22 มิ.ย. 2024 เวลา 04:31 • ปรัชญา

เชื่อไหม!! ทุกคนล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์

George Kelly นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เชื่อมโยงธรรมชาติของมนุษย์เข้ากับความเป็นวิทยาศาสตร์ เขามีความเชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์
ด้วยที่ว่าเราสามารถตั้งทฤษฎี (ความคิด) จากนั้นจึงตั้งเป็นสมมติฐาน (ความคาดหวัง) ทดลองเก็บรวบรวมข้อมูล (ประสบการณ์และพฤติกรรม) และจึงสรุปผล (ความคิดอีกครั้ง) เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้นสามารถตั้งเป็น "ทฤษฎี" ได้ เราสามารถทดสอบสมมุติฐานโดยอาศัยทฤษฎีที่เราตั้งขึ้น แล้วก็ชั่งน้ำหนักหลักฐานที่ได้ทดลองมา หลักฐานเหล่านี้เป็นตัวช่วยให้เราสามารถคาดเดาสถานการ์ณที่จะเกิดได้มากขึ้น หรือสามารถทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่าเราต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
เช่น เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เสียขวัญ เราก็พยายามประพฤติตัวที่จะป้องกันตนเอง ถ้าวิธีการที่เราใช้ปกป้องตัวเองทำให้เราเผชิญเหตุการณ์ได้เราก็จะนำวิธีการนั้น ๆ มาใช้ ถ้าวิธีการนั้น ๆ ใช้ไม่ได้ผลเราก็จะเปลี่ยนแปลงแสวงหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่า กระบวนการเหล่านั้นเป็นการตั้งสมมติฐาน คาดเดาผลลัพธ์ และพิสูจน์สมมติฐาน ในการพิจารณาและแสวงหาวิธีการเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุการณ์จริงเสมอไป บางครั้งเราก็แสวงหา สร้างเหตุการณ์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือตัดสินว่า สิ่งนั้นถูกต้องหรือผิดพลาด
เราสามารถจะกล่าวได้ว่าแนวคิดของ Constructive Alternativism นี้เป็นจุดสำคัญของทฤษฎีของ Kelly มนุษย์มีอิสระที่จะแปลความหมายของประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เสมอ บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกเป้าหมายให้กับชีวิตของตน และทันทีที่ตนได้เลือกเป้าหมายแล้ว เป้าหมายนั้น ๆ จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง
โฆษณา