19 มิ.ย. เวลา 04:10 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Thai Festival โปรโมตความนิยมไทย ผ่านเทศกาลไทยในต่างประเทศ

มัตสึริ มัตสึริ ~ ~ ท่อนหนึ่งจากเพลงสุดฮิต Matsuri ของหนุ่ม Fujii Kaze ศิลปิน J-Pop ดาวรุ่งที่ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยิน รู้หรือไม่ว่าความหมายของคำว่า Matsuri (祭り) ในบทเพลงนั้นหมายถึง งานเทศกาล (Festival) ซึ่งเป็นสถานที่และช่วงเวลาอันน่าจดจำ ที่ผู้คนเลือกออกไปใช้เวลาดังกล่าวนั้นร่วมกับครอบครัว เพื่อน และคนที่รัก
หนึ่งในเทศกาลสำคัญที่ชาวญี่ปุ่นต่างรอคอยเพื่อเข้าร่วมในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะโยโยงิ ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวอย่างฮาราจูกุ และชิบูย่า ในกรุงโตเกียว ก็คือ “เทศกาลไทย” หรือ “Thai Festival” โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาเทศกาลไทยได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากชาวเมืองโตเกียว โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเลยทีเดียว
Fujii Kaze ศิลปิน J-Pop เจ้าของเพลง Matsuri และ Michi Teyu Ku (Overflowing) ขณะเข้าร่วมงาน Thai Festival 2023 ณ กรุงโตเกียว (ที่มา: Instagram @fujiikaze)
เทศกาลไทยนั้นมีการจัดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือเผยแพร่วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้กับผู้คนทั่วโลกได้สัมผัส เพื่อสร้างความนิยมประเทศไทยในกลุ่มชาวต่างชาติและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในเทศกาลไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และมีการจัดอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี ก็คือเทศกาลไทยที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นั่นเอง
“การทูตเชิงอาหาร – Gastrodiplomacy”
เทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2543 โดยเดิมทีใช้ชื่อว่า ‘เทศกาลอาหารไทย’ (Thai Food Festival) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นที่นิยมบนเวทีโลก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศผ่านเสน่ห์ปลายจวักของตามเอกลักษณ์แบบไทย ตามแนวคิด ‘การทูตเชิงอาหาร’ (Gastrodiplomacy) จนทำให้อาหารไทยอย่างเช่น ผัดกะเพรา พะแนง แกงมัสมั่น และอื่นๆ อีกมากมาย ได้รับความนิยมจนเป็นหนึ่งในอาหารจานหลักบนโต๊ะอาหารของผู้คนทั่วโลก
ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
เทศกาลอาหารไทยได้เสียงตอบรับอย่างท่วมท้น เป็นสาเหตุให้ในปี 2548 เทศกาลอาหารไทยได้รับการต่อยอดกลายเป็น ‘เทศกาลไทย’ (Thai Festival) เพื่อเผยแพร่เสน่ห์และภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในหลากหลายด้าน ไม่ใช่เพียงด้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดง แหล่งท่องเที่ยว และผ้าไทย ซึ่งไม่เพียงจัดแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังได้เดินหน้าจัดเทศกาลไทยในทุกภาคพื้นทวีปทั่วโลกด้วย
“ซอฟต์พาวเวอร์ และการทูตสาธารณะ”
เป้าหมายหลักของการจัดเทศกาลไทยในประเทศต่างๆ คือเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในสายตาชาวโลก ตามการดำเนินนโยบายต่างประเทศในรูปแบบ ‘การทูตสาธารณะ’ (Public Diplomacy) และ ‘การทูตวัฒนธรรม’ (Cultural Diplomacy) ในการส่งออกวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่นิยมบนเวทีโลก หรือที่ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศนี้ในชื่อ ‘นโยบายการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์’ นั่นเอง
บรรยากาศงาน SAWASDEE DC Thai Festival 2023 ณ กรุงวอชิงตัน (ที่มา: สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน)
หนึ่งในประเทศที่ดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นระบบจนเกิดเป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลกก็คือ ‘เกาหลีใต้’ ที่ได้ปูรากฐานเรื่องมาตรฐานการส่งเสริมวัฒนธรรมถ่ายทอดผ่านละคร ภาพยนตร์ และดนตรี จนกลายเป็นกระแส Korean Wave หรือ Hallyu ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม อาหาร ภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
สำหรับประเทศไทยเอง ได้นำตัวอย่างของเกาหลีใต้มาปรับใช้ด้วยเช่นกัน โดยมีเทศกาลไทยเป็นหนึ่งในสื่อกลางในการส่งเสริมความนิยมไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะ สื่อบันเทิง อย่างเพลงและดนตรีที่สามารถเข้าถึงผู้คนหลากหลายพื้นที่ได้มากที่สุด ดั่งคำกล่าวของนายเฮนรี ลองเฟลโลว์ กวีชาวอเมริกันที่กล่าวว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ”
วง 4Mix เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของวงการ T-Pop ที่โด่งดังไกลไปถึงภูมิภาคลาตินอเมริกาอย่างประเทศเม็กซิโก โดยการแสดงของวง 4Mix ในงาน Thai Festival in Mexico 2023 มีแฟนคลับมาชมเต็มพื้นที่การแสดงมากกว่า 2,500 คน
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้วง 4Mix ได้รับความนิยมอย่างมาก คือเอกลักษณ์ที่แตกต่าง และการนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศที่ความหลากหลาย โดยไม่ติดอยู่ในกรอบความเป็นชาย-หญิงแบบเดิม ซึ่งการออกไปแสดงบนเวทีต่างๆ ทั่วโลกของวง 4Mix นั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งสามารถช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่เป็นมิตรและมีความปลอดภัยต่อชาว LGBTQ+
บรรยากาศการแสดงของวง 4Mix ณ งาน Thai Festival in Mexico 2023 ณ กรุงเม็กซิโก (ที่มา: สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเม็กซิโก)
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับการนำเสนอภายในเทศกาลไทยก็คือ ‘อุตสาหกรรมซีรีส์วาย (BL)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมอยากมากในปัจจุบัน สำหรับเทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว ปีนี้ก็ได้นำนักแสดงซีรีส์วาย เต-ตะวัน และ นิว-ฐิติภูมิ สองนักแสดงจากซีรีส์ ‘Cherry Magic 30 ยังซิง’ ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากต้นฉบับการ์ตูนมังงะภาษาญี่ปุ่นในชื่อ ‘30 ยังซิงกับเวทมนตร์ปิ๊งรัก’ (30歳まで童貞だと魔法使いになれるらしい) ไปร่วมจัดกิจกรรมพบปะกับเหล่าแฟนคลับภายในงานด้วย
อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยสำนักข่าว Nikkei Asia เคยออกมารายงานว่า อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยนั้นเปรียบได้กับอุตสาหกรรมเพลง K-Pop ของเกาหลีใต้ ที่กำลังเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลก ในญี่ปุ่นเอง #ThaiNuma ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่ง #ThaiNuma นั้นมีที่มาจากคำภาษาญี่ปุ่น 2 คำ คือ タイ (tai) ที่หมายถึงประเทศไทย และ 沼 (numa) ที่หมายถึงบึงหรือหนองน้ำ
เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันก็หมายถึงการโดนหนุ่มๆ นักแสดงซีรีส์วายตกเข้าด้อมแฟนคลับนั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแต่แฟนคลับชาวญี่ปุ่นที่โดนตกเท่านั้น แต่ยังมีแฟนคลับจำนวนมากทั่วโลกที่ตกอยู่ภายใต้เสน่ห์ของอุตสาหกรรมซีรีส์วายไทย
นิว-ฐิติภูมิ กับ เต-ตะวัน (สองภาพบน) สองนักแสดงจากซีรีส์เรื่อง ‘Cherry Magic 30 ยังซิง’ ขณะเข้าร่วมงาน Thai Festival 2024 ณ กรุงโตเกียว (ที่มา: เพจ Thai Festival Japan)
นักแสดงนำซีรีย์ Big Dragon the Series ขณะจัดงาน Fan meeting และเข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเม็กซิโก (ที่มา: สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเม็กซิโก)
อาจกล่าวได้ว่า เทศกาลไทยที่จัดขึ้นในเมืองต่างๆ ทั่วโลกคือกิจกรรม Showcase เพื่อโชว์ศักยภาพของประเทศไทยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ โดยในปัจจุบันที่จุดขายของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงแค่แหล่งท่องเที่ยว อาหารไทย หรือมวยไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังได้ต่อยอดและครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง T-Pop และซีรีส์ BL ที่กำลังดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเองในประเทศไทยอีกด้วย
บรรยากาศงาน Thai Festival 2024 ณ เมืองไทเป (ที่มา: สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป))
โฆษณา