19 มิ.ย. เวลา 06:29 • ข่าว
ประเทศไทย

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวุฒิสภาแล้ว คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้

ร่างกฏหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านวุฒิสภาแล้ว หลังขับเคลื่อนมาหลายสิบปี ไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนคู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องบันทึกลงประวัติศาสตร์ไทย เมื่อที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง
หรือถ้าให้เข้าใจง่าย คือ ร่างกฏหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวุฒิสภาแล้ว คนทุกเพศสามารถสมรสกันได้
การลงมติครั้งนี้ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายให้คนทุกเพศแต่งงานกันได้
ไทยกลายเป็นประเทศแห่งที่ 3 ของเอเชีย
ยอมรับการแต่งงานเพศเดียวกัน
ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่สามในเอเชียที่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันรองจาก ‘ไต้หวัน และเนปาล’ และติดอันดับหนึ่งใน 40 ประเทศทั่วโลกที่รับประกันสิทธิการสมรสที่เท่าเทียมกัน และถือว่าโดดเด่นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความก้าวหน้า
เพียงเล็กน้อยในการยอมรับสิทธิของชุมชน LGBTQ และส่วนใหญ่มักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ
ย้อนรอยเส้นทาง ตั้งแต่ปี 2544
การพยายามขับเคลื่อนสมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้เริ่มเสนอแนวคิดให้คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย แต่ต้องยุติลงเพราะในสมัยนั้นกระแสสังคมต่อต้าน ไม่มีคนเห็นด้วย รัฐบาลมองว่าสังคมไม่พร้อม จึงทำให้ต้องยุติลง แต่พอมาถึงปี 2555 มีคู่รักหลากหลายเพศที่ต้องการจดทะเบียนสมรส แต่ต้องถูกปฏิเสธ จึงได้เกิดการเรียกร้องกับหน่วยงานรัฐ
จนมาถึงในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราวปี 2556 ก็มีความพยายามที่จะทำให้เกิดกฏหมายรับรองคู่รักเพศเดียวกันอีกครั้งตามข้อเสนอของประชาชน เกิดเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างดังกล่าว ไม่ได้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการเท่ากับคู่รักที่เป็น ชาย-หญิง
และในปี 2563-2566 ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นช่วงที่กระแสทั่วโลกเริ่มพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม และมีประเทศไทยตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ประชาชนมีการพูดถึง ‘สมรสเท่าเทียม’
จนกระทั่งพรรคก้าวไกล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และได้รับการถูกบรรจุวาระแรกในปี 2565 ซึ่งรัฐบาลเองก็จัดทำกฎหมายอีกฉบับมาประกบ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีการศึกษารายละเอียด พิจารณาหลายครั้งหลายคราจนล่าสุด 18 มิถุนายน 2567 การเดินทางของกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาถึงด่านสุดท้าย คือการลงมติของ สว. โดยที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนน 130 ไม่เห็นด้วย 4 และงดออกเสียง 18 เสียง
กฏหมายมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังประกาศ
ทั้งนี้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เรียกว่าเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สาระสำคัญในกฎหมาย
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สาระสำคัญคือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรสในหลายมาตรา เพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวจากเดิมที่จำกัดไว้เฉพาะชาย-หญิง เป็นบุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิจดทะเบียนสมรสกันได้ โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายประเด็น ดังนี้
การหมั้น : บุคคลสองคนสามารถทำการหมั้นได้ แต่ปรับอายุขั้นต่ำสำหรับบุคลลที่จะทำการหมั้นได้จาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ กรณีที่ยังเป็นผู้เยาว์ มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากจะทำการหมั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง
การสมรส : บุคคลสองคนสามารถสมรสกันได้ โดยปรับอายุขั้นต่ำที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้จาก 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นจะมีเหตุอันสมควร เช่น มีครรภ์ก่อนอายุ 18 ศาลอาจอนุญาตให้สมรสก่อนด้ ทั้งนี้ กรณีที่ยังเป็นผู้เยาว์ มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากจะทำการหมั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง
กฎหมายสมรสเท่าเทียม จะส่งผลต่อสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกัน เช่น การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
อย่างไรก็ดี หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้แล้ว ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที โดยในมาตรา 2 ของร่างกฎหมาย ระบุว่า ให้กฎหมายใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า หากผู้ที่มีเพศกำหนดในทะเบียนราษฎรเป็นเพศเดียวกัน ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรส จะยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ทันทีในวันที่กฎหมายประกาศใช้ ต้องรอให้พ้นช่วง 120 วันไปก่อน ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงจะไปจดทะเบียนสมรสกันได้
ติดตามอ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมดได้ที่ลิงก์
#สมรสเท่าเทียม
#รัฐสภา
#วุฒิสภา
#กฏหมายสมรสเท่าเทียม
#ความเสมอภาคทางเพศ
#ESG
#ESGuniverse
โฆษณา