22 มิ.ย. เวลา 00:59 • หุ้น & เศรษฐกิจ

⚠️ ไม่ยอม Cut Loss หุ้นไทย เสียโอกาสไปเท่าไหร่ 🇹🇭

การลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาสในการทำกำไรที่สูงเช่นกัน หนึ่งในกลยุทธ์ที่นักลงทุนมืออาชีพมักใช้คือ การตัดขาดทุนหรือ ‘Cut Loss’ ค่ะ โดยเป็นการทำเพื่อจำกัดความเสี่ยงและป้องกันการขาดทุนที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตามหลายๆครั้งที่นักลงทุนมักไม่ค่อยยอมตัดขาดทุน เพราะได้แต่หวังว่าราคาหุ้นจะกลับมาขึ้นที่เดิมอีกครั้ง แต่ในความเป็นจริงนี่อาจเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงสูง เพราะหากหุ้นที่ลงทุนไม่สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ มันจะทำให้เราเสียโอกาสในการนำเงินลงทุนก้อนนั้น ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆที่มีศักยภาพมากกว่านั่นเองค่ะ
‼️ดังนั้นคำว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” จึงเป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ‼️
ในเศรษฐศาสตร์ เราจะมีอยู่คำนึงที่เอ่ยกันถึงบ่อยๆคือ ค่าเสียโอกาส หรือ Opportunity Cost ซึ่งก็คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นเมื่อเราเลือกทำสิ่งหนึ่ง แล้วทำให้ไม่สามารถทำอีกสิ่งหนึ่งได้นั่นเองค่ะ
โดยในโลกการลงทุนเราอาจตีความได้ว่า เมื่อเราลงทุนในหุ้นที่ไม่สามารถกลับมาขึ้นได้ เราก็เสียโอกาสในการนำเงินนั้นไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงเวลาเดียวกันค่ะ
เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ขอยกตัวอย่างเป็นการลงทุนในหุ้นไทยนะคะ โดยสมมุติให้เราลงทุนหุ้นไทย 1 ล้านบาทตอนสิ้นปี 2022 แล้วเราก็ถือหุ้นไทยมาตลอดทั้งปี 2023 และมีทางเลือกให้ Cut Loss ในช่วงต้นปี 2024 ค่ะ
ณ ตอนสิ้นปี 2022 หุ้นไทยเรากำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังช่วง Covid-19 ค่ะ ทำให้ตอนนั้นหลายๆคนเริ่มคิดกันว่า เรากลับมาแล้ว และ SET จะขึ้นไปทดสอบ All Time High ที่เราเคยเห็นกันที่ SET 1,800 จุด อย่างไรก็ตาม พอถึงเวลาจริงๆเหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่หวังค่ะ โดยในปี 2023 ตลาดหุ้นไทยก็ค่อยๆซึมลงๆนั่นเองค่ะ
โดยจากเงิน 1 ล้านบาทตอนเริ่มลงทุน กลายเป็นว่าเราจะเหลือเงินลงทุนอยู่แค่ 859,001 บาทเท่านั้นค่ะ ซึ่งในตอนนั้นเราก็ได้เห็นหลายๆที่ยังคงเชียร์หุ้นไทยอยู่ และเชื่อว่าจะกลับมาได้ แต่ก็มีอีกหลายๆที่มองว่ามีโอกาสการลงทุนที่อื่นที่ดีกว่า และมีความเป็นไปได้มากกว่า ตรงนี้จึงเป็นที่มาของทางเลือกค่ะ
❌ ถ้าเราเลือกที่จะลงทุนต่อ ไม่ยอม Cut Loss ปรากฏว่า ณ ปัจจุบัน เงินลงทุนของเราจะลดลงอีกเหลือ 782,909.64 บาทค่ะ
✅ ถ้าเราเลือกที่จะยอม Cut Loss แล้วนำเงินไปลงทุนที่อื่นแทน เราก็จะเห็นจากรูปเลยว่า เงินลงทุนของเราปรับตัวขึ้นมาได้ทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ลงทุนหุ้นจีนค่ะ แม้ว่าเงินของเราอาจจะยังไม่ได้กลับมาเกิน 1 ล้านบาท (ยกเว้น Nasdaq) แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลยนั่นเองค่ะ
ซึ่งส่วนต่างระหว่างการที่เราถือต่อ กับการยอม Cut Loss คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส ค่ะ ซึ่งเราจะเห็นแล้วว่าการไม่ยอม Cut Loss หุ้นไทย ทำให้เราขาดทุนจริงๆค่ะ เป็นการขาดทุนที่เกิดจากโอกาสที่เราจะได้กำไรจากที่อื่น ซึ่งนิคกี้ต้องบอกก่อนเลยว่า ตัวเลขมันก็ไม่ได้น้อยๆเลย แม้กระทั่งไปลงทุนตลาดหุ้นจีนก็ตามค่ะ
⚠️ ค่าเสียโอกาสไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตลาดหุ้นที่เป็นขาลงเท่านั้นค่ะ แต่ตลาดขาขึ้นก็เกิดได้เช่นกันค่ะ
นิคกี้ยกตัวอย่างต่อจากรูปเลยค่ะ โดย ณ วันที่เราตัดสินใจ Cut Loss หุ้นไทย เราจะมีทางเลือกเกิดขึ้นมากมายว่าเราจะนำเงินไปลงทุนที่ไหนดี เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ นิคกี้เลือกลงทุนใน S&P500 แทนที่จะลงทุนใน Nasdaq (ตอนนั้นหลายๆที่ก็เถียงกันอยู่ว่าระหว่าง 2 ดัชนีนี้ที่เป็นหุ้นสหรัฐฯเหมือนกัน ตัวไหนจะทำได้ดีกว่ากัน)
จากตารางเราจะเห็นว่า ถ้าเราลงทุน S&P500 เงินของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 989,728 บาท ส่วนอีกทาง (ที่เราไม่ได้เลือก) อย่าง Nasdaq เงินของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,029,303 บาทค่ะ
ตรงนี้แหละที่มีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะทางเลือกที่เราไม่ได้เลือกนั้นดันให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ซึ่งค่าเสียโอกาสตรงนี้มีค่าเท่ากับ 39,575 บาทค่ะ
🎯 ดังนั้นแล้วไม่ว่าเราจะเลือกทางไหน มันมักจะมีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นเสมอค่ะ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่นิคกี้บอกมาเสมอๆคะว่า นักลงทุนควรจะเลือกการลงทุนที่มีโอกาสที่ดีที่สุดเสมอ และควรที่จะลดการลงทุนในตลาดที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้น้อยกว่าค่ะ
✅ วิธีคิดง่ายๆก่อน Cut Loss
1. ลืมไปก่อนเลยว่าขาดทุนเท่าไหร่ ขาดทุนกี่ %
2. ดูแค่จำนวนเงินที่เหลืออยู่ตอนนั้น โดยคิดว่าถ้าต้องเริ่มลงทุนใหม่ทั้งหมด ที่ไหนมีโอกาสดีที่สุด
3. ถ้าที่อื่นๆมีโอกาสดีกว่า ให้ยอม Cut Loss แล้วไปลงทุนที่อื่น
4. ถ้าไม่มีโอกาสดีกว่า ก็ลงทุนที่เดิมต่อไปค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์นะคะ อย่าลืมกด like กด share เป็นกำลังใจให้นิคกี้ด้วยค่ะ 🥺
ปล. ไม่ได้ Bully หุ้นไทยนะคะ แต่เผอิญเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดค่ะ 😅
โฆษณา