21 มิ.ย. เวลา 07:30 • ข่าว

ยอดใช้จ่าย “บัตรเครดิต” พุ่ง! ธปท.ปรับเกณฑ์ จ่ายขั้นต่ำ 8% ดันหนี้เสีย กลุ่มแบงก์ Q1 โตกว่า 42%

คนไทยใช้จ่าย “บัตรเครดิต” พุ่ง! ไม่พกเงินสด-ซื้อของออนไลน์ ตัวเร่ง วิจัย LH Bank คาดทั้งปี ยอดเฉลี่ยต่อคน/ปี แตะ 80,000 บาท ใกล้ก่อนช่วงโควิด บัตรเครดิต KBank ยังครองสัดส่วนตลาด ขณะสัญญาณน่าห่วง หลัง ธปท.ปรับเกณฑ์จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ จาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่ต้นปี ดัน “หนี้เสีย” ไตรมาสแรก กลุ่มแบงก์ เด้งขึ้น 42.34%
คงมีเหตุผลไม่กี่เรื่อง ที่คนส่วนใหญ่ ยอมพาตัวเองเข้าสู่วังวนการเป็น “หนี้บัตรเครดิต” และวงการ “จ่ายขั้นต่ำ” แต่หากยัง รูดเพลิน เกินตัว ไม่เร่งปรับวินัยการทางเงิน และวางแผนการใช้จ่ายรายเดือนที่เหมาะสม ปลายทางเราอาจได้เห็น “หนี้เสีย” ในระบบของประเทศไทยเพิ่มขึ้น และสะเทือนถึงทิศทางธุรกิจบัตรเครดิต และเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของบัตรเครดิตก็มีมาก และเป็นประโยชน์สำหรับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในยุคที่การพกเงินสดมีบทบาทน้อยลง และเราสามารถซื้อสินค้าได้ โดยไม่ต้องใช้เงินก้อน ใช้จ่ายได้ทั่วโลก สะดวกและจำเป็นในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
อัปเดต สถานการณ์ การใช้บัตรเครดิต ของคนไทย
ThairathMoney เจาะสถานการณ์ การใช้จ่ายบัตรเครดิตของคนไทย ในรอบ 3 เดือนแรก ของปี 2567 อ้างอิงข้อมูล จาก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ และแนวโน้มธุรกิจของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์
พบว่า ปัจจุบัน ธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Bank) และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) โดยจำนวนบัญชีบัตรเครดิตล่าสุด ในเดือน มี.ค. 2567 พบว่า ...
กลุ่ม Bank มีจำนวน 9.69 ล้านบัญชี (37%)
กลุ่ม Non-Bank มีจำนวน 16.72 ล้านบัญชี (63%)
ทั้งนี้ จากข้อมูลจะพบว่า ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่ม Bank จะสูง กว่ากลุ่ม Non-bank ราว 2 เท่า สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่ม Bank อยู่ที่ 0.44 ล้านล้านบาท ในขณะที่ ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่ม Non-bank อยู่ที่ราว 0.25 ล้านล้านบาท
ปรับเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำ ดัน 3 เดือนแรก แบงก์แบกหนี้เสียเพิ่มกว่า 42%
แต่ประเด็นที่น่าสนใจ กลับพบว่า ยอดหนี้เสีย หรือ หนี้ NPL ลูกค้าบัตรเครดิต ของ Bank มีแนวโน้มสูงขึ้น ภายหลังจากการปรับยอดอัตรา การชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% เพิ่มขึ้นเป็น 8% ของยอดเงิน ตามใบแจ้งยอดบัญชี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ยอด NPL กลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตของ Bank สูงขึ้น 42.34% (เทียบกับปี 66)
ภายใต้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวม มีทั้งสิ้น 314 ล้านธุรกรรม เพิ่มขึ้น 10.8% ทั้งการใช้บัตรผ่านเครื่องรูดบัตร และการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตออนไลน์ โดย Visa เป็นเครือข่ายที่นิยมใช้มากที่สุด รองลงมา คือ Mastercard และ American Express ตามลำดับ
"คาดว่า ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยผ่านบัตรเครดิตต่อบัญชี จะเติบโตและกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งแตะระดับประมาณ 80,000 บาทต่อบัญชี ต่อปี"
ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ชี้ว่า ตัวเร่งสำคัญเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากผู้บริโภคมีความนิยมใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการชำระเงินผ่าน Mobile banking รวมไปถึงอานิสงส์จาก ธุรกิจ E-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับ ผู้นำตลาด ยังคงเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ข้อมูลปี 2565 ธนาคารกสิกรไทยยังคงครองสัดส่วนสูงที่สุด อยู่ที่ 21.7% รองลงมา คือ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด ครองสัดส่วนอยู่ที่ 20.1% และ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (CardX) ครองสัดส่วนอยู่ที่ 14.3%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบัตรเครดิต ยังคงเผชิญกับความท้าทายจาก ปัจจัยด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลงตาม ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น การตั้งสำรอง เพื่อรองรับ “หนี้เสีย” อีกทั้งยังต้องติดตามผลกระทบ หลังในปี 2568 จะมีการปรับยอดอัตราการชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 8% เพิ่มขึ้น เป็น 10% ตามเกณฑ์ของ ธปท. ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่ยอด NPL จะสูงขึ้นไปอีก
ที่มา : บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ LH BANK
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา