3 ส.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน คุยเล่นเรื่องยาก

หลายคนตีความคำกล่าวของไอน์สไตน์ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ว่าเป็นเรื่องให้ความสำคัญของการฝัน แต่บริบทที่เขาพูดประโยคนี้คือ เวลาเขาคิดไอเดียใหม่ๆ ทางฟิสิกส์
เขาจินตนาการก่อนแล้วค่อยหาหลักการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ถ้าอธิบายได้ ค่อยเสนอไอเดียเป็นทฤษฎี
1
เราเรียกการคุยแบบนี้ว่า speculation คือคุยเล่นโดยไม่มีหลักฐานหรือหลักการอะไรมาร
องรับ
1
จะว่าไปแล้ว มันก็คือการ brainstorm ไอเดีย (ระดมความคิด) อย่างหนึ่งนั่นเอง
1
ต่อให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ต้องคุยเล่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีไอเดียและทฤษฎีใหม่ๆ
นักฟิสิกส์แสนซีเรียสก็ต้องคุยเล่นก่อนหาหลักฐานหรือการคำนวณมารองรับ
1
จะว่าไปแล้วการคุยเล่นในเรื่องจริงจังมีความสำคัญต่อการค้นพบเรื่องใหญ่ๆ เช่นที่ไอน์สไตน์จินตนาการภาพspace-time ซึ่งคนทั่วไปเห็นว่าเพ้อฝันจนกระทั่งพิสูจน์เป็นหลักฐานได้จริงๆ
ส่วนการจินตนาการหลายเรื่องที่มีสีสันแต่ไร้หลักฐานรองรับ ก็ถูกยิงตกไป เช่น ไอเดียว่ามนุษย์ต่างดาวสร้างพีระมิด เป็นต้น
ในปี 1975 นักฟิสิกส์ ฟริตจ๊อฟ คาปรา (Fritjof Capra) สร้างความฮือฮาโดยโยงฟิสิกส์กับแนวคิดจีนโบราณ เขียนเป็นหนังสือชื่อ The Tao of Physics แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนยิงความคิดนี้ตกเพราะเขาพยายามทำให้การโยงนี้เป็นงานวิชาการ แต่ในโลกวิทยาศาสตร์ต้องนำเสนอด้วยหลักฐานที่พิสูจน์ได้เสมอ
แต่นี่ไม่ได้แปลว่าการโยงเรื่องแบบนี้ไร้ประโยชน์หรือไร้สาระ ตรงกันข้ามมันมีประโยชน์มากในการเขียนนิยายเพราะมันขยายความคิด แตกหน่อจินตนาการ
1
บทความนี้เป็นการทดลองหาเรื่องมาคุยเล่น (speculate) โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับวัตถุประสงค์ของการคุยคือเพื่อกระตุกต่อมคิด
สมัยผมเป็นเด็ก วิชาภาษาไทยสอนเรื่อง กามนิตไม่มีเด็กคนไหนอ่านรู้เรื่องหรอก
สนใจแค่ฉากรักของกามนิตกับวาสิฏฐีเท่านั้น ที่เหลือยากต่อการเข้าใจ เพราะมันคือ ควอนตัมฟิสิกส์ ดีๆ นี่เอง
กามนิต (Der Pilger Kamanita) เป็นนวนิยายภาษาเยอรมัน เขียนเมื่อปี 1906 โดย คาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรป ชาวเดนมาร์ก
2
ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1917 ฉบับภาษาไทยแปลโดยเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป จากฉบับภาษาอังกฤษ (The Pilgrim Kamanita) ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาเยอรมันอีกทอดหนึ่ง
ในเรื่องนี้มีตัวละครที่น่าสนใจคนหนึ่งเป็นโจรชื่อวาชศรพ (วาด-ชะ-สบ)
ในตอนหนึ่งของเรื่อง กามนิตเดินทางข้ามเมืองระหว่างทางถูกโจรกลุ่มองคุลิมาลปล้น
ฆ่าคนของเขาตายหมดไว้ชีวิตแต่กามนิตและคนรับใช้พวกโจรจับกามนิตไว้เรียกค่าไถ่
ส่งคนรับใช้กลับไปเอาเงิน ขณะรอคนใช้กามนิตก็อยู่กับพวกโจร
1
วาชศรพเป็นบุตรพราหมณ์เกิดในเวลาดาวฤกษ์โจรขึ้น จึงมีอาชีพเป็นโจร แต่เนื่องเรียนมามากและสนใจศาสนาจึงมีหน้าที่เป็นผู้ทำพิธีบูชายัญ เหล่าโจรเชื่อว่าการบูชาเทพทำให้ปล้นง่ายขึ้น นอกจากนี้วาชศรพยังสอนธัมมะให้พวกโจรด้วย
3
ในหนังสือเขียนว่า
“การแสดงลัทธิมักเป็นไปในเวลากลางคืน ในระยะแปดค่ำข้างขึ้น เพราะเป็นเวลาว่างไม่สู้ได้ทำการปล้นนัก จะมีก็นานๆ เป็นพิเศษ พวกโจรชุมนุมกันในที่ว่างเป็นทุ่งกลางป่า นั่งล้อมกันเป็นวงอัฒจันทร์ซ้อนกันหลายแถว ส่วนตัวครูซึ่งชื่อ วาชศรพนั่งขัดสมาธิ แสงเดือนฉายแลเห็นศีรษะโล้น ดูไม่ผิดอะไรกับครูผู้สอนพระเวทให้แก่ศิษย์ในอาศรมกลางป่าแต่ว่าศิษย์ผู้ฟังในที่นี้ล้วนมีหน้าดุร้ายคล้ายสัตว์ป่ามากกว่าเป็นศิษย์ชนิดอยู่อาศรม”
วาชศรพเป็นผู้รอบรู้พระเวทขึ้นเจนใจ อาจรู้เรื่องควอนตัม ฟิสิกส์ ดีด้วย เพราะวาชศรพสอนพวกโจรเรื่องยากคือความว่างในอะตอม (ศัพท์ในนิยายเรียก อนุปรมาณู) ดังในบทที่ 10 รหัสยลัทธิ ข้อความว่า
1
“พระสูตรมีความว่าดั่งนี้: ‘สูเจ้าคิดถึงเทวะด้วยฤๅ?
1
หามิได้! ไม่แน่นัก เพราะความว่างเปล่า
เพราะคัมภีร์ และเพราะตำนาน (อิติหาส*)... (*อิติหาสเป็นคัมภีร์อินเดียโบราณว่าด้วยวีรกรรมของวีรบุรุษในมหาภารตะและรามายณะ)
‘เพราะความว่างเปล่า’ หมายความตามหลักแห่งเหตุผล คือว่าถ้าข้าพเจ้าตัดหัวคนหรือหัวสัตว์ดาบของข้าพเจ้าฟันเข้าไปในระวางอนุปรมาณูอันแยกไม่ได้ เพราะอนุปรมาณูนี้มีลักษณะแยกไม่ได้โดยแท้ ดาบของข้าพเจ้าจึ่งไม่ได้ฟันอนุปรมาณู เพราะฉะนั้น ดาพที่ว่าฟันลงไป จึงเป็นฟันในที่ว่างเปล่าระวางอนุปรมาณูก็ความว่างเปล่าใครเล่าจะเป็นผู้ทำอันตรายได้?
3
เพราะการทำอันตรายในสิ่งที่ไม่มีก็เท่ากับไม่ได้ทำอันตรายในสิ่งไรๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เอาดาบฟันลงไปในที่ว่างเปล่าจึงไม่ต้องรับผิดและจะรับเทวทัณฑ์ไม่ได้ ถ้าการฆ่ามนุษย์มีความจริงเป็นเช่นนี้แล้วไซร้กรรมอย่างอื่นที่มนุษย์ลงทัณฑ์แก่กันเบากว่าการฆ่าคน จะมีความจริงอีกสักเพียงไร?”
ความหมายของเรื่องท่อนนี้คือ การฆ่าไม่ใช่บาปเพราะเมื่อคมดาบผ่านร่างใคร มันไม่ได้ผ่านร่างคนมันผ่านที่ว่างแห่งอะตอมต่างหาก!
2
แต่ในที่สุด วาชศรพโจรนักฟิสิกส์ผู้มีปัญญาก็ถูกทางการปราบตัดหัวเสียบประจาน
หรือหากพูดแบบหลักควอนตัมดาบก็เพียงผ่านความว่างของอนุปรมาณูของลำคอเขาเท่านั้น
ความตายเป็นเพียงมายา!
ที่น่าทึ่งก็คือ นวนิยายที่มีคำว่า ‘อนุปรมาณู’ เล่มนี้เขียนขึ้นในปี 1906 ราวสิบปีหลังจากการค้นพบอิเล็กตรอน และราวยี่สิบปีก่อนที่โลกจะคิดค้นวิชา ควอนตัมฟิสิกส์
ด้วยแนวคิดเดียวกัน ในหนังเรื่อง Oppenheimer หญิงสาวคนหนึ่งขอให้ออพเพนไฮเมอร์อธิบายเรื่อง ควอนตัม ฟิสิกส์ ให้ฟัง เขาบอกว่า สิ่งต่างๆ ในโลก ทั้งตัวเรา สิ่งของรอบตัว
ประกอบขึ้นด้วยความว่างเป็นส่วนใหญ่
1
ออพเพนไฮเมอร์ไม่ได้เล่นลิ้น มันเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ หากเราชำแหละโครงสร้างอะตอมจะพบว่าตรงกลางคือนิวเคลียสอิเล็กตรอนวิ่งไปรอบๆ
สมมุติว่านิวเคลียสมีขนาดเท่าลูกบาสเกตบอลอิเล็กตรอนก็อยู่ไกลออกไปราวๆ 3 กิโลเมตร
พื้นที่ระหว่างอิเล็กตรอนกับนิวเคลียสก็คือความว่าง
1
นี่เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าพื้นที่ในอะตอมแทบทั้งหมดคือความว่าง และว่างมากด้วยดังนั้นการบอกว่าร่างกายเราประกอบขึ้นด้วยความว่าง ก็ไม่ผิด
1
แต่หากใช้เป็นเหตุผลของการเอาดาบฟันคนก็คงเข้าคุกสถานเดียว
1
อารยธรรมจีนโบราณก็พูดเรื่อง ‘ควอนตัม’ เหมือนกัน (อย่าเพิ่งสั่นหัวเรากำลังโยงหาเรื่องกันอยู่!)
ด้วยความรู้ทางฟิสิกส์ของโลกในเวลานี้ เรารู้ว่าสิ่งใหญ่ที่สุดคือจักรวาลและสิ่งเล็กที่สุดคือ
โลกควอนตัม เช่น อะตอม ทั้งสองอย่างเกิดขึึ้นจาก บิ๊ก แบง
บทที่ 42 ของคัมภีร์เต้าเต๋อจิงเขียนว่า
“เต๋าให้กำเนิดหนึ่ง หนึ่งให้กำเนิดสอง สองให้กำเนิดสาม สามให้กำเนิดสรรพสิ่งมากมายนับไม่ถ้วน สรรพสิ่งนับไม่ถ้วนเหล่านี้แบกหยินบนหลังโอบกอดหยางในวงแขน และผสมผสานพลังทั้งสอง”
ถ้าเราจับเต๋าบทนี้โยงเข้ากับฟิสิกส์ ‘หนึ่งให้กำเนิดสอง สองให้กำเนิดสาม...’ ก็ช่างคล้ายคลึงกับการกำเนิดธาตุต่างๆ
ในจักรวาลทั้งนี้เพราะธาตุในจักรวาลกำเนิดขึ้นหลังจากเกิด บิ๊ก แบง เริ่มที่ธาตุไฮโดรเจนเป็นธาตุแรกสุด โครงสร้างของไฮโดรเจนคือมีโปรตอนหนึ่งตัวเท่านั้นเอง
1
ธาตุที่สองที่เกิดตามมาคือฮีเลียมมีโปรตอนสองตัวและลิเทียมมีโปรตอนสามตัว จากนั้นก็เกิดธาตุอื่นๆ ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ มีจำนวนโปรตอนมากขึ้นเรื่อยๆ อีกร้อยกว่าธาตุ
1
โลกสมัยเล่าจื๊อย่อมยังไม่มีเครื่องมือและวิทยาการเรื่องอะตอม คนเขียนปรัชญาเต๋าคงไม่ได้หมายความอย่างนี้จริงๆ แต่การโยงเรื่องแบบนี้ทำให้จินตนาการเราไปไกลโลด เขียนนิยายได้
ศาสตร์อี้จิง (易經) ของจีนก็ ‘คุยเล่น’ เรื่องกำเนิดจักรวาลเช่นกัน
อี้จิงชี้ว่า ต้นกำเนิดของสรรพสิ่งคือ ไท่จี๋ (太極 แปลว่าความเป็นหนึ่ง ที่สุดสูงสุด) จีนโบราณเชื่อว่าก่อนกำเนิดจักรวาล
ไม่มีสิ่งใดเลย ฟ้าดินไม่มีรูปร่าง สภาวะนี้คือ ‘ความไร้’ หรือ ‘ความว่างเปล่าอันยิ่งใหญ่’
บางทีก็เรียกว่า ภาชนะแห่งจักรวาล
ทุกอย่างเริ่มจากความว่างเปล่า
เล่าจื๊อเขียนไว้ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิงบทที่ 40 ว่า :
“สรรพสิ่งมากมายในโลกถือกำเนิดมาจาก ‘ความมี’ แล ‘ความมี’ ถือกำเนิดมาจาก ‘ความไม่มี’..."
4
คิดเล่นๆ มันก็คล้ายสภาวะ singularity ก่อนเกิด บิ๊ก แบง!
1
หลังจากเกิด บิ๊ก แบง ก็เกิดธาตุต่าง ๆ เกิดดวงดาวต่างๆ ดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นดาวดวงหนึ่ง โดยโลกเราเป็นดาวเคราะห์ โคจรรอบดวงอาทิตย์ ระบบดาว (solar system) นี้มีมากมาย โคจรภายในดาราจักร​ (galaxy) ดาราจักรของเราเรียกทางช้างเผือก (Milky Way) ดาราจักรเกาะกลุ่มกันเป็น cluster
ซึ่งอาจมีอยู่ไม่กี่ดาราจักร หรือมากเป็นพันทางช้างเผือกของเรารวมกันอยู่ในกลุ่ม cluster
ที่มีชื่อว่า The Local Group ขนาด 10 ล้านปีแสง
1
cluster เหล่านี้อาจรวมกันเป็น supercluster ทั้งหมดก็อยู่ในจักรวาล (universe) แต่จักรวาลของเราก็อาจเป็นหนึ่งในจักรวาลนับไม่ถ้วน ที่เรียกว่า multiverse
จักรวาลใหญ่เหลือเกินและอาจมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน
ทีนี้มาลองอ่านคัมภีร์โบราณเล่มนี้ ในคัมภีร์จูฬนีสูตร เล่าตำนานที่ว่าพระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เบื้องนอกนั้นมีจักรวาลนับแสนโกฏิจักรวาล แต่ละจักรวาลมีความแตกต่างกัน เช่น โลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล
1
“ดูกร อานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน...
“ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง
มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง
มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง
มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง
มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน
มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง
มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง
มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง
มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง
มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง
มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง
มีพรหมโลกพันหนึ่ง...
1
“ดูกร อานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างกลาง มีล้านจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล...”
เรื่องขนาดของจักรวาลนี้การค้นพบทางวิทยาศาสตร์กับคัมภีร์โบราณสอดคล้องกันอย่างประหลาด
นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าเมื่อดวงดาวตาย ก็สลายตัวเกิดธาตุใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก เช่น
ธาตุหนักเกิดขึ้นเมื่อเกิดซูเปอร์โนวา ธาตุอื่นๆ ก็ก่อรูปขึ้นมาเป็นดาวใหม่ รีไซเคิลมาตลอด
ไม่สิ้นสุด
จักรวาลไม่มีการเกิด ไม่มีการตายมีแต่การเปลี่ยนรูป ซึ่งตรงกับความจริงทางฟิสิกส์ เพราะอะตอมของธาตุต่างๆ ไม่สลาย มันเปลี่ยนรูปภายนอกไปเรื่อยๆ เท่านั้น ตัวเราทุกคนก็เกิดมาจากซากของดวงดาว จักรวาลคือความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปวนเวียนไปมา
3
ศาสตร์อี้จิงเห็นว่า จักรวาลนั้นดำเนินไปด้วยกฎบางอย่างมันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จากรูปหนึ่งไปอีกรูปหนึ่งจากความซับซ้อนเป็นความเรียบง่ายความยุ่งเหยิงเป็นระเบียบ
แล้วย้อนกลับไปสู่ความไร้ระเบียบอีกจักรวาลที่ดูนิ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากใช้คำของอี้จิงก็คือ “สวรรค์มีความเคลื่อนไหว”
นี่ก็คือเหตุผลว่า คำว่า อี้ (易) แปลว่าการเปลี่ยนแปลง
อักษร อี้ ประกอบด้วยสองอักษรย่อยคืออาทิตย์และจันทร์
อาทิตย์และจันทร์นี้กินความกว้างกว่าแค่ดาราศาสตร์มันเป็นตัวแทนของพลังสองขั้วคือหยางกับหยิน
1
ในทางฟิสิกส์ก็มีสองขั้วเสมอ เช่น สสาร (matter)​ -ปฏิสสาร (antimatter) อนุภาค (particle) ก็มีปฏิอนุภาค (antiparticle) ที่มีมวลเท่ากัน แต่กลับขั้ว แม้แต่หลุมดำ นักฟิสิกส์ก็เชื่อว่าน่าจะมีหลุมขาว
1
ขั้วตรงข้ามแห่งหยินกับหยางปรากฏอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่อนุภาคที่เล็กที่สุด เช่น โปรตอนนิวตรอน อิเล็กตรอน ไปจนถึงสรรพสิ่งในจักรวาลตัวตนของอะตอมอยู่ได้เพราะความต่างนั้นกระทำต่อกัน
แม้แต่หลัก สสาร = พลังงาน (E = mc2) ก็คือการสลับรูปไปมาของสิ่งเดียวกัน
เอาละ หากทวิลักษณ์เป็นคุณลักษณ์ของจักรวาลเราอาจคิดเล่นๆ ต่อไปว่าบางทีจักรวาลก็มีอีกด้านหนึ่ง อาจเรียกว่าปฏิจักรวาล
สมมุติว่า จักรวาลที่เราอยู่นี้เป็นหยางสมมุติว่ามีจักรวาลที่เป็นหยินอยู่อีกด้านหนึ่ง เติบโตขยายตัวไปพร้อมๆ กับจักรวาลที่เราอยู่
ผมก็เคยใช้ไอเดียนี้แต่งนิยายเรื่อง อีกด้านหนึ่งของหลุมดำ โดยสมมุติว่าหลุมดำในจักรวาลเป็นตัวเชื่อมของสองจักรวาล หากเราเข้าไปในหลุมดำและหลุดออกมา อาจพบว่าโลกที่เราอยู่เป็นปฏิจักรวาล และทุกอย่างสลับกัน
