Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Praram 9 Hospital
•
ติดตาม
19 มิ.ย. เวลา 06:24 • สุขภาพ
โรงพยาบาลพระรามเก้า
ปลูกถ่ายไตจากหมูสู่คน ความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
เมื่อการขาดแคลนอวัยวะอาจไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป! พบกับความหวังใหม่จากการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไตจากหมูสู่คน 🐷➡️👨⚕️ ด้วยการใช้เทคโนโลยี CRISPR-Cas 9 ในการปรับแต่งพันธุกรรม ทำให้อวัยวะหมูสามารถเข้ากับร่างกายมนุษย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ 💡
ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะเป็นอีกปัญหาที่สำคัญของวงการสาธารณสุขของทั้งในประเทศไทยและเกือบทุกประเทศทั่วโลก ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในด้านการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นอย่างมากจนสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดได้ยาวนานมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญในเรื่องการขาดแคลนอวัยวะ
เนื่องจากยังมีผู้บริจาคอวัยวะน้อยกว่าคนไข้ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนไข้โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตในแต่ละปีระหว่างรอการปลูกไต
สำหรับประเทศไทยในปี 2566 พบว่ามีผู้รอรับบริจาคไตทั้งสิ้น 6,634 ราย ในขณะที่มีผู้ป่วยทีได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียง 986 รายเท่านั้น (ข้อมูลจากสภากาชาดไทย) การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คน (Xenotransplantation) เป็นหนึ่งในวิธีที่มีศักยภาพอย่างมากในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะของมนุษย์
โดยอวัยวะของสัตว์ที่ผ่านการปรับแต่งพันธุกรรมจนสามารถเข้ากับมนุษย์ให้มากที่สุดแล้วนั้นจะสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยลดเวลาในการรอการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่มนุษย์ได้ เพื่อให้สามารถช่วยรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที และช่วยลดอัตราผู้เสียชีวิตจากปัญหาการขาดแคลนอวัยวะได้ในที่สุด ดังนั้นการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คนจึงกลายเป็นหนึ่งในความหวังของคนไข้ทั่วโลก
■
การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คน (Xenotransplantation) คืออะไร?
การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คน คือ กระบวนการที่นำอวัยวะหรือเนื้อเยื่อจากสัตว์มาปลูกถ่ายใส่ให้แก่คน โดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จะใช้เทคนิคทางวิศวะพันธุกรรมที่ทันสมัยในปัจจุบันอย่าง CRISPR-Cas 9 ในการปรับแต่งพันธุกรรมของตัวอ่อนหมูสำหรับการผลิตอวัยวะที่มีความเข้ากันได้กับมนุษย์มากขึ้น เพื่อลดอัตราการปฏิเสธอวัยวะจากการผ่าตัดปลูกถ่าย
โดยอวัยวะที่เริ่มมีการทดลองใช้ในการปลูกถ่ายคือหัวใจและไต อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงผลกระทบในระยะยาวต่อไปเพื่อให้เข้าใจอาการและผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อมนุษย์ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่าย
■
ทำไมต้องเป็นหมู
สัตว์ที่นิยมนำมาใช้คือหมู เนื่องจากสามารถเพาะพันธุ์ได้โดยง่าย มีอวัยวะภายในที่มีขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด และมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคต่ำกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ
■
ผลการศึกษาทดลองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรก มีการทดลองการปลูกถ่ายไตหมูให้แก่ลิงบาบูน ลิงบาบูนถูกนำมาใช้เพราะมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มาก และไตสามารถทำงานได้เกิน 2 ปี ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาจึงได้มีการทดลองใส่อวัยวะของหมูให้แก่คน โดยการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ (University of Maryland Medical Center) ทดลองปลูกถ่ายหัวใจหมูสู่คน 2 ราย
รายแรกเป็นผู้ป่วยชายได้รับหัวใจจากหมู หลังการผ่าตัดเขามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 2 เดือน สาเหตุการเสียชีวิตไม่ชัดเจน เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ porcine CMV ซึ่งเป็นไวรัสเฉพาะหมู
ส่วนในรายที่ 2 เกิดภาวะปฏิเสธเนื้อเยื่อแบบชนิดแอนติบอดี ทำลายอวัยวะในที่สุด ในขณะที่มีการศึกษาการปลูกถ่ายไตหมูให้ผู้ป่วยสมองตาย (ก่อนที่หัวใจจะหยุดทำงาน) 2 รายที่ มหาวิทยาลัยอลาบามา (University of Alabama) โดยติดตามการทำงานของไตหลังปลูกถ่ายเป็นเวลา 54 และ 74 ชั่วโมงตามลำดับ พบว่าไตยังสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการปฏิเสธเนื้อเยื่อ
และจากข่าวล่าสุดที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในวงการปลูกถ่ายอวัยวะทั่วโลก คือการปลูกถ่ายไตหมูสู่ผู้ป่วยโรคไตสำเร็จเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2024 ณ โรงพยาบาลแมสซาซูเซตส์เจเนอรัล โดยเปิดเผยข้อมูลอาสาสมัครเป็นผู้ป่วยชายชื่อ ริชาร์ด สเลย์แมน อายุ 62 ปี เป็นโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เคยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน
แต่ต่อมาการทำงานของไตล้มเหลว ต้องกลับมาฟอกเลือดใหม่ และได้รับการปลูกถ่ายไตเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้ ไตหมู Yucatan เลือดกรุ๊ปโอ ที่มีการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมตำแหน่งต่างๆถึง 69 ตำแหน่ง โดยการเปลี่ยนแปลงหลักๆ คือ
- ลบยีนส์ที่สร้างโปรตีนคาร์โบไฮเดรตบนผิวเซลล์หมู (glycan antigen) ออกไป 3 ตำแหน่ง เนื่องจากร่างกายคนมีแอนติบอดีต่อโปรตีนดังกล่าวแต่แรก (pre-form antibody)
- เพิ่มยีนส์มนุษย์ (overexpressing human transgenes) ที่สร้างโปรตีนเกี่ยวกับระบบคอมพลิเมนต์ของคนและการแข็งตัวในหลอดเลือด 7 ยีนส์ เช่น CD55 และ CD 46 เพื่อให้มีความสามารถยับยั้งระบบคอมพลิเมนต์ของคนได้
- ยับยั้งการทำงานของรีโทรไวรัสฝังใน (inactivating porcine endogenous retroviruses)
ริชาร์ด สเลย์แมน ได้รับอนุญาติให้ออกจากรพ. เมื่อวันที่ 3 เมษายน โดยไม่ต้องฟอกเลือด เนื่องจากไตหมูสามารถทำงานได้ดี ริคกล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลที่เขาเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ไม่เพียงแต่ช่วยชีวิตเขาเอง แต่เพื่อให้เขาความหวังแก่ผู้คนจำนวนมากที่ต้องการปลูกถ่ายเผื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พค.ได้มีการประกาศการเสียชีวิตของเขาโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเสียชีวิต
ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของ ริค เป็นผู้บุกเบิกก้าวใหญ่ของวงการปลูกถ่ายอวัยวะ ความกล้าหาญและความเสียสละของริค จะไม่สูญเปล่าแน่นอนค่ะ
Reference
https://www.kidney.org/atoz/content/xenotransplantation
Anand, R.P., Layer, J.V., Heja, D. et al. Design and testing of a humanized porcine donor for xenotransplantation. Nature 622, 393–401 (2023).
https://doi.org/10.1038/s41586-023-06594-4
#การปลูกถ่ายอวัยวะ #การปลูกถ่ายไต #CRISPR
#ปลูกถ่ายไต #ไตจากหมูสู่คน
#Praram9Hospital
#HealthcareYouCanTrust
ข่าวรอบโลก
ธุรกิจ
ไลฟ์สไตล์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย