21 มิ.ย. เวลา 05:00 • ครอบครัว & เด็ก

อนาคตของสมรสเท่าเทียม

[#สมรสเท่าเทียม] จากการที่ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านที่ประชุมวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 130-4 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ภายในปลายปี ค.ศ. 2024 ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่การจดทะเบียนสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) มีผลถูกต้องตามกฎหมาย
กระบวนการทางกฎหมายดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางสังคม และส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มที่จะได้รับการตระหนักและเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติทั้งในเชิงพฤตินัยและนิตินัย สอดคล้องกับค่านิยมของพลเมืองโลกส่วนมากที่เห็นคุณค่าของการแสดงออกซึ่งความเป็นตัวตน อิสรภาพในการใช้ชีวิต และการตื่นตัวเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
ในเชิงเศรษฐกิจ มีการวิเคราะห์ว่า การผ่านกฎหมายดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าทางความคิดซึ่งให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลาย ความเสมอภาค การนับร่วม และการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเป็นสังคม และมีบทบาทในการดึงดูดและส่งเสริมการท่องเที่ยว การลงทุน และแรงงานศักยภาพสูงที่มีความหลากหลายทางเพศและพันธมิตรจากทั่วโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow Economy) ในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค โดยการประเมินในปี ค.ศ. 2022 พบว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกมีจำนวน 3.88 ล้านคน มีกำลังซื้อสูงถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือเฉลี่ย 1.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี (ประมาณ 4.3 แสนบาทต่อคนต่อปี)
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การรณรงค์เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในมิติอื่น เช่น ความเสมอภาคในกระบวนการรับสมัครงาน การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นต้น ยังคงดำเนินต่อไป โดยทั่วโลกจะจับตามองประเทศไทยในฐานะประเทศต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคนหลากหลายทางเพศ
- การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมนำไปสู่การทบทวนและพิจารณาผลกระทบทางกฎหมายอื่น เช่น การลดหย่อนภาษี การสืบทอดมรดก การอุปถัมภ์และรับรองบุตร เป็นต้น
- การรณรงค์ให้คู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการมีบุตรเลือกวิธีการอุปถัมภ์หรือรับบุตรบุญธรรมแทนการอุ้มบุญกลายเป็นแนวทางการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงประชากรศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- นวัตกรรม โมเดลธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อผู้บริโภคที่มีความหลากหลายทางเพศและพันธมิตร เช่น การจัดงานแต่งงาน โปรแกรมสุขภาพ เครื่องมือทางการเงิน เป็นต้น กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตในกลุ่มธุรกิจประกันและตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักอาศัยสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้จำเป็นต้องมีการทบทวนสิทธิประโยชน์และนโยบายการดำเนินธุรกรรมใหม่
- ธุรกิจบันเทิงที่ผลิตจากประเทศไทย เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ประกอบเพลง เป็นต้น ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศถูกคาดหวังและกดดันจากสังคมมากขึ้น ให้ช่วยผลักดันวาระทางสังคมอื่นควบคู่ไปกับการนำเสนอความบันเทิง ทำให้ถูกจับตามองจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และผู้กำกับนโยบาย
- การตีความหลักคำสอนให้ร่วมสมัยกลายเป็นโอกาสครั้งใหม่ของลัทธิและศาสนาต่าง ๆ ที่ต้องการดึงความสนใจและจูงใจให้ประชาชนกลับมาศรัทธาและยึดถือในศาสนาอีกครั้ง
Sources: LGBT Capital
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #EqualMarriage #MarriageEquality #DEIandB #Wellbeing #MQDC
โฆษณา