20 มิ.ย. เวลา 07:46 • ปรัชญา
โรงเรียนเทพศิรินทร์

ความหมายของชีวิต ความไร้สาระ และซิซีฟัส (The meaning of life, Absurdism and Sisyphus)

”คนเราเกิดมาทำไม“ ”ชีวิตเรามีความหมายหรือไม่“ ”เรามีเจตจำนงเสรีจริง ๆ ไหม“ ”ทุกสิ่งถูกชะตาลิขิตไว้แล้วหรือเปล่า“ ”เราเลือกทางเดินของเราเองได้จริงไหม“ คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามทางปรัชญาที่ว่าด้วยความสำคัญของชีวิตและการดำรงอยู่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามโบราณพอ ๆ กับอารยธรรมของมนุษย์ มีผู้พยายามตอบคำถามเหล่านี้มากมายซึ่งล้วนแล้วแต่แตกต่างกันไปมากมายตามแต่แนวคิด ความเชื่อ และศาสนา
ในประวัติศาสตร์เมื่อมนุษย์ต้องพบเจอกับความทุกข์ทรมานจากโรคระบาด การเมือง เศรษฐกิจตกต่ำ หรือสงคราม ในวันที่มองไปทางไหนชีวิตก็ดูอับจนไร้หนทาง คำถามที่ว่า “ฉันเกิดมาทำไม” “ฉันเกิดมาเพื่ออะไร” มักผุดขึ้นมาบนหัวของใครหลาย ๆ คน ด้วยความสงสัยว่าเพราะอะไรตัวเราถึงต้องเกิดมาเพื่อเจอกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเหล่านี้ ทุกข์ทรมานจากบางสิ่ง ที่บางครั้งตัวเราก็ไม่ได้เป็นคนก่อ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัยความทุกข์เหล่านี้ไม่เคยห่างหายจากมนุษย์ไปไหน ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 หรือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน
และความทุกข์อีกรูปแบบที่มนุษย์แทบทุกคนต้องพบเจอแต่หากไม่ลองตรวจสอบชีวิตของตนเอง ก็คงไม่สามารถตระหนักได้ว่าตนเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น “ตื่น กินข้าว รถติด ไปทำงาน กลับบ้าน นอน ตื่น กินข้าว รถติด ไปทำงาน กลับบ้าน นอน … “ ชีวิตที่วนลูปตามระบบที่สังคมหยิบยื่นให้เราตั้งแต่วันที่เราเกิดมา แน่นอนว่ามนุษย์มีกิจกรรม คุณอาจเตะฟุตบอลในตอนเย็นวันศุกร์ หรือดินเนอร์กับคนที่คุณรักในวันเสาร์ แต่แล้วเมื่อสิ้นสุดวันคุณก็พบว่าตนเองกลับมาอยู่ในลูปเดิมอีกครั้ง ดูแล้วก็ช่างคล้ายกับตำนานของซิซีฟัส
ซิซีฟัส เป็นกษัตริย์แห่งโครินธ์ ว่ากันว่าเป็นผู้ปกครองที่มีความโหดเหี้ยมทารุณ ไม่ครองตนอยู่ในทศพิธราชธรรม ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงและแสวงหาอำนาจอยู่เสมอ ไม่สยบต่อทวยเทพทั้งปวง กำหนดเส้นทางเดินของชีวิตด้วยตนเอง และที่สำคัญมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
