22 มิ.ย. 2024 เวลา 17:23 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] BRAT - Charli xcx >>> หัวใจเด็กเปรต

🚨🚨FPFM’s Best New Album Alert 🚨🚨
-ตลอดเวลาที่ได้ติดตาม Charlotte Emma Aitchison (aka Charli xcx) จากการรีวิวอัลบั้มเกือบทุกอัลบั้ม สิ่งที่ชาร์ลีไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือ ความเป็นป๊อปสตาร์หัวขบถที่มีอุดมการณ์อยู่เหนือกว่าความสำเร็จทางยอดขายและชาร์ทเพลงทั้งปวง เพียงแต่ว่าเธอยังถูกใส่ในกรอบรูปโฉมบางอย่างที่ยังคงตามแฟชั่นป็อปสตาร์คนอื่นๆอยู่
“ฉันคิดว่าการเผยใบหน้าและเนื้อหนังมังสาของผู้หญิงบนหน้าปกอัลบั้มต่างๆ ช่างเป็นอะไรที่น่าเบื่อและเหยียดหยามผู้หญิงเอามากๆ”
Charli xcx โพสต์ลง X
-ต่อให้ผมสัมผัสได้ถึงเอนเนอร์จี้อันลุกโชนจากเพลงของเธออยู่ไม่น้อย แต่ด้วย personal appeal และพลังแห่งพีอาร์จากค่ายเพลงเก่าที่เธอเคยสังกัดนั้นกลับทำให้ความผิดแผกแตกต่างที่เธอพยายามนำเสนอนั้นช่างจางลงจนไม่สามารถสัมผัสถึงความแตกต่างนั้นเสียเอง เมื่อผมเห็นปกอัลบั้ม BRAT กลับรู้สึก “เห้ย มันมีพลังงานซัมติง” มากกว่าปกอัลบั้มทุกชุดของชาร์ลีที่แล้วมาเสียอีก
-ทั้งๆที่ปกอัลบั้มนี้คุณสามารถจ้างเด็กสี่ขวบให้กดแป้นพิมพ์ใช้ฟอนต์ Arial พิมพ์ลงกรีนสกรีน คุณก็ได้ปกอัลบั้มนี้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่ต้องเสียค่าจ้างช่างกล้อง ค่าเช่าคอสตูม ค่ากราฟฟิก ค่าเช่าห้องสตูดิโอเลยแม้แต่บาทเดียว แค่ปกฟอนต์ Arial โง่ๆของ BRAT กลับสร้างแรงกระเพื่อมมากกว่า วัดได้จากสถิติยอดขายและสตรีมมิ่งก็เปิดตัวสูงสุดในบรรดาผลงานของเธอ นั่นก็ทำให้สิ่งที่ผมรู้สึกสนใจใคร่รู้แบบแปลกๆนี้ไม่ได้มีแค่ผมที่รู้สึกเพียงคนเดียวแน่ๆ
-การที่เธอขายความดิบแบบนี้ เธออยากจะท้าทาย standard ในอุตสาหกรรมวงการเพลง ตามประโยคที่เธอโพสต์ลง X ที่ผมแปลความให้ในข้างต้น ซึ่งก็ make sense โดยศิลปินหญิงที่จำเป็นต้องขายความเซ็กซี่เพื่อดึงดูดให้คนมาสนใจฟัง ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่เธอมองว่าเป็นการดูถูกความสามารถศิลปินหญิงโดยอ้อม เธอเลยท้าทายด้วยการปะหน้าความตรงไปตรงมาดิบๆโต้งๆเสียเลย และชัดเจนว่าเธอต้องการจะ fuck the norm ไม่ต้องแคร์ภาพลักษณ์อีกต่อไป แค่สีเขียวปรี๊ดก็ชัดเจนในความรู้สึกมากพอแล้ว
ปกเวอร์ชั่น deluxe ที่โคตรดิบจนพิมพ์ให้เองก็ย่อมได้
-Charli xcx มีคาแรคเตอร์ภาพจำสาวปาร์ตี้ที่ทำให้ hyperpop เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งหลายคนก็ชอบในความเกรี้ยวกราด แต่ก็มีบ้างที่ฟังแล้วเกิด culture shock เช่นกัน เพราะแนวทางนี้บิดคีย์ดนตรีป๊อปได้อย่างเร่งเร้า fast forward พอสมควร ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนนึงที่ชาร์ลีอาจจะแมสสู้ศิลปินป๊อปท่านอื่นไม่ได้ด้วยจุดยืนนี้แหละ มีแค่คนที่ติดตามเธอมาโดยตลอดเท่านั้นที่แฮปปี้ยิ่งยวดในตัวตนแบบนี้
-อย่างไรก็ดี BRAT ไม่ใช่อัลบั้มที่ซักเอาแต่เต้นๆดิ้นๆ กระดกช็อตเหล้าเพียงมิติเดียว แต่ยังแอบซ่อนมุมส่วนตัวเยอะกว่าที่คิด ซึ่งนั่นทำให้อัลบั้ม BRAT นั้นมีความเป็นมนุษย์ประหนึ่งนังตัวดีคนนึงที่ชอบปาร์ตี้เพียงเพราะอยากไปปลดปล่อยก็เท่านั้น มันเลยเป็นอัลบั้มที่เกลี่ยความสนุกและเรื่องส่วนตัวในแบบที่พบกันครึ่งทาง
-แทนที่ชาร์ลีจะป่าวประกาศโต้งๆว่า “นี่คืองานที่ส่วนตัวที่สุดสำหรับฉัน” แต่เธอเลือกวิธีการสื่อสารด้วยภาษาดอกไม้ด้วย vibe กระตุกจิตกระชากใจ หลีกเลี่ยงการอุปมาแบบเดิมๆ เน้นการ chit-chat กับเพื่อนในแบบที่เอาเก้าอี้ล้อมวงออกไป ณ จุดนี้จะให้เน้นความสำรวมก็กะไรอยู่ ยืนพูดแบบท้าวสะเอว เครื่องแต่งกายสีสันฉูดฉาด แล้วมีดีเจเปิดเพลงให้แตกกระเจิงไปเลย บีทดรอปปรี๊ดๆเมื่อไหร่เตรียมเต้นเยี่ยวราดน่องได้เลย
-สองเพลงแรกคือเปิดโหมดแดนซ์ให้คุ้นเคยกับตัวตนสาวปาร์ตี้ เริ่มจาก 360 เป็น self-love anthem ประหนึ่งส่องกระจกเช็คเสื้อผ้าหน้าผมเสริมความมั่นใจแบบสับๆ ก่อนที่จะไปปาร์ตี้ดุๆด้วย Club Classic ที่สะเทือนฟลอร์ด้วยลูกเล่นบีทสุดกระเพื่อมสุดล้ำ นี่ถือเป็นการสร้าง dance anthem ที่เพิ่มเติมด้วยการหอบแฟนและมิตรสหายมาอยู่ในเนื้อเพลงด้วย อาทิเช่น A. G. Cook, George Daniel , SOPHIE ศิลปินสาว transgender ผู้ล่วงลับคนสำคัญที่สุดในชีวิตเธอ ซึ่งชาร์ลีก็มีเรื่องขยายความเกี่ยวกับพวกเขาเหล่านี้ในเพลงต่อๆไป
-เช่นเดียวกับชุดซิงเกิ้ลที่ปล่อยออกมาทั้ง Von Dutch และ B2b เล่นโหมด hyperpop เต็มสูบ โดยซิงเกิ้ลแรก Von Dutch ให้อารมณ์ fuck haters ที่บ่งบอกภาพรวมอัลบั้มได้เป็นอย่างดี ทั้งบีทสุดโฉบเฉี่ยวปรี๊ดแตก การโชว์ self confident สุดเฟียส กูรู้ว่ามึงอิจฉาที่กูเป็น No.1 ซินะ B2b บีทตุบตับชวนผงกหัวตาม บ่งบอกถึงการเป็นตัวมัมคุมดีเจบูธได้เป็นอย่างดี การได้ดูคลิปที่เธอบุก BOILER ROOM น่าจะเป็นการยืนยันเซนส์แห่งการเอ็นเตอร์เทนได้เป็นอย่างดีเลยครับ
-พอมาถึง Sympathy is a knife เธอก็เริ่มเผยความ insecurities ที่อัดอั้นมานานเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจที่คนในสาธารณะพยายามมอบให้เธอ โดยเฉพาะความ popular ที่มีไม่มากเท่าคนอื่นที่ใครๆก็ต่างเสียดายที่เธอไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควรจะเป็น แต่นั่นก็ทำให้เธออึดอัดและพารานอยด์ไปกับการแยกแยะไม่ออกว่า อะไรคือความจริงใจ? อะไรคือมีดแทงข้างหลังกันแน่?
ตั้งแต่ผมเห็นประกาศ tracklist ตื่นเต้นตั้งแต่ชื่อเพลง พอเพลงออกมาก็ไม่ผิดหวังในความเฉียบคม ท่วงทำนองก็สุด doom ดั่งลมปะทะหน้า ซึ่งเพลงนี้ก็มีคนตีความโดยนัยที่ว่า เธอแอบนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับ Taylor Swift จนสะกิดความรู้สึก insecure โดยไม่รู้ตัว
Don't wanna see her backstage at my boyfriend's show
Fingers crossed behind my back
I hope they break up quick
Sympathy is a knife - Charli xcx
-สิ่งที่ทำให้การตีความนี้มีมูล ไล่ตั้งแต่การที่ชาร์ลีอยู่ดีๆก็พิมพ์สเตตัสลง X ด้วยชื่อเพลงนี้ในวันเดียวกับอัลบั้ม TTPD ของเทย์เลอร์ถูกปล่อยออกมา รวมไปถึงช่วงที่สาวเทย์เลอร์กำลังคบอยู่กับ Matty Healy ในช่วงต้นปี 2023 และได้ไปเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตของ The 1975 ด้วย ซึ่งชาร์ลีที่เป็นแฟนกับ George Daniel ก็ต้องเจอกับเทย์เลอร์หลังเวทีอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้เห็นรูปคู่ชาร์ลีกับเทย์เลอร์ในโซเชียลมีเดีย ทั้งคู่ลงรูปเซลฟี่กับแม่ Matty ในแบบตัวใครตัวมันแทน
(อย่างไรก็ดีใน IG ของชาร์ลีล่าสุด เธอก็ยัง Follow เทย์เลอร์อยู่เหมือนเดิม)
-ทั้งนี้ไอ้ความ insecure กับการที่รัศมีความดังของเธอไม่เฉิดฉายเท่าป็อปสตาร์คนอื่นๆที่เริ่มต้นมาพร้อมกัน นั่นก็ทำให้ Sympathy is a knife แอบโยงกับเพลงต่อไปอย่าง I might say something stupid ที่มาด้วยโทนสุดเหงาอ้างว้าง แปรเปลี่ยนจากตัวมัมกลับกลายเป็นหมาหงอยที่รู้สึกว่า “ที่นี่ไม่ใช่ที่ของกู” ซึ่งนั่นไม่ได้มีแค่เธอไปปาร์ตี้ผิดที่ แต่เป็นการที่เธอยังไม่ได้รับการมองเห็นมากพอในวงการเพลง มาแบบสั้นๆประหนึ่งความคิดชั่ววูบที่แล่นเข้ามา
-ยังมีเพลง Rewind ที่เธออยากย้อนเวลาไปสู่ช่วงเยาว์วัยที่ไม่ต้องคิดอะไรมากแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ที่ยังคงครุ่นคิดเรื่อง commercial success ห่วงเรื่องรูปร่างจนไม่สามารถ enjoy eating ได้เต็มที่ ผมก็เพิ่งรู้ด้วยว่าเธอทำเพลงนี้เพื่อที่จะ tribute เพลงที่มีชื่อว่า 14 จากอัลบั้มชุดแรกสุดอย่างไม่เป็นทางการก่อนเข้าวงการของเธอด้วย ซึ่งเธอเคยร้องไปว่า “You can’t rewind” กลับกลายเป็นว่าเธอเกิดความ nostalgia นี้เสียเอง ซึ่งก็ไม่ผิดที่จะคิดเช่นนี้
-โดยปกติแล้ว ผมไม่ค่อยเห็นเธอบ่นเกี่ยวกับความไม่โด่งดังซักทีในผลงานที่แล้วมาของเธอเลย พอมาเป็นอัลบั้มนี้ เธอกล้าระบายความคับข้องใจนี้โดยที่ไม่จำเป็นต้องถ่อมตัวอีกต่อไป ในเพลงแถมที่ tribute ให้ Britney Spears โดยตรงอย่าง Spring breakers ได้มีการตัดพ้อถึงการชวดรางวัลแกรมมี่ด้วย
การที่เธอไม่ได้แม้แต่การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล อาจเป็นเพราะแนวทางอันสุดโต่งเกินไป และเคยตัดพ้อการชวดรางวัลในโซเชี่ยลมีเดียอยู่บ่อยๆ อาจทำให้คณะกรรมการอาจหมายหัวเธอก็เป็นได้ ในที่สุดแล้ว เธอก็ไม่คิดที่จะทำตัวสุภาพอ่อนน้อมอยู่ดี ท่วงทำนองหนักหน่วงสุดด้วย ถ้าลองสังเกตดูดีๆ เธอได้แอบใส่ชื่อผลงานเพลงเก่าๆลงไปในเนื้อเพลงด้วย
-Girl, so confusing เป็นความเล่าถึงความกลัวในภัยความมั่นที่อาจทำให้มุมมองที่มีต่อตัวเธอจะเกิดความหมั่นไส้ขึ้นมาหรือไม่ โดยเฉพาะการปรับตัวเข้ากับศิลปินหญิงในวงการเพลงด้วยกันเอง ซึ่งก็มีบ้างที่เธอมักจะโดนยกเอาไปเปรียบเทียบหรือโดนทักว่าเหมือนคนนั้นคนนี้บ้าง ชาร์ลีเองก็เจอการโดนทักผิดว่าเหมือน Lorde จนมันเป็น meme ที่คนเอาแซวในโลกอินเตอร์เน็ตอยู่บ่อยๆ ซึ่งไอ้ผมก็เพิ่งรู้ว่าเขาแซวความเหมือนด้วยหรอครับเนี่ย
-ในที่สุดเธอก็ทลายกำแพงนี้ด้วยการจับมือกับ Lorde ร่วมงานกันในเวอร์ชั่น remix ที่เติมเต็มช่องว่างให้เพลงนี้ได้ดียิ่งยวดเลยครับ ถ้าหากเวอร์ชั่น Original คือการที่ชาร์ลีทึกทักตัวเองไปเรื่อย รักษาระยะห่าง ไม่แน่ใจว่า Lorde มันจะคิดยังไงกับการที่ถูกแซวคนหน้าเหมือนอยู่บ่อยๆ เวอร์ชั่น remix นี้ก็เป็นการเติมเต็ม perspective ที่ขาดหายไปให้หายค้างคาใจด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตรและไม่มีการถือสาเลยแม้แต่น้อย ที่แอบตลกคือ อาร์ทเวิร์คที่เลือกมาใช้ ชาร์ลีในลุคส์ขาวดำก็ช่างเหมือน Lorde เสียจริงเชียว
-นอกจากจะระบาย personal issue ที่คับข้องใจมานานหลายปีแล้ว เธอก็ไม่ลืมที่จะรำลึกถึง SOPHIE ศิลปินสาว transgender ผู้ล่วงลับที่เสียชีวิตกะทันหันด้วยอุบัติเหตุตกจากตึกสูงในปี 2021 ซึ่งเธอก็มอบบทเพลงสุดซาบซึ้ง So I ที่เต็มไปด้วยความอาลัยอาวรณ์ รู้สึกเสียดายที่เธอพลาดที่จะรับสายโทรศัพท์ก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดคิด ไม่ค่อยได้เจอตัวต่อตัวเพราะติดช่วงโควิดพอดี และการสอดแทรกคำปลอบใจดั่งเพลงสร้างชื่ออย่าง It’s Okay To Cry ซึ่งเธอก็แซมเปิ้ลเพลงนี้เข้าเป็นส่วนนึงในบทเพลงรำลึกนี้ด้วย
-ตัดสลับไปที่พาร์ทแห่งความสนุกกันบ้าง Everything is romantic โหมดเพลงยำหลายความรู้สึก เปิดด้วย chamber pop แล้วสวิตช์ด้วย grime ปิดท้ายด้วย bubblegum pop ที่มีการ repeat ประโยค Fall in love again and again รัวๆและ speedy เอาให้ตกหลุมแล้วตกหลุมอีก นี่คือเพลงที่จงใจเปิดโหมดฟรีสไตล์แห่งการรวมคนหลากหลายทางเพศก็เป็นได้ Mean girls เห็นชื่อตั้งแต่ดาวอังคารก็รู้เลยว่าต้องแสบแน่นอน แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆกับการเกิดมาเป็น bad girl anthem สาดความปรี๊ดท่อนฮุกยันไปถึง outro ห้าวหาญอย่างไม่เกรงใจใคร
-Apple ถือเป็นเพลงที่ได้อิทธิพลจาก Caroline Polachek มาเต็มๆ โดยเฉพาะท่วงท่าของเพลงที่ดูโฉบเฉี่ยวราวกับเดิน cat walk ซึ่งฟังดูคูลเสมอมา ทั้งนี้การเล่นคำพ้องเสียงระหว่าง Apple และ Airport จึงเป็นอุปมาอุปไมยที่ชาญฉลาดมากๆ เพราะสำนวน Apple don’t fall far from the tree แปลว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ส่วน Airport ก็คือสนามบินที่พาท่องโลกนั่นแหละ นี่จึงเป็นเพลงที่กล่าวถึงการปลดพันธนาการจากการผูกติดกับต้นตระกูล สู่การเป็นตัวของตัวเองที่ไปได้ไกลกว่าเดิม
-ในพาร์ทคนคลั่งรักที่พักใจกับ George Daniel ที่นอกจากจะเป็นตัวละครประปรายในเพลงที่ได้กล่าวไปแล้ว เพลงบอกรักแฟนคนปัจจุบันในรอบนี้ก็ไม่ได้สวีทแบบจีบแฟนรัวๆเสียทีเดียว เธอยังแชร์มุมมองชีวิตคู่ที่ลึกซึ้งขึ้นชนิดที่ไม่อีโรติคปน รวมไปถึงการครุ่นคิดเรื่องสร้างครอบครัวเลยก็มี
-Talk Talk เป็นเพลงที่ดูออดอ้อนก็จริง แต่เป็นการโหยหาเวลาที่ขาดหายไปจากการที่ต่างคนต่างทัวร์ ต่อให้ร่วมงานประกาศรางวัลเดียวกัน เธอก็ถูกจับนั่งแยกกับจอร์จ ได้แต่ text หากันซึ่งนั่นทำให้เธออึดอัดเสียยิ่งกว่าอะไร ท่อน Outro โคตรน่ารัก ก็คนมันรัก พูดภาษาอะไรก็เข้าหูหมด
ภาพที่ชาวเน็ตแซวพร้อมแคปชั่น I think about it all the time
-แทร็ครองสุดท้ายอย่าง I think about it all the time ก็เริ่มแตะแพลนการสร้างครอบครัวในอนาคต จากการที่เธอเห็นเพื่อนสาวนักแต่งเพลง Noonie Bao ได้เป็นแม่คน นั่นก็ทำให้ชาร์ลีครุ่นคิดไปว่า ถ้าฉันได้เป็นแม่คนจริงๆ ชีวิตการเป็นสาวรักสนุกเป็นอันต้องเปลี่ยนไปเป็นแน่นแท้ โดยเฉพาะความเป็นศิลปินของเธอที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ต้องสละเวลาเพื่อลูกตัวน้อย และก็คิดต่อไปว่า การเป็นแม่คนมันคือหมุดหมายสูงสุดของชีวิตแล้วจริงหรือ? ซึ่งนั่นทำให้เธอรู้สึกถึงความเป็นเด็กอยู่
-ปิดท้ายด้วย 365 เป็นการสานต่อแทร็คแรกสุด 360 ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่คุ้นเคยกันดีตั้งแต่การทำเพลงทวิภาคอย่าง 1999 และจบด้วย 2099 ในอัลบั้ม Charli แต่การทิ้งท้ายในครั้งนี้กะให้ปาร์ตี้วนไปแทบทุกวัน ทวีคูณความปรี๊ดชนิดที่ข้าวของทุกอย่างเละกระจุย ไม่แคร์แม้ขึ้นอย่างหงส์แล้วลงอย่างหมา ปิดท้ายด้วยความเดือดสมกับเจ้าแม่ Rave Scene ของจริง
1
-สำหรับอีกสองเพลงแถมในเวอร์ชั่น deluxe นอกจาก Spring breakers แล้ว ยังมี Hello Goodbye และ Guess ก็มีดีพอสมควร ว่าง่ายๆคือแถมมาไม่เสียหลาย Hello Goodbye ถือว่าซอฟท์มาก edm mid-tempo ที่เล่าเรื่องความรักที่ดูไปไม่สวยทันที่ออกตัว ส่วนเพลง Guess เป็นการเดาใจที่โคตรยั่วโคตรเสวเลยฮะ ซึ่งโหมดเพลงแถมที่ผมชอบมากที่สุดก็ยกให้เป็น Spring breakers อยู่ดีครับ ถ้าใครยังไม่หนำใจ แนะนำให้ไปดูคลิปที่ชาร์ลีไป BOILER ROOM เพื่อความเดือดอย่างต่อเนื่องให้หนำใจไปเลยครับ
-ทุกครั้งที่ผมรีวิวอัลบั้มของชาร์ลี ผมมักจะตั้งคำถามเสมอเกี่ยวกับการผลักดันบาร์ตัวเองว่าจะไปถึงจุดไหนกันแน่ เอาเข้าจริงไอ้ความสุดโต่งมันเริ่มตั้งแต่ Pop2 แล้ว พอถึงชุด Charli ก็รู้สึกอื้อหือ extreme แม่เจ้าโว้ย ซึ่งผมก็อวยไว้เยอะพอสมควร
