18 มิ.ย. เวลา 04:11 • การตลาด

เจาะลึก 8 เทรนด์ “ครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์ 2025” พร้อมข้อมูลสถิติและตัวอย่างที่น่าสนใจ

เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ที่ใครๆ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จและสร้างรายได้อย่างมหาศาล อยากรู้ไหมว่าในปี 2025 โลกของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? เทรนด์ไหนจะมาแรงที่สุด?
บทความนี้จะพาไปเจาะลึก 8 เทรนด์สำคัญที่กำลังมาแรงพร้อมข้อมูลสถิติน่าสนใจที่จะช่วยให้ไม่ตกเทรนด์ ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลยค่ะ (แม้เนื้อหาจะยาวสักหน่อย แต่อัดแน่นด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หากไม่อยากพลาด อย่าลืมอ่านให้จบนะคะ)
1. อิสระและรายได้เสริม เทรนด์ใหม่ของคนทำงานยุคนี้:
ยุคสมัยที่การทำงานประจำไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไป คนรุ่นใหม่หันมาทำงานอิสระมากขึ้น ทั้ง On-Demand Jobbers, Gig Workers และ Multi-Jobbers ที่มีรายได้หลายทาง แนวโน้มนี้โตขึ้นถึง 15-20% ต่อปีในไทยเลยทีเดียว
ปัจจัยที่ทำให้เทรนด์นี้เติบโต คือ ความต้องการทำงานอิสระ, การลาออกจากงานประจำเพื่อทำอาชีพอิสระ และการเพิ่มขึ้นของครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำงานแบบ Digital Nomad ที่ทำงานผ่านดิจิทัลจากทุกมุมโลกได้ และในปี 2024 ครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกกำลังจะทำงานแบบ Full-time มากขึ้น เนื่องจากรายได้ที่มากขึ้นทำให้สามารถทำงานอิสระได้เต็มที่มากขึ้นด้วยความมั่นใจ
2. การเพิ่มขึ้นของครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์:
ปัจจุบันประเทศไทยมีครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์มากกว่า 9 ล้านคน (รวม Micro-Influencer) และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 26 ล้านคนในประเทศไทย เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความนิยมของโซเชียลมีเดียที่ทำให้การสร้างและเผยแพร่เนื้อหาง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่น บิวตี้บล็อกเกอร์ที่รีวิวเครื่องสำอาง นักเล่นเกมที่สตรีมเกมสด หรือแม้แต่แม่บ้านที่แชร์สูตรอาหาร ก็สามารถเป็นครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ได้ ยิ่งความนิยมที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายขึ้น ทำให้คนธรรมดากลายเป็นดาว TikTok ได้ในชั่วข้ามคืน
โดยครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบันเป็น Omni-channel Creators ที่มีรายได้หลากหลายช่องทางจาก 3 ช่องทางหลัก (3Cs) คือ
1. Content: ผลิตเนื้อหาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ
2. Commerce: ขายสินค้าหรือบริการ
3. Community: จัดกิจกรรมพบปะแฟนคลับ สร้างรายได้จากการขายบัตรและเก็บข้อมูลลูกค้า (First-party data)
นอกจากนี้ในปัจจุบัน โมเดลการหารายได้ของครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์มีหลายแบบที่น่าสนใจ เช่น
1. รายได้จากการรีวิวและสปอนเซอร์ชิป (Pay per content): คือการสร้างเนื้อหาเช่นรีวิวสินค้า และได้รับค่าตอบแทนตามเนื้อหาที่สร้างขึ้น เช่น การรีวิวผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแบรนด์
2. รายได้จากคอมมิชชัน (Affiliate Marketing): ครีเอเตอร์ส่งเสริมสินค้าของแบรนด์ผ่านการรีวิวหรือการโปรโมท และได้รับค่าคอมมิชชันจากยอดขายที่เกิดขึ้น
3. รายได้จากการขายสิทธิ์คอนเทนต์ (Content Rights & Content Pay Out): คือการขายสิทธิ์ในเนื้อหาต่างๆ ให้กับบริษัทหรือสื่อต่างๆ และได้รับรายได้จากการขายนั้น
4. รายได้จากการเป็นวิทยากร (Speaking & Presence Opportunities): คือการได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำหรับบางครีเอเตอร์
5. รายได้จากผู้ติดตาม (Subscription & Exclusive Content): บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น YouTube ครีเอเตอร์สามารถมีรายได้จากการขายสมาชิกหรือเนื้อหาพิเศษสำหรับผู้ติดตาม
6. รายได้จากกิจกรรมพบแฟน (Fan Meets, Talk Show): การจัดกิจกรรมพบแฟนหรือทำรายการพูดคุยสามารถเป็นแหล่งรายได้เสริมได้ เช่น การขายบัตรเข้าชมกิจกรรมพบแฟน
โมเดลทั้งหมดนี้ช่วยให้ครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์สามารถเติบโตเป็นไอดอล หรือศิลปินได้ โดยมีฐานแฟนผู้ติดตามที่มากขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากวิธีการต่างๆ นี้อย่างมากขึ้นด้วย
3. Global Mega Trends โอกาสทองของครีเอเตอร์:
เทรนด์โลกที่ส่งผลต่อครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ ได้แก่
1. สังคมสูงวัย: การเข้าสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้คนต้องการหาแหล่งรายได้เสริมผ่านการเป็นครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์
2. เทคโนโลยีที่เร็วก้าวหน้า: การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทำให้ระบบการศึกษาไม่ทันตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน
3. เศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย: ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่คงที่ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ, เงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
4. การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี: โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ AI, EV และการกระจายสินค้าจีนที่กว้างขึ้น
5. ความยืดหยุ่นในการทำงาน: คนต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานและมีรายได้แหล่งที่สองผ่านการเป็นครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์
6. การลดค่าใช้จ่าย Fixed Cost: นายจ้างต้องการลดค่าใช้จ่ายโดยการจ้างงานแบบสัญญาจ้าง
7. การจัดการการเงินและอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ: สภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้เกิดวิกฤตอาหารและโรคระบาดใหม่
เทรนด์โลกเหล่านี้ส่งผลต่อครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์โดยตรง โดยช่วยเพิ่มรายได้และสร้างความเจริญเติบโตให้กับ GDP ของแต่ละประเทศผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เช่น
-ในฝรั่งเศส YouTube Creator สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่สหรัฐอเมริกา YouTube Creator สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 900,000 ล้านบาท
- ในฝรั่งเศส TikTok Creator สร้างรายได้ 50,000 กว่าล้านบาท และคาดการณ์ว่า TikTok สร้างรายได้ครีเอเตอร์ไทยในหนึ่งปี ประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท
4. ความสำคัญของ Soft Power ไทยกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์:
ในปี 2022 มูลค่า Soft Power ของไทยอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนจากภาคการท่องเที่ยวมากที่สุดถึง 40% โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจในวัฒนธรรมและอาหารไทย นี่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมไทย เช่น มวยไทย, แฟชั่น, หนัง, ละคร, อาหาร, นวด, สงกรานต์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
มีศักยภาพในการสร้างรายได้และดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์สามารถใช้ Soft Power เหล่านี้เป็นจุดแข็งในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่น่าสนใจและเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลก เช่น การทำคลิปรีวิวอาหารไทยสตรีทฟู้ด หรือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในประเทศไทย
นอกจากนี้วัฒนธรรมย่อยกำลังเติบโตไปพร้อมกับสื่อที่หลากหลายขึ้น ทำให้กลุ่มคนดูแตกออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ตามความชอบเฉพาะตัว ยกตัวอย่างเช่น
- Introvert: คอนเทนต์ที่พูดถึงคนโลกส่วนตัวสูง กำลังมาแรง
- Art Toy: ของเล่นสุดอาร์ต ไม่ใช่แค่เด็กเล่น ผู้ใหญ่ก็ชอบ
- Pet Lovers: คนรักสัตว์เลี้ยง มีเรื่องราวให้แชร์ไม่รู้จบ
- Self Improvement: คอนเทนต์พัฒนาตัวเอง ใครๆ ก็อยากโต
