22 มิ.ย. เวลา 01:34 • การศึกษา

ครีษมายัน Summer Solstice

การมาถึงของฤดูร้อน
วันนี้กลางวันยาวนานกว่ากลางคืน กว่าดวงอาทิตย์จะตก ตลาดแทบจะวายไม่มีของขายละ
ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก : กลางวันยาว
lofoten Norway : กลางวันตลอด 24 ชม.
เชียงราย : 05:42-19:02 น. 13 ชม.20 นาที
กรุงเทพฯ : 05:51-18:47 น. 12 ชม.56 นาที
สงขลา : 06:03-18:35 น. 12 ชม.32 นาที
ทุกวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี โลกของเรานั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์มาถึงตำแหน่งตรงกันข้ามกับวันเหมายันเมื่อ 6 เดือนก่อน อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนผ่านจะฤดูหนาวมาเป็นฤดูร้อนใช้เวลาครึ่งปี โดยมีวันที่ 20 มีนาคม คือวสันตวิษุวัติ Vernal Equinox วันฤดูใบไม้ผลิคั่นอยู่ระหว่างฤดูหนาวกับฤดูร้อน
เราใช้กลุ่มดาวบอกฤดูได้ นั่นคือกลุ่มดาวฤดูร้อน ซึ่งหมายถึงกลุ่มดาวที่ขึ้นในช่วงหัวค่ำในช่วงฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ คือราวเดือนมิถุนายน หากเราหันหน้าสู่ทิศตะวันออกในช่วงค่ำของเดือนนี้กลุ่มดาวที่อยู่ฟากฟ้าตะวันออกหรือฝั่งขวาของเส้นเมอริเดียน เราอนุมานได้ว่าเป็นกลุ่มดาวฤดูร้อน
สามเหลี่ยมฤดูร้อน Summer Triangle
แต่เราเลือกกลุ่มดาวเรียงเด่น Asterism มาชุดหนึ่งที่สามารถลากเส้นเชื่อมโยงหากันนั่นคือจาก“กลุ่มดาวหงส์ Cygnus” ที่มีดาวอัลฟาชื่อ“เดเนบ Deneb” บางท่านก็เรียกว่า“ดาวหางหงส์” ไปหาดาวดวงสว่างชื่อ“เวกา Vega ซึ่งเป็นดาวอัลฟาของกลุ่มดาวพิณ Lyra” และลากเส้นเชื่อมต่อไปยัง“ดาวอัลแตร์ Altair” ซึ่งเป็นดาวเอกใน“กลุ่มดาวนกอินทรี Aquila”
เราเรียกกลุ่มดาวเรียงเด่นนี้ว่า “สามเหลี่ยมฤดูร้อน Summer Triangle” มันจะขึ้นจากขอบฟ้าตะวันออกในช่วงหัวค่ำในฤดูร้อน จึงได้รับสมญาไปว่าเป็น“สามเหลี่ยมฤดูร้อน”นั่นเอง นี่เป็นภูมิปัญญาที่มนุษย์ยุคอดีตกาลที่เฝ้าสังเกตและนำความรู้มาใช้
ทั้งสามกลุ่มดาวนี้มีตำแหน่งอ้างอิงอยู่บริเวณส่วนท้ายของใจกลางทางช้างเผือกหรือส่วนท้ายของดุมดาราจักร Buldge จึงขึ้นถัดมา หลังจากกลุ่มดาวจักรราศี“กลุ่มดาวคนยิงธนู Sagittarius” และ ”กลุ่มดาวแมงป่อง Scorpius“ ขึ้นจากขอบฟ้าในทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 3-4 ชม.
การสังเกตสามเหลี่ยมฤดูร้อนได้ครบถ้วนจึงต้องรอให้ใจกลางทางช้างเผือกขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่ 3 ชม.ขึ้นไป นักถ่ายภาพดวงดาวจึงรอกันยาวๆไปจนถึงเที่ยงคืน รอให้ทางช้างเผือกทิ้งดิ่งลงทางทิศใต้ เราก็เห็นสามเหลี่ยมฤดูร้อนอยู่สูงเกือบถึงจุดจอมฟ้า Zenith โดยมากนักถ่ายภาพจะเน้นส่วนใจกลางทางช้างเผือกไว้ก่อนและรอจนใจกลางทางช้างเผือกอยู่ต่ำและตกลับขอบฟ้า จึงหันมาถ่ายภาพส่วนของ Summer Triangle ในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป
ทางช้างเผือกในส่วนของกลุ่มดาวฤดูร้อน Summer Asterism จากทะ้ลสาบปางกอง เลห์-ลาดักห์ อินเดีย
บางท่านไม่อยากจะนอนดึก จึงรอจนถึงช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง เจ้าสามเหลี่ยมนี้ขึ้นจากขอบฟ้าเร็วขึ้นวันละ 4 นาทีหรือเดือนละ 2 ชม. นั่นคือเมื่อถึงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน เราจะสังเกตเห็นสามเหลี่ยมฤดูร้อนนี้ในช่วงหัวค่ำในทิศตะวันตก ในขณะที่ฝั่งฟากฟ้าตะวันออกก็จะปรากฏกลุ่มดาวฤดูใบไม้ร่วงอวดโฉมรออยู่
ภาพตัวอย่างถ่ายจากสถานที่ต่างกันไปในช่วงปลายปีของประเทศไทยนั่นคือเราจะพบกับดาวเรียงเด่น ”สามเหลี่ยมฤดูร้อน“กำลังตกลับขอบฟ้า มีโบนัสพิเศษนั่นคือแสงจักรราศี Zodiacal light ร่วมทิศกับสามเหลี่ยมฤดูร้อนดังภาพ
สามเหลี่ยมฤดูร้อน ณ ละลุ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
สีสันของวัตถุท้องฟ้านั้นมาจากแก๊สเรืองแสงของเนบิวลา จุดสว่างก็กำเนิดจากดาวฤกษ์และกระจุกดาว สลับกับแสงวาบจากดาวตก Meteor และฝูงดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เราพบเจอบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
สุขสันต์วันครีษมายันครับทุกท่าน …
โฆษณา