21 มิ.ย. เวลา 05:03 • สุขภาพ
วัดสวนสันติธรรม

การจะเป็นโสดาบันได้ ต้องได้ฌาน๑ หรือ ธยาน๑ก่อนถึงจะเป็นได้ จริงหรือไม่? แล้วฌานคืออะไรกันแน่?

คำตอบคือ จริง ครับ แต่ฌานในที่นี้ เป็นคนละฌานกับฌานทางไสยศาสตร์และฌานในลัทธิเทวานิยมเลยนะครับ
#ฌาน #โสดาบัน #เซ็น
ฌานในทางพุทธ หมายถึงการฝึกเพ่งอารมณ์จิตใจอย่างแน่วแน่จนเกิดอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ใช่ฝึกเพ่งอารมณ์จิตใจอย่างแน่วแน่กับ ดิน น้ำ ลม ไฟ แสงหรือสี เพื่อให้ได้ตาทิพย์หูทิพย์ รู้อดีต รู้อนาคต หรือมีเวทมนตร์ความสามารถที่จะล่องหนหายตัวเหาะเหินแล้วกลายเป็นผู้วิเศษนะครับ
ดังนั้นฌาน ในศาสนาพุทธจึงหมายรวมไปถึงการใจจดใจจ่อตั้งใจทำในสิ่งที่ชื่นชอบอีกด้วย อาทิเช่น จิตรกร ขลุกตัวอยู่กับงานวาดเขียนจิตรกรรม นักเขียนจมจ่อมจดจ่อกับการประพันธ์นวนิยาย นักวิจัยหมกมุ่นทำการทดลองอยู่ในห้องแล็บ ฯลฯ แต่ฌานในลักษณะดังกล่าวจะเป็นฌานทางโลก คือฌานที่ใช้ในการยึดติด ไม่ใช่ฌานที่ใช้ในการหลุดพ้น
ฌานในศาสนาพุทธ เป็นฌานที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากโลก มีอีกชื่อว่า ธยาน ธยานี หรือเซ็นก็เรียก แต่ฌานในที่นี้คือการเพ่งพินิจอย่างต่อเนื่องเพื่อรู้สภาพธรรมชาติระดับสูงของกายและใจ (Intensive Strong Focus)จนมองเห็นสัจจะธรรมของธรรมชาติระดับสูงนั้นครับ แถมยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์อะไรเลย
ดังนั้น การทำให้ตัวเองได้ฌานที่๑ ของศาสนาพุทธ เป็นเรื่องของการสร้างปัญญาหรือความรู้แจ้งในธรรมชาติอันละเอียดอ่อนครับ โดยมีหลักก็คือการสะกดรอยตามสภาวะของจิตในแต่ละขณะที่เราได้มองเห็น ได้รับรสชาติ ได้รับกลิ่น ได้ยินเสียง และได้สัมผัสแตะต้อง ว่าจิตในแต่ละขณะ เกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นบ้าง จนลึกซึ้งเข้าถึงความละเอียดในลำดับการเกิดของกระแสธารแห่งจิตแต่ละขณะจิต ทำให้เห็นจริงถึงการเกิดดับอย่างต่อเนื่องของจิต ว่าเปรียบประดุจแสงไฟในหลอดนีออน ที่มาจากคลื่นแสงเกิดดับเกิดดับอย่างถี่ยิบอยู่ตลอดเวลา
การเพ่งพินิจจิตอารมณ์ในแบบฉบับฌาน๑ หรือ ปฐม ฌาน(ประถมธิยาน)นี้ สามารถกระทำได้เลยโดยไม่ต้องไปปฏิบัติธรรมที่วัดดังวัดดีเด่นที่ไหนก็ทำได้ทันทีในชีวิตประจำวัน สามารถทำได้ทั้งตอนตื่น ยืน นั่ง นอน เดิน กิน ทะเลาะ เศร้า เพลิน หงุดหงิด สนุก ป่วย เจ็บ แม้แต่ขณะร่วมเพศ และแม้กระทั่งก่อนตาย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องวิเศษมหัศจรรย์ที่เกินกำลังของปุถุชนเราเลยแม้แต่น้อย ขอเพียงมีความเชื่อมั่นตั้งใจเท่านั้นเอง
เราจะเพ่งพินิจ ที่เรียกกันว่าภาวนา(สะกดรอยตาม) โดยต้องติดตามจิตในแต่ละขณะไปเรื่อยๆ ว่าเวลาถูกกระทำสิ่งใด แล้วเกิดอารมณ์อย่างไร จนกระทั่งเห็นสภาวะเกิดดับของจิต(ดูความชอบ-ไม่ชอบ,ดูความจำได้หมายรู้,ดูความนึกคิดปรุงแต่ง-ฟุ้งซ่าน,จับการมองเห็นลิ้มรสได้กลิ่นได้ยินและสัมผัส) รวมทั้งคอยกันจิตอีกภาคส่วนหนึ่งเอาไว้คอยสะกดรอยตามพิจารณาดูร่างกายในแต่ละขณะ เช่น ขณะตื่น ขณะขับถ่าย ขณะขับรถ ขณะเจ็บป่วย แม้แต่ขณะร่วมประเวณี
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เราจะทำไปโดยห้ามไปบังคับจิต แต่ให้จิตทำหน้าที่เป็นผู้ดู หรือสังเกตการณ์ในฐานะของผู้ตรวจติดตาม ดังนั้น ถ้าเหงา ถ้าเศร้า ถ้าสุข ถ้าทุกข์ ถ้าโมโหโทโส ถ้ามีกามารมณ์ หรือถ้ามีอกุศลจิตก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้นของมันไป แต่อีกภาคส่วนหนึ่งของจิตก็ต้องคอยเอาปัญญาลงมาครอบกำกับไปพร้อมๆกันว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือปฏิกิริยาธรรมชาติที่จิตสำแดงออกมา และจะไม่อยู่ถาวร แต่จะต้องดับไปในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเนิ่นช้าหรือรวดเร็ว"
1
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อขับถ่าย จิตรับรู้ความรู้สึกทางกายด้วยปฏิกิริยาอย่างไรในขณะที่เบ่งลมขับของเสียออกจากร่าง จิตรับรู้ถึงการทำงานของอวัยวะภายในณะตอนนั้นด้วยปฏิกิริยาเช่นไร ปวดมากไหม ทรมานแค่ไหน ในระหว่างขับถ่ายรู้สึกอย่างไร เมื่อปลดทุกข์เสร็จสิ้นแล้วจิตมีปฏิกิริยาอย่างไรตามมา แม้แต่การหายใจเข้าออกก็นำมาเพ่งภาวนาเพื่อจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าและลมหายใจออกได้ โดยตามประกบจิตให้ทันการเข้าออกของลมหายใจโดยไม่เอาจิตไปคิดเรื่องอื่น วิธีนี้เรียกว่า อานาปานะสติ หรือการสะกดรอยตามลมหายใจ
แม้แต่กิจกรรมที่คาดไม่ถึงอย่างการร่วมประเวณี ขณะเริ่ม ระหว่างกระทำและหลังจากเสร็จกิจ เกิดความรู้สึกอย่างไรขึ้นมาจากรูปกายซึ่งเป็นหนึ่งในอายตนะภายนอก แล้วจิตที่รับสัมผัสทางกายไปแล้ว เกิดปฏิกิริยาอย่างไรตามมา จงเพ่งภาวนาตามไปให้รู้ จนจิตกระทำปฏิกิริยากับสมองแล้วตกผลึกเห็นแจ้งว่า เราไม่สามารถรักษาความสุขทางเพศให้เกิดขึ้นตลอดเวลาได้ ความสุขทางเพศนั้นเกิดขึ้น ดำเนินอยู่ และดับลงเสียทุกครั้งไป
เราจึงบังคับควบคุมให้ความสุขทางเพศอยู่กับเรานานๆตามใจเราไม่ได้เลย นี่คือ1ตัวอย่างของการตื่นรู้ว่ากายไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา การจำได้หมายรู้ ความชอบ-ไม่ชอบ และความนึกคิด,ฟุ้งซ่าน,ปรุงแต่งต่างๆนานาในใจ ล้วนเป็นปฏิกิริยาของธรรมชาติ บังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการไม่ได้เลย ไม่มีสิ่งใดที่จะหมายเอามาเป็นของของเราได้เลยแม้แต่อย่างเดียว
อย่างนี้เรียกว่าลักษณะของการเพ่ง หรือการภาวนาสะกดรอยตาม จนกระทั่งเกิดฌาน๑ขึ้นตามแนวทางของพระพุทธศาสนา สมมติถ้าตามดูอารมณ์ไปเรื่อยๆเช่นนี้ทุกขณะจนได้ฌาน๑แล้ววันหนึ่งบังเอิญเกิดความรู้สึกเศร้ามากจนเผลอคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือโกรธมากจนเผลอ อยากฆ่าใครให้ตาย ปัญญาก็จะลงมาครอบสวมใจไว้ทันที เนื่องจากมีอานิสงส์จากการภาวนาสะกดรอยตามกายและจิตอันอยู่ในขันธ์๕ของเรา มาช่วยเอาไว้ได้นั่นเอง
พอปัญญาลงมาครอบจิตไว้ได้ จิตจะสั่งการให้สมองประมวลผลจนตกผลึกว่า ความคิดโกรธเกรี้ยวและเศร้าโศก เป็นเพียงปฏิกิริยาทางธรรมชาติ ถ้าปล่อยจิตให้ไหลตามไปกับมัน กายของเราก็จะถูกจิตพาไปกระทำความชั่วช้าเลวทรามต่างๆนานา จนก่อให้เกิดธรรมชาติในแบบขั้วลบ
เช่น เป็นทุกข์ทันทีเลยขณะยังมีชีวิตอยู่เพราะจิตหลอน หวาดกลัวตำรวจจะมาจับ กลัวจะถูกประหารชีวิต เป็นโรคเครียด หรือเป็นบ้า(คนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ทางธรรมก็จะถือว่าเป็นบ้าเช่นกัน เพราะรู้สึกเฉยชาเมื่อทำชั่ว หรือรู้สึกเฉยชาเมื่อฆ่าคน มีภูมิจิตต่ำกว่าสัตว์เดรัจฉาน) และเมื่อตายไปก็จะไปเกิดใหม่ในอบายภูมิสี่อันประกอบไปด้วยเปรตวิสัย ทุคติ-วินิบาต เดรัจฉานและนรก เป็นต้น
อุปมาผู้หมั่นเพียรเจริญสติภาวนาเสมือนดั่งหนูสีเทาที่ถูกตาข่ายทองมากางกั้นกันไว้ก่อนไม่ให้วิ่งไปติดกาวดักหนู เมื่อรอดจากกาวดักหนูก็สลัดขนจากสีเทาให้ขนงอกใหม่กลายเป็นสีขาวจั๊วะ และมีดวงตาสีทับทิม ความหมายคือ ปุถุชน(หนูสีเทา)ที่เพ่งภาวนาอารมณ์จนรู้เท่าทันปฏิกิริยาของจิตจนหมดเชื้อไฟในการก่อกรรมทำชั่วอีกนั่นเอง
เมื่อกระทำเป็นนิจ สถานะจากปุถุชนก็จะเปลี่ยนเป็นโสดาบัน(หนูสีขาว)ที่มีดวงตาเห็นธรรม(ตาสีทับทิม)ได้ไม่ยากเกินกำลังของพวกเราอย่างแน่นอน เหตุเพราะมีพลังแห่งปัญญามากางกั้นกันไว้ไม่ให้กระทำอกุศลกรรมที่จะพาจิตไปปฏิสนธิเกิดกับร่างกายใหม่ในอบายภูมิได้อีกต่อไปชั่วนิจนิรันดร
แอดมินเตมียนาคราช แห่งเพจเฟ๊ซบุ๊ค ธรรมะแฟนตาซี อย่าลืมกดติดตามเพจกันด้วยนะครับ
โฆษณา