20 มิ.ย. 2024 เวลา 07:15 • ปรัชญา
วัดป่าวชิรบรรพต

ทาน? คืออะไร? จาคะกับทานเหมือนกันไหม? ถ้าจะปฏิบัติภาวนาอย่างเดียวไม่ทำทานจะได้ไหม? ข้อดีข้อเสีย?

ทาน กับ จาคะ ไม่เหมือนกันครับ ในพุทธวจนะได้จาระไว้ว่า ทาน คือ การให้(มีหลายแบบ เช่น ให้ธรรมะ ให้ข้าวของเงินทอง) โดยการให้ทานอาจจะให้ด้วยความหวังดีก็ได้ หรือด้วยใจนิ่งเฉยก็ได้ หรือให้เพราะหวังผลก็ได้ กรณีหลังนี้มักเกิดขึ้นมากเสียด้วย อาทิเช่น ให้วิชาความรู้แก่คนอื่นโดยไม่คิดตังค์เพราะเห็นประโยชน์จากการที่ลูกศิษย์ไม่มีเงิน โดยหวังว่าลูกศิษย์จะต้องมาเยี่ยมหาทดแทนบุญคุณบ่อยๆ หรือ พระ(อลัชชี)บางรูป ก็ศึกษาธรรมจนท่องได้แม่นแล้วเทศนาธรรมให้โยมฟัง โดยหวังว่าโยมต้องเคารพเลื่อมใสศรัทธาตัวเอง เป็นต้น
#ทาน #จาคะ #ภาวนา
ส่วนจาคะ เป็นขั้นกว่าของทาน คือ "การเสียสละด้วยใจสุข" เช่น เอาของที่ตัวเองรักให้เขาไป เช่น เรารักลาบูบู้สุดเลิศตัวนี้มาก แต่เราก็ยอมเอามันไปให้เด็กยากไร้ที่ไม่มีโอกาสแม้จะได้กอดตุ๊กตาดีๆสักตัว เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้คน แก่สังคม แบบนี้คือ "จาคะ" คำว่าเสียสละ ย่อมหมายถึงความกล้าที่จะมอบสิ่งอันเป็นที่รักที่โปรดปรานของเราให้คนอื่นได้ ดุจพระเวทส์สันดร
จะเห็นได้ว่า ทานจะหมายถึง"การให้"ทั้งหมด ไม่เจาะจงว่าให้อะไร มีทั้งทานแบบหยาบ(หวังผล) แบบพอใช้(เฉยๆ) และทานแบบประณีต(หวังดีจริงๆ) ส่วน จาคะ คือการเสียสละ มอบสิ่งที่เราชอบหรือสิ่งที่เลิศที่สุดสำหรับเราให้แก่คนอื่น ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเลอเลิศต่อเรา และต้องมีคุณค่าเลอเลิศต่อผู้ที่เราให้ด้วย
อาจจะกล่าวได้ว่า จาคะ เป็นสับเซ๊คของทานก็น่าจะพูดได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ภาษาพระภาษาพุทธมักจะแยก ทาน กับ จาคะ เป็นการกระทำคนละอย่างกัน แต่มีความคล้ายคลึงกัน
คนปัจจุบันนี้มักจะให้ทานแบบให้ของทั่วๆไป หรือไม่ก็บริจาคเงิน ตักบาตร หยอดตู้รับบริจาค บริจาคเลือด ฯลฯ แต่ไม่เห็นมีใครให้ทานแบบ.. เอาชฎาเพชรโบราณประจำตระกูลไปบริจาคให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ บริจาครถเฟอร์รารี่สุดที่รักให้โรงพยาบาล บริจาคคฤหาสน์ให้กับคนไร้บ้าน บริจาคไตหนึ่งข้างให้คนป่วยโรคไตโดยที่ไม่แบ่งแยกแม้เขาจะไม่ใช่ลูกหลานตน จะเห็นได้ว่าไม่เคยมีใครทำการบริจาคทานในลักษณะเช่นนี้เลย(ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ เช่น ไม่มีทายาทที่จะให้มรดก ก่อนตายก็เลยยกให้คนรับใช้ เป็นต้น)
เพราะถ้ามีใครกล้าบริจาคในลักษณะนั้น คือให้ของที่เป็นเลิศของตนให้กับผู้อื่น จะเข้าข่ายจาคะชั้นสูงทันที พอเป็นจาคะแล้วอานิสงส์จะแรงเกือบเทียบเท่ากับธรรมทาน แม้ธรรมทานจะเป็นทานอันสูงสุดในโลกธาตุก็ตาม เพราะการให้ธรรมะทานจะทำให้คนรับรู้ผิดชอบดีชั่วจนเกิดปัญญาแก้ไขจิตใจและใฝ่ธรรมะ จนเกิดความบากบั่นวิริยะ สุดท้ายคนผู้นั้นก็บรรลุธรรมได้นั่นเอง
การให้ทานแบบหวังลดความตระหนี่ถี่เหนียว ก็ถือเป็นจาคะเช่นกัน เป็นจาคะขั้นเบา เช่น เรามีเพชรพลอยเยอะมาก ก็เลยแบ่งให้คนจนเพราะต้องการลดความตระหนี่ถี่เหนียวของตน อันนี้ถือเป็นจาคะ แต่ถ้าเราแบ่งเพชรพลอยให้คนจนแล้วถ่ายรูปลงนิตยสาร เพราะอยากให้คนรู้ว่าเราเป็นคนดีจะได้มีคนนับหน้าถือตา อันนี้เรียกให้ทาน(แบบหวังผล ไร้ปัญญากำกับ)
เช่นกัน การให้ทานแบบทำเป็นคอนเท้นต์ลงยูทู้บ ก็เป็นการให้ทานแบบหวังผล เช่น เลี้ยงข้าวหรือซื้อของให้คนจนในสลัมแล้วทำเป็นเอ๊พพิโสด ให้คนกดไล้ค์กดแชร์กดซับสะไคร้บ์ เพื่อเพิ่มเอ็นเกจเม้นต์ จะได้มีโฆษณาเข้าเยอะๆ เงินเข้าเยอะๆ แบบนี้แทนที่จะได้บุญแท้ กลับได้บุญกึ่งบาปแทน เพราะตอนทำ จิตตั้งมั่นว่าโหยหาเงินทองและหิวแสง(โลภมาก) ดังนั้นหากตายไปเมื่อไหร่ก็ไม่พ้นได้ไปเกิดเป็นพวก กึ่งอบาย กึ่งสุคติ อาทิเช่น เวมานิกะเปรต มหิทธิกาเปรต หรือ คุหยัก หรือไม่ก็รากษส เป็นต้น นี่แค่ตัวอย่างเท่านั้น
หากถือศีลแล้วปฏิบัติภาวนาอย่างเดียว โดยไม่ยอม"ทำทานด้วยปรารถนาอันดี"(ให้โดยไม่หวังผล) อย่างไรอานิสงส์ที่ได้ก็ย่อมมีแน่นอน คือ ปลอดภัยจากสิ่งเลวร้ายทั้งปวง และมีปัญญามาก เห็นธรรมได้แต่ใช้เวลานานมาก ผลเสียคือจะได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองในการครองชีพ "ยากกว่าคนที่ถือศีล,ปฏิบัติภาวนาเจริญสติสั่งสมสุตะและบริจาคทานเป็นนิจ" ด้วยเหตุแห่งกฎการสะท้อนเชิงสัมบูรณ์ละเอียดหรือกฎแห่งแรงดึงดูดเชิงจักรวาลภพ ที่ภาษาพุทธจะเรียกกฎแห่งกัมม์นั่นเอง ซึ่งจะเข้าสู่ทฤษฎีสัมพัทธภาพและทฤษฎีคว็อนตั้มพอดี
ผู้ที่ถือศีล-ปฏิบัติธรรมอย่างเดียวโดยไม่บริจาคทานหรือไม่ทำทานเลย ก็จะไม่ได้ฝึกการละทิ้งความตระหนี่ถี่เหนียว พอไม่ได้ฝึกตรงนี้ ก็จะทำให้การปล่อยวางหรือทิ้งในสิ่งต่างๆนั้นเป็นไปได้ยากกว่าคนที่หมั่นเพียรทำทั้งทาน,ศีลและภาวนา แม้จะปฏิบัติภาวนาทุกวันทุกเวลา แต่การบรรลุมรรคผลก็จะช้ากว่ากลุ่มคนที่กระทำความเพียรทั้งทาน,ศีลและภาวนา เพราะปัจจัยเอื้ออำนวยมีไม่มากเท่าเขานั่นเอง ธรรมะสวัสดี
แอดมินนาโครัตนะ แห่งเพจเฟ๊ซบุ๊ค ธรรมะแฟนตาซี
โฆษณา