21 มิ.ย. เวลา 13:30 • สุขภาพ

Anxious Generation ที่กำลังพัดโหมใส่ Gen Y และ Gen Z มากที่สุดในบรรดาคนทุกรุ่น

เมื่อพูดถึงปัญหาสุขภาพจิต คำตอบแรกๆ ที่คนนึกถึงอาจเป็น โรคซึมเศร้า ภาวะเบิร์นเอาต์จากการทำงาน หรือความเครียด แต่มีภาวะหนึ่งที่เรามักมองข้าม ทั้งที่ภาวะนี้ครองแชมป์โรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2019 อ้างอิงจาก WHO และนั่นก็คือ Anxiety Disorder หรือ โรควิตกกังวล นั่นเอง
Anxiety Disorder คือมวลความรู้สึกกังวลที่หนักข้อจนควบคุมลำบาก เกิดขึ้นในระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน แม้รับรู้ได้ว่าเป็นความกังวลที่ไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ เราก็หยุดมันได้ยาก เหมือนฉากที่เจ้าอารมณ์ Anxious (ชื่อไทย ‘ว้าวุ่น’)
ในภาพยนตร์แอนิเมชัน Inside Out 2 พยายามควบคุมแผงคอนโซลการตอบสนองของตัวเอกวัยรุ่นชื่อไรลีย์ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่สุดท้ายว้าวุ่นก็ตกอยู่ในความวิตกจนหยุดตัวเองไม่ได้เช่นกัน ผลลัพธ์เท่าที่เราเห็นในภาพยนตร์คือไรลีย์สงบตัวเองไม่ได้ หัวใจเต้นเร็วแรง ภาพอนาคตน่ากลัวมาจ่อรออยู่ตรงหน้าทั้งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
ไรลีย์ ‘ไม่รู้ตัว’ ว่าภาวะวิตกกังวลเล่นงานเธอเข้าให้แล้ว เพราะในทางความคิดเธอก็แค่กำลังพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่ออนาคตของตัวเอง
นี่คือความท้าทายของภาวะวิตกกังวล เรารู้ตัวได้ยาก ยิ่งในยุคที่เรากดดันตัวเองเพื่อสร้างชีวิตที่ดี เอาตัวรอดในโลกที่ท้าทาย ใครบ้างจะไม่กังวล และเมื่อเรากังวล เราก็ใช้ถ้อยคำคุ้นเคยบอกตัวเองและคนรอบข้างว่า “อย่าคิดมาก”
ภาวะนี้จึงกลายเป็นแค่สถานการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วไป มันแนบเนียนจนเราไม่ได้ดูแล คนรอบข้างไม่ได้ตระหนัก น้อยคนตื่นตัวเพราะมันดูไม่อันตรายเหมือนภาวะซึมเศร้าที่เชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตาย (ในการรับรู้ของเรา) ใครหยุดอาการนี้ไม่ได้ก็เสี่ยงถูกจัดกลุ่มเป็นแค่ ‘คนคิดมาก’ คนหนึ่ง จนกว่าผลเสียของมันจะสะสมจนออกอาการ
โดยสถิติแล้ว มีผู้คนทั่วโลกกว่า 301 ล้านคนได้รับผลกระทบจากโรคนี้ เป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย และตัวผู้เขียนเองก็เป็นผู้หญิงที่เคยรับการบำบัดรักษาโรคนี้มาด้วยตัวเอง แต่เราจะอธิบายให้เข้าใจได้อย่างไรว่าพวกเรารับรู้ถึงความหนักหนาของมันน้อยเกินไป
“มันเป็นเรื่องจริงพอๆ กับการป่วยเป็นโรคเบาหวานนั่นแหละ” คุณหมอ Jen Gunter กล่าวถึงโรควิตกกังวลในพอดแคสต์ Body Stuff ของ TED ไว้เช่นนี้ ซึ่งก็จริง โรคเบาหวานไม่ฆ่าเราในทันที แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตไปได้อีกนาน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต สะท้อนว่าสถิติผู้ป่วยโรควิตกกังวลตีคู่คี่สูสีมากับโรคซึมเศร้า และในปีล่าสุด (2566) ก็กลับมาทะลุแซงหน้าไปเรียบร้อย ดูสถิติย้อนหลังไป 5 ปี ในจำนวนผู้รับบริการจิตเวชรายกลุ่มโรคเฉลี่ย
โรควิตกกังวลก็ยังครองแชมป์อยู่ดี ที่น่าสนใจคือเมื่อก่อนผู้ป่วยจิตเวชมักเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ตอนนี้ยอดรวมผู้ป่วยสองโรคนี้พุ่งทะยานนำหน้าผู้ที่มีปัญหาจากยาเสพติดไปไกล เพราะปัญหาทางจิตใจเกิดจากปัจจัยทางสังคมและเรื่องปากท้อง มันใกล้ตัวเราขึ้นมาก
1
อีกเหตุผลที่เราต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าโรคนี้มีอยู่จริงและผลกระทบก็เป็นของจริง ไม่ใช่แค่เพราะมันนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ แต่เพราะกลุ่มวัยรุ่นคือคนกลุ่มที่ประสบปัญหาวิตกกังวลได้มากกว่าผู้ใหญ่
1
ตอนนี้ไม่ใช่แค่ Gen Y ที่รับบท ‘เดอะแบก’ ในฐานะ Sandwich Generation แต่ Gen Z ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นก็กำลังรับมือภาวะอาการนี้เช่นกัน คลื่นความวิตกกังวลกำลังถาโถมผู้คนในช่วงอายุที่ควรจะมีไฟมีแรงอย่างหนักข้อ จนเกิดเป็นคำเรียกว่า ‘Anxious Generation’
1
Jonathan Haidt อาจารย์และนักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือ The Anxious Generation เล่าถึงหนึ่งสาเหตุสำคัญว่าเป็นเพราะชาว Gen Z คือคนรุ่นแรกที่เติบโตพร้อมกับโลกอินเทอร์เน็ตในมือถือที่ไม่เคยให้ความรู้สึกมั่นคง ถูกทำร้ายจากอุตสาหกรรมที่พยายามดึงยอด engagement โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางจิตใจมากพอ
ข้อมูลพวกนี้เราอาจพอรู้อยู่แล้ว แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือสมองที่กำลังพัฒนารวมถึงการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงๆ ของ Gen Z ก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งเร้านี้ไปด้วย พวกเขาคือคนรุ่นแรกที่ต้องเติบโตในสภาวะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โจนาธานเปรียบเทียบว่าเหมือนเราส่งเด็กรุ่นแรกไปโตบนดาวอังคาร สภาพแวดล้อมที่ท้าทายของดาวอังคารย่อมมีผลและหล่อหลอมตัวตนพวกเขาได้มากกว่าผู้ใหญ่ที่เพิ่งไปถึงที่นั่น
เราไม่ควรลืมด้วยว่าโควิด-19 มีผลกระทบต่อทุกคนไม่เว้นวัยรุ่น พวกเขาขาดการเชื่อมต่อกัน เจอความโดดเดี่ยว เสียโอกาสเรียนรู้ชีวิตจริงๆ ไปหลายปี แต่ก็ถูกคาดหวังให้สำเร็จในระยะเวลาเท่าเดิม หรือเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
โจนาธานชี้ว่ามีสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงปี 2010-2015 ที่สถิติของวัยรุ่นที่ประสบภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อมองภาพกว้างของคนทุกเพศทุกกลุ่ม โรควิตกกังวลก็ครองสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับภาวะและโรคทางจิตเวชอื่นๆ
สถิติการทำร้ายตัวเองในวัยรุ่นหญิงยังเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัวภายใน 10 ปี (2010 ถึง 2020) สอดคล้องไปกับการรายงานตัวเอง (self-report) ในกลุ่มวัยรุ่นว่ามีภาวะความวิตกกังวลและซึมเศร้ามากขึ้น แสดงว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปมากจริงๆ และไม่ใช่สัญญาณที่ดี
ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานที่ศึกษาข้อมูลสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นไทย รวมถึงได้รับฟังอาจารย์ที่มีประสบการณ์ช่วยดูแลนักศึกษาที่เกิดปัญหาทางใจ ข้อมูลที่พบสอดคล้องกันคือเด็กๆ กดดันว่าจะทำได้ดีแค่ไหน จะทำให้ครอบครัวหรือใครต้องผิดหวังไหม
ข้อมูลจากงานวิจัยเชิงคุณภาพของแพทย์หญิงนิดา ลิ้มสุวรรณ และคณะ ที่ศึกษาเจตนาและแรงจูงใจของพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง (self-harm) ในวัยรุ่นไทย ก็พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งคือคำตำหนิต่อว่าและความคาดหวังด้านการศึกษา ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง ผู้เขียนยืนยันได้ว่าสัญญาณของความวิตกกังวลจะดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเริ่มวนเวียนอยู่กับการห้ามทำผิดและต้องรับผิดชอบความรู้สึกคนรอบข้าง
1
อีกความรู้สึกหนึ่งที่วัยรุ่นกำลังเผชิญเช่นกันคือความรู้สึกเคว้งคว้าง เต็มไปด้วยคำถาม ไม่แน่ใจกับอนาคต เหมือนเรือกลางทะเลที่ไม่มีสมอ ไม่มีตัวช่วยเป็นหลักยึดให้รู้สึกมั่นคง
หนังสืออีกเล่มที่พูดถึงภาวะวิตกกังวลในคน Gen Y และ Gen Z คือ Generation Anxiety เขียนโดยนักจิตวิทยาคลินิก Lauren Cook เธอเปรียบเทียบยุคสมัยแห่งความวิตกกังวลว่าเหมือนการอยู่กลางทะเลที่มีปลาฉลาม (สัญลักษณ์แทนความกลัว) ดังนั้นทางเดียวที่จะรอดได้ก็คือเราต้องหัดโต้คลื่นให้เป็น ฉากทะเลเป็นภาพจินตนาการของผู้เขียนเช่นกันเวลานึกถึงอาการวิตกกังวล เพราะมันคือพื้นที่ไร้จุดจบของคำถามและความกลัว
ถึงอย่างนั้นเอง เหมือนที่เราได้เรียนรู้จาก Inside Out 2 ว่าทุกอารมณ์มีหน้าที่ของมันและจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อบางสิ่ง เรามีเจ้าว้าวุ่นเป็นของตัวเองเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างรอบคอบไม่ประมาท ดังนั้นสิ่งแรกสุดที่ควรทำในการหัดโต้คลื่นก็คือการยอมรับว่า
ชีวิตมีเรื่องที่เรากลัวได้ กังวลได้ ยอมรับว่าเราทุกคนต่างลอยอยู่ในทะเลของตัวเอง แต่ถ้าเราไม่เกร็งตัวจนเกินไป เราจะหัดลอยตัวในมวลน้ำมหาศาลได้อย่างไม่ทุรนทุราย หายใจได้ เริ่มว่ายน้ำได้ มองเห็นทิศทางที่จะไปถ้าอยากแวะพักที่ฝั่ง การพยายามปฏิเสธเวลาความกังวลมาเยือนไม่ต่างจากการตื่นตระหนกที่ยิ่งทำให้เราสำลักน้ำมากขึ้น
ผู้เขียนคิดว่าเราน่าจะทำความรู้จักธรรมชาติทะเล เรียนรู้รู้วิธีโต้คลื่นในทะเล แต่ไม่ต้องรับผิดชอบพื้นที่ทั้งหมดของมัน เพราะหลายสิ่งที่เรากลัวในชีวิตไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมได้ ในมุมนี้อีกสิ่งที่ดีมากๆ ในหนังสือของลอเรนคือการระบุชัดเจนว่าอีก
สาเหตุของความวิตกกังวลในคนเจนนี้ คือบาดแผลทางจิตใจที่คนรุ่นเรารับช่วงต่อมาจากคนรุ่นก่อนหน้าอีกที สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้เลือกให้เกิด แต่เรามีสิทธิ์จะลุกขึ้นมาทำความเข้าใจเพื่อตัวเราเองในวันข้างหน้า
1
หากรุ่นพ่อแม่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการดูแลสุขภาพจิตมากนัก สิ่งที่เป็นบาดแผลทางใจของพวกเขาย่อมถูกส่งต่อมาให้เราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่นพวกเขาอาจไม่ทันรู้ตัวว่าการแบกรับความคาดหวังกดดันท่ามกลางสังคมดิ้นรนแข่งขัน ทำให้เขาโตมาเป็นคนเข้มงวดทั้งกับตัวเองและลูกหลาน และความเข้มงวดนี้ก็ก่อเกิดความรู้สึกกลัวกังวล ไม่เป็นอิสระ ไม่กล้าเป็นตัวเอง ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนตระหนักรู้วงจรนี้และเริ่มแก้ไขผ่านการเยียวยาตัวเอง
ปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่เคยเป็นเรื่องของปัจเจก มันผูกพันเชื่อมโยงพวกเราจากรุ่นสู่รุ่น จากวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ลอเรนยกตัวอย่างชัดๆ ได้อย่างเห็นภาพว่าหนึ่งในฉลามตัวร้ายก็คือสังคมที่ยังมีการเหยียดหรือด้อยคุณค่าจากปัจจัยของเพศ เชื้อชาติ ความเชื่อ หรืออายุ
ใครบางคนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในความกังวลว่าจะถูกทำร้ายหรือไม่เป็นที่ยอมรับแค่เพราะเขาเป็นตัวเอง ภาวะวิตกกังวลในหลายมุมจึงเป็นประเด็นที่ซีเรียส แสนห่างไกลกับคำตีตราว่าคิดมาก และไม่ใช่เรื่องน่ากังวลหยุมหยิมของผู้คนที่มีอภิสิทธิ์ (priviledge) ในชีวิต
ลึกที่สุดแล้ว เราต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน อยู่ในสังคมที่เข้าใจความแตกต่างและเงื่อนไขของแต่ละคน วันนี้เราอาจเริ่มต้นได้ด้วยการเข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตมีหน้าตาหลากหลาย เราจะเลิกกลบฝังความกังวลของคนใกล้ตัวโดยไม่ทันได้ฟังรายละเอียด
เปิดพื้นที่คุยกันอย่างตรงไปตรงมาและช่วยกันแก้ไขอย่างเข้าใจ นั่นคือจุดที่ความกังวลจะเริ่มอ่อนกำลัง ทุกครั้งที่มีผู้คนกล้าบอกเล่าความกังวลออกมา นั่นคือสัญญาณที่ดังเตือน เราไม่ต้องวิ่งหนี ฟังมันให้ชัดและทำความเข้าใจ เพื่อรุ่นถัดไปจะไม่ต้องเสี่ยงเป็น Anxious Generation เหมือนที่เราเป็น
อ้างอิง
โฆษณา