3
ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ตัวละคร ‘ผู้พันเรวี’ ตามล่า ‘โกเรียน เรน’ หัวหน้าฝ่ายกบฏ โดยตามขึ้นยานอวกาศลำหนึ่ง โกเรียน เรน ทำสงครามกับสหพันธ์กลุ่มดาวดาโวเนียมานานหลายปี ทางการจึงส่งผู้พันเรวีไปตามล่า โดยขึ้นยานอวกาศพาณิชย์ลำหนึ่ง เพราะสืบทราบมาว่า โกเรียน เรน เป็นหนึ่งในผู้โดยสารของยานลำนั้น
1
โกเรียน เรน รู้ว่าถูกตามล่า ก็บุกเข้าห้องนักบินและคุมยานโจนยานเข้าไปในหลุมดำที่อยู่ห่างออกไป
เมื่อผ่านหลุมดำผู้พันเรวีรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลง
เขารู้สึกเหมือนเกิดใหม่ เมื่อออกจากหลุมดำเขาพบว่าตนเองถนัดซ้ายเหมือน โกเรียน เรน
จากเดิมที่ถนัดขวา
ผู้พันเรวีพบว่าเขากลายเป็น โกเรียน เรน ขณะที่โกเรียน เรน กลายเป็นผู้พันเรวี
นี่เป็นการคิดเล่นๆ สนุกๆ โดยโยงภูมิปัญญาโบราณกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แล้วเข้าโหมดฟุ้งซ่านต่อไปจนได้เรื่อง
ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราโยงกันได้ เช่นเรื่องสภาวะพรหมันตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
ศาสนาฮินดูเชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนมีวิญญาณหรือ ที่เรียกว่า อาตมัน อาตมันเป็นวิญญาณย่อย เมื่อเราตายมันจะหาทางกลับไปสู่สถานที่รวมวิญญาณย่อยทั้งหลาย ที่นั่นหรือสภาวะนั้นก็คือปรมาตมันปรมาตมันรวมวิญญาณย่อยเข้าด้วยกัน
อาตมันคือวิญญาณอิสระ ส่วนปรมาตมันเป็นปฐมอาตมันแห่งอาตมันทั้งปวง การเข้าถึงความหลุดพ้นหรือบรรลุโมกษะคือรวมวิญญาณอิสระเข้าด้วยกันกับจิตวิญญาณสูงสุด
นั่นคืออาตมันกลายเป็นปรมาตมัน สมมุติว่าปรมาตมันเป็นกองไฟใหญ่ สะเก็ดเปลวไฟที่กระจายออกมาโดยรอบก็คือวิญญาณย่อยที่ไปสิงตามสัตว์โลกต่างๆ เมื่อวิญญาณคืนสู่ศูนย์กลางรวมก็คือบรรลุจุดสูงสุด
เรื่องนี้ก็โยงได้กับอี้จิง เพราะในมุมมองของอี้จิง มนุษย์ไม่ใช่ตัวตนเอกเทศ แต่เป็น ‘อวัยวะ’
หนึ่งของจักรวาล
1
ไอเดียเครื่องจักร AC ในเรื่องสั้นของ ไอแซคอสิมอฟ The Last Question ที่สร้างจักรวาล
ก็อาจโยงได้กับปรมาตมันซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง
1
ไอน์สไตน์เคยบอกว่า หากมีพระเจ้าก็น่าจะเป็นแบบ ‘พระเจ้าของสปินโนซา’ เราอาจคิดเล่นต่อไปว่า
บางทีปรมาตมันก็คือพระเจ้าของสปินโนซาก็คือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
เราไม่รู้ว่าคนโบราณคิดเรื่องเหล่านี้มาได้อย่างไร เช่น ขนาดจักรวาล ทวิลักษณ์ ฯลฯ
ทำให้อดไม่ได้ต้องคิดเล่นๆ ต่อไปว่าบางทีคนโบราณก็เชื่อในประโยค “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
โฆษณา