18 มิ.ย. เวลา 05:00 • ข่าวรอบโลก

ซาอุฯ ไม่ต่ออายุข้อตกลง “เปโตรดอลลาร์” จริงหรือข่าวลวง ผลกระทบคืออะไร

ดูเหมือนจะเป็นข่าวใหญ่ที่ชวนให้ตลาดการเงินต้องตระหนก เมื่อมีข่าวสะพัดในโลกโซเชียลมีเดียช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจไม่ต่ออายุข้อตกลงซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ที่ใช้มายาวนานกว่า 50 ปีและทำให้สถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นสกุลเงินสำรองทั่วโลกที่ทรงอิทธิพล แน่นอนว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ความวุ่นวายทางการเงินอาจรออยู่เบื้องหน้า
1
แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดสื่อกระแสหลักจึงเพิกเฉยต่อข่าวนี้ ล่าสุดเว็บไซต์ MarketWatch ของดาวโจนส์ ให้เหตุผลน่าฟังว่า เพราะข่าวข้างต้นเป็น fake news หรือข่าวลวง พร้อมเหตุผล ดังนี้
ก่อนหน้านี้มีข่าวมาว่าอย่างไร
ต้องย้อนความไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น X ทำให้เกิดความตื่นตระหนก นั่นคือข่าวที่ว่า ข้อตกลงอายุ 50 ปีระหว่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบีย ที่มีมาตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2517 ซึ่งระบุให้ซาอุดีอาระเบียกำหนดราคาส่งออกน้ำมันดิบในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือที่เรียกกันว่าข้อตกลง “เปโตรดอลลาร์” ได้สิ้นสุดอายุลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา และฝ่ายซาอุดีอาระเบียก็ตัดสินใจที่จะไม่ต่ออายุข้อตกลงดังกล่าว
1
เกือบจะในทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป การค้นหาคำว่า "petrodollar" ในกูเกิล ก็พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ย้อนหลังไปถึงปี 2004 (ตามข้อมูลของ Google Trends)
โดยเงื่อนไขของข้อตกลงดังกล่าว ที่ทำให้การซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศ เป็นการซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงถือว่าเป็นข้อตกลงที่สำคัญต่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจโลกของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก
1
ข่าวระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังทำให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองฝ่าย และตอบสนองความต้องการทางทหารของซาอุดีอาระเบียในช่วงเวลานั้น ขณะที่สหรัฐเอง ก็ต้องการให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมัน และตัวเองก็ต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเขตอาหรับ
แต่เมื่อข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ ไม่ได้รับการต่ออายุ นั่นก็หมายความว่า ซาอุดีอาระเบียจะสามารถขายน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ โดยใช้สกุลเงินอื่นนอกจากดอลลาร์สหรัฐ เช่น เงินหยวนจีน เงินยูโร และเงินเยน หรือแม้แต่สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว หากเป็นเรื่องจริง ก็นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของซาอุดีอาระเบีย และจะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพลวัตเศรษฐกิจโลก โดยจะเป็นการจุดกระแสเร่งแนวโน้มการใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ “ดอลลาร์สหรัฐ” ในการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก
ข่าวยังระบุว่า ซาอุดีอาระเบียได้เข้าร่วมโครงการเอ็มบริดจ์ (mBridge) ซึ่งเป็นความพยายามในการสำรวจแพลตฟอร์มสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้ร่วมกันระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ โดยโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดน รวมถึงการทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT)
1
ถ้าเป็นจริง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
ทันทีที่มีข่าวออกมา นักวิเคราะห์หลายคนออกมาให้ความเห็นว่า ภัยคุกคามต่อเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองนั้นมีอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่มองว่าการสิ้นสุดของข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ระหว่างซาอุฯและสหรัฐ มีศักยภาพในระยะยาวที่จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินสหรัฐ
ทั้งนี้ หากซาอุดีอาระเบียเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่นในการซื้อขาย ก็จะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดน้ำมันและตลาดโลกมีบทบาทน้อยลง และถ้าหากความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกลดลง ก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสหรัฐสูงขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐ อ่อนแอลงด้วย
นักวิจารณ์หลายคนใน X ให้ความเห็นแบบฟันธงว่า ความวุ่นวายทางการเงินรออยู่ข้างหน้าแล้ว
ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีหลายประเทศอยู่เช่นกันที่กำลังมองหาแนวทางใช้เงินสกุลอื่นในการซื้อขายน้ำมัน เช่น สหราชอาณาจักร แม้จะยังคงใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขาย แต่รัฐบาลก็แสดงจุดยืนในความเปิดกว้างต่อการใช้สกุลเงินอื่นด้วยเช่นกัน
ส่วนประเทศอื่นที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงกลไกการซื้อขายน้ำมันเช่นกัน โดยรัฐบาลปักกิ่งพยายามโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ยอมรับการใช้เงินหยวนในการซื้อน้ำมันมาหลายปีแล้ว
สถิติชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา (2566) มีการซื้อขายน้ำมันโลกปริมาณกว่า 20% ในสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ
เหตุผลหักล้าง ยันข่าวนี้เป็น Fake News
ผู้เชี่ยวชาญด้านวอลล์สตรีทและนโยบายต่างประเทศหลายคนชี้ให้เห็นว่า มีข้อบกพร่องอยู่หลายจุดในข่าวที่เป็นไวรัลดังกล่าว และหนึ่งในเหตุผลหักล้างก็คือ ข้อตกลงดังกล่าวไม่เคยมีอยู่จริง อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในลักษณะที่อธิบายไว้ในโพสต์ที่แพร่ระบาดบนโซเชียลมีเดียเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
พอล โดโนแวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ UBS Global Wealth Management ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องราวข่าวปลอมดังกล่าวแพร่กระจายอย่างน่าประหลาดใจ
“เห็นได้ชัดว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือข่าวปลอม ข้อเท็จจริงก็คือ มีการลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1974 จริงๆ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน เพราะหลังจากนั้น (หลังจากที่มีข้อตกลง) ซาอุดิอาระเบียก็ยังคงขายน้ำมันในสกุลเงินสเตอร์ลิงอยู่เลย” โดโนแวนกล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับมาร์เก็ตวอทช์ (MarketWatch)
ข้อตกลงที่โดโนแวนอ้างอิงถึง คือข้อตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย (United States-Saudi Arabian Joint Commission on Economic Cooperation) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2517
1
มีการออกแถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในขณะนั้น และเจ้าชายฟาห์ด รองนายกรัฐมนตรีคนที่สอง (และต่อมาเป็นกษัตริย์และนายกรัฐมนตรี) ของซาอุดีอาระเบีย ข้อมูลนี้มีการบันทึกไว้ในรายงานที่พบได้บนเว็บไซต์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสหรัฐ
ข้อตกลงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายให้มีอายุการใช้งาน 5 ปี แต่ที่ผ่านมาก็มีการต่ออายุ ขยายเวลาข้อตกลงมาแล้วหลายครั้ง เหตุผลสำคัญที่จัดทำข้อตกลงนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา คือหลังจากที่โอเปกแบนการส่งออกน้ำมันให้กับสหรัฐ(รวมทั้งอีกบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์) เมื่อปี 1973 หรือพ.ศ. 2516 ด้วยประเด็นที่เกี่ยวพันกับอิสราเอล
2
ปีถัดมาทั้งสหรัฐและซาอุดีอาระเบียต่างกระตือรือร้นที่จะจัดทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการ เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละฝ่ายจะได้รับประโยชน์ที่ต้องการ เพราะหลังการคว่ำบาตรครั้งนั้น ราคาน้ำมันดิบก็พุ่งสูง ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียมีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนมาก และผู้นำของซาอุฯ ก็หวังจะใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งนี้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน
1
ในเวลาเดียวกัน สหรัฐเองก็ต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบีย และสนับสนุนให้ซาอุฯ นำเงินดอลลาร์หมุนเวียนกลับมาใช้คืนสู่เศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลวอชิงตันต้องการสร้างความมั่นใจว่า จะไม่มีการคว่ำบาตรสหรัฐเหมือนเมื่อปี 1973 อีก ซึ่งครั้งนั้น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงก่อให้เกิดกระแสเงินเฟ้อ ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นที่ล่มสลาย
โดโนแวนและคนอื่นๆ แสดงความเห็นลบล้างข่าวไวรัลเรื่องการยกเลิกข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ว่า ข้อตกลงอย่างเป็นทางการที่เรียกร้องให้ซาอุดิอาระเบียกำหนดราคาน้ำมันดิบเป็นดอลลาร์สหรัฐไม่เคยเกิดขึ้น เพราะในความเป็นจริงก็คือ หลังจากนั้น ซาอุดีอาระเบียก็ยังคงยอมรับชำระค่าน้ำมันด้วยเงินสกุลอื่นอยู่ โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ แม้ว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันกับสหรัฐในปี 1974 (พ.ศ. 2517) แล้วก็ตาม
จนกระทั่งเวลาต่อมาในปีเดียวกันนั้น ซาอุฯเพิ่งจะมาหยุดรับเงินปอนด์ในการชำระเงินค่าน้ำมัน
สิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า “ใกล้เคียงที่สุด” กับข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ น่าจะเป็นข้อตกลงลับระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย ที่ทำไว้ในช่วงปลายปี 2517 ซึ่งสหรัฐสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางทหารและยุทโธปกรณ์ เพื่อแลกกับการที่ซาอุดีอาระเบียนำเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมัน มาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (ซึ่งทำให้ซาอุฯกลายเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ)
ข้อตกลงลับๆนี้ เพิ่งจะมีการเปิดเผยในปี 2559 เมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กยื่นคำขอเข้าถึงข้อมูลภายใต้พระราชบัญญัติเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐ
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซาอุฯ เปิดกว้างรับเงินสกุลอื่น
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ในระยะหลังๆ นี้ว่า ซาอุดีอาระเบียเปิดกว้างมากขึ้นที่จะรับสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐสำหรับการซื้อขายน้ำมัน เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียได้เจรจากับรัฐบาลจีนมาเนิ่นนานหลายปีแล้วเกี่ยวกับการรับชำระค่าน้ำมันเป็นเงินหยวน
เจฟฟรีย์ ไคลน์ท็อป (Jeffrey Kleintop) หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนระดับโลกของ Schwab โพสต์ความเห็นบน X เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ถึงแม้จีนและซาอุดีอาระเบีย จะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวกัน แต่ก็เชื่อว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบการเงิน การประกัน และการขนส่งน้ำมันเกือบทั้งหมดทั่วโลกยังคงต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เชื่อว่า ซาอุดีอาระเบียจะยังคงต้องการให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักในการชำระเงินต่อไป
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากการเป็นเงินสกุลหลักในการชำระเงินแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงรักษาบทบาทของตนในฐานะ “สกุลเงินสำรองหลัก” ของโลก ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ดูเหมือนว่า สิ่งนี้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีรายงานว่าสหรัฐและซาอุดิอาระเบียใกล้จะลงนามในสนธิสัญญาด้านกลาโหมครั้งสำคัญในเร็วๆนี้
“ท้ายที่สุดแล้ว คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ ซาอุดีอาระเบียจะเปลี่ยนสกุลเงินหลักที่ตนถืออยู่ในทุนสำรอง(เงินตราต่างประเทศ) หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้เงินส่วนใหญ่ในทุนสำรองก็เป็นดอลลาร์สหรัฐ” โดโนแวนกล่าว
ข้อมูลล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ส่วนแบ่งของเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองทั่วโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีเงินสกุลคู่แข่งรายใดที่จะสามารถรวบรวมส่วนแบ่งมากพอที่จะท้าทายอิทธิพลของเงินดอลลาร์
ล่าสุด ตามข้อมูล FactSet ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่แข่งในสัปดาห์นี้ โดยดัชนี ICE US Dollar Index DXY เพิ่มขึ้น 0.6% เป็น 105.51 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่าหนึ่งเดือน
ข้อมูลอ้างอิง
  • Reports of the petrodollar system's demise are 'fake news' - here's why
  • Saudi Arabia Opts Out of 50-Year Petrodollar Deal with US, Paving the Way for Diversified Currency Usage
  • Is Saudi Arabia dropping the petrodollar?
  • Oil Embargo, 1973–1974
โฆษณา