23 มิ.ย. เวลา 03:35 • ประวัติศาสตร์
MCAS Miramar

‘ห้ามพลาด’ !!! ย้อนรอย Top Gun School กลยุทธ์ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของ ทร.สหรัฐ

ย้อนระลึกถึงจุดเริ่มต้นก่อตั้ง "ทอปกัน" โรงเรียนฝีกนักบินรบหมายเลข 1 ของโลกเมื่อ 55 ปีก่อน ที่สะท้อนความเป็นนักสร้างนวัตกรรมของคนอเมริกันที่ประสบความสำเร็จมากมาย และขับเคลื่อนกองทัพสหรัฐ ฯ ให้คงความก้าวหน้าตลอดหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน
1
ปัจจุบัน!!! การหาข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์เรื่องราวใด ๆ ก็ตาม ทำได้ง่ายขึ้นมากการทำเข้าใจประวัติศาสตร์ในมุมใหม่ๆ จากการอ่านให้หลายเวอร์ชั่นมากขึ้น หรือแม้แต่การอ่านภาษาอังกฤษ จาก Original Version โดยมีเครื่องมือช่วยแปลภาษาสำหรับคนที่ไม่ถนัดก็สามารถเสริมสร้างความหลากหลายของมุมมองให้เราเฉียบคมมากขึ้น การได้การอ่าน TOP GUN: AN AMERICAN STORY งานเขียนของ อดีตผู้ฝูงแฟนธอม และผู้บังคับการเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน Top Gun ครั้งนี้ก็เช่นกันครับ
ในช่วงเวลาสงครามเย็นนับตั้งแต่สงครามเกาหลีได้สิ้นสุดลง กองทัพสหรัฐฯ มองว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามหลัก จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรการฝึกนักบินรบ ตามเทรนด์ใหม่เน้นการฝึกสกัดกั้นด้วยจรวด ต่อเครื่องบินทิ้งระเบิดข้ามทวีปเป็นหลัก
หลักนิยมการรบที่เปลี่ยนไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 เครื่องบินรบสหรัฐฯ ในยุคนั้นล้วนไม่ติดปืนกล และหวังพึ่งระบบอาวุธนำวิถีต่อสู้กลางอากาศอย่าง AIM-7 Sparrow และ AIM-9 Sidewinder ทำให้ทักษะการรบแบบ Dog fight คือการรบระหว่างเครื่องบิน ในระยะใกล้ที่สายตาของนักบินมองเห็น ที่ต้องพึ่งพาความสามารถของนักบินในการบังคับเครื่องก็หดหายไปตามกาลเวลา การซ้อมรบทางอากาศ (Air combat maneuvering-ACM) หรือการต่อสู้แบบDog Fight ถือเป็นการฝึกที่ต้องห้ามในช่วง ทศวรรษที่ 60
เครื่องของเราไม่ต้องติดตั้งปืน มันไม่จำเป็นต้องมี และวันแห่งการต่อสู้แบบ Dog Fight ลุดสิ้นสุดลงแล้ว
เมื่อต้องจัดการความเปลี่ยนแปลง ในการทำสงครามทางอากาศในโลกยุคใหม่
หลายปีผ่านไปจนถึงสงครามเวียดนาม ผู้นำทหารไม่เห็นความจำเป็น เพราะการฝึกนี้อันตรายและมีราคาแพง การที่โครงสร้างเครื่องบินรับแรง G ที่สูงมาก ๆ ทำให้เฟรมเครื่องบินเสื่อมสภาพเร็ว ดังนั้นการหลบหลีกอย่างนุ่มนวลคือสิ่งเดียวที่ ผู้นำกองทัพมองว่าจำเป็น เครื่องบินรบใหม่ล่าสุด F-4 แฟนทอมถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องสกัดกั้นระยะไกลและขีปนาวุธสแปร์โรว์นำวิถีด้วยเรดาร์ (เอไอเอ็ม-7) เป็นอาวุธหลัก มันไม่ได้ติดตั้งปืนอีกต่อไป
ต่อมาในช่วงสงครามเวียดนามระยะเริ่มต้น มีนาคม ค.ศ.1965 – พฤศจิกายน ค.ศ.1968 สหรัฐอเมริกาสนับสนุนเวียดนามใต้ ในการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในประเทศเวียดนามเหนือ เพื่อบีบบังคับให้เวียดนามเหนือยอมยุติการสนับสนุนคอมมิวนิสต์ เวียดกงในเวียดนามใต้ ในชื่อที่เราคุ้นเคยกันดีว่า ปฏิบัติการโรลลิงธันเดอร์ (Operation Rolling Thunder)
กองทัพอากาศและกองทัพเรือสหรัฐ นำเครื่องบินทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ เป้าหมายเพื่อทำลายความสามารถทางทหารของพวกคอมมิวนิสต์ แต่สหรัฐประเมินความสามารถของฝ่ายตรงข้ามต่ำเกินไป การป้องกันทางอากาศของเวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีน ทำให้พวกเขามีระบบป้องกันภาคพื้นที่น่ากลัว
ทั้งขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ ปืนต่อต้านอากาศยาน รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ไอพ่น 2-3 แบบ แม้จะไม่ทันสมัยเท่าของสหรัฐ แต่ก็สร้างความประหลาดใจและตื่นตระหนกให้กับสหรัฐ ฯ มาก เมื่อ ทอ.เวียดนามเหนือ ใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตี และถ้ามิก ทะลุระยะยิงของจรวด เข้ามาใกล้ได้ นั่นคือหายนะ
การขาดประสบการณ์ Air combat maneuvering ทำให้กลายเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่ไม่คาดถึงเมื่อต้องสู้รบในระยะประชิดและเมื่อมิสไซล์หมดไป ทำให้พวกนักบิน ไม่เหลืออะไรนอกจากกลายเป็นเป้าบินกลางอากาศ นักบินรบสหรัฐต้องเจ็บปวดกับความสูญเสียในช่วงต้นสงครามเวียดนาม ผู้นำกองทัพถึงได้คิดขึ้นได้ว่าการรบแบบ Dog Fight ยังอยู่ ไม่ได้หายไปใหน
ทร.สหรัฐมีอัตราการสังหารโดยรวมประมาณ 2.5 ต่อ 1 เท่านั้นได้ทำการสอบสวนเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยได้มอบหมายให้ ผู้บังคับการเรือแฟรงค์ อัลท์ (Frank Ault) จัดทีมงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผบ.อัลท์เป็นนักบินทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 และในระหว่างการปฏิบัติการรบที่เวียดนาม ปี ค.ศ.1966 – ค.ศ.1967 เขาได้เป็นบัญชาการบรรทุกเครื่องบิน Coral Sea(หรือที่เรียกกันว่ากับตันเรือ)
ท่านได้รวบรวมข้อมูลจนพบสถิติว่านักบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ได้บินเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดในโลกขณะนั้น นั่นคือ F-4 Phantom II และ F-8 Crusader ซึ่งขึ้นบินต่อกรกับศัตรูที่ค่อนข้างเก่ากว่าของกองทัพอากาศเวียดนามเหนืออย่าง MiG-17 MiG-19 และ MiG-21 มีอัตราส่วนการสังหารอยู่ที่ 2.5:1 เท่านั้น
อัตราส่วนนี้หมายถึงจำนวนเครื่องบินข้าศึกที่ถูกทำลายต่อนักบินฝ่ายสหรัฐที่สูญเสีย ซึ่งอัตราที่ 2.5:1 นั้นน่าใจหายมาก เพราะมันหมายถึงสหรัฐต้องสูญเสียนักบินไป 1 คนต่อเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามตก 2.5 ลำ ทั้งที่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจบลงไปเพียง 20 ปีก่อน อัตราส่วนการสังหารของเครื่องบินกองทัพสหรัฐฯ อยู่ที่ 14:1 ส่วนในสงครามเกาหลี มีอัตราการสังหารที่ 12:1
