17 มิ.ย. เวลา 11:00 • สุขภาพ

6 อาการออฟฟิศซินโดรม ที่เกิดจากการ นั่งทำงานนานเกินไป

หลายคนต้อง Work From Home เป็นเวลานาน จนกลายเป็นว่านั่งทำงานนาน ติดหน้าจอ ไม่ว่าจะกินข้าว หรือประชุมก็นั่งทำอยู่ที่เดิมตั้งแต่เช้าจนค่ำ ซึ่งอาจจะประสบปัญหาอาการปวดเมื่อย คอ บ่าไหล่ สายตาพร่าจากการจ้องจอ หรือโรคกระเพาะถามหาเพราะทานข้าวไม่เป็นเวลา ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองใหม่ ดังนี้
1. สายตาพร่าเบลอ
พอ Work From Home ก็แทบจะไม่ลุกไปไหน เพราะมัวแต่นั่งทำงานนานจนลืมวันลืมเวลา สายตาที่จ้องจอคอมหรือแท็บเล็ตนานๆ ก็เริ่มออกอากาศล้า ตาพร่าหรือมองเห็นแบบมัวๆ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ให้ลุกจากหน้าจอบ้าง กำหนดเวลาพักให้เหมาะสม อาจจะตั้งเวลาพัก ยืน หรือเดินเรื่อยๆ เพื่อบังคับให้ตัวเองออกจากหน้าจอหรือเลือกใส่เเว่นที่สามารถกรองเเสงสีฟ้า ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยลดอาการตาพร่าได้ดี
2. ปวดคอบ่าไหล่
การปวดคอบ่าไหล่เกิดจากการนั่งทำงานนานนั่งในสรีระที่ไม่เหมาะสม จอคอมเตี้ยเกินไปทำให้ต้องก้มคอตลอดเวลา ดังนั้นควรจัดโต๊ะคอมโดยให้จออยู่เท่ากับระดับสายตา แขนวางบนโต๊ะโดยทำมุม 90 องศาเพื่อไม่ให้แขนงอ หรือยกสูงจนทำให้ปวดเมื่อย
3. ปวดหลังจากท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง
ควรนั่งให้เต็มก้น โดยให้สะโพกและหลังพิงไปกับพนักเก้าอี้ที่ผนักเก้าอี้ที่ทำองศาราว 110 องศา ซึ่งการลงทุนซื้อเก้าอี้ที่ปรับระดับได้หลายส่วนให้เข้ากับสรีระของเราให้มากที่สุด จะช่วยไม่ให้ปวดหลังได้เป็นอย่างดี
4. นิ้วล็อก
เพราะการนั่งทำงานนาน อยู่ในท่าเดิมๆนานเกินไปจะส่งผลเสียได้ ลักษณะของการจับเมาส์ก็เช่นเดียวกัน ควรดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้ร่างกาย ถ้าเป็นงานที่ต้องจับเม้าส์นานๆ ควรเลือกซื้อเมาส์ที่ออกแบบตามสรีระศาสตร์ ลดอาการปวดเมื่อยช่วงข้อมือได้
5. โรคกระเพาะ
บางคน Work From Home แต่ทำงานตลอดเวลา นั่งทำงานนาน ไม่ได้กินข้าวเช้า กลางวัน เย็นตามเวลาพักแบบปกติ รวมกับความเครียดในการทำงานแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระเพาะได้ ดังนั้นควรกำหนดเวลาพักเหมือนตอนไปทำงานปกติ และกินข้าวให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ
6. โรคเครียด
ทำงานที่บ้านมากๆ แถมไม่ได้ออกไปพักผ่อนที่ไหน การนั่งทำงานนานอาจจะทำให้เกิดภาวะเครียดขึ้นมาได้ ดังนั้นควรหากิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบทำ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ ลดการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเสพข่าวก่อนนอน จะช่วยลดภาวะเครียดได้ถ้าได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานที่บ้านตามนี้แล้ว ก็จะช่วยให้ลดอาการเหนื่อยล้า ความปวดเมื่อย และช่วยรักษาสุขภาพของคุณให้ดีขึ้นได้
โฆษณา