22 มิ.ย. เวลา 03:05 • ความคิดเห็น

การคุ้มครองสิทธิชาว LGBTQIA+ โดยศาลไทย

ในสมัยก่อน สังคมมีชุดความคิดแบบทวิเพศนิยม (Binary) เป็นหลัก ทำให้กลุ่มประชากร LGBTQIA+ นี้เองถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ผิดปกติ ผิดธรรมชาติ เป็นการเบี่ยงเบนทางเพศ ต้องได้รับการรักษา
แต่ว่าในปัจจุบันแนวคิดเสรีนิยมเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลครับ ทำให้ประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศหรือที่เรียกว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆมากมายโดยเฉพาะเรื่องของ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)" ครับ การกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือทำเหมือนว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้ไม่เหมือนคนทั่วไปเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้อย่างร้ายแรง
เราเห็นกันแล้วครับว่าในต่างประเทศ ในสากลโลกมีการรับรองสิทธิของชาว LGBTQIA+ เอาไว้ แล้วในประเทศไทยเคยมีการรับรองเอาไว้หรือไม่ วันนี้ผมจะพามาดูคดีที่เกิดขึ้นจริงๆในปี 2548 ครับ
ในคดีนี้นะครับ มีหญิงข้ามเพศ (ชายเปลี่ยนเป็นหญิง) ท่านหนึ่ง เธอได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเพื่อเข้ารับราชการทหารประจำปี 2548 ครับ ซึ่งคณะกรรมการตรวจเลือกได้พบว่าเธอมีหน้าอกและบุคลิกลักษณะท่าทางเป็นหญิง จึงจำกัดให้เธออยู่ในกลุ่มคนทุพลลภาพหรือมีโรคที่ไม่สามารถจะรับราชการได้ โดยเป็น "โรคจิตถาวร" และได้ออกเอกสารนั่นคือใบ สด.5 สด.9 และ สด.43 ว่าเธอเป็นโรคจิตถาวร ไม่สามารถรับราชการทหารได้ จึงปลดพ้นทหาร
.
ประเด็นมาแล้วครับ พูดง่ายๆก็คือคณะกรรมการเขาตรวจร่างกายของเธอแล้วพบว่ามีหน้าอกและมีบุคลิกเป็นผู้หญิง เลยบอกว่าเธอเป็นโรคจิตถาวรและออกใบ สด. ดังกล่าวให้โดยระบุไว้ว่าเธอเป็นโรคจิตถาวรในใบนั้นอีก ซึ่งใบ สด.เป็นเอกสารสำคัญครับ ปกติเวลานายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน ส่วนมากเขาจะดูว่าลูกจ้างพ้นทหารแล้วหรือยังด้วยครับ ซึ่งหากหญิงข้ามเพศท่านนี้ไปสมัครงาน เธออาจจะต้องนำใบ สด.ทั้ง 3 นี้ไปยื่นให้กับนายจ้างด้วยครับ โดยใบนั้นมีถ้อยคำที่ตีตราเธอว่าเธอเป็น "โรคจิตถาวร"
.
แน่นอนครับ ผมเชื่อว่าพอทุกคนอ่านถึงตรงนี้ล้วนเกิดความไม่พอใจอย่างแน่นอน เรื่องนี้ถึงศาลปกครองครับ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าข้อความในใบ สด. ที่ว่าเธอเป็นโรคจิตถาวรนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเธอ อาจทำให้เธอขาดคุณสมบัติในการสมัครเข้าทำงานและได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
.
ซึ่งศาลปกครองได้รับคำฟ้องไว้ครับ เจตนาของศาลดีมากครับ โดยศาลบอกว่าในกฎหมายเรื่องของการเกณฑ์ทหารมีการระบุกลุ่มชายที่ผันตัวเป็นหญิงว่าเป็นกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคที่ทำให้จิตผิดปกติอย่างรุนแรงและถาวรและตั้งแต่ปี 2540 ก็ได้ใช้แนวปฏิบัตินี้เป็นต้นมา และในแต่ละปีจะมีทหารกองเกินที่มีจิตใจเป็นหญิงเข้ารับการตรวจมากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1
หากศาลรับคำฟ้องคดีนี้ไว้ก็จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลที่มีสภาพร่างกายและจิตใจเป็นหญิงเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดี และยังเป็นผลให้การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ 1 หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนที่ 2 สัสดีจังหวัดลพบุรีที่ 3) มีแนวปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
.
กล่าวคือศาลก็เห็นด้วยและมุ่งคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะของประชากร LGBTQIA+ เลยครับ แล้วศาลปกครองวินิจฉัยคดีนี้ว่าอย่างไร เรามาดูกันครับ
.
ศาลปกครองได้นำความหมายของคำว่า "โรคจิต" มาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานครับ โดยหมายถึง อาการผิดปกติทางความรู้สึก ความคิด อารมณ์และพฤติกรรมอย่างร้ายแรงถึงขนาดควบคุมสติไม่อยู่ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเองไม่ได้เป็นโรคจิตแต่อย่างใด
ผู้ฟ้องคดีได้รับการตรวจทางจิตวิทยาแล้วว่าไม่มีความผิดปกติ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีก็เป็นนักศึกษากำลังศึกษาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย การที่ระบุในเอกสารว่าเป็นโรคจิตถาวรทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 4 และมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ปี 2540 ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลปกติสามารถประกอบการงานและได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ประสงค์จะดำรงชีพของตนเช่นหญิงซึ่งเป็นวิถีทางเพศที่เป็นความหลากหลาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามถือว่าผู้ที่มีหน้าอกแบบสตรีและมีจิตใจและบุคลิกลักษณะเป็นหญิงเป็นโรคจิตถาวร ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องถูกลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์อันเป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
.
ศาลพิพากษาเพิกถอนใบรับรองผลการตรวจเลือกครับ เฉพาะในส่วนที่ระบุข้อความว่าเป็นโรคจิตถาวรและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการให้มีการระบุข้อความใหม่ให้ถูกต้องต่อไป
.
คดีนี้จึงเป็นคดีที่น่าสนใจและถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในเรื่องของการรับรองสิทธิของชาว LGBTQIA+ ครับ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถไปหาคำพิพากษาแบบเต็มอ่านได้ที่เว็บไซต์ศาลปกครองนะครับ จะมีรายละเอียดอีกมากมายเลยครับ
โฆษณา