ด้วยเหตุนี้ทีมงานผู้ก่อตั้งต้องใช้เวลาต่อไปอีกหลายเดือนเพื่อรวบรวมข้อมูล และแนวทางแก้ไขปัญหา นับตั้งแต่การปรับโครงสร้างหน่วยปฏิบัติการกองทัพเรือ จัดลำดับความรับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ ดำเนินการศึกษาการควบคุมคุณภาพของการผลิต AIM-7 Sparrow และพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบขีปนาวุธใหม่
รวมทั้งความจำเป็นในการปรับปรุงการฝึกนักบินใหม่อีกด้วย เพื่อลดอัตราการสูญเสียของนักบินรบของกองทัพเรือ และเมื่อต้องสู้รบในระยะประชิด แต่ด้อยทักษะการต่อสู้ระยะประชิด จนกลายเป็นเป้าบินกลางอากาศ หนึ่งในข้อแนะนำหลัก ๆ ผู้บังคับการเรือแฟรงค์ อัลท์ คือการสร้าง “โรงเรียนใช้อาวุธนักบินขั้นสูง” ตามแนวคิด "นักบินที่ดีกว่าจะชนะเสมอ(Better pilot will always win)"
Top Gun ความพยายามที่พลิกชะตาของสงครามทางอากาศในเวียดนามแต่จุดเริ่มต้นไม่ได้สวยงามนัก
โครงการโรงเรียน TOPGUN จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ.1968 มันไม่ใช่โครงการของรัฐบาลหรือระบบราชการ แต่ถูกสร้างขึ้นจากความคิดริเริ่มและวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการฝึกนักบิน แต่ก่อตั้งขึ้นจากนายทหารที่เคยเข้ารบ เป็นผู้เสนอ เพื่อตอบสนองความต้องการ การฝึกการต่อสู้ทางอากาศที่ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ มันจึงได้รับการสนับสนุนในระยะเริ่มต้นน้อยมาก โรงเรียนสามารถเปิดได้จริง ๆ ในปี ค.ศ.1969 มีชื่อเต็มว่า The United States Navy Strike Fighter Tactics Instructor program หลักสูตรนี้สอนยุทธวิธีเทคนิคในการสู้รบ แก่นักบินกองทัพเรือโดยรวม ๆ แล้วเป็นหลักสูตรที่สอนทักษะการต่อสู้แบบ Dog fight แก่นักบินรุ่นใหม่ที่เคยพึ่งพาขีปนาวุธ และเทคโนโลยีเป็นหลัก
1
ในการจัดตั้งโรงเรียนใช้อาวุธนักบินขั้นสูง ผบ.อัลท์อยากให้มันเป็นมากกว่าโรงเรียนที่ฝึกอบรมทั่วไป ท่านอยากให้มันเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับแบ่งปันประสบการณ์จากการรบจริง และพัฒนาหลักการรบและยุทธวิธีใหม่ตลอดเวลา ผู้สอนจะต้องเป็นบุคลากรที่มีประสบการณ์สูง นักเรียนที่มาเรียนจะต้องถูกดึงมาจากหน่วยบินรบที่มีประสบการณ์การบินมามากและมีฝีมืออยู่ในอันดับต้นๆ อัลท์หวังว่าความรู้และประสบการณ์ของนักเรียนที่จบกลับไปจะถูกย้อนกลับเข้าไปพัฒนาในหน่วยบินทุกหน่วย
แต่จุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียน TOPGUN ไม่ได้ราบรื่น หลังจากได้รับอนุมัติให้สร้างโรงเรียนที่ Naval Air Station ในมิรามาร์ ตอนเหนือของซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยได้ ผู้ฝูง แดน พีเดอร์เซน นักบิน F-4 Phantom II ผู้มากประสบการณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นนายทหารประจำหน่วยคนแรกของโรงเรียน ผู้ฝูงพีเดอร์เซน ได้รับงบจำนวนน้อยกว่าที่คาดมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ และพนักงานประจำโรงเรียนก็น้อยเช่นกัน
พวกเขาร่วมกันสร้างหลักสูตรและสร้างโรงเรียนโดยแทบไม่ได้รับการสนับสนุน
โทมัส แมคเคลวีย์ คลีเวอร์ เขียนอธิบายความยากลำบากของการสร้างโรงเรียน TOPGUN ไว้ในหนังสือ The Tonkin Gulf Yacht Club จากสถานที่ลานจอดรถใน Naval Air Station อันทรุดโทรม พีเดอร์เซนจะต้องปรับเปลี่ยนมันให้เป็นโรงเรียนที่พลิกโฉมหน้าการรบของสหรัฐ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยในทีแรก เริ่มจากอาคาร และโรงเก็บเครื่องบินเก่า เฟอร์นิเจอร์ที่ได้มาก็เป็มือสองที่สภาพทรุดโทรม พวกเขาต้องเริ่มโรงเรียน Top Gun จากการขัดและทำสีเฟอร์นิเจอร์ใหม่
มีค. 1969 ที่เริ่มดูเข้ารูปเข้ารอย โรงเรียนก็เริ่มรับนักเรียนรุ่นแรก ในช่วงแรกมีครูการบิน 8 คน การฝึกสอนใช้เครื่องบิน F-4 Phantom ที่ผู้ฝูงพีเดอร์เซน ต้องไปทำเรื่องยืมจากฝูงบินอื่นมาก่อน แต่เมื่อโรงเรียนตั้งไข่ได้เครื่องบินอื่น ๆ ก็เข้ามาเพิ่ม การฝึกนั้น ครูการบินจะบินจำลองเป็นข้าศึกที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินขนาดเล็กและเบา (เช่น MiG-17) พวกเขาใช้เครื่อง A-4 Skyhawk บินให้เหมือนข้าศึกให้มากที่สุด เพื่อให้นักบินที่รับการฝึกได้รับประสบการณ์การรบกับเครื่องบินที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันออกไป
3 ปีหลังจากการเปิดตัวหลักสูตรอันเข้มข้น และการรบทางอากาศรอบใหม่ที่เวียดนามเริ่มต้นอีกครั้ง คราวนี้ผลลัพธ์อัตราส่วนในการยิงข้าศึกตกในปี ค.ศ.1972 และต้นปี ค.ศ.1973 ของนักบินกองทัพเรือในสงครามเวียดนามก็เพิ่มขึ้นเป็น 13:1 นักบินที่สำเร็จการศึกษาจาก TOPGUN ได้คะแนนอันดับต้นๆ ในการสังหารเครื่องบิน MiG ในขณะที่อัตราส่วนของ ทอ.สหรัฐยังคงอยู่ที่ 3:1 ตามเดิม
หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม หลักสูตร TOPGUN ยังคงเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่าโปรแกรม Strike Fighter Tactics Instructor ซึ่งเพิ่มการสอนยุทธวิธีทางอากาศสู่พื้นดินเข้าไปด้วย (ภายหลังย้ายไป Naval Air Station ฟอลลอน รัฐเนวาดา ในปีค.ศ.1996) ที่ใหม่นี้กลายเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศการฝึกสำหรับนักบินทหารเรือ เพื่อพัฒนาทักษะให้กับนักบินทหารเรือ จากทุกฝูง ทุกหน่วยบินของ ทร.สหรัฐฯ โดยมีทั้งการฝึกบินภาคปฏิบัติ การเรียนในห้องภาคทฤษฎี การสนับสนุนการปฏิบัติการและข่าวกรองโดยตรง
ผลกระทบของ TOPGUN ต่อกองทัพเรือนั้นยอดเยี่ยม จากจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียวของโรงเรียนคือการฝึกนักบินเพื่อรบในยุทธวิธีการต่อสู้ทางอากาศเป็นหลัก เพื่อถ่ายทอดคำสอนเหล่านั้นไปยังกองทัพเรือและแก้ไขอัตราส่วนการสังหารที่น่าตกใจของ F-4 ที่กองทัพเรือกำลังประสบในสงครามเวียดนาม แต่ในปัจจุบันโรงเรียน TOPGUN ทำได้มากกว่านั้น มันโด่งดังไปทั่วโลกในฐานะศูนย์กลางของความเป็นเลิศและเป็นที่ฝึกเพิ่มประสบการณ์ของนักบินรบและนักยุทธวิธีที่เก่งที่สุดในโลก
โฆษณา