-how i’m feeling now ถือเป็นข้อยกเว้นในการ challenge ตัวเองภายใต้ข้อจำกัดในการรังสรรค์เพลงที่บ้านภายใต้ไอเดียแห่งการกักตัว ซึ่งนั่นถือเป็นการวัดความเก่งไปในตัวด้วย ส่วน Crash ก็ลดทอนความสุดโต่งด้วยการทำเพลงสไตล์ pop commercial เป็นการส่งท้ายค่ายเก่า ซึ่งผมก็ดันติดใจไปกับรสจัดที่เธอเคยนำเสนอมาแล้ว รู้สึกกึ่งชอบกึ่งเฉยๆ
-พอได้ฟัง BRAT จบจนสุดทางแล้ว สิ่งที่ผมเรียนรู้ได้อย่างนึงคือ จงอย่าคาดหวังความล้ำ ความแปลกใหม่จากชาร์ลีอีกเลย แต่ตราบใดที่เธอรู้ใจตัวเองมากที่สุด การตกผลึกจะมาเอง BRAT ก็มอบการตกผลึกผลงานชิ้นเอกสำหรับตัวเธอแล้วจริงๆ
-อย่างที่บอกไว้ข้างต้นนี่ไม่ใช่อัลบั้มซักแต่แดนซ์ ซักแต่ปาร์ตี้โดยยึดคติ YOLO แต่มันเป็นการกลั่นดีเอ็นเอที่มาจากการหลั่งไหลประสบการณ์ที่วนเวียนในปาร์ตี้และวงการเพลงมาค่อนข้างเนิ่นนานจนรู้จักความรู้สึกตัวเองได้ดีพอ ชอบแสดงออกด้วยท่าทีตัวมัม boost confident มาโดยตลอด ข้างในจริงๆแล้วก็แอบ sensitive และโหยหาการยอมรับอยู่พอสมควร อีกทั้งยังแอบซ่อนความเป็นเด็กที่เริ่มเผชิญ midlife crisis ในช่วงต้นที่แอบคิดถึงเป้าประสงค์แห่งความสำเร็จในชีวิตส่วนตัว รวมถึงการ represent ตัวเองในวงการเพลงด้วย
-ความตรงไปตรงมาและซื่อตรงนี้เองที่ทำให้ผมรักอัลบั้มนี้ อีกทั้งยกให้เป็น the best เสมอตัวกับชุด Charli ด้วยเหตุผลแห่งการ represent อัลบั้มโดยที่ไม่พึ่ง feature แบบเดียวกับ Charli ที่พึ่งบริวารเพื่อนรายล้อม เรารู้ว่า vision เธอมันได้ แต่ถ้าให้วัดกันที่การใส่ความเป็นตัวเองมากที่สุดก็คงต้องยกให้ BRAT แล้วล่ะ
-เสริมอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การนำเสนออัลบั้มที่ว่าด้วยเรื่องส่วนตัวสามารถทำออกมาได้อย่างสนุกสนานในแบบที่ยังเต็มเปี่ยมด้วย passion อัลบั้มที่ฉาบด้วย Hyperpop ก็สามารถบ่นระบายเรื่องพวกนี้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำเสนอไปทาง Emo ท่วงทำนองหม่นๆจมดิ่ง บัลลาดป๊อปเลี่ยนๆที่แทบเหมือนๆกันหมด นี่จึงเป็นอัลบั้มที่สามารถพบกันครึ่งทางระหว่างนักฟังสายปาร์ตี้และนักฟังที่ไม่ใช่สายปาร์ตี้ที่อยากเห็นความตื้นลึกหนาบางของความเป็นมนุษย์ที่ฉาบด้วยรสชาติแห่งความสนุกของการเข้าสังคมมาทั้งชีวิต
อย่างน้อยผู้หญิงที่ชอบทำตัวแหกขนบคนนี้ก็มีหัวจิตหัวใจอยู่ไม่น้อย
Top Tracks : 360, Club Classic, Sympathy is a knife, I might say something stupid, Talk Talk, Von dutch, Rewind, So I, The Girl, so confusing version with Lorde, Apple, B2b, Mean girls, I think about it all the time, 365, Spring breakers
Give 9/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา