22 มิ.ย. เวลา 14:30 • ธุรกิจ

Apple กับการเป็น ‘หนูตัวที่สอง’ ในยุค AI บูม

นกตื่นเช้าอาจจะได้กินหนอน แต่เป็นหนูตัวที่สองจะได้กินชีส
1
🐦 เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินคำกล่าวที่บอกว่า “นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอน” อยู่บ่อยๆ
🐁 แต่รู้ไหมครับว่าที่จริงประโยคนี้มีส่วนท้ายที่ห้อยต่อด้วยว่า “แต่หนูตัวที่สองจะได้กินชีส”
ประโยคเต็มๆ ของมันตามภาษาอังกฤษ (ซึ่งเครดิตของวลีนี้ยังไม่มีที่มาชัดเจน บางเว็บไซต์บอกมาจากนักร้อง Willie Nelson บางแหล่งบอกจากนักแสดงตลก Stephen Wright) คือ
“Early bird gets the worm, but the second mouse gets the cheese” หรือแปลเป็นไทยเต็มๆ คือ “นกที่ตื่นเช้าจะได้กินหนอน แต่หนูตัวที่สองจะได้กินชีส”
สิ่งที่ประโยคนี้พยายามจะเปรียบเปรยก็คือการเป็นที่หนึ่ง มาก่อนคนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องดี แต่การมาทีหลังเป็น ‘หนูตัวที่สอง’ ก็ยังมีโอกาสได้กินชีสอยู่ (ให้ลองจินตนาการถึงกับดักจับหนูที่เอาชีสเป็นเหยื่อ ถ้าหนูตัวแรกยังไปไม่ถึงชีสเลยแล้วติดกับดักซะก่อน หนูที่ตามมาตัวที่สองก็จะได้กินแทน ประมาณนั้น)
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ “Apple”?
👑 [ First Mover Advantage? ]
1
ช่วงที่ผ่านมาเราเห็น Apple โดนสื่อและนักวิเคราะห์หลายๆ แห่งบอกว่าพวกเขามาช้าเหลือเกินในเรื่องของ AI จนคู่แข่งหลายบริษัทนำหน้ากันไปหมดแล้ว แต่พวกเขายังไม่ขยับตัวสักที
จนกระทั่งงาน WWDC 2024 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมาถึงจะเริ่มเห็นภาพบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในด้านของ AI
แน่นอนว่าด้วยความเป็น Apple สำหรับพวกเขาแล้ว AI ไม่ใช่แค่ Artificial Intelligence แต่เป็น Apple Intelligence ต่างหาก
ซึ่งตรงนี้แหละที่น่าสนใจและอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนถึงหันมาให้ความสนใจและหุ้นของ Apple ก็ขึ้นไปเกือบ 9% แล้วภายใน 10 วันหลังจากงาน WWDC (บทความนี้เขียนขึ้นวันที่ 21 มิถุนายน)
เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น?
ก่อนอื่นอยากจะขอเอ่ยชื่อบริษัทเหล่านี้สักหน่อย Yahoo, Palm, Netscape, Friendster, Blackberry, Alta Vista หรือ Nokia
ชื่อคุ้นหูดี กลุ่มบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ มาก่อนเพื่อน แต่ตอนนี้ล้มหายตายจากกันไปแล้ว (แม้ Yahoo, Blackberry หรือ Nokia จะยังอยู่ แต่เป็นแค่เงาของอดีตที่เคยยิ่งใหญ่แล้วเท่านั้น)
คนที่มาแทนก็ชื่อคุ้นๆ หูกันตอนนี้ : Microsoft, Apple, Google, Meta (รวมๆ มูลค่าตลาดเกือบ 10 ล้านล้านเหรียญหรือประมาณ 366 ล้านล้านบาท)
แน่นอนว่าการเป็นคนเข้าสู่ตลาดคนแรก (หรือคนแรกๆ) มีข้อได้เปรียบของ “First Mover Advantage” หรือความได้เปรียบจากการเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่งขันอยู่บ้างเช่น 1) การได้ส่วนแบ่งของตลาดก่อน 2) สัดส่วนกำไรยังสูง 3) แบรนด์ถูกมองเห็นเยอะกว่า และ 4) ได้ประสบการณ์เรียนรู้ก่อนเพื่อสร้างกลยุทธ์ก่อนคู่แข่งเข้าตลาด
2
First Mover ก็คล้ายนกที่ตื่นเช้าที่ได้กินหนอนก่อนใครเพื่อนนั่นแหละครับ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกบริษัทที่เข้ามาในตลาดก่อนจะกลายเป็นผู้ชนะเสมอไป ร้ายสุดก็อาจจะพลาดพลั้ง หาลูกค้าไม่ได้ หรือตลาดไม่มีอยู่จริง ล้มเหลวไป แต่ถ้าสำเร็จในระดับหนึ่งแต่มัวหลงระเริงกับความสำเร็จหรือไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้จริง (ในระดับที่ใหญ่มากพอ) ‘หนูตัวที่สอง’ หรือบริษัทที่มาทีหลังก็อาจจะมีโอกาสได้ตลาดตรงนั้นไปแทน (ชีสก้อนโต)