- Sustainability: ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ
- Wheel Journey: เที่ยวแบบล้อหมุน ใครว่าคนพิการเที่ยวไม่ได้
- Silver: วัยเก๋าใจเกินร้อย ก็เป็นครีเอเตอร์ได้
- ช่างไฟต้องเท่: ช่างไฟยุคใหม่ ไม่ได้เก่งแค่เรื่องไฟ แต่ทำคอนเทนต์สนุกๆ บน TikTok ได้ด้วย
5. การเติบโตของ Creator Commerce ในไทย:
ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2025 จะมีมูลค่าสูงถึง 7.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันคนนิยมซื้อของออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะผ่านไลฟ์สดของเหล่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ ที่ผันตัวมาเป็น "พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์" กันมากขึ้น
รู้ไหมว่า 93-95% ของลูกค้าชอบดูรีวิวสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ โดย 80% ของรีวิวเหล่านี้มาจากครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ แสดงให้เห็นว่าคนเชื่อถือและให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนเหล่านี้มากแค่ไหน
ครีเอเตอร์นักไลฟ์ส่วนใหญ่นิยมสร้างรายได้ผ่าน Affiliate Marketing หรือการได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการขายสินค้า ซึ่งมีรูปแบบหลากหลาย เช่น ได้ค่าคอมมิชชั่นอย่างเดียว, ได้ค่าทำคอนเทนต์และค่าคอมมิชชั่น, หรือได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน/รายปี
คนไทยนิยมซื้อของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง Shopee, Lazada, TikTok Shop, Facebook, Instagram และ LINE โดยสินค้าขายดีส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น, เครื่องสำอาง, อาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าภายในบ้าน ที่น่าสนใจคือ คนไทยชอบซื้อของแบบ Shoppertainment คือ การได้ดูคอนเทนต์สนุกๆ เพลินๆ แล้วเกิดอยากซื้อ ทำให้หลายคนรู้จักแบรนด์ตอนซื้อเลย ซึ่งต่างจากเดิมที่ต้องรู้จักแบรนด์ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจซื้อ
ปัจจุบันคนไทย 88% ซื้อของเพราะคอนเทนต์ที่ไม่ขายของ เช่น รีวิว หรือ How to และ 97% อยากหาข้อมูลสินค้า ตัดสินใจซื้อในแพลตฟอร์มเดียว นอกจากนี้ คนไทยยังอยากรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ (Emotionally Connected) ชอบกิจกรรมสนุกๆ อย่าง Gamification และอยากรู้เรื่องราวของแบรนด์ด้วย
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปี 2024-2025 คือ:
- YouTube: 18.00-21.00 น.
- Facebook 12.00-15.00 น.
- Twitter (X): 12.00-15.00 น.
- Instagram 12.00-15.00 น. หรือ 18.00-21.00 น.
- TikTok 18.00-21.00 น.
6. AI Tools เจ๋งๆ สำหรับ Content Creator:
80% ของนักการตลาดทั่วโลกใช้เครื่องมือ AI อย่างน้อยหนึ่งชนิดในการทำงาน ในปี 2024 ตลาด AI ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 136 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เทคโนโลยี AI ช่วยให้ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์สร้างสรรค์เนื้อหาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ AI ในการเขียนบทความ สร้างภาพ หรือตัดต่อวิดีโอ นอกจากนี้ AI ยังช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ชมได้ดียิ่งขึ้น
เทคโนโลยี AI ช่วยให้ครีเอเตอร์ทำงานได้ง่ายขึ้น มีเครื่องมือหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น
1. การหาไอเดียและวางกลยุทธ์คอนเทนต์
- ChatGPT: ช่วยหาไอเดียใหม่ๆ สำหรับคอนเทนต์
- SEMRUSH: ใช้วิเคราะห์คีย์เวิร์ดและวางแผนกลยุทธ์ SEO
2. เครื่องมือสำหรับการเขียน
- AISEO: ช่วยปรับปรุง SEO และเขียนบทความ
- Jasper: ช่วยสร้างเนื้อหาคุณภาพสูง เช่น บทความและบล็อก
3. การสร้างสตอรี่บอร์ดและภาพ
- Storyboarding Boords และ Storyboarding Krock: ช่วยสร้างสตอรี่บอร์ดสำหรับวิดีโอและโปรเจค
- Midjourney: ใช้สร้างภาพที่ต้องการ
- Firefly และ Canva: ช่วยออกแบบภาพกราฟิกและคอนเทนต์
4. การสร้างวิดีโอ
