18 มิ.ย. เวลา 00:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เรื่องที่มนุษย์เงินเดือนควรสนใจ มาอ่านกัน...

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund ; PVD) เป็นสวัสดิการที่ดีอย่างหนึ่งที่นายจ้างมีให้กับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ซึ่งเราจะสมัครเข้า PVD หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่สมัครใจ
ถ้าเราสมัครเข้า PVD เขาก็จะให้เราเลือกว่าจะหักเงินเข้ากี่ % ของเงินเดือน ซึ่งสูงสุดคือ ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน
ส่วนนายจ้างก็จะช่วยสมทบเข้ามา ตาม % ที่เราหักเข้าไป แต่บางทีก็จะมีเพดานว่า จะช่วยสมทบสูงสุดไม่เกินกี่ % ของเงินเดือน
และก็จะมี บลจ. หรือคนมาช่วยดูแล นำเงินเหล่านี้ไปลงทุนต่อ ตามแผนการลงทุนที่เราเลือกไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีให้เลือกหลากหลายแผนการลงทุน เพื่อให้เงินงอกเงย เกิดเป็นส่วนที่เรียกว่า "เงินผลประโยชน์"
เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมี 4 ส่วน
1. เงินสะสม เงินที่เราถูกหักจากเงินเดือนของเราทุกเดือนเข้าไปอยู่ในกอง PVD
2. ผลประโยชน์ของเงินสะสม คือ กำไรที่งอกเงยขึ้นมาจากเงินในส่วน “เงินสะสม”
3. เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ามาเติมให้เราทุกเดือน ตามแต่ละบริษัทกำหนดไว้ เช่น ถ้าเราหักเงินเดือนเรา(เงินสะสม) 3% ของเงินเดือน นายจ้างก็จ่ายให้อีก 3% ของเงินเดือน
4. ผลประโยชน์ของเงินสมทบ คือ กำไรที่งอกเงยขึ้นมากจากเงินในส่วนของ “เงินสมทบ”
ซึ่งเวลาที่เราได้รับใบ PVD ที่ส่งมาให้ดูจะเห็นแยกเป็น 4 ส่วนแบบนี้ชัดเจน
ในส่วนที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีจะเป็นเฉพาะส่วนยอดของ “เงินสะสม” โดยลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับ SSF, RMF, ประกันบำนาญ แล้วไม่เกิน 500,000 บ.
ดังนั้น การออมใน PVD ก็จะได้ลดหย่อนภาษี วางแผนเพื่อการเกษียณ ทำให้เรามีวินัยในการออม เป็นการลงทุนแบบ DCA เพื่อกระจายช่วงเวลาลงทุน อีกทั้งมีนายจ้างมาช่วยเราออมเพิ่ม (ตรงนี้เหมือนได้เงินเดือนเพิ่ม) และยังมีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนเพิ่มจาก ผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบด้วย
มาต่อกันที่ 3 ข้อควรรู้ ของ PVD กัน
1. PVD บางที่จะมีให้เลือกหลายแผนลงทุน ในตราสารหนี้อย่างเดียว มีหุ้นเป็นส่วนผสม อสังหาฯ หรือหุ้นต่างประเทศให้เลือกด้วย ดังนั้นเมื่อเงินเราต้องไปลงทุนในนั้นตั้งนาน ควรศึกษาแต่ละแผนว่าเป็นยังไงและเลือกให้เหมาะกับเรา ในการเลือกแผนนั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนได้
ใครเริ่มตั้งใจศึกษาการลงทุน ลองเริ่มนำแผนต่างๆ ของ PVD มาศึกษาและลองเลือกแผนที่เหมาะกับตนเองนะ
2. เงินที่ออกจาก PVD จะได้ยกเว้นภาษี เมื่ออายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิก PVD มาอย่างน้อย 5 ปี ถ้าไม่เป็นตามนี้ เงินที่ได้ออกมาจาก PVD ในส่วนของเงิน ผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ จะเสียภาษี ส่วนเสียภาษียังไง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากโพสนะ https://doctorwanttime.com/2020/07/31/pvd/
3. เงินสะสมที่เราจ่ายเข้า PVD ในแต่ละปี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ จากตัวอย่างในรูป คือ ยอด 80,000 บ.
และผลประโยชน์ทางภาษีตรงนี้พี่สรรพากรไม่ทวงคืน ถ้าเป็น RMF ถ้าผิดเงื่อนไขบางกรณี ผลประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้ลดหย่อนมาต้องคืนเงินให้พี่สรรพากรด้วย
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีข้อเด่นที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ก็ควรศึกษาเงื่อนไขให้เข้าใจ และเลือกแผนลงทุนให้เหมาะกับเรา เพื่อวางแผนในการเกษียณสุขนะ
หมอยุ่งอยากมีเวลา พูดคุยเรื่องหุ้นและกองทุน เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
ติดตามความรู้ทางการเงินแบบเข้าใจง่าย
ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #PVD #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #ลดหย่อนภาษี #มนุษย์เงินเดือน
โฆษณา