19 มิ.ย. เวลา 03:47 • ข่าวรอบโลก

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของลอร์ดแคเมอรอน แห่งชิปปิงนอร์ตัน

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของลอร์ดแคเมอรอน แห่งชิปปิงนอร์ตัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร
ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นเคยกับสหราชอาณาจักรกันเป็นอย่างดี แต่บางท่านก็อาจยังสับสนว่า ‘สหราชอาณาจักร’ กับ ‘อังกฤษ’ นั้นแตกต่างกันอย่างไร? สหราชอาณาจักร (United Kingdom) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งที่จริงแล้ว สหราชอาณาจักรคือ
การรวมตัวกันของประเทศ 4 ประเทศ คือ 1) อังกฤษ 2) สกอตแลนด์ 3) เวลส์ และ 4) ไอร์แลนด์เหนือ โดยอังกฤษนั้นมีฐานะเป็นหนึ่งในเขตการปกครองของสหราชอาณาจักรเท่านั้นครับ
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ลอร์ดแคเมอรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน หรือนายเดวิด แคเมอรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของลอร์ดแคเมอรอน เลยครับ โดยวันนี้เราได้รับเกียรติจากคุณณัฐวรา สนิทวงศ์ นักการทูตปฎิบัติการจากกองยุโรปตะวันตก
กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในทีมงานเบื้องหลังความสำเร็จนี้ มาบอกเล่าถึงที่มาและความสำคัญของการเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้กันครับ
“ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ลอร์ดแคเมอรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร”
คุณณัฐวรา บอกกับเราว่าการเดินเยือนไทยครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกอย่างเป็นทางการ หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรของลอร์ดแคเมอรอน ซึ่งลอร์ดแคเมอรอน เลือกเดินทางเยือนไทยเป็นประเทศแรกก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย เพราะสหราชอาณาจักรมองว่าไทยเป็นผู้เล่นที่มีอิทธิพลในภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก และมีความสำคัญในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน
คุณณัฐวรา สนิทวงศ์ นักการทูตปฎิบัติการ ประจำกรมยุโรป กองยุโรปตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศ (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
โดยลอร์ดแคเมอรอนเองก็ได้โพสข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ว่า “ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยและสหราชอาณาจักรมีมูลค่าการค้าระหว่างกันราว 6 พันล้านปอนด์ต่อปี โดยหากไทยและสหราชอาณาจักรทำงานร่วมกันก็จะสามารถส่งเสริมความมั่นคงให้กับภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น และช่วยสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นได้ในสหราชอาณาจักร” โดยข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า สหราชอาณาจักรนั้นให้ความสำคัญต่อประเทศไทยมากแค่ไหน
(ที่มา: X @Thavisin)
โดยการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อลงนามในเอกสารแผนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร (Thailand-UK Strategic Partnership Roadmap) โดยจะส่งผลให้ไทยและสหราชอาณาจักรยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศสู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ
ซึ่งแผนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ฯ นั้นเป็นการต่อยอดจากการจัดตั้งกลไกการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร (Thailand-UK Strategic Dialogue) ในปี 2555 เมื่อครั้งนายเดวิด คาเมรอน ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร
ตอนนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า “แผนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร” นั้นคืออะไร? คำตอบก็คือแผนดังกล่าวนั้นเปรียบได้กับ Roadmap ที่กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้านและหลายมิติระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร
‘รู้หรือไม่’ สหราชอาณาจักรเป็นชาติแรกในทวีปยุโรป
ที่มีความร่วมมือในรูปแบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับไทย
แผนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร นั้นประกอบไปด้วยการส่งเสริมความร่วมมือ 8 ด้านด้วยกันคือ 1) เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน 2) การเมืองรัฐสภาและพหุภาคี 3) ความมั่นคงและกลาโหม 4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน 5) เกษตรกรรม 6) ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 7) สาธารณสุข และ 8) ความสัมพันธ์ระดับประชาชน การศึกษา และ Soft Power
คุณณัฐวราบอกกับเราว่าสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือ 8 ด้านนั้น มีความร่วมมือ 2 ด้านที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ‘ด้านการค้าและการลงทุน’ และ ‘ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เพราะปัจจุบันสหราชอาณาจักรต้องการแสดงบทบาทนำในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยสหราชอาณาจักรได้ประกาศสนับสนุนเงินทุนจำนวน 6 ล้านปอนด์ ให้กับประเทศไทยผ่านโครงการ UK PACT (UK Partnering for Accelerated Climate Transitions) เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สหราชอาณาจักรยังได้ผลักดันการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้นกันมากขึ้น (Enhanced Trade Partnership: ETP) โดยปัจจุบัน สหราชอาณาจักรถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทยในยุโรป
ความร่วมมืออีกหนึ่งด้านที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ‘ด้านความมั่นคง’ ผ่านการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนด้านกลาโหมระหว่างกัน โดยในการเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ลอร์ดแคเมอรอน ได้เข้าเยื่อมชมฐานทัพอากาศ จ.นครราชสีมา พร้อมชมเครื่องบินรบ Gripen ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร สวีเดน และสหรัฐอเมริกา โดยชิ้นส่วนกว่าร้อยละ 40 นั้นผลิตในสหราชอาณาจักร ซึ่งการจัดซื้อเครื่องบินรบ Gripen จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับกองทัพอากาศไทย และสร้างอาชีพให้แก่ผู้คนในสหราชอาณาจักรไปพร้อม ๆ กัน
ลอร์ดแคเมอรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ขณะเข้าเยื่อมชมเครื่องบินรบกริปเฟน ณ ฐานทัพอากาศ จ.นครราชสีมา (ที่มา: สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย)
สำหรับความร่วมมือ ‘ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ และ ‘ด้านสาธารณสุข’ นั้นก็เป็นอีกหนึ่งด้านที่ไม่สามารถมองข้ามได้ โดยทางสหราชอาณาจักรได้มีการจัดตั้งกองทุน International Science Partnerships Fund (ISPF) เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ร่วมกับชาติพันธมิตร ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคอุบัติใหม่ และความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ลอร์ดแคเมอรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ขณะเข้าเยื่อมชมงานวิจัยและนวัตกรรม ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
นอกจากลงนามเอกสารแผนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ แล้วลอร์ดแคเมอรอน ยังได้ลงนามในเอกสารสำคัญอีกหนึ่งชิ้นก็คือ “ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-สหราชอาณาจักร” (Air Services Agreement) ซึ่งคุณณัฐวราบอกว่า ความตกลงนี้จะช่วยเพิ่มเส้นทางการบินและเที่ยวบินระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร ส่งผลให้ความสัมพันธ์ในระดับภาคประชาชนใกล้ชิดกันมากขึ้น
ความตกลงนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้เยอะมากขึ้นตามไปด้วย จากปัจจุบันที่มีนักเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเดินทางเข้ามาในไทยราว 8 แสนราย ไม่แน่ในอนาคตอาจมีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากถึง 1 ล้านราย
ไทยและสหราชอาณาจักรนั้นผูกพันกันมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2568 จะถือเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร เพราะจะก้าวเข้าสู่วาระการครบรอบ 170 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกัน โดยคุณณัฐวราแอบกระซิบบอกกับเราว่า ในวาระพิเศษเช่นนี้ ไม่แน่ในช่วงปีหน้านี้เราอาจได้เห็นการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปหากันได้ง่ายยิ่งขึ้น
คุณณัฐวรา สนิทวงศ์ (แถวแรก คนที่ 3 จากขวา) และทีมงานจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
โฆษณา