Tesla ไม่ใช่เจ้าแรกที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
Visa ไม่ใช่เจ้าแรกที่ออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต
Coke ไม่ใช่เครื่องดื่มโซดาในตลาดเจ้าแรก
McDonald’s ไม่ใช่เจ้าแรกที่ขายแฮมเบอร์เกอร์แบบฟาสต์ฟูด
Apple ไม่ใช่เจ้าแรกที่เข้าตลาด AI, แต่อาจจะกำลังกลายเป็นหนูตัวที่สองในยุค AI บูมที่กำลังจะเกิดขึ้น
🍎🤖 [ Apple_Intelligence = ‘AI สำหรับคนทั่วไป’ ]
สก็อตต์ แกลโลเวย์ (Scott Galloway) โค้ชและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับหลายพันล้านบาท ศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัย New York University Stern School of Business เขียนในบล็อกของเขาว่า
“‘Apple Intelligence’ ไม่ใช่แค่การสร้างแบรนด์ที่ยอดเยี่ยม แต่ยังเป็นการสรุปกลยุทธ์ของบริษัทอีกด้วย นั่นคือการนำสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นจากที่อื่นมา ทำให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น และเชื่อถือได้มากขึ้น ผสมผสานกับการออกแบบอุตสาหกรรมระดับโลก และสร้างเงินเป็นพันๆล้านเหรียญ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มีไว้สำหรับคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในขณะที่ Apple Intelligence คือ ‘AI สำหรับคนทั่วไป’ ฉลาดสุดๆ ไปเลย”
หากยังจำกันได้ ตอนที่ Apple เปิดตัว ‘The Macintosh’ ในปี 1984 ตอนนั้นตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) มีเจ้าใหญ่ครองอยู่คือ IBM แต่ด้วยการใช้งานที่ยุ่งยาก ต้องเรียนรู้คำสั่งและคีย์เวิร์ดพิเศษที่ซับซ้อนเพื่อใช้งานซอฟต์แวร์
แต่ผู้ใช้ Macintosh สามารถใช้เมาส์เลื่อนไป "ชี้และคลิก" และทำงานได้เลย เป็นการใช้ส่วนติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก (Graphical User Interface : GUI) และเมาส์ กลายเป็นคุณสมบัติใหม่ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่คนเข้าถึงได้
Apple ไม่ได้สร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับคนที่เชี่ยวชาญ เป็น Tech-Geek หรือคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีถอดประกอบคอมพิวเตอร์ของตัวเองเป็นงานอดิเรก แต่เป็น ‘คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับคนทั่วไป’
สตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs) รู้ดีว่าเขากำลังขายมากกว่าแค่พลังการประมวลผล พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือโซลูชันการพิมพ์เอกสาร แต่เป็นการขายผลิตภัณฑ์ให้มนุษย์นำไปใช้ ในบ้าน ที่ทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต Macintosh ไม่ได้เป็นแค่คอมพิวเตอร์อีกต่อไป แต่เป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้มนุษย์รู้สึกสบายใจในฐานะส่วนขยายใหม่ของตัวเองขึ้นมา
Macintosh ไม่ใช่คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มี GUI หรือการใช้เมาส์ หรือระบบปฏิบัติการที่ใช้งานง่าย แต่ Macintosh ได้รวมความก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเรียนรู้และใช้งานได้อย่างง่ายดาย ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้คล่องแคล่วในเวลาอันสั้น และรู้สึกเชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว
และเราก็เห็นแล้วว่าความสำเร็จและแนวคิดตรงนั้นก็ส่งต่อมายังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Apple ด้วย
iPod ไม่ใช่เครื่องเล่น MP3 เจ้าแรก, iPhone ไม่ใช่สมาร์ตโฟนเจ้าแรก, Apple Watch ไม่ใช่สมาร์ทวอทช์เจ้าแรก และ AirPods ไม่ใช่หูฟังไร้สายเจ้าแรก
สินค้าเหล่านี้เข้ามาทีหลัง แต่กลับสร้างรายได้มหาศาลให้กับ Apple และมีผู้ใช้งานมากมาย จนตอนนี้มีมูลค่าบริษัทกว่า 3.287 ล้านล้านเหรียญ (หรือประมาณ 120 ล้านล้านบาท)
(แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่ Apple ทำแล้วจะสำเร็จเปรี้ยงปร้าง ดูอย่าง Vision Pro ที่ออกมาแล้วยังถือว่าเข้าถึงได้ยากอยู่สำหรับคนทั่วไป อาจจะด้วยราคาหรือการใช้งานที่ยังไม่สะดวกเท่าที่ควรด้วย - แต่จะไม่ลงลึกเดี๋ยวยาว)
🎯[ #โอกาสของ_Apple_Intelligence ]
ข่าวด้านลบต่างๆ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาว่า Apple ช้ามากในตลาด AI ตามหลังคนอื่นๆ อย่าง Alphabet, Microsoft หรือ Amazon ไปแล้ว แต่แกลโลเวย์ ชี้ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า
“แล้ว Apple ‘ตามหลัง’ ในเรื่องอะไรกันแน่จริงๆ แล้ว? The Economist ประมาณการว่า AI จะสร้างรายได้ 20,000 ล้านเหรียญสำหรับ "ผู้นำ" ด้าน AI อย่าง Alphabet, Amazon และ Microsoft ในปี 2024 ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลถึง 2% ของรายได้รวมของพวกเขา ในขณะที่ Apple ทำรายได้ใกล้เคียง 20,000 ล้านเหรียญจาก AirPods เพียงอย่างเดียว ลองคิดดู - กระแสความตื่นเต้นทั้งหมดนั้นและมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น เทียบเท่ากับ GDP ของเยอรมนี แต่อุตสาหกรรม AI (จนถึงตอนนี้) มีขนาดเท่ากับ Airpods เท่านั้นเอง”
สิ่งที่แกลโลเวย์พยายามจะสื่อก็คือว่า ตลาดมันยังเล็กอยู่ Apple ยินดีปล่อยให้คนอื่นๆ ทำและทดลองไปก่อน ก่อนที่พวกเขาจะเข้ามาแข่งในเกมนี้ด้วย
ตอนที่ Apple เปิดตัว Siri ในปี 2011 ในฐานะผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistant) ทุกคนตื่นเต้นกับมันมาก แต่ในโลกของการใช้งานจริง Siri กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกลืมและไม่ค่อยมีใครใช้สักเท่าไหร่ จะเรียกว่าล้มเหลวก็อาจจะแรงไปสักหน่อย คงต้องบอกว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จมากเท่าที่ตั้งใจไว้ละกัน (ซึ่งมักจะถูกล้ออยู่เสมอด้วยนะ)
แต่ด้วย Apple Intelligence Siri จะฉลาดขึ้นใกล้เคียงกับฐานะการเป็นผู้ช่วยเสมือนซะที
เริ่มจากการเปิดให้ใช้งาน Siri ผ่านการพิมพ์ข้อความ แก้ไขคำสั่งได้ทันที และออกแบบหน้าตาใหม่ให้กลมกลืนไปกับระบบ
แต่ที่น่าสนใจกว่า คือ Siri จะสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์แอปเปิลได้นับพันๆ อย่าง แม้ผู้ใช้จะไม่รู้จักชื่อฟีเจอร์ที่แน่ชัดก็ตาม และยังสามารถทำงานข้ามแอปได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ส่งบทความจาก Apple News ไปยังกลุ่มแชตใน Messages ในคำสั่งเดียว
นอกจากนี้ นักพัฒนาอิสระก็จะเข้าถึงความสามารถบางอย่างของ Siri ได้ด้วย ทำให้ Siri ทำงานร่วมกับแอปภายนอกได้อย่างราบรื่นขึ้น
สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่าง คือ Siri จะสามารถทำความเข้าใจ "บริบทส่วนบุคคล" (Personal Context) ของผู้ใช้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ภายในเครื่อง เช่น เมื่อผู้ใช้ถามว่า "โชว์สิ่งที่ฉันส่งให้ xxx เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหน่อย" Siri จะค้นหาให้จากทุกที่ในเครื่อง แล้วแสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องที่สุดมาให้ดู
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Contextual AI” หรือ AIตามบริบทส่วนบุคคลที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้ใช้โต้ตอบกับอุปกรณ์ แทนที่จะเป็นเพียงผู้ช่วยอัจฉริยะทั่วไปที่มีความรู้กว้างๆ แต่ Apple Intelligence จะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ เช่น อีเมล ข้อความ ปฏิทิน ประวัติการท่องเว็บ และอื่นๆ ภายในระบบนิเวศของ Apple ซึ่งจะช่วยให้มันเข้าใจบริบทและให้บริการที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคลได้ดียิ่งขึ้น
ในอนาคต Apple Intelligence จะขยายไปเชื่อมต่อกับแอปและบริการภายนอกด้วย เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น การช่วยจองนัดหมายกายภาพบำบัด ตามอาการปวดไหล่ที่ผู้ใช้เคยค้นหา เป็นต้น
ด้วยความที่ iPhone เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ติดตัวและใช้งานมากที่สุดในแต่ละวัน ทั้งตอนตื่นนอนและก่อนเข้านอน การที่ Apple Intelligence สามารถเข้าถึงและเรียนรู้จากพฤติกรรมการใช้งานได้อย่างละเอียด จึงเป็นความได้เปรียบที่สำคัญของ Apple ในการสร้างความผูกพันกับผู้ใช้
นอกจากการออกแบบและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าแล้ว ปัจจัยด้านข้อมูลและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ใช้จะยิ่งทำให้ Apple Intelligence โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด AI อย่างมีนัยสำคัญ
1
โมเดลหลักของ Apple Intelligence จะทำงานแบบ "ออนดีไวซ์" คือประมวลผลบนอุปกรณ์ของผู้ใช้เอง เพื่อความเป็นส่วนตัวและความเร็ว ส่วนโมเดลเสริมที่ต้องใช้พลังคลาวด์ก็จะส่งข้อมูลขึ้นไปอย่างจำกัดและเข้ารหัสแบบปลอดภัย ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะแชร์ข้อมูลอะไรกับคลาวด์บ้าง เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล
ความเป็นส่วนตัวยังคงเป็นค่านิยมหลักสำหรับ Apple ซึ่งต่างจากแพลตฟอร์ม AI อื่นๆ เพราะต้องการให้ผู้ใช้เชื่อมั่นว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกเก็บเป็นความลับ ในขณะที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยี AI
ศักยภาพของ Apple Intelligence มีมากมาย เช่น
- เลือกแสดงการแจ้งเตือนเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ (Context-driven Notifications)
- ช่วยตรวจทานและปรับปรุงสไตล์การเขียนแบบอัตโนมัติ (Writing Assistance)
- สร้างภาพประกอบและงานศิลปะจากคำบรรยายของผู้ใช้ (Image Generation)
(ฟีเจอร์อื่นๆ สนใจสามารถดูได้ในลิงก์อ้างอิงข้างล่างครับ)
🌁 [ ค่าผ่านทางสู่ลูกค้า 1,500 ล้านราย และ เหตุผลที่คนจะซื้อ iPhone เครื่องใหม่]
หนึ่งวันหลังจากงาน WWDC หุ้นของ Apple ร่วงไป 2% ก่อนจะเด้งกลับขึ้นมาตอนนี้ประมาณ 9% แล้ว
แม้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2024 ความต้องการของ iPhone ทั่วโลกจะลดลงราว 10 % เป็นจุดต่ำสุดในรอบ 6 ปี แต่จำนวนผู้ใช้งานตอนนี้ก็มีผู้ใช้งานเกือบ 1,500 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนของตลาดสมาร์ตโฟนราว 21.67%
เอาง่ายๆ ในทุกๆ 5 คนของผู้ใช้สมาร์ตโฟนทั่วโลก จะมีคนถือ iPhone 1 คน
และด้วยความใหญ่ของขนาดผู้ใช้งานและการเข้าถึงที่ยากเพราะระบบนิเวศของ Apple ที่ค่อนข้างปิดอยู่แล้ว ทำให้ตอนนี้ OpenAI (หรือจะเรียกว่า MicrosoftAI ดี?) กำลังย่างกรายเข้ามาอยู่ใน ‘เอกซ์คลูซิฟ’ คลับของ Apple แล้ว
ที่น่าสนใจก็คือว่าในคลับนี้ก็มีอีกเจ้าหนึ่งอยู่ด้วยนั่นก็คือ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ที่ยอมจ่ายเงินให้กับ Apple ปีละกว่า 20,000 ล้านเหรียญ เพื่อให้พวกเขาเป็นระบบค้นหาข้อมูลแบบตั้งต้น (Default Search Engine) ของ iPhone จากโรงงาน
จะเรียกว่าเป็นค่าผ่านทางมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญที่ Alphabet ต้องจ่ายให้ Apple ก็คงไม่ผิดนัก
หากคิดกันเล่นๆ รายได้ของ Apple ปีล่าสุดอยู่ที่ 383,000 ล้านเหรียญ, เงินที่ Alphabet จ่ายก็ปาเข้าไป 5% แล้ว
ทีนี้พอมี OpenAI เข้ามาด้วย ยิ่งน่าสนใจ
แกลโลเวย์วิเคราะห์ว่า “แม้รายงานตอนนี้บอกว่า Apple จะยอมให้ OpenAI เข้ามาอยู่ในคลับนี้โดยไม่เสียเงิน แต่คงไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และวันหนึ่งก็คงตั้งด่านเก็บค่าผ่านทาง [เหมือนกับที่ Alphabet ต้องจ่าย] เช่นกัน”
นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ ราคาหุ้นเด้งกลับขึ้นมา
แต่อีกประเด็นหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือตัว Apple Intelligence นี้จะใช้ได้กับเฉพาะ iPhone 15 Pro และใหม่กว่านั้นเท่านั้น (ตามรายงานบอกว่าเป็นเหตุผลทางเทคนิคบอกว่าเป็นเรื่องการประมวลผลที่ต้องใช้ชิปที่แรงและต้องมี RAM ที่สูงด้วย ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่ออันนี้เราห้ามกันไม่ได้)
iPhone แม้จะเป็นเพียงหนึ่งในสินค้ามากมายของ Apple และบริษัทเองก็พยายามกระจายการหารายได้จากสินค้าและบริการอื่นๆ มากขึ้นในช่วงหลัง แต่ก็ยังถือเป็นจุดกลยุทธ์ที่สำคัญมากๆ เพราะรายได้มากกว่า 50% มาจากการขาย iPhone (ในช่วงปี 2015-2018 ตอนนั้นยอดขาย iPhone คิดเป็นเกือบ 70% ของรายได้บริษัทเลย)
แต่ต้องบอกว่ายอดขายที่ตกลงของ iPhone ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มาจากเรื่องคุณภาพ เพราะรุ่นใหม่ๆ มักได้รับการจัดอันดับและรีวิวที่ดีเยี่ยม แต่กลับเป็นเรื่องของการไม่มี ‘เหตุผลใหม่ๆ’ ให้ลูกค้าในการอัปเกรดเครื่องทุกปีซะมากกว่า
ย้อนกลับไป iPhone 12 ที่เปิดตัวช่วงปลายปี 2020 เป็นการอัปเดตครั้งใหญ่ครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่รองรับเครือข่าย 5G ความเร็วสูง นับแต่นั้นมา แต่ละรุ่นก็มีการอัปเกรดและปรับปรุงแบบค่อยเป็นค่อยไป และคนที่ถือรุ่น 12,13 หรือ 14 ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเพียงพอสำหรับการเปลี่ยน iPhone ใหม่เลย
แต่การที่ Apple จัดให้ Apple Intelligence ใช้งานได้เฉพาะกับ iPhone รุ่น 15 Pro ขึ้นไป (ซึ่งมาพร้อมชิป A17 Pro) แม้ว่าปีนี้ฮาร์ดแวร์จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปีที่แล้ว แต่ซอฟต์แวร์ที่มี AI เข้ามาเสริมอาจจะเป็นเหตุผลที่น่าสนใจในการอัปเกรดเครื่องสำหรับหลายต่อหลายคน
🐁[ #หนูตัวที่สอง ]
“ในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม วิธีที่คุณล้มเหลวสำคัญพอๆ กับวิธีที่คุณชนะ” แกลโลเวย์กล่าว
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการเข้าตลาดที่หลังคือหากล้มก็ไม่เจ็บมากเท่าไหร่ ซึ่งเอาจริงๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าในยุค AI บูมนี้ใครจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้