ด้วยความเฉลียวฉลาดและเจ้าเล่ห์ของซิซีฟัส เขาโกงความตายถึง 3 ครั้ง จนสุดท้ายเทพซุสจึงสาปให้ซิซีฟัสต้องกลิ้งหินก้อนใหญ่ขึ้นไปบนภูเขาสูง และเมื่อหินถึงจุดสูงสุดของยอดเขาเมื่อไหร่หินจะกลิ้งตกลงมา จากนั้นซิซีฟัสจะต้องกลิ้งหินกลับขึ้นไปใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
นั่นคือราคามหาศาลที่ซิซีฟัสต้องจ่ายหลังจากที่เขาโกงความตาย
ซิซีฟัสที่ต้องกลิ้งหินไปให้ถึงยอดเขาและทุก ๆ ครั้งที่เขาพาหินไปถึงยอดเขาสำเร็จหินจะกลิ้งลงมาที่ตีนเขาอีกเพื่อให้ซิซีฟัสมากลิ้งมันขึ้นไปอีกครั้งเป็นเช่นนี้ไปตลอดกาล การบังคับให้ทุกข์ทรมานไปตลอดการ ดูเป็นบทลงโทษที่โหดร้ายเสียยิ่งกว่าความตายเสียอีก
หากซิซีฟัสตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิตตนเอง ที่ต้องกลิ้งหินอยู่เช่นนี้ตลอดไป คงเป็นเรื่องที่น่าทุกข์ใจสำหรับซิซีฟัสมาก แต่ “อัลแบร์ต กามูส์“ นักจิตวิทยา นักเขียน และนักปรัชญาชาวแอลจีเรียไม่คิดเช่นนั้น
สำหรับ อัลแบร์ต กามูส์ ไม่ว่าจะมีอำนาจเบื้องสูง พระเจ้า หรือจักรวาลที่คอยกำหนดความหมายของชีวิตเราหรือไม่ การไปตั้งคำถามว่า ”ความหมายของชีวิตคืออะไร“ คือความ ”ไร้สาระ“ ไม่ใช่ชีวิตเราที่ไร้สาระ ไม่ใช่พระเจ้า หรือจักรวาลที่ไร้สาระ แต่เมื่อเรานำทั้งหมดมายึดโยงกันแล้วตั้งคำถาม ณ จุดนี้เองที่เกิดความ “ไร้สาระ” ขึ้นมา
You’ll never be happy if you continue to search for what happiness consist of. you will never live if you are looking for the meaning of life.
Albert Camus
ในบทแรกของงานเขียนเรื่อง The Myth of Sisyphus โดยกามูส์ เขาเปิดด้วยประโยคที่ว่า “ปรัชญามีเรื่องที่จริงจังอยู่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือการฆ่าตัวตาย การตัดสินว่าชีวิตมีคุณค่าหรือไม่ที่จะดำรงอยู่ต่อไปถือเป็นคำตอบเดียวของหลักการพื้นฐานของปรัชญา” เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วมีหลายครั้งที่ผู้คนเข้าใจกามูส์ผิดคิดว่ากามูส์สนับสนุนการฆ่าตัวตายซึ่งไม่จริง
อัลแบร์ต กามูส์ กล่าวว่ามนุษย์เรามีทางเลือก 3 ทาง คือ
  • 1.
    ​หลบหนี
  • 2.
    ​หลบซ่อน
  • 3.
    ​ยอมรับ
ข้อแรก “การหลบหนี” ในความหมายของกามูส์คือการฆ่าตัวตาย (Physical suicide) การฆ่าตัวตายคือการหลุดพ้นจากความไร้สาระ แต่มันคือการสารภาพว่าชีวิตนี้ไม่มีคุณค่าพอให้เลือกเดินต่อไป กามูส์ยังบอกอีกว่านี่ไม่ใช่หนทางที่เขาแนะนำ
Should I kill myself, or have a cup of coffee? But in the end one needs more courage to live than to kill himself.
Albert Camus
คือประโยคจากนวนิยายเรื่อง A Happy Death ของกามูส์ที่แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วการเลือกดื่มกาแฟ (ในบริบทนี้คือการเลือกใช้ชีวิตต่อไป) ต้องใช้ความกล้าหาญมากกว่าการจบชีวิตตัวเองลง
ข้อสอง “การหลบซ่อน“ ในความหมายของกามูส์คือการหลบซ่อนใต้ความเชื่อ ในที่นี้คือศาสนา กามูส์บอกว่าการเลือกเชื่อในศาสนาที่สำเร็จรูปและเลือกเชื่อต่อ ๆ กันมาเป็นระบบคือการ “ฆ่าตัวตายทางปรัชญา” (Philosophical suicide) ศาสนาเป็นเหมือนกับขอนไม้ให้คุณจับท่ามกลางทะเลลึกและวุ่นวายที่มีชื่อว่า “ชีวิต” มันคงง่ายกว่าหากมีคนบอกคุณว่าคุณเกิดมาเพื่อทำความดีและตายไปเพื่อขึ้นสวรรค์
ข้อสาม “ยอมรับ” การยอมรับของกามูส์คือการอยู่กับมัน และดำเนินชีวิตให้มีความสุข ”ขบถ (Rebel)“ จากชีวิตที่ถูกตีกรอบโดยสังคม “ขบถ” จากกรอบที่สังคมบังคับหยิบยื่นให้หาความหมายของชีวิต ”ขบถ” จากการดำเนินชีวิตที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะการเป็นตนเองคือสิ่งที่มนุษย์ทำแล้วมีความสุขมากที่สุด
I rebel; therefore I exist.
Albert Camus
มนุษย์ควรรู้ว่าภายในตนเองนั้นมีคุณค่าอยู่โดยไม่จำเป็นต้องถามหา “ความหมายของชีวิต” ตนเอง
“In the midst of hate, I found there was, within me, an invincible love.
In the midst of tears, I found there was, within me, an invincible smile.
In the midst of chaos, I found there was, within me, an invincible calm.
I realized, through it all, that…
In the midst of winter, I found there was, within me, an invincible summer.
And that makes me happy. For it says that no matter how hard the world pushes against me, within me, there’s something stronger – something better, pushing right back.”
- Albert Camus
ในขณะที่ใคร ๆ ต่างมองว่าการที่ซิซีฟัสเข็นหินขึ้นภูเขาตลอดกาลนั้นเป็นเรื่อง “ทุกข์” กามูส์กลับมองว่าที่เป็นทุกข์ก็เพราะมัวแต่มองหา “ความหมาย” ของการเข็นหินนี้ ใครว่าซิซีฟัสต้องเป็นทุกข์ หากซิซีฟัสเข้าใจว่าการแบกหินนี้เป็นเรื่อง ”ไร้สาระ“ และยอมรับกับปัจจุบันขณะที่เขากำลังเข็นหินนี้ซิซีฟัสก็สามารถมีความสุขได้ เพราะความสุขเกิดขึ้นใน “ปัจจุบันขณะ”
ในปัจจุบันขณะที่ซิซีฟัสเข็นหิน แสงแดดยามเช้าที่อบอุ่นก็ฉาบหลังของซิซีฟัส
ในปัจจุบันขณะที่ซิซีฟัสเข็นหิน นกบนภูเขาก็ขับร้องบทเพลงอันไพเราะให้ซิซีฟัสฟัง
ในปัจจุบันขณะที่ซิซีฟัสเข็นหิน ผีเสื้อก็บินมาเกาะดอกไม้อันสวยสดงดงามที่ขึ้นอยู่ตามข้างทาง
ทั้งหมดล้วนเป็นความสุขมิใช่หรือ แล้วทำไมต้องเป็นทุกข์เพื่อตามหา “ความหมาย” ของการเข็นหินตลอดการนี้ด้วย ในเมื่อซิซีฟัสมีความสุขได้ ใน “ปัจจุบันขณะ” ที่กำลังเข็นหิน
True happiness is to enjoy the present, without anxious dependence upon the future, not to amuse ourselves with either hopes or fears but to rest satisfied with what we have, which is sufficient, for he that is so wants nothing. The greatest blessings of mankind are within us and within our reach. A wise man is content with his lot, whatever it may be, without wishing for what he has not
Lucius Annaeus Seneca
โฆษณา