27 ก.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน คำสารภาพของคนไม่สังกัดค่ายเพลง

ผมอาจจัดเป็นพวกมีและไม่มีศาสนาในคนคนเดียวกัน
เป็นอย่างไร?
ผมดำเนินชีวิตตามหลักของหลายศาสนา แต่ไม่ทุกหลัก เหมือนการกินอาหารบุปเฟต์ ผมเลือกกินบางจานเท่านั้น จานไหนเคี้ยวยากเกิน ก็ขอผ่าน
1
ผมไม่สังกัด ‘ค่ายเพลง’ ใด
ผมเรียนคริสต์ในโรงเรียน และเรียนนอกหลักสูตรเพิ่ม จนได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรคริสต์ศาสนา แต่ผมก็ยังไม่ใช่ชาวคริสต์ ผมไม่เชื่อเรื่อง personal God (มักเป็นชายชราเคราขาวยาว) และเรื่องเหนือธรรมชาติ
1
ผมก็คงเหมือนคนไทยจำนวนมากที่เป็น ‘พุทธในทะเบียนบ้าน’ แต่ค่อยๆ ถอยออกมาตั้งหลัก ศึกษาศาสนาต่างๆ แล้วขบคิดว่าตัวเองสังกัดค่ายไหนกันแน่
1
ตอนเด็กๆ ผมได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า “นับถือศาสนาอะไรก็ได้ เพราะทุกศาสนาดีหมด ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี”
โตขึ้นมุมมองเกี่ยวกับศาสนาของผมก็เปลี่ยนไป เข้าใจบทบาทของศาสนามากกว่า “ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี”
ผมชอบอ่านหนังสือศาสนาและปรัชญาในมุมมองของคนชาติต่างๆ ทำให้นิวรอนในสมองได้ทำงาน แต่มาถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง ก็ไม่เคยคิดว่าตนเองรู้เรื่องศาสนาดี ดังนั้นบทความนี้จึงเป็นเพียงข้อสังเกต ไม่ใช่บทสรุปใดๆ และยิ่งมิใช่ข้อเขียนโน้มน้าวใจใครให้เชื่อ
โลกเรามีความขัดแย้งทางศาสนามาตลอดหลายพันปี เคยสงสัยไหมว่า ทุกหลักการจะถูกต้องได้อย่างไร เช่น หากแนวทางของคริสต์ถูกต้อง คือพระเจ้าสร้างโลก มีสวรรค์-นรกนิรันดร์หลังความตาย แนวทางพุทธก็ไม่น่าถูก เพราะพุทธปฏิเสธเรื่องดังกล่าว
สังคมมีค่านิยมว่า คนไม่มีศาสนาเป็นคนไม่ดี มันกลายเป็นกรอบคิดอย่างหนึ่ง คล้ายๆ ความคิดว่าคนไม่เรียนหนังสือในโรงเรียนไม่ใช่คนฉลาด
ความจริงพิสูจน์ว่า คนไม่เรียนหนังสือที่ฉลาดกว่า มีปัญญาสูงกว่า มีมากมาย
2
สมมุติว่านาย ก. ไปวัดทุกอาทิตย์ สวดมนต์ทุกคืน แต่โกงเงินแผ่นดิน นาย ข. ไม่เคยไปวัด แต่ตลอดชีวิตไม่เคยโกงเงินใคร สังกัดค่ายศาสนาหรือไม่ อาจไม่สามารถบอกได้ว่าใครคนหนึ่งเป็นคนดีหรือไม่
2
มีการสำรวจคนทั้งโลก ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน เป็นชาวคริสต์ 31 เปอร์เซ็นต์ ชาวมุสลิม 23 เปอร์เซ็นต์ ชาวพุทธ 7 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ อีก 3 เปอร์เซ็นต์ เป็น ‘คนไม่มีศาสนา’ (Irreligion) ราว 36 เปอร์เซ็นต์
ดูจากข้อมูลนี้ โลกมีคนไร้ศาสนาในโลกถึงกว่า 2,500 ล้านคน เท่ากับราวหนึ่งในสามของประชากรโลก
4
แต่ที่แปลกคือในโลกซึ่งประชากรสองในสามมีศาสนากลับมีการโกง ปล้น ขโมย ข่มขืน ฆ่ากันตายทุกวัน และบ่อยครั้งขัดแย้งฆ่ากันเพราะศาสนานี่แหละ
1
มองมุมนี้ ศาสนาเป็นแค่ยี่ห้อ หรือ ‘ค่ายเพลง’ จะสังกัดค่ายใด หรือไม่สังกัด ไม่ใช่จุดเปลี่ยนโลก
จุดเปลี่ยนโลกคือสิ่งที่เรากระทำ ถ้าทำเรื่องไม่ดี สังคมก็ป่วน หรืออาจพังได้
2
ผมเริ่มศึกษาเรื่องศาสนาจริงจังขึ้นเมื่อกลับมาเมืองไทย ระหว่างรอยต่อเลข 2 กับ 3 หลังจากใช้ชีวิตในต่างแดนหลายปี เรื่องแรกๆ ที่อ่านคือ ตามรอยพระอรหันต์ ของพุทธทาสภิกขุ เขียนราวปี 2475 นานก่อนผมเกิด อ่านแล้วขนลุก แปลกใจใหญ่หลวง เพราะสาระของหนังสือไม่เหมือนกับสิ่งที่สอนในชั้นเรียนสมัยผม ซึ่งเป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์เสียมาก
หลังจากนั้นก็อ่านงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุมาตลอดหลายสิบปี เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่รู้ว่าผู้เขียนมีความลึกซึ้ง และแตกฉาน อาจกล่าวว่างานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุเปลี่ยนมุมมองของผมเกี่ยวกับพุทธศาสนาไป และทำให้สนใจเรื่องศาสนาเปรียบเทียบและปรัชญาต่างๆ ทั้งที่ไม่เคยคิดว่าในชีวิตนี้จะสนใจเรื่องแบบนี้
จนเมื่อศึกษาจักรวาลวิทยา มุมมองเกี่ยวกับศาสนาของผมก็ขยายกว้างไปอีก (ไม่ได้แปลว่าดีขึ้น แต่กว้างขึ้น) เพราะมันทำให้ต้องคิดว่า เรามาจากดวงดาวข้างนอกโน้น เราประกอบเป็นรูปมนุษย์เพียงชั่วคราว ดังนั้นความรู้เรื่องศาสนาในมุมเดิมที่เรียนมา อาจไม่พอ
2
ผมเริ่มตั้งคำถามว่า บทบาทของศาสนาควรจะกว้างกว่าแค่สร้างคนดีหรือสังคมที่สงบหรือเปล่า เพราะมันยังอยู่ในกรอบของมนุษย์อย่างเดียว เรายังเป็นคนดีไหมถ้าเราไม่ฆ่าคน แต่จับสัตว์ไปขังในสวนสัตว์ จับนกจับปลามาให้คนอื่นปล่อยเพื่อ ‘ทำบุญ’ ตัดป่าทำลายโลกด้วยมลพิษ
1
เรายังเป็นคนดีไหมถ้าเราจุดธูปเพื่อบูชาบางสิ่ง การจุดธูปนั้นเพิ่มคาร์บอนในชั้นบรรยากาศนั้น ส่งผลเสียต่อโลกทั้งโลก
2
เมื่อใช้ผลประโยชน์ของมนุษย์เป็นตัวตั้ง เราก็มักไม่แยแสสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ศาสนาน่าจะไปไกลกว่าแค่กิจการสำหรับมนุษย์หรือไม่
นั่นคือด้านนอกของคน ยังมีด้านของเรา บางทีเราก็ต้องการเข้าไปภายในตัวเราเอง เข้าใจชีวิตในด้านลึก
ผมพบว่าคนรอบตัวที่สนใจในเรื่องจักรวาลวิทยามีน้อยมาก และยิ่งน้อยเข้าไปอีกที่มองเห็นความเชื่อมโยงของจักรวาลกับศาสนา
อย่างไรก็ตาม ผมพบว่านักวิทยาศาสตร์ นักคิดชาวตะวันตกไม่น้อยก็คิดเรื่องนี้ เช่น อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก ผู้เขียนว่า หากจะศึกษาศาสนาทั้งหลายในโลกให้ครบ ก็ต้องศึกษาศาสนาของสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย และอาจต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนาต่างดาว
นี่แปลว่าการจะเข้าใจศาสนา ต้องศึกษากว้างกว่าแค่คำสอนของศาสนา มันต้องรวมประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จักรวาลวิทยา ฯลฯ เข้าไปด้วย
ในด้านประวัติศาสตร์ เราอาจยกจุดกำเนิดของศาสนายิวเป็นตัวอย่าง ชาวฮีบรูเป็นพวกที่ไม่มีถิ่นฐานถาวร ช่วงหนึ่งไปอยู่ใต้การปกครองของฟาโรห์อียิปต์ แต่มีปัญหา โมเสส ผู้นำชาวฮีบรูคืออับราฮัมจึงนำชาวบ้านไปหาที่อยู่ใหม่ เดินทางไปแสวงหา ‘ดินแดนแห่งพันธสัญญา’ ซึ่งเป็นแผ่นดินที่พระเจ้าทรงมอบให้
โมเสสสั่งให้ผู้ชายทุกคนขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศออก เพราะการเดินทางไกลร่างกายจะสกปรกหมักหมม การขริบช่วยแก้ปัญหานี้ได้
นอกจากนี้ยังให้ทุกคนจงนมัสการพระเจ้าองค์เดียว มีการวิเคราะห์ว่า นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียวน่าจะช่วยเกิดความกลมเกลียวของหมู่คณะ และเพื่อทำให้ทุกคนเชื่อเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะทำให้กลุ่มมั่นคงขึ้นเป็นคณะเดียว โอกาสรอดก็สูงขึ้น
โมเสสขึ้นไปที่ภูเขาไซนาย หายไปสี่สิบวันก็กลับลงมาพร้อมแผ่นหินสลักบัญญัติสิบประการซึ่งโมเสสบอกว่าพระเจ้าทรงมอบให้
1
บัญญัติสิบประการ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นศีล เช่น ห้ามฆ่ากัน ห้ามประพฤติผิดทางกาม ห้ามขโมยของ ห้ามใส่ความ ห้ามโลภ จงเคารพบิดามารดา เป็นต้น
ไม่ว่านี่เป็นตำนานที่แต่งขึ้น หรือเป็นประวัติศาสตร์จริง แต่มันชี้ว่าบางทีโมเสสประดิษฐ์ บัญญัติสิบประการ ขึ้นมาเพื่อรักษาชาติของตนให้รอด
ถ้ามองในมุมนี้ ศาสนายิวก็เกิดขึ้นมาจากความจำเป็นที่ให้ชนชาติฮีบรูอยู่รอด
ศีลใน บัญญัติสิบประการ ก็ไม่ต่างจากศีลในพุทธศาสนา
หลักการใช้ศีลเป็นแกนของศาสนานี้เหมือนกันหมด ทางพุทธมีศีลห้า ทางคริสต์มีบัญญัติสิบประการ อิสลามก็มีหลักการให้เป็นคนดี แตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อย
1
ในมุมของวิวัฒนาการ ศาสนาเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ เกิดขึ้นเพราะความอยู่รอดของสังคมมนุษย์ มันเป็นฟันเฟืองชิ้นหนึ่งของวิวัฒนาการ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แบ่งหน้าที่กันเหมือนมด ผึ้ง การอยู่ด้วยกันย่อมมีปัญหากระทบกระทั่ง ทำร้าย ฆ่ากัน กฎหมายและศีลธรรมเป็นกลไกอย่างหนึ่ง กฎหมายมีไว้ปราบ ศีลธรรมทำหน้าที่ปราม “อย่าทำชั่วนะ ไม่งั้นจะตกนรก”
1
ทว่าผลที่ตามมาคือ ศีลธรรมกลายเป็นระบบศาสนา
มองมุมนี้ก็จะเห็นว่า การยึดครองศีลธรรมก็เปรียบเสมือนค่ายเพลงยึดตัวโน้ตดนตรีเป็นสมบัติของตัวเอง
1
แต่ศาสนากับศีลธรรมเป็นคนละเรื่องกัน
ถ้าเราไม่ระวัง ก็จะไปยึดมั่นในรายละเอียดปลีกย่อย และอาจมองว่า คนไม่มีศาสนาเป็นคนเลวเสมอไป
นี่ก็คือเหตุผลที่ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก เขียนไว้นานมาแล้วว่า “โศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษย์คือการที่ศีลธรรมถูกศาสนาแย่งชิง ดังนั้นคนจึงทึกทักเอาว่าศาสนาและศีลธรรมมีความเชื่อมกันที่จำเป็น แต่รากฐานของศีลธรรมนั้นเรียบง่ายอย่างยิ่งและไม่ต้องพึ่งพาศาสนาโดยสิ้นเชิง”
1
คนที่ไม่มีศาสนาก็มีศีลธรรมได้ เป็น ‘คนดี’ ได้
ผมเคยตั้งคำถามง่ายๆว่า สมมุติว่าเราอยู่ตัวคนเดียวในโลก เรายังจำเป็นต้องมีศีลธรรมหรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะอยู่คนเดียวเราจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครได้
มองแบบนี้ก็เห็นเหตุผลว่าศีลธรรมและศาสนาเกิดขึ้นมาได้เพื่อให้สังคมและสายพันธุ์มนุษย์อยู่รอด แต่นานๆ มันก็กลายเป็นระบบ และอะไรก็ตามที่เป็นระบบนานๆ ก็อาจกลายเป็นกรอบคิด
นี่ไม่ได้บอกว่าการมีศาสนาไม่ดี แต่บอกว่าต้องระวังอย่ายึดติดในกรอบคิด
บางคนสนใจแค่ภพหน้า บางคนใช้กิจกรรมเช่น ทำบุญ เพื่อคาดหวังชาติหน้าที่ดีขึ้น รวยขึ้น นี่ก็คือกรอบคิดที่คิดถึงแต่ตัวเอง
2
โดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นสัตว์อ่อนแอทางจิตใจ เราจึงเป็นสัตว์สังคม หรือมองกลับกัน การเป็นสัตว์สังคมทำให้เราอยู่ด้วยตัวเราเองไม่ได้ หรือสูญเสียความสามารถที่อยู่คนเดียวไป
และบางครั้งเราก็ต้องการคำปลอบโยน โดยไม่ต้องมีหลักฐาน ตะวันตกจึงเรียกศาสนาส่วนใหญ่ว่า faith (ศรัทธา) เพราะมันเป็นความเชื่อที่ไม่ต้องการหลักฐานพิสูจน์
2
มนุษย์แต่ละคนแต่ละมุมโลกมองศาสนาต่างกัน ตามอิทธิพลที่ได้รับจากสังคมที่เกิด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ นี่ทำให้คนที่เกิดในสังคมคริสต์มักเป็นคริสต์ สังคมอิสลามมักเป็นอิสลาม สังคมพุทธมักเป็นพุทธ
1
ตรงนี้เองที่มนุษย์ส่วนใหญ่เกิดกรอบคิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
1
ผมไม่ชอบถกเรื่องศาสนากับคนที่ยังเป็น ‘ชาเต็มถ้วย’ นั่นคือยังมีกรอบคิดบางอย่าง (ซึ่งอาจจะถูกก็ได้) แต่การถกเรื่องนี้ อาจต้องวางหลักการที่อาจจะถูกลงก่อนด้วย เพื่อให้สามารถคุยแบบโปร่งใส เป็นขั้นตอน มีหลักการ มีเหตุผล ปราศจากความเชื่อที่ปรุงแต่งมาล่วงหน้า
แค่ประโยค ‘ศาสนาเกิดขึ้นกับมนุษย์ เพราะเราเป็นสัตว์ประเสริฐ’ ก็ปิดกั้นการคุยกันแบบไร้อคติแล้ว เพราะมีความคิดปรุงแต่งล่วงหน้าว่า ศาสนาเป็น ‘ของสูง’ สำหรับมนุษย์ที่ ‘สูงกว่าสัตว์’
2
ทุกศาสนาพูดถึงสันติภาพในโลก
แต่สันติภาพในโลกกว้างกว่าสันติภาพของเผ่าพันธุ์มนุษย์
หากเป้าหมายสูงสุดของศาสนาคือสันติภาพ เป้าหมายของศาสนาน่าจะคือการอยู่ร่วมกันของทุกชีวิต ทั้งคน สัตว์ พืช ทั้งโลกและจักรวาล
ในสเกลของจักรวาล สรรพชีวิต coexist กัน มนุษย์อยู่ไม่ได้หากไม่มีป่า ไม่มีสัตว์ บรรยากาศเป็นพิษ
1
ดังนั้นหากหน้าที่ของศาสนาทำให้เราเป็น ‘คนดี’ มันก็มีหน้าที่แค่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่สูญพันธุ์เพราะฆ่ากันตายก่อน
1
นี่เป็นมุมมองที่วิชาศาสนาเปรียบเทียบทั่วไปไม่สอนกัน
ผมมองว่า บทบาทของศาสนาควรวิวัฒนาการไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของโลก ศาสนาน่าจะไปไกลกว่าแค่การดำเนินตามทางที่กำหนด เคารพพระเจ้าบางองค์ ไม่ฆ่าใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่มันควรรวมไปถึงการไม่ทำให้โลกเดือดร้อน หรือทำให้ป่าไม้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเดือดร้อน นี่น่าจะเป็นศาสนาที่ลุ่มลึกกว่า
1
โฆษณา