18 มิ.ย. 2024 เวลา 00:09 • ศิลปะ & ออกแบบ

MOCA Bangkok : ประติมากรรมเสาอโศก : ธงชัย สุขประเสริฐ

“เสาอโศก” หรือ “เสาแห่งพระเจ้าอโศก” (Pillars of Ashoka) เป็นเสาสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาในผืนแผ่นดินแห่งชมพูทวีปเมื่อครั้งอดีตกาล สร้างขึ้นโดยพระราชโองการของพระเจ้าอโศก (King Ashoka) กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ หรือ เมารยะ (Maurya)
โดยจะสร้างเสาศิลาปักตั้งไว้ ณ ตำแหน่งของสถานที่ที่เป็นสังเวชณียสถาน และสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สันนิษฐานว่า การสร้างเสาอโศกไม่เพียงแต่เป็นการระบุถึง ที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนการประกาศถึงพระพุทธศาสนาที่ได้ขยายขอบเขตแว่นแคว้นไปทั่วทุกแห่งหนในรัชสมัยของพระองค์ เป็นเครื่องหมายแทนพุทธบูชา และเตือนขุนนางทั้งปวงให้ปกครองราษฎรโดยธรรม
ที่มาของการค้นพบเสาอโศกนั้น มีการพบครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 (คริสต์ศตวรรษที่ 16) ในบริเวณซากเมืองโบราณที่เมืองเดลี โดยนักโบราณคดีชื่อ โทมัส คอร์ยาต ( Thomas Coryat) ในครั้งนั้น ได้มีการพบแท่งเสาศิลา และอักษรปริศนาที่ไม่เข้าใจในความหมาย
จนกระทั่งเมื่อช่วงสมัยที่อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียเป็นอาณานิคม เมื่อปี พ.ศ.2373 (ค.ศ.1830) จึงได้มีการสำรวจซากเมืองและแท่งเสาหินอีกครั้งโดย เจมส์ ปรินเซบ (James Prinsep) และได้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านคือ กัปตันเอ็ดวาร์ด สมิธ (Edward Smith) และ จอร์จ เทอนัวร์ (George Turnour) ร่วมกันศึกษา และสามารถถอดความหมายของจารึกบนแท่งเสาศิลาได้ในที่สุด
.. และพบว่า แท่งเสาหินดังกล่าวนี้เป็นของกษัตริย์ผู้เรียกขานกันว่า “ปิยะทัสสี” (Piyadasi) หมายถึง ผู้เป็นที่รักของเทพเทวา หรือก็คือกษัตริย์ผู้มีพระนามว่า “พระเจ้าอโศก” (King Ashoka) ผู้ครองแผ่นดินโมริยะ (เมารยะ) นั่นเอง
คำจารึกบนเสาอโศก จากเดิมที่เป็นปริศนาไร้คำตอบ กลายมาเป็นความกระจ่างที่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์สามารถเข้าใจในเรื่องราว และความหมาย อีกทั้ง คำจารึกดังกล่าวเป็นอักษรพราหมี (Brahmi) อันเป็นอักษรของตระกูลภาษาปรากฤต (Prakrits) ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านในแคว้นอวันตี เข้าใจว่า เป็นความประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการให้ราษฎรสามารถอ่าน และเข้าใจได้โดยง่าย
จากหลักฐานจารึกดังกล่าว ได้บันทึกว่า แต่เดิมนั้นพระเจ้าอโศกมิได้นับถือในพระพุทธศาสนา ตัวพระองค์เองก็สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาคือพระเจ้าจันทรคุปต์ ด้วยการทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติกับเจ้าชายสุมนะผู้เป็นพระเชษฐา ก่อให้เกิดสงครามเข่นฆ่าระหว่างพี่น้องร่วมสายโลหิต ท้ายสุด พระเจ้าอโศกได้สังหารพระเชษฐา ก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองแผ่นดินเป็นกษัตริย์แห่งโมริยะ (เมารยะ) เมื่อพ.ศ.274 (269 ปีก่อนค.ศ)
ในช่วงแรกของการเสวยราชสมบัติ พระเจ้าอโศกทรงปกครองแผ่นดินด้วยความโหดร้าย และโหดเหี้ยมทารุณต่อผู้ที่ขัดขวางอำนาจของพระองค์ ในขณะเดียวกัน ก็ทรงทำสงครามขยายอาณาจักรของพระองค์ออกไปอย่างกว้างไกล แต่แล้ว เหตุแปรเปลี่ยนที่ทำให้พระเจ้าอโศกกลับกลายจากทรราชเป็นมหาราชนั้น ก็คือ เหตุการณ์เมื่อครั้งทรงทำสงครามครั้งใหญ่กับแคว้นกลิงกะ (Kalinga) เมื่อปีพ.ศ.282 ซึ่งเป็นปีที่ 8 หลังการครองราชสมบัติ แม้ในครั้งนั้น พระองค์จะเป็นฝ่ายมีชัยชนะในสงคราม แต่ก็ได้ทำให้ประชาชนล้มตายเกลื่อนกลาด ดังที่มีปรากฎในคำจารึกว่า
“...สงครามกับกลิงกะ แม้จักได้เชลยศึกมากว่า 150,000 คน แต่ทว่า ข้าศึกกว่า 100,000 คน ก็ได้ถูกเข่นฆ่าสังหารล้มตายกลางสมรภูมิอย่างน่าเอน็จอนาถใจนัก...”
หลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้พระองค์ทรงรู้สึกเศร้าสลดใจ และเริ่มสำนึกในบาปกรรมอันมหันต์ ต่อมา พระเจ้าอโศกได้มาพบพานกับสามเณรน้อย “นิโครธ” ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสุมนะพระเชษฐาที่พระองค์ทรงสังหาร
สามเณรได้แสดงธรรม และตักเตือนให้พระองค์ละเว้นจากบาปกรรมและให้ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ทำให้พระเจ้าอโศกทรงสำนึกพระองค์ และทรงประจักษ์แจ้งแล้วว่า “ชัยชนะที่แท้จริงนั้นคือชัยชนะโดยธรรม นี่จึงนับเป็นชัยชนะอันสูงสุด” ดังนั้น นับตั้งแต่นั้นมา พระองค์จึงละเว้นจากบาปกรรมทั้งปวง และทรงทุ่มเทชีวิตให้กับการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เพื่อให้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ออกไปทั่วแผ่นดินของพระองค์
เสาอโศก ณ พิพิธภัณฑ์สารนาถ ประเทศอินเดีย
หลังจากนั้นมา พระเจ้าอโศกจึงได้โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ที่เมืองปาฏลิบุตร ทรงสร้างสถูปที่สาญจี และส่งพระธรรมฑูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยแบ่งออกเป็น 9 สาย ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปทั่วทุกดินแดนแว่นแคว้น และไปสู่นานาประเทศในเวลาต่อมา
นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยือนราษฎร และทรงเสด็จธรรมยาตราตามรอยพระพุทธองค์ โดยเสด็จไปยังพุทธสังเวชนียสถาน และพุทธสถานทั่วทุกหนแห่ง และ ณ ทุกๆ ที่ที่ทรงเสด็จไปถึง จะมีรับสั่งให้สร้าง “เสาศิลา” เพื่อจารึกอักษรถึงความสำคัญของสถานที่ และเหตุการณ์อันสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นประจักษ์พยานสืบต่อไป
ซึ่งการจารึกนั้น มีทั้งการสร้างเสาศิลาที่ทรงประดิษฐานด้วยพระองค์เอง และเสาศิลาที่ทรงให้เจ้าเมืองในแคว้นต่างๆ จัดสร้างขึ้นแทน รวมทั้งหาก ณ ที่ใดไม่อาจสร้างได้ ก็ให้ใช้วิธีจารึกไว้บนผนัง หรือแผ่นหินต่างๆ แทน
ทำให้ในทุกวันนี้ จึงสามารถพบหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวในหลายประเทศปัจจุบัน เช่น อินเดีย ปากีสถาน และ อัฟกานิสถาน เป็นต้น แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใด สามารถบอกได้ว่า แท้ที่จริงแล้วมีเสาศิลาจารึก หรือที่เรียกกันว่า “เสาอโศก” อยู่จำนวนเท่าใด แต่ก็มีตำนานเล่าขานกันว่า ทรงโปรดให้สร้างเสาศิลาไว้ถึง 84,000 ต้น (บางบันทึกกล่าวว่าเป็นจำนวนของเจดีย์ 84,000 องค์)
เสาอโศก ณ พิพิธภัณฑ์สารนาถ ประเทศอืนเดีย
การสร้างเสาอโศกนั้น สร้างจากหินทรายสีแดงอมชมพู (red sandstone) และ หินทรายขาว (white sandstone) โดยใช้หินจากแหล่งหินทรายที่ตำบลจูนาร์ เมืองวาราณสี เสาแต่ละต้นมีขนาดความสูงตั้งแต่ 40 – 70 ฟุต มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 50 ตัน ใช้ช่างแกะสลักฝีมือดีในการสร้าง และขนส่งไปยังดินแดนต่างๆ ด้วยการขนส่งทางบก และทางเรือ
ลักษณะของเสาอโศก จะมีรูปร่างเป็นแท่งปล่องเสาเรียวสูงขึ้นสู่ปลายด้านบน ส่วนฐานเสามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ และค่อยๆ ลดขนาดลงเมื่อถึงปลายหัวเสา ลำต้นเป็นผิวเรียบ ไม่สลักลวดลาย แต่จะมีการแกะสลักจารึกอักษรแสดงถึงความสำคัญของสถานที่นั้นๆ ไว้บนเสา
ทุกวันนี้ เสาอโศกมีตั้งปรากฎอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศอินเดียปัจจุบัน เสาหลายต้นถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ บางต้นถูกทำลายโดยธรรมชาติ และพังทลายไปตามกาลเวลา
เสาอโศก @ MOCA
- สร้างสรรค์โดย ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นบันไดเลื่อนชั้น G
- ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม หัวเสามีรูปสิงโต เป็นสัญลักษณ์ถึงพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่องอาจดั่งราชสีห์ และส่งเสียงคำรามไปกว้างไกล
- รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ว่า เรากำลังจะเข้าสู่พื้นที่แห่งพระพุทธธรรม
โฆษณา