืออวิชชา
คนจำนวนมากคิดว่าถ้ามีธรรมะติดตัว ก็เป็นแสงสว่างของชีวิต แต่หากยึดมั่นหลักการของธรรมะ จนมันกลายเป็นเปลือก (ยึดมั่นความดี ยึดมั่นการบรรรลุธรรม ยึดมั่นพระสูตร) ก็อาจได้ธรรมะแค่เปลือก ไม่เกิดแสงสว่างใดๆ
8
ทางเซนจึงมีคำ หากพบพระพุทธเจ้า จงฆ่าเสีย หมายถึงอย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับหนทางหรือวิธีการสู่การบรรลุธรรม ดังที่อาจารย์เซน เต๋อซานซวนเจี้ยน กล่าวกับศิษย์ว่า “ไม่มีนิพพานที่ต้องไปให้ถึง ไม่มีธรรมที่ต้องบรรลุ แค่ทำตัวเป็นคนธรรมดาที่ไม่ต้องทำอะไร”
11
อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าเรามีแสงสว่างที่เรายึดมั่นเป็นแสงสว่างจริง
3
เรื่องที่ 2
อาจารย์เซน นันอิน ต้อนรับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มาขอคำแนะนำเรื่องเซน ทั้งสองสนทนาธรรมกันในห้องดื่มชา
1
นันอินอธิบายเรื่องเซนให้แขกฟัง แต่ไม่ว่าพูดอย่างไร แขกผู้มาเยือนก็แย้งกลับเสมอ อาจารย์นันอินไม่พูดอะไร เพียงรินชาใส่ถ้วยของแขกผู้นั้นจนชาล้นถ้วย แต่ก็ยังคงรินต่อไปจนนองโต๊ะ
อาจารย์ท่านนั้นอดรนทนไม่ไหว เอ่ยว่า “ชาล้นถ้วยแล้ว ไม่มีอะไรที่เข้าไปได้อีก”
อาจารย์เซนกล่าวยิ้มๆ “ใจของท่านก็เต็มไปด้วยหลักการต่าง ๆ อาตมาจะแสดงหลักเซนให้ท่านรู้ได้อย่างไรเล่า หากท่านไม่ทำ ‘ถ้วย’ ของท่านให้ว่างลงก่อน”
3
ข้อคิด
นี่เป็นนิทานเซนที่รู้จักกันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง สาระของมันพูดถึงกรอบคิดและการเปิดใจ (open-mindedness)
มนุษย์เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น คนฉลาดยิ่งยึดมั่นถือมั่น หรืออีโก้สูง มันกลายเป็นคุกขังตัวเอง
ถ้าไม่เปิดหน้าต่าง แสงสว่างก็เข้าไปไม่ได้
3
จะออกจากคุกต้องปล่อยวางหลักการทั้งหลายก่อน อย่างน้อยชั่วคราว พิจารณาข้อมูลใหม่เพื่อให้เราเข้าใจจิตของเรา
เรื่องที่ 3
ทันซันเป็นอาจารย์เซนในสมัยเมจิ วันหนึ่งเขากับเอคิโดเดินทางไปด้วยกันตามทางที่เต็มไปด้วยโคลนขณะที่ฝนยังคงเทหนัก ที่หัวโค้งทั้งสองพบหญิงสาวโสภานางหนึ่งในชุดกิโมโนไหมและผ้าคาด ไม่สามารถข้ามผ่านสี่แยกนั้น
ทันซันบอกสตรีนางนั้นว่า “ขอให้อาตมาช่วยเถิด”
ว่าแล้วก็อุ้มหญิงสาวคนนั้นข้ามหล่มโคลนไปยังอีกฟากหนึ่ง
เอคิโดตะลึงที่เห็นภาพนั้น แต่ไม่เอ่ยพูดสักคำ จนกระทั่งคืนนั้นเมื่อทั้งสองไปถึงวัดแห่งหนึ่ง ก็อดทนอีกต่อไปไม่ไหว กล่าวว่า “พระเช่นเราไม่สมควรใกล้ชิดสตรี โดยเฉพาะสตรีที่ยังสาวและสวยงาม เป็นเรื่องอันตรายยิ่ง”
ทันซันตอบว่า “อาตมาวางหญิงสาวคนนั้นไว้ที่นั่นแล้ว ท่านยังแบกอุ้มนางไว้อยู่อีกหรือ?”
5
ข้อคิด
พระไพศาล วิสาโล เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือ ลำธารริมลานธรรม ว่า วันหนึ่งหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เดินริมถนน ผู้หญิงคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุเสียหลัก ล้มลง แล้วกระโจนเข้ากอดท่าน ท่านก็พิจารณาใจตนเองทันทีว่าไม่มีอารมณ์กระเพื่อมไหว ท่านมองว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นอาจารย์ มาทดสอบจิตของท่าน
1
การยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในปรัชญาพุทธ การปล่อยวางเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราเป็นอิสระ นิทานเซนเรื่องนี้สื่อความหมายของการยึดมั่นถือมั่น และการเป็นอิสระ
การถูกเนื้อต้องตัวสตรีอาจมิได้หมายความตรงๆ แต่อาจเป็นการชี้การยึดมั่นถือมั่นกับกฎจนกระดิกตัวไม่ได้ แม้ว่ามันนำไปสู่แสงสว่าง
4
เรื่องที่ 4
พระเซนยี่สิบรูปกับแม่ชีนางหนึ่งนาม อี้ชุน อยู่ในวัดเซนแห่งหนึ่ง
อี้ชุนเป็นนางชีที่สวยโสภา แม้จะโกนผมเกลี้ยงเกลาและสวมเสื้อผ้าเรียบง่ายก็ตาม พระเซนหลายรูปอดหลงรักเธอไม่ได้ แต่ไม่มีใครกล้าพูดออกมา
พระรูปหนึ่งเขียนจดหมายรักถึงเธอ และขอพบเธอเป็นการส่วนตัว แต่นางไม่ตอบ
วันหนึ่งหลังจากเจ้าอาวาสเทศนาธรรมจบ อี้ชุนลุกขึ้นยืน เอ่ยบอกพระรูปที่เขียนถึงเธอว่า “ถ้าท่านรักฉันมากจริง ก็จงมาสวมกอดฉันตอนนี้เถิด”
ข้อคิด
เราคงเคยได้ยินข่าวพระอาบน้ำให้โยมแม่ที่ป่วย เพราะไม่มีใครดูแล ทางเซนมองเรื่องข้ามพ้นกรอบของ ‘ความเหมาะสม’ เพราะมนุษย์เป็นผู้สร้างกฎขึ้นมาเอง ถ้าจิตใจสะอาด ทุกอย่างก็เหมาะสมเอง
4
นักแสวงหาอิสรภาพแห่งชีวิต รวมทั้งนักบวชพยายามหนีจากกรอบคิด กฎเกณฑ์ แต่บางครั้งก็สร้างกรอบใหม่มาครอบตัวเอง ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือพระเซนอิกกิวซัง ใช้ชีวิตสวนจารีตของพระทั่วไป หลายเรื่องเข้าข่ายอาบัติในมาตรฐานสงฆ์ เช่น ไม่โกนผม ไว้หนวดเครา ดื่มสุรา เล่นพนัน ฉันเนื้อสัตว์ และเที่ยวผู้หญิง เพราะอิกกิวซังเห็นว่าหนวดเราไม่เกี่ยวกับการบรรลุธรรม
สำหรับนักบวชที่แสวงหาทางหลุดพ้น ยิ่งต้องระวังไม่ให้หลงในความยึดมั่นถือมั่นกว่าคนธรรมดา
4
เรื่องที่ 5
หญิงชราคนหนึ่งเลื่อมใสพระเซนรูปหนึ่ง นางปลูกกระท่อมหลังหนึ่งให้พระรูปนั้นอาศัย ทำอาหารให้พระ เพื่อให้พระทำสมาธิได้เต็มที่
ผ่านไปยี่สิบปี นางนึกอยากรู้ว่าพระพัฒนาจิตไปถึงขั้นใดแล้ว นางส่งหญิงสาวสะคราญไปพบพระ สั่งให้หญิงสาวไปสวมกอดพระ แล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้น
หญิงสาวสะคราญก็ทำตาม พระหญิงสาวว่า “ต้นไม้ชราเติบโตในหินเย็นแห่งฤดูหนาว ไร้ความอบอุ่นใดๆ”
4
หญิงสาวกลับไปหาหญิงชรา เล่าเรื่องตามที่ตนประสบมา
หญิงชราฟังแล้วโกรธ กล่าวว่า “เราเลี้ยงดูพระรูปนั้นมายี่สิบปี เขาไม่มีใจให้สภาวะของเจ้าเลย เขาไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อความปรารถนาของเจ้า แต่อย่างน้อยเขาก็ควรมีจิตเมตตาบ้าง”
นางตรงไปที่กระท่อมของพระ จุดไฟเผากระท่อมหลังนั้นทิ้ง
ข้อคิด
นี่น่าจะเป็นการสอนเรื่องความขัดแย้งของกรอบแห่งกฎเกณฑ์ ค่านิยม ประเพณี กติกา คล้ายกับตั้งคำถามว่า หนทางบรรลุธรรมมีกรอบหรือไม่ มันยังตั้งคำถามว่าความเมตตามีค่ากว่าการบรรลุธรรมหรือไม่
3
สาระของเซนคือการไร้การยึดมั่นถือมั่น เช่นกัน เรื่องนี้ยกตัวอย่างค่อนข้างสุดโต่งไปบ้าง เพราะหากไม่ ‘ช็อค’ ก็ยากจะกระตุกความคิด
5
เรื่องที่ 6
ชายคนหนึ่งเดินทางข้ามทุ่ง ระหว่างทางพบเสือตัวหนึ่ง เขาวิ่งหนีเสือสุดชีวิตจนมาถึงหน้าผาแห่งหนึ่ง เขาไต่เถาวัลย์ลงไปจากผา โดยที่เสือตัวนั้นรอเขาอยู่เบื้องบน เขามองลงไปเบื้องล่าง เสืออีกตัวหนึ่งก็รอกินเขา
3
ชีวิตของเขาแขวนอยู่บนเถาวัลย์เส้นนี้
หนูสองตัว ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ เริ่มแทะเถาวัลย์ทีละน้อย ชายคนนั้นมองเห็นผลไม้ชุ่มฉ่ำอยู่ใกล้ ๆ เขาเอื้อมมือหนึ่งไปเด็ดผลไม้ผลนั้นมากินแล้วเอ่ยว่า “ช่างหวานฉ่ำเสียนี่กระไร!”
ข้อคิด
หัวใจทางพุทธคือปัจจุบันขณะ ชีวิตคือเรื่องในปัจจุบัน ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ปัจจุบันเป็นชั่วขณะเดียวที่เรามีชีวิตอยู่ เราไม่ได้มีชีวิตอยู่ในอดีตหรืออนาคต ดังนั้นใช้ชีวิตในนาทีนี้
7
เรื่องที่ 7
นางชีคนหนึ่งแสวงหาทางหลุดพ้นโดยบูชาพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ผิวเป็นสีทองอร่าม นางพาพระพุทธรูปไปทุกที่ที่นางไป
ต่อมานางชีไปอาศัยในวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งนอกเมือง ที่วัดนั้นมีพระพุทธรูปมากมาย นางชีจุดธูปบูชาพระพุทธรูปทองของนาง แต่ไม่ปรารถนาจะให้บุญของควันธูปไปอาบพระพุทธรูปอื่นๆ นางจึงทำกรวยครอบธูป ให้ควันธูปไปอาบเฉพาะพระพุทธรูปของนาง ไม่นานจมูกของพระพุทธรูปก็ดำน่าเกลียด
ข้อคิด
1
การบรรลุธรรมนั้นทำไม่ได้หากขาดความเมตตา ยิ่งทำให้ถอยห่างจากธรรม คนที่ไร้เมตตาทำบุญก็มิได้บุญ ทำดีก็เป็นแค่เปลือก และเปลือกก็คืออุปสรรคของเซน
2
เรื่องที่ 8
ศิษย์คนหนึ่งถามอาจารย์ซูซานกวางเหรินว่า “อะไรคือสิ่งมีค่าที่สุดในโลก?”
อาจารย์ตอบว่า “ศีรษะแมวตาย”
“ไยศีรษะแมวตายจึงมีค่าที่สุดในโลก?”
“เพราะไม่มีผู้ใดตั้งราคามัน”
ข้อคิด
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนเป็นสัตว์โลกที่มีกฎเกณฑ์มากที่สุดในโลก มนุษย์มักมีข้อกำหนด กติกาต่อทุกเรื่อง และเรากำหนดข้อแม้ต่างๆ ไว้มากมาย จนติดกับไม่สามารถเป็นอิสระจากกฎกรอบ
4
เรื่องที่ 9
เด็กน้อยสองคนศึกษาอยู่ในวัดเซนสองแห่ง ทั้งคู่เดินสวนทางกันตอนเช้าเสมอ วันหนึ่งเด็กคนหนึ่งถามเด็กอีกคนว่า “เจ้าจะไปที่ใด?”
“ฉันกำลังไปยังสถานที่ที่เท้าของฉันพาไป”
ได้ยินคำตอบนั้น เด็กกลับไปหาอาจารย์ที่วัด บอกว่าเขาไม่รู้ว่าจะตอบเด็กคนนั้นอย่างไร
“วันพรุ่งนี้เมื่อเจ้าพบเด็กคนนั้นอีก จงถามเขาอย่างเดิม เมื่อเขาตอบ เจ้าจงถามเขาว่า หากเจ้าไม่มีเท้าเล่า เจ้าจะไปยังสถานที่ใด”
เด็กทั้งสองพบกันอีกครั้งเช้าวันถัดมา เขาถาม “เจ้าจะไปไหน?”
“ฉันกำลังไปยังสถานที่ที่ลมพัดไป”
เด็กอึ้งไปและตอบไม่ได้ เขากลับไปถามอาจารย์ผู้แนะนำว่า “วันพรุ่งนี้จงถามเขาว่าจะไปที่ใดหากลมไม่พัด”
ทั้งสองพบกันเป็นหนสาม
“เจ้าจะไปที่ใด?”
“ฉันกำลังไปตลาดซื้อผัก”
ข้อคิด
วิถีเซนคือการใช้ชีวิตโดยไร้พันธนาการ หรือมองออกว่าอะไรคือพันธนาการ เซนไม่ใช่วิธีคิดแบบสูตรคณิตศาสตร์ มันคือการมองโลกอย่างเป็นอิสระ ไร้กรอบ ดังคำกล่าวทางเซนที่ว่า
1
ก่อนฝึกเซน แม่น้ำเป็นแม่น้ำ ภูเขาเป็นภูเขา
เมื่อปฏิบัติเซน จะเห็นว่าแม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ ภูเขาไม่ใช่ภูเขา
เมื่อบรรลุธรรม แม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ ภูเขาก็เป็นภูเขา
4
เรื่องที่ 10
ตลอดชีวิตของอาจารย์เซน โมคุเก็น ท่านไม่เคยยิ้มเลย จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
ก่อนตาย อาจารย์โมคุเก็นเรียกศิษย์มาสั่งเสีย ท่านกล่าวกับเหล่าศิษย์ว่า “พวกเจ้าร่ำเรียนกับเรามาสิบกว่าปี จงแสดงให้เราเห็นว่ารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเซน ศิษย์ผู้ใดแสดงให้เราเห็นอย่างแจ่มแจ้ง จะรับสืบทอดจีวรและบาตรของเรา”
ศิษย์ทั้งหลายมองดูสีหน้าเคร่งขรึมใกล้ตายของอาจารย์โมคุเก็นแล้ว มิมีผู้ใดเอ่ยคำใดออกมา ศิษย์นามเอนโชเคลื่อนตัวไปชิดเตียง ผลักถ้วยออกไปใกล้อาจารย์สองสามนิ้วอย่างช้าๆ แล้วนิ่งสงบเงียบ
สีหน้าอาจารย์โมคุเก็นยิ่งเคร่งขรึมกว่าเดิม กล่าวว่า “นี่หรือคือทั้งหมดที่เจ้าเรียนรู้?”
เอนโชยื่นมือไปดึงถ้วยยากลับมาที่จุดเดิม
พลันปรากฏรอยยิ้มที่ริมฝีปากอาจารย์โมคุเก็นเป็นครั้งแรก เอ่ยกับเอนโชว่า “ไอ้เวร! เจ้าเรียนกับเรามาสิบปี และมิเคยเห็นร่างกายทั้งตัวของเรา จงนำจีวรกับบาตรของเราไปเถอะ เป็นของเจ้าแล้ว”
1
ข้อคิด
นิทานเซนบางครั้งก็น่าปวดหัว เพราะมันตีความได้หลายทาง ในเรื่องนี้ “สืบทอดจีวรและบาตร” อาจแปลว่าได้เป็นเจ้าสำนัก แปลต่อว่าบรรลุธรรม
ถ้วยยาอาจแปลว่าการรักษาทางกาย
1
“มิเคยเห็นร่างกายทั้งตัวของเรา” น่าจะหมายถึงยังไม่เข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่สิ้นสุดที่ความตาย ซึ่งสำหรับคนที่บรรลุธรรมแล้ว มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องทำอะไร (ทางเต๋าเรียก อู๋เหวย ปล่อยมันไปของมันอย่างนั้น)
1
“เอนโชดึงถ้วยยากลับ” แปลว่า เอนโชมองเห็นว่าการรักษาไม่จำเป็น แปลต่อว่าเข้าใจแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงทางกาย (ความตาย) เป็นเช่นนั้นเอง
1
สำหรับคนที่เข้าใจเรื่องความตายอย่างดี ความตายมิใช่เรื่องสำคัญ ดังนั้นการกินยาก็ไม่จำเป็น
“เอนโชมองเห็นร่างกายทั้งตัว” น่าจะหมายถึงเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่สิ้นสุดที่ความตาย
1
เมื่อเขาถอนถ้วยยาออก ก็แสดงว่ามองเห็นแล้ว และเข้าใจเซนแล้ว ก็สมควรรับตำแหน่งเจ้าสำนักคนต่อไป
เรื่องนี้อาจชี้ว่า ธรรมที่แท้ย่อมมิอาจถ่ายทอดเนื้อความผ่านคำพูดหรือตัวอักษร ไม่ต้องอธิบาย
1
ดังนั้นการที่เอนโชพยายามอธิบายหลักเซนให้อาจารย์ (โดยการใช้สัญลักษณ์ถ้วยยา) ก็คือเรื่องเกินจำเป็น การดึงถ้วยยากลับก็คือการบอกว่า ไม่อธิบายแล้วนะ
3
ความสนุกของการอ่านนิทานเซนคือ มันเปิดโอกาสให้เราตีความ เพื่อขยายสมองและวิธีมองโลก เพื่อให้เราเข้าใจชีวิต และบางครั้งในทางเซน การบรรลุซาโตริอาจเกิดขึ้นในชั่วขณะของมุมเล็กๆ ที่สะกิดให้เข้าใจทุกอย่าง
4
และเซนบอกเสมอว่า สอนไม่ได้ การตีความอาจไม่ได้แปลว่าเข้าใจ
4
นิทานเซน
84 บันทึก
113
3
133
84
113
3
133
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย