23 มิ.ย. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ซื้อ หรือ เช่าบ้าน ทางเลือกไหนดีกว่า? ลองตั้งคำถาม 6 ข้อก่อนตัดสินใจ

จะซื้อบ้าน หรือ เช่าบ้าน เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เพราะถือเป็นการวางแผนชีวิตระยะยาวด้วยเช่นกัน ชวนตั้ง 6 คำถามหากลังเลว่าจะเช่าหรือซื้อดี
พรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารหนี้ โดยตลาดหลักทรัพยืแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะซื้อบ้าน หรือ เช่าบ้าน เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เพราะถือเป็นการวางแผนชีวิตระยะยาวด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากยังลังเลว่าจะเช่าหรือซื้อดี ลองตั้งคำถาม 6 ข้อนี้ดู
1. สามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยรายเดือนได้เท่าไร พิจารณาค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าเช่าหรือเงินผ่อนบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ภาษี และค่าประกัน เป็นต้น
ซื้อบ้าน หรือ เช่าบ้าน ทางเลือกไหนดีกว่า?
2. พร้อมสำหรับการลงทุนระยะยาวหรือไม่ การซื้อบ้านเป็นการลงทุนที่สำคัญและต้องใช้ความมุ่งมั่นในระยะยาว โดยเมื่อซื้อบ้านก็ต้องมีเงินดาวน์ และผ่อนชำระรายเดือนเป็นเวลานานหลายปี ขณะที่การเช่าบ้านมีภาระทางการเงินน้อยกว่า แต่เงินค่าเช่าก็จะหมดไปโดยไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านเลย
3. วางแผนที่จะอยู่ในบ้านหลังนี้นานเท่าไร เมื่อเป็นเจ้าของบ้าน การย้ายไปที่อื่นจะยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่การเช่าบ้านให้ความยืดหยุ่นมากกว่า
4. ต้องการความมั่นคงหรือไม่ การเป็นเจ้าของบ้านมีความมั่นคงมากกว่า แต่การเช่าบ้านอาจต้องเผชิญกับการยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา
5. สามารถจ่ายค่าซ่อมแซม/บำรุงรักษาบ้านได้หรือไม่ เมื่อเป็นเจ้าของบ้านก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเอง แต่ผู้เช่ามักต้องรับผิด
ชอบค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน เจ้าของบ้านมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษา
6. วางแผนระยะยาวแค่ไหน การซื้อบ้านเป็นการลงทุนระยะยาวที่อาจสร้างมูลค่าในอนาคต เมื่อมีกรรมสิทธิ์ก็สามารถปรับปรุงบ้านตามสไตล์ที่ชอบได้ แต่การเช่าบ้านเหมาะกับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าจะอาศัยในพื้นที่นั้นในระยะยาวหรือไม่
"ราคา" ปัจจัยที่อาจวัดความคุ้มค่าได้ว่าจะเช่า หรือ ซื้อบ้านดี
ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน DDproperty Thailand Market Report ไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า รายงานดังกล่าว ประเมินว่าท่ามกลางความท้าทายทางการเงินโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย - ปานกลาง
ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้ง สภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกชะลอแผนการซื้อบ้านออกไปก่อน
เห็นได้ชัดจากภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ปรับลดลง 7% จากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และลดลง 31% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 และปรับลดลงในทุกประเภทที่อยู่อาศัย
โดยที่อยู่อาศัยระดับราคา 1 - 3 ล้านบาท ครองตลาดด้วยสัดส่วน 30% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคระดับกลาง – ล่าง ยังคงไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะดูดซับอุปทานเหล่านี้
ภาพรวมตลาดเช่าที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
ยังคงมีทิศทางเติบโตในแง่ของราคาอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1 ปี 2567 ดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวสูง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและอะพาร์ตเมนต์ ปรับเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ เพิ่มขึ้น 4%
จากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่สวนทางกับความต้องการเช่าทั่วประเทศที่ปรับลดลง 10% จากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และลดลง 25% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการเช่าไตรมาส 1 ปี 2567 จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ถือเป็นการลดแบบชะลอตัวลงจากช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเช่าที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย
สอดคล้องกับเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่เน้นเช่าบ้านมากกว่าซื้อ (Generation Rent) เนื่องด้วยความท้าทายจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่และวัยทำงานไม่ต้องการเพิ่มภาระผูกพันทางการเงินในระยะยาวจากการซื้อที่อยู่อาศัย การเช่าจึงตอบโจทย์เรื่องค่าใช้จ่ายมากกว่า และยังได้เปรียบในด้านความยืดหยุ่นและคล่องตัวหากต้องการย้ายที่อยู่อาศัยในอนาคต
โดยค่าเช่าที่ได้รับความสนใจมากที่สุดอยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน สะท้อนถึงกำลังซื้อและความสามารถในการใช้จ่ายของผู้เช่าในปัจจุบันที่ยังคงต้องรัดเข็มขัดต่อเนื่อง รองลงมา คือ 5,001 - 10,000 บาทต่อเดือน และ 10,001 - 15,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ยุคดอกเบี้ยสูง ซื้อบ้านลดลง
จากรายงาน DDproperty Thailand Market Report ฉบับเดียวกัน พบว่าผู้บริโภคกว่า 2 ใน 5 (44%) วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 1 ปีข้างหน้า ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 53% ในรอบก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงไม่ฟื้นตัว สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและล่างยังคงมีความเปราะบางทางการเงินจึงจำเป็นต้องลดการก่อหนี้ใหม่ ในทางกลับกันสัดส่วนของผู้เลือกเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึง 14% ส่วนอีก 34% ยังไม่มีการวางแผนซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยใด ๆ ขณะที่อีก 8% จะรับมรดกที่อยู่อาศัยต่อจากพ่อแม่และผ่อนชำระต่อไปแทน
โดย 1 ใน 3 ของคนหาบ้านมีเงินพร้อมซื้อ เพื่อต้องการเพิ่มพื้นที่ส่วนตัว เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (44%) ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในเวลานี้เนื่องจากต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุด รองลงมา คือ เลือกซื้อเพื่อการลงทุน 29% และซื้อเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับพ่อแม่และบุตรหลานให้มากขึ้น 27%
เมื่อพิจารณาความพร้อมทางการเงินของผู้บริโภค พบว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ โดย 1 ใน 3 ของผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัย (33%) มองว่ามีเงินออมเพียงพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่าคนหาบ้านยุคนี้ให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้นหลังจากเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน
ขณะที่ผู้บริโภคเกือบครึ่ง (47%) เผยว่าเก็บเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น ส่วน 19% ของผู้วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยยังไม่ได้เริ่มแผนเก็บเงินใด ๆ เลย
เงินเก็บไม่พอ ทำให้ตัดสินใจเช่าบ้าน
เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกเช่าที่อยู่อาศัย กว่า 3 ใน 5 (61%) บอกว่า ยังไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อที่อยู่อาศัยในเวลานี้ ขณะที่เกือบ 2 ใน 5 (38%) มองว่าที่อยู่อาศัยมีราคาแพงเกินไปจึงเลือกเก็บออมเงินแทน และ 27% มองไม่เห็นความจำเป็นหรือความเร่งด่วนที่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยตอนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องทางการเงินยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไม่พร้อมเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย จึงหันมาเลือกเช่าแทน
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา