19 มิ.ย. 2024 เวลา 22:35 • ศิลปะ & ออกแบบ

Mosiaco .. Italian Code of a TimelessArt (พื้นที่ 02)

พื้นที่ 02 – เมืองอากวิเลอา, ประเทศอิตาลี
ท่านโยนา (Jonah) กับอสุรกายใต้ท้องทะเล มหาวิหาร ปาตริอาร์กาเล ดี อากวิเลอา(Patriarcale di Aquileia) .. นำเสนอโมเสกภายในพื้นมหาวิหารอัสสัมชัญของพระแม่มารีย์ นำเสนอเรื่องราวของท่านโยนา ศาสดาพยากรณ์ชาวยิว และคติเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซู
โมเสกพื้นของมหาวิหาร ปาตริอาร์กาเล ดี อากวิเลอา(Patriarcale di Aquileia) มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่การบูรณะเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้ความสวยงามประจักษ์ขึ้นมา ด้วยกินเนื้อที่กว่า 760 ตารางเมตรจึงถือได้ว่าเป็นผลงานโมเสกผืนใหญ่ที่สุดในบรรดาโบสถ์ต่างๆ ในโลกตะวันตกทั้งหมด
ผลงานโมเสกหลากสี บนพื้นของมหาวิหารแห่งนี้เหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการระเบิดของสัญลักษณ์ของศาสนาคาทอลิกย้อนกลับไปในสมัยหลังจากพระราชกฤษฎีกาของคอนสแตนตินซึ่งให้เสรีภาพแก่ชาวคริสเตียนในการนับถือศาสนาที่ตนเลือก
ลวดลายที่ไม่ซ้ำ และไม่เป็นรูปแบบเดียวกันของโมเสก ณ ที่แห่งนี้ .. ทำขึ้นในยุคที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในเรื่องความหลากหลายของการใช้รูปสัญลักษณ์ มีความมั่งคั่งที่สุดในประวัติศาสตร์การผลิตผลงานโมเสกของเมืองอากวิเลอา (อา-กวิ-เล-อา หรือAquileia) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี
การแสดงภาพผ่านลวดลายของโมเสก เราแบ่งพื้นโมเสกของมหาวิหารแห่งนี้ได้เป็น 4 มุข
มุขที่หนึ่ง .. เราจะเห็นรูปเงื่อนที่สานกันไปมา ที่เป็นที่รู้จักกันว่า "เงื่อนโซโลมอน"
ส่วนพื้นที่อยู่ถัดไป ทำรูปไก่กับเต่า จิกตีกัน เป็นสัญลักษณ์แทนการต่อสู้ระหว่างความดีกับสิ่งชั่วร้าย
มุขที่สอง .. เราจะเห็นรูปเหมือนบุคคล ทั้งชายและหญิง ภายในโล่ห์วงกลม นักวิชาการเชื่อว่าคือรูปจักรพรรดิคอนสต้นตินุสมหาราช (Constantinus) และสมาชิกในราชวงศ์ ซึ่งรวมถึงจักรพรรดินีเอเลนา (Helena) พระราชมารดา และพระราชโอรสทั้งสี่ขององค์พระจักรพรรดิด้วย
ในมุขที่สาม .. ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระแท่นบูชานั้น เราจะเห็นรูปเทพีแห่งชัยชนะ สยายปีก ในมื้อถือมงกุฎ และกิ่งปาล์ม เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อความหมายที่สำคัญอย่างยิ่งยวด
… นั่นคือ การประกาศชัยชนะของคริสต์ศาสนาเมื่อแรกเข้ามาในอาณาจักรโรมัน และตราบจนจักรพรรดิคอนสต้นตินุสมีพระบรมราชโองการแล้ว คริสต์ศาสนาจึงค่อยสถิตย์สถาพรจนกลายเป็นความเชื่อหลักของชาวโรมัน
ลำดับการชมที่มหาวิหารแห่งนี้ จบลงด้วยภาพโมเสกฝืนใหญ่บนพื้น ซึ่งควรค่าแก่การกล่าวถึง .. ด้วยแสดงเรื่องราวของท่านโยนา (Jonah) ศาสดาพยากรณ์ชาวยิว ที่ถูกส่งโดยพระผู้เป็นเจ้าให้มาแพร่ธรรมตามคำสอนของพระองค์ ในดินแดนเมโสโปเตเมีย
มีภาพของท้องทะเลที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลาย .. เป็จแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชาวเมือง
ท่านโยนาได้ขัดขืน จึงหลบหนีไปกับเรือของพวกเฟนิเชีย (Phoenicia) .. ก่อนจะโดนโยนทิ้งลงทะเลจนกลายเป็นอาหารของอสุรกายใต้ท้องทะเล แต่แล้วจึงถูกขย้อนออกมาเมื่อถึงชายฝั่งปาเลสไตน์
เรื่องราวของท่านโยนานี้ ได้รับการพรรณณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในศิลปะคริสต์เตียนตอนต้น ..
***ในแง่ที่ว่าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นคืนชีพในพระคัมภีร์
นอกเหนือจากการใช้รูปสัญลักษณ์เพื่อแทนความหมายของภาพแล้ว ในมุมมองด้านสุนทรียะ ผลงานโมเสกของที่นี่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบการทำภาพเหมือนตามแนวทางดั้งเดิม สู่แนวทางใหม่
ซึ่งจะสังเกตได้จากการใช้โทนสีที่ดุดัน การนำเสนอที่เป็นอิสระมากขึ้น และการพัฒนาในเทคนิคการทำชิ้นงานโมเสกเอง นั่นคือเป็นยุคสมัยที่มีรูปแบบรวดเร็วขึ้น เป็นอิสระมากขึ้นอันเห็นได้จากมวลที่กะทัดรัด ปราศจากซึ่งการไล่เฉดสี
นี่แหละ รูปแบบผลงานของอากวิเลอา
โฆษณา