22 มิ.ย. 2024 เวลา 15:28 • ประวัติศาสตร์

ลืมป่าทั้งหมด เพื่อเข้าใจจักรวาล

ประวัติศาสตร์ความขี้ลืมของมนุษย์
มนุษย์มียีนส์ร้อยละ 98 เหมือนกับลิงชิมแปนซี
และอย่างที่ประจักษ์ มนุษย์เป็นไพรเมตที่ครองโลก
นี่คือยุคของเรา ลิงไร้หางขนร่วงทั้งตัว ที่เอาชนะทุกสปีชีส์
บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก
แต่คุณจะทำใจได้ไหมหากเราบอกว่า ถ้าแข่งกันเรื่องความจำเชิงภาพแล้ว มนุษย์ต้องพ่ายแพ้ให้กับญาติสนิทของสปีชีส์เราชิมแปนซี
1
ภาพจากรายการ Are you smarter than a chimp? ของสถานีโทรทัศน์ MSNBC ของญี่ปุ่นได้นำลิงชิมแปนซีอายุ 11 ปีชื่อว่า อายูมุ และลิงอีกตัวนึงมาแข่งกับผู้ใหญ่ 2 คนเพื่อทดสอบความจำ ผลคือเจ้าชิมแปนซีเป็นผู้ชนะ
ลิงชิมแปนซีมี Eidetic imagery
ความจำของมันเป็นเหมือนภาพและเสียงที่บันทึกไว้
และสามารถเรียกความทรงจำภาพและเสียงเหล่านั้นกลับมาได้อย่างแม่นยำ และยังมีพื้นที่เก็บความทรงจำได้ในจำนวนที่มากกว่ามนุษย์ อีกทั้งมีความสามารถที่จะ Subitizing ได้ดีกว่ามนุษย์ คือ มันสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ และ รวดเร็ว
แต่โปรดอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่านี่คือคำสาปแช่ง
นี่อาจเป็นพรจากพระเจ้า
ย้อนไปก่อนที่ Homo sapiens จะวิวัฒนาการออกมาโลดแล่นในผืนทุ่งหญ้าสะวันนา บรรพบุรุษของเหล่า Sapiens ก็เคยดำรงชีวิตอยู่ในป่าเหมือนกับไพรเมตสปีชีส์อื่นๆ
สิ่งแวดล้อมเช่นนี้เรียกร้องความสามารถในการจดจำเชิงภาพที่สูงมาก เหล่าไพรเมตต้องจำต้นไม้ใบหญ้าได้ จำกิ่งก้านสาขาของพืชพรรณในป่าได้เป็นอย่างดี จำได้เป็นฉากๆ และฉายกลับไปกลับมาในสมองได้ จึงจะดำรงชีวิตอยู่ในป่าได้และไม่ตายไปเสียก่อน
จวบจนบรรพบุรุษของเหล่า Homo ทั้งหลาย รวมถึง Homo sapiens แตกสายออกมาหากินที่ชายป่า บริเวณที่มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ลักษณะภูมิประเทศแบบนี้เรียกร้องความสามารถใหม่จากเหล่าบรรพบุรุษของเรา
นั่นคือ การยืนตัวตรง การเดิน-วิ่ง ระยะไกล
และ ความสามารถอันยิ่งใหญ่ที่กลายมาเป็นมรดกอันล้ำค่าที่สุดของมนุษย์ในปัจจุบัน "ความสามารถในการคิดวิเคราะห์"
ถึงกระนั้น พระเจ้าก็ริบคืนความสามารถบางประการกลับคืน
นั่นคือ ความสามารถในการปีนป่าย และ ความจำเชิงภาพ
หรือ Eidetic imagery นั่นเอง
สตีเฟน วิลต์เชียร์ก็สามารถวาดภาพเมืองทั้งเมืองได้จากความทรงจำด้วยการบินผ่านกรุงเม็กซิโกซิตี้เป็นเวลา40นาทีเพียงครั้งเดียว