- Get Munch, Vidyo.ai, Sora AI, และ Descript: ช่วยในการตัดต่อและสร้างวิดีโอ
5. การจัดการและวิเคราะห์คอนเทนต์โซเชียลมีเดีย
- Flick และ Content Studio: ช่วยในการวางแผนและจัดการโพสต์บนโซเชียลมีเดีย พร้อมกับการวิเคราะห์ผลลัพธ์
6. เครื่องมือ AI แบบมัลติฟังก์ชัน
- Vondy: ใช้ได้หลายฟังก์ชันในงานครีเอเตอร์
- Hootsuite: ช่วยในการจัดการโซเชียลมีเดียและวิเคราะห์ผลลัพธ์
7. Performance การวัดผลทางการตลาดของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์:
การวัดผลทางการตลาดของครีเอเตอร์–อินฟลูเอนเซอร์ มีหลายตัวชี้วัด เช่น
1. จำนวนครีเอเตอร์หรือจำนวนคอนเทนต์: วัดจำนวนครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมแคมเปญหรือจำนวนคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้น
2. จำนวนผู้ติดตาม (Followers): วัดจำนวนผู้ติดตามของครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Instagram, YouTube, TikTok เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายต่อการแสดงผล (Cost per Impression): วัดค่าใช้จ่ายในการแสดงผลคอนเทนต์ให้กับผู้ชม 1,000 ครั้ง
4. ค่าใช้จ่ายต่อการเข้าถึง (Cost per Reach): วัดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงผู้ชมหนึ่งคน
5. ค่าใช้จ่ายต่อการรับชม (Cost per View): วัดค่าใช้จ่ายในการที่ผู้ชมดูวิดีโอหนึ่งครั้ง
6. ค่าใช้จ่ายต่อการมีส่วนร่วม (Cost per Engagement): วัดค่าใช้จ่ายต่อการมีส่วนร่วมของผู้ชม เช่น การกดไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์
7. ค่าใช้จ่ายต่อการคลิก (Cost per Click): วัดค่าใช้จ่ายในการที่ผู้ชมคลิกที่ลิงก์หรือโฆษณา
8. ค่าใช้จ่ายต่อการขาย (Cost per Sales): วัดค่าใช้จ่ายในการที่ผู้ชมทำการซื้อสินค้าหรือบริการ
การวัดผลทางการตลาด: ROAS และ ROCAS
- ROAS (Return on Ad Spend)
เดิมทีใช้วัดผลตอบแทนจากการลงทุนในการโฆษณา โดยคำนวณจากรายได้ที่ได้รับจากโฆษณาเทียบกับค่าใช้จ่ายในการโฆษณา
- ROCAS (Return on Content + Ad Spend)
ปัจจุบัน การวัดผลได้ขยายเป็น ROCAS ซึ่งรวมค่าคอนเทนต์ (ค่าใช้จ่ายในการสร้างคอนเทนต์) กับค่าบูสต์โฆษณา ทำให้การวัดผลเป็นไปอย่างครอบคลุมมากขึ้น โดยคิดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการทำการตลาดผ่านครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์
8. Media Landscape & Trust ภูมิทัศน์สื่อ และการสร้างความไว้วางใจสำคัญกว่ายอดวิว:
การสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์ มากกว่ายอดวิวและเรตติ้ง ในขณะเดียวกันวงการสื่อกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทสื่อดั้งเดิมกำลังเปลี่ยนตัวเองเป็นสื่อดิจิทัล โดยเพิ่มความสามารถในการสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม ส่วนครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ก็เริ่มพัฒนาตนเองจนกลายเป็นเหมือนบริษัทสื่อ ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีศักยภาพในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาได้เองอย่างครบวงจร
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลดีหลายด้าน ได้แก่:
1. ความหลากหลายของเนื้อหา - มีเนื้อหาหลากหลายให้ผู้ชมเลือกตามความสนใจมากขึ้น
2. การเข้าถึง - เนื้อหาสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม
3. ความเป็นกลาง - ภูมิทัศน์สื่อมีความเป็นกลางมากขึ้น เพราะมีผู้ผลิตเนื้อหาหลายราย ทำให้ข้อมูลและข่าวสารมีมุมมองที่หลากหลาย
ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นกลางมากยิ่งขึ้น
สรุปแล้วในปี 2025 การเป็นครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยมองเห็นถึงโอกาสที่สำคัญในการสร้างรายได้และความสำเร็จผ่านการนำเสนอเนื้อหาที่ครบวงจรและมีคุณภาพ การใช้เครื่องมือ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับการตอบสนองต่อเทรนด์และความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับทุนคนที่ได้อ่านนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://bit.ly/4ercoU7
โฆษณา