ปี้นี้เราได้เห็นหลายๆ บริษัทออกมาพูดถึง AI กันเยอะมากๆ ซึ่งแกลโลเวย์เปรียบเทียบว่ามันเหมือนเป็นช่วงที่เบราว์เซอร์ Netscape กำลังเริ่มบูม ที่เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นนวัตกรรม แต่ยุคต่อไปที่จะสร้างผู้ชนะหรือผู้แพ้คือการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริงๆ
Apple ถือว่าได้เปรียบในจุดนี้ เพราะการประมวลผลด้วย AI แม้ปลายปีนี้จะทำงานแค่บนเครื่อง iPhone 15 Pro ขึ้นไป แต่ iPhone ทุกรุ่นต่อจากนั้นก็จะสามารถใช้ได้เพราะมีฮาร์ดแวร์ที่รองรับการใช้งานได้แล้ว แต่ถ้าเป็น Android มันอาจจะยากหน่อยที่เพราะอาจจะไม่ใช่ทุกเครื่องของ Android ที่มีฮาร์ดแวร์ที่แรงพอแม้จะเป็นรุ่นใหม่ก็ตาม
นี่คือจุดอ่อนอย่างหนึ่งของ Android ที่การฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ๆ กว่าจะกระจายไปถึงผู้ใช้งานระดับทั่วไปต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน แกลโลเวย์อธิบาย
รอบนี้เราต้องมาดูกันครับว่าการเป็นหนูตัวที่สองของ Apple จะสามารถคว้าชีสมากินได้ไหม
Apple Intelligence อาจจะไม่ได้รู้ทุกเรื่องในจักรวาลเหมือนอย่าง Artificial Intelligence ทั่วไป ไม่ใช่ปัญญาประดิษฐ์สำหรับคนที่ชื่อชอบเทคโนโลยีหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่มันจะรู้จักคุณดีมากพอในระดับที่กลายเป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวันที่คุณขาดไม่ได้
เหมือนอย่างที่ Apple ทำให้ Macintosh กลายเป็น ‘คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับคนทั่วไป’
ตอนนี้พวกเขาก็พยายามทำให้ AI : Apple Intelligence ให้กลายเป็น ‘AI สำหรับคนทั่วไป’ จริงๆ
🎯 สรุป 5 ประเด็นสำคัญ:
✅ 1. Apple อาจเป็น "หนูตัวที่สอง" ในยุค AI บูม แม้เข้าตลาดช้ากว่าคู่แข่งแต่มีโอกาสทำตลาดได้ดีกว่าผู้นำด้วยประสบการณ์ในอดีตที่ประสบความสำเร็จในผลิตภัณฑ์หลายอย่างแม้ไม่ใช่ผู้บุกเบิก
✅ 2. Apple Intelligence คือ AI สำหรับคนทั่วไป เน้นความง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้ สามารถเข้าใจบริบทส่วนบุคคลได้ลึกซึ้งและให้บริการที่เฉพาะเจาะจงแต่ละคน ต่างจาก AI ทั่วไปที่เหมาะกับผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมากกว่า
✅ 3. Apple มีฐานผู้ใช้เกือบ 1,500 ล้านคนทั่วโลก เป็นค่าผ่านทางสู่ลูกค้าที่มีมูลค่ามหาศาล ทำให้บริษัท AI ต่างๆ ต้องการเข้ามาร่วมมือให้บริการบน iPhone เพื่อเข้าถึงผู้ใช้กลุ่มนี้
✅ 4. Apple Intelligence ที่รองรับเฉพาะ iPhone รุ่นใหม่อาจกระตุ้นให้ผู้ใช้อัพเกรดเครื่อง เพราะ AI เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจ แม้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงฮาร์ดแวร์มากนักจากรุ่นก่อน
✅ 5. ด้วยระบบนิเวศและฮาร์ดแวร์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ Apple นำ AI มาใช้งานจริงได้ง่ายกว่า Android ซึ่งมีความหลากหลายของอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ จึงอาจเป็นความได้เปรียบสำคัญในการแข่งขันด้าน AI
📍Disclaimer : บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง :
#MakeRichGeneration #การเงิน #ลงทุน #Apple #AppleIntelligence #AI #ArtificialIntelligence #WWDC #หนูตัวที่สอง #บทบรรณาธิการ
โฆษณา