21 มิ.ย. 2024 เวลา 02:49 • สุขภาพ
โรงพยาบาลพระรามเก้า

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบคลุม 4 สายพันธ์ุ

โรคไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่แพร่ระบาดในทุก ๆ ปี และยังมีความเสี่ยงต่อทุกกลุ่มอายุ ในปัจจุบันได้มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ครอบคลุมการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันการเป็นโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่เข้าถึงได้
บทความนี้จึงอยากบอกถึงแนวทางและขั้นตอนการฉีดวัคซีน รวมไปถึงผลข้างเคียงของวัคซีนชนิดนี้ และวิธีการปฏิบัติตัวหากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมที่จะรับมือได้อย่างปลอดภัย
ไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ คืออะไร?
โรคไข้หวัดใหญ่ คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) มีลักษณะโรคเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่มีสายพันธุ์หลักอยู่ 3 ชนิด คือ influenza A influenza B และ influenza C แต่ที่มีการเฝ้าระวังกันอย่างจริงจังจะมีแค่ชนิด A และ B เนื่องจากชนิด C พบได้น้อย มีอาการไม่รุนแรง และไม่เกิดการแพร่ระบาดได้มากเท่ากับ 2 ประเภทแรก
เมื่อพิจารณาจากสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง จะแบ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ซึ่งแต่ละชนิดแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยๆรวม 4 ชนิดด้วยกัน
1) ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ฟลู A แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยได้เป็น H1N1 และ H3N2 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก เช่น ไข้หวัดสุกร ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น โดยมักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
2) ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B หรือเรียกสั้น ๆ ว่าฟลู B แบ่งเป็นสายพันธุ์แยกย่อยได้เป็น สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria และ สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata เป็นไวรัสที่จะพบเชื้อได้ในคนเท่านั้น อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ส่วนมากจะเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อมที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ชอบคือ อากาศเย็นและแห้ง
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์
ไข้หวัดใหญ่มักแพร่ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มี 2 ประเภท ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ วัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ชนิดเชื้อตาย (TIV) และวัคซีนแบบพ่นทางจมูก ชนิดเชื้อเป็น (LAIV) สำหรับในประเทศไทย จะใช้วัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อชนิดเชื้อตาย
เนื่องจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย จะมีไข้หวัดใหญ่อยู่ 4 สายพันธุ์ที่หมุนเวียนกลับมาเป็นระลอกทุกปี การใช้วัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์จะเน้นที่การป้องกันสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด 3 สายพันธุ์แรกเท่านั้น
การป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด จึงเป็นการเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ พร้อมกันกับการปฏิบัติตัวตามแนวทางเบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสติดเชื้อ
ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อไหร่ และถี่แค่ไหน?
สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคตลอดเวลา เพราะไข้หวัดใหญ่แต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกันในแต่ละปี โดยเราสามารถแบ่งตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการฉีดได้ดังนี้
- สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ขวบ ให้ฉีด 2 เข็มในปีแรก โดยเว้นระยะห่างการฉีดครั้งละ 1 เดือน หากในปีแรกได้ฉีดเพียงครั้งเดียว ให้ฉีด 2 ครั้งในปีถัดมา แล้วหลังจากนั้นค่อยฉีดปีละครั้งได้
- บุคคลทั่วไป ฉีด 1 เข็ม และต้องฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี
หากพบว่าตัวเองมีอาการหวัด หรือเป็นไข้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดี
ใครควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง?
เราทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะอยู่ที่ 50-90% (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส)
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่แพทย์แนะนำให้รีบมาทำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ได้แก่บุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
1. หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน
2. เด็กเล็ก (อายุ 6 เดือน – 2 ปี)
3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
4. ผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป
5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
7. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน (น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. และคำนวณค่า BMI ได้มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตร.ม.)
ผลข้างเคียงหลังเข้ารับการฉีดวัคซีน
เนื่องจากในประเทศไทยใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย เชื้อไวรัสที่อยู่ในวัคซีนได้ถูกทำลายหมดแล้ว จึงไม่ค่อยพบกรณีที่มีผลข้างเคียงรุนแรง แต่ก็อาจมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ ได้แก่ ปวดบวมแดงร้อนเฉพาะที่ ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ เป็นต้น
หากเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรทำอย่างไร?
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่ไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงมากกว่า อาการมักจะปรากฏทันทีในลักษณะของไข้สูง 38.5 – 40 องศา รู้สึกหนาว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก นอกจากนี้อาจมีอาการคัดจมูก เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ ร่วมด้วย
ผู้มีความเสี่ยงที่ควรรับวัคซีนดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน ให้สังเกตอาการตัวเอง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์
สำหรับผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่ม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์
1. มีไข้สูงและเป็นมานาน
2. ให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังเกิน 38.5 องศา
3. หายใจหอบหรือหายใจลำบาก
4. มีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก
5. หน้ามืดเป็นลม
6. มีอาการสับสน
7. มีอาการอาเจียน กินอาหารไม่ได้
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่อันตราย มีการแพร่ระบาดทั่วโลกทุกปี โดยเฉพาะในประเทศไทย ทุกคนจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้พอ ๆ กัน และไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นขั้นตอนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และรู้จักการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรคจากผู้อื่นเบื้องต้น
พญ.มัณฑนา สันดุษฎี
ศูนย์อายุรกรรม
#Praram9Hospital
#HealthcareYouCanTrust
โฆษณา