20 มิ.ย. เวลา 14:24 • สุขภาพ

อาการบวมจากยา Pioglitazone (ไพโอกลิตาโซน)

.
วันนี้ พบญาติผู้ป่วยที่มารับยา แจ้งว่า หมอลดยาของคุณแม่ไป 1 รายการ เนื่องจากมีอาการขาบวม เป็นอาการข้างเคียงจากยาชนิดหนึ่ง คือ ยา Pioglitazone ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้พอสมควร วันนี้พี่บุ๋นมาเล่าให้ฟังค่ะ
.
ก่อนจะเข้าเรื่องผลข้างเคียงของยา ขออธิบายรายละเอียดของยาสักนิดนึงค่ะ
ยา Pioglitazone เป็นยาในกลุ่ม Thiazolidinedione (ไธอะโซลิดีนไดโอน)
#ออกฤทธิ์โดยการลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
.
ออกฤทธิ์ส่วนใหญ่ที่เซลล์ไขมัน ทำให้กระบวนการสลายไขมัน และปริมาณกรดไขมันอิสระลดลง นอกจากนี้ยังมีผลต่อฮอร์โมน และสารต่างๆที่สร้างและหลั่งจากเนื้อเยื่อไขมัน ช่วยทำให้การออกฤทธิ์ของอินซูลินดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ายาช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมในตับด้วย
.
#ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ทำให้มีอาการบวม เกิดจากไตดูดซึมเกลือกลับเข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น เช่น ขาบวม อาจรุนแรงถึงขั้นน้ำท่วมปอดหรือหัวใจวาย (ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม)และยังทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น จากปริมาณไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ
.
พบว่า การใช้ยาชนิดนี้ ร่วมกับยาฉีดอินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายประมาณ 2.5 เท่า
.
#ข้อดีของยาคือ
-ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระยะเวลาในการเริ่มออกฤทธิ์ของยาใช้เวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มเห็นผลในการลดระดับน้ำตาล การตอบสนองสูงสุดหลังใช้ยาประมาณ 6-8 สัปดาห์ เป็นยาที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ทำให้มีผลข้างเคียงเรื่องน้ำตาลเลือดต่ำน้อย
-ไม่ต้องปรับยา ในผู้ป่วยโรคไต
.
.
#สรุป ถึงแม้ยาไพโอกลิตาโซน จะมีผลข้างเคียง คือ อาการบวม ซึ่งต้องระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ยามีข้อดีในแง่ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงมักนิยมใช้เสริม(ไม่ใช่ยาหลัก) ในผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 ที่ใช้ยาชนิดอื่นมาแล้ว ยังลดน้ำตาลได้ไม่ดีค่ะ
.
ยาทุกชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ได้เกิดกับทุกคน เพียงแต่รู้เอาไว้ เป็นข้อมูลสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มรับประทานใหม่ๆ สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานมานานแล้ว ก็อย่าเพิ่งวิตกจนเกินไปนะคะ😃
.
.
เล่าเรื่องโดย ภญ. สุพนิต วาสนจิตต์ (พี่บุ๋น)
.
.
ข้อมูลอ้างอิง
1.ผลข้างเคียงของยาลดระดับน้ำตาลที่พบบ่อย
.
2.บทความ "การใช้ยาลดระดับน้ำตาลชนิดรับประทาน" จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
.
3.บทความ "การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดกลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน"
โฆษณา