สตีเฟน วิลต์เชียร์ (Stephen Wiltshire) ศิลปินชาวอังกฤษผู้โด่งดัง และเป็นไวรอล เมื่อเขาสามารถถจดจำรายละเอียดของเมืองทั้งเมืองได้ ด้วยการกวาดสายตาขณะนั่งเครื่องบินผ่านเมืองนั้นๆ เพียงครั้งเดียว ความสามารถของเขาน่าทึ่งมาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาไม่เหมือนศิลปินอื่นๆ ก็คือ เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกตั้งแต่อายุ3ขวบ เขาสูญเสียความสามารถหลายๆอย่าง แลกมากับความทรงจำแบบภาพถ่ายในแบบฉบับที่มนุษย์คนไหนก็ยากจะเทียบเคียง เขาจดจำภาพในแบบ Eidetic imagery แต่สูญเสียความสามารถในการคิดวิเคราะห์
คุณอาจเคยเห็นลิงบวกเลข หรือ โลมาเล่นเกมส์
นั่นอาจเป็นหลักฐานว่ามีสปีชีส์อื่นในโลก ที่ก็มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์เช่นกัน แต่นั่นน้อยนิดเหลือเกิน เมื่อเที่ยบกับ มนุษย์
ฉากสำคัญในภาพยนต์ A Space Odyssey”
นับจากวันที่บรรพบุรุษของเราออกจากป่ามาเดินในทุ่งหญ้าสะวันนา มนุษย์วิวัฒนาการมากมายเสียจนหากพระเจ้ามองกลับไปก็อาจรำพึงได้ว่า “นี่ฉันทำอะไรลงไป?”
โดยรวดรัดอาจพูดได้ว่า
เราลืมภาพของกิ่งก้านพรรณไม้ เพื่อที่จะคิดคำนวณตัวเลข
เราลืมภาพแหล่งผลไม้สุกงอมว่าอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะวิเคาระห์ทิศทางการอพยพของฝูงสัตว์ เพื่อวางแผนการล่าอย่างเป็นระบบ
นั่นเพราะพื้นที่ความทรงจำอันทรงประสิทธิภาพในสมอง
ต้องแลกมาด้วยพื้นที่ใหม่ คือพื้นที่ของการคิดวิเคราะห์ดังกล่าว
ฉากสำคัญในภาพยนต์ A Space Odyssey
กาลเวลาผ่านนับแสนปี
มนุษย์ล่าสัตว์อย่างเป็นระบบ เริ่มทำเกษตรกรรม สร้างระบบสังคม สร้างสถาปัตยกรรม คิดระบบตัวเลข ตัวอักษร บันทึกประวัติศาสตร์ ครุ่นคิดเกี่ยวกับปรัชญา แตกสาขาออกเป็น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี มานุษยวิทยา ศาสนวิทยา และศาสตร์ต่างๆอีกมากมาย
เพื่อตอบสนองผลพวงของสมองแบบคิดวิเคาระห์
นั่นคือ “ความใคร่รู้” สิ่งนี้เป็นของแถมติดตัวมากับมนุษย์
อย่างที่พระเจ้าก็อาจไม่เคยคาดการณ์มาก่อน
มันมีค่าเป็นเอนกอนันต์
และนั่นต้องการพื้นที่ในก้อนสมองราว 1,200 cc.
เราอาจพูดได้ว่า
เราลืมป่าผืนนั้น ผืนที่เราจากมา
เพื่อเก็บสเปซในก้อนสมอง 1,200 cc. ไว้ทำความเข้าใจจักรวาล
สิ่งนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใดจะทำความเข้าใจได้
ท้ายสุด
บทความนี้อาจชวนคุณยิ้มให้กับความขี้ลืมเล็กๆน้อยๆในแต่ละวัน
เพราะถ้าหากเราไม่ลืมไปบ้าง ป่านนี้เราอาจจะยังอาศัยอยู่ในป่า
เหมือนกับ ชิมแปนซี ญาติสนิทของสปีชีส์เรา
โฆษณา