20 มิ.ย. เวลา 07:51 • ข่าวรอบโลก
ซาอุดีอาระเบีย

โศกนาฏกรรมที่ยังไร้ทางออก จากคลื่นความร้อนที่กวาดเอาชีวิตผู้แสวงบุญฮัจญ์ ล้มตายเป็นใบไม้ร่วง

“ฮัจญ์” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามที่จัดขึ้นทุกปี นอกจากมหาชนที่ล้นหลามทุกปีแล้ว คลื่นความร้อนที่เร่งแผ่อาณุภาพแผดเผา ก็ทำให้ผู้แสวงบุญต้องล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เพราะคลื่นความร้อนเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น
โศกนาฏกรรมคลื่นความร้อนระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม โดยปีนี้จัดในช่วงวันที่ 14-19 มิถุนายน ค.ศ. 2024 ณ กรุงเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 562 ราย นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง ที่ทำให้ทั้งโลกต้องตระหนักถึงวิกฤติภูมิอากาศที่นับวันจะเลวร้าย และหาทางยับยั้งให้ทัน ก่อนจะสายเกินแก้
ปีที่แล้ว ค.ศ. 2023 มีรายงานผู้แสวงบุญพิธีฮัจญ์ เสียชีวิตอย่างน้อย 240 ราย โดยมาจากหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซีย มาปีนี้ จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ ซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า เฉพาะอียิปต์ประเทศเดียว สังเวยให้กับคลื่นความร้อนไปแล้ว 307 ราย และสูญหายอีก 118 ราย
ฮัจญ์เป็นหนึ่งในพิธีกรรมสำคัญของศาสนาอิสลาม และชาวมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถทั้งทางด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง จะต้องมายังดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ทำให้สำเร็จให้ได้ อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต
เพราะฉะนั้น เชื่อได้เลยว่า จากจำนวนผู้แสวงบุญที่เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน ที่เพิ่มสูงขึ้น 1 เท่าตัวจากตัวเลขผู้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 2023 มีแนวโน้มว่าตัวเลขยังคงขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆในปีถัดๆ ไป เพราะโลกใบนี้กำลังตกอยู่ในวงล้อมของคลื่นความร้อน อย่างไม่อาจดิ้นหลุดได้
“คลื่นความร้อน” เพชรฆาตภัยเงียบ
บริษัท ป่าสาละ จำกัด เจ้าของแนวคิด “ปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน” นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนไว้ว่า อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน ปรากฎการณ์คลื่นความร้อน จะเกิดจากระบบความกดอากาศสูง หรือที่รู้จักในชื่อแอนติไซโคลน (anticyclone)
ทำให้เกิดการสะสมแรงกดบนชั้นบรรยากาศเหนือพื้นที่หนึ่ง ซึ่งส่งผลให้กระแสลมไหลเวียนลง และทำหน้าที่เสมือนฝาของโดมความร้อน กักเก็บความร้อนที่สะสมอยู่ที่พื้นราบ ระบบความกดอากาศสูงยังผลักกระแสลมเย็นและเมฆออกไป ทำให้แสงอาทิตย์สาดมายังพื้นโลกได้โดยไม่มีอะไรสกัดกั้น
ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะค่อยๆ สะสมในพื้นดิน ทราย คอนกรีต และยางมะตอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนของฝั่งซีกโลกเหนือ ที่แกนโลกจะเอนไปรับแสงอาทิตย์ จนทำให้เวลาในช่วงกลางวันยาวนาน และอากาศอบอุ่นขึ้น เมื่อความร้อนถูกสะสม และไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คลื่นความร้อนพบได้มากในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย รวมถึงพื้นที่สูงซึ่งมักอยู่ภายใต้ระบบความกดอากาศสูงเป็นประจำ แต่ความชื้นจากพื้นดินจะช่วยบรรเทาความร้อนลงเสมือนที่เราขับเหงื่อออกเพื่อให้ร่างกายเย็นลง เมื่อน้ำที่พื้นราบมีไม่เพียงพอ อากาศก็จะแบกรับความร้อนส่วนเกินเหล่านั้นแทน
พื้นที่เมืองจะยิ่งทำให้ภาวะอากาศร้อนเลวร้ายลง ทั้งถนน ลานจอดรถ และอาคารที่มาทดแทนพื้นที่ธรรมชาติ ต่างก็เป็นวัสดุที่ดูดซับความร้อนได้ดี และเก็บกักความชื้นได้น้อย เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า เกาะความร้อนเมือง (urban heat island) ทำให้เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส หรือดัลลัส อุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่รอบๆ ราว 7 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์พบว่า การเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งนั้น มีสาเหตุมาจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีการศึกษาระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเพิ่มแนวโน้มการเกิดคลื่นความร้อนบนพื้นทวีปราว 5 เท่า เพิ่มแนวโน้มการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร 20 เท่า
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนในทวีปไซบีเรียมากถึง 600 เท่า
คลื่นความร้อนคือ ภัยเงียบที่มักถูกมองข้าม เพราะภัยธรรมชาติจากความร้อน ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายสะเทือนขวัญ อย่าง สึนามิ โคลนถล่ม น้ำท่วม หรือพายุไต้ฝุ่น
ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในระหว่างปี ค.ศ. 1998-2017 มีประชากรโลกอย่างน้อย 166,000 คนเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน โดยวิกฤติครั้งสำคัญคือคลื่นความร้อนเมื่อปี ค.ศ. 2003 ที่ทำให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไปกว่า 70,000 ราย นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐยังระบุว่า คลื่นความร้อนเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดหากเทียบกับภัยพิบัติประเภทอื่น
การแสวงบุญถูกกระทบจากสภาพแปรปรวน
สถานีข่าว PPTV Online รายงานว่า จากการศึกษาสภาพอากาศแปรปรวนของซาอุดีอาระเบีย ที่เพิ่งตีพิมพ์รายงานไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 ระบุว่า การแสวงบุญได้รับผลกระทบมากขึ้น จากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยอุณหภูมิในพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.4 องศาเซลเซียสในทุก ๆ ทศวรรษ
ด้าน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย เผยว่า อุณหภูมิบริเวณมัสยิดใหญ่ในเมืองเมกกะ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2024 สูงขึ้นถึง 51.8 องศาเซลเซียส มีผู้แสวงบุญประมาณ 1.8 ล้านคนเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในปีนี้ โดย 1.6 ล้านคนมาจากต่างประเทศ เป็นตัวเลขจากรายงานอย่างเป็นทางการของซาอุดีอาระเบีย
ติดตามรายละเอียดข่าวได้ที่ลิงก์
#พิธีฮัจญ์
#คลื่นความร้อน
#อิสลาม
#มุสลิม
#ซาอุดีอาระเบีย
#สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
#อากาศร้อน
#ESGuniverse
โฆษณา