23 มิ.ย. เวลา 04:29 • ศิลปะ & ออกแบบ

บันทึก หอไตรฯ วัดสระเกศฯ

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า บริเวณที่ตั้งไตรฯของวัดสระเกศฯ (คือวัดสระแกสมัยอยุธยา) เคยเป็นแอ่งน้ำหรือสระน้ำธรรมชาติมาก่อน และมีความสอดคล้องกับบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑ ในเวลาต่อมา) ได้มาพักทัพหลังจากกลับจากการศึก ซึ่งวัดสระแกเป็น “ชุมทาง” สำคัญก่อนเข้าสู่ประตูเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี
ณ บริเวณพื้นที่ตั้งหอไตรฯในปัจจุบัน มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของวัดในอดีตคือเป็นพื้นที่ลุ่มและ “มีสระน้ำธรรมชาติ” อยู่ก่อนแล้ว การเปลี่ยนชื่อเดิมของวัดสะแกมาเป็นวัดสระเกศจึงเกิดขึ้นหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นศูนย์กลางราชธานีแห่งใหม่ ที่ตั้งของหอไตรฯจึงมีความสอดคล้องกับเหตุการณ์หลังจากรัชกาลที่ ๑ ได้เคยเสด็จเข้าโขลนทวาร และประกอบพิธีในลักษณะเดียวกับพระราชพิธีมุรธาภิเษก ซึ่งก็คือการชำระล้างร่างกายตั้งแต่พระเกศาลงมาด้วยน้ำบริสุทธิ์ที่ผ่านการประกอบพิธีฯ
การปรากฏหอพระไตรปิฎก ณ กลางสระน้ำธรรมชาติแห่งนี้ คงจะมีตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ และเมื่อกาลเวลาล่วงมาถึงปัจจุบันก็ไม่พบหอไตรฯตั้งอยู่กลางน้ำอีกต่อไป ทว่ายังคงเป็นบันทึกความทรงจำที่ผู้คนได้เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากความสำคัญของบริเวณพื้นที่ตั้งของหอไตรฯ ยังมีสิ่งที่ทรงคุณค่าอีกอย่างคือ ความงามทางด้านศิลปะ-สถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นมีการปรับปรุงให้เป็นเรือนที่ก่ออิฐถือปูนชั้นล่าง โดยการปรับสภาพส่วนใต้ถุนให้มีลักษณะเป็นเรือนสองชั้น ฯลฯ (ดูภาพจากหน้าปก)
จิตรกรรมไทยที่พบในหอไตรฯ ถือเป็นอีกหนึ่งคุณค่าในงานช่างโดยพบการเขียนฝาเรือนด้านนอกเป็นลายกำมะลอ (งานลงรักเขียนสี ฯลฯ)
ชุดบานหน้าต่างมีรูปทรงเป็นซุ้มโค้งแหลมแบบกลีบบัว ซึ่งเป็นแบบแผนที่นิยมในงานช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีงานจิตรกรรมที่เป็นลายกำมะลอแวดล้อมอยู่โดยรอบ  ภาพ: ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร
ส่วนฝาเรือนด้านในเขียนเป็นลายดอกไม้ร่วง ฯลฯ
ภาพเขียนสีลายดอกไม้ร่วง ซึ่งเป็นแบบแผนนิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ภาพ: ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร
ในขณะที่บานหน้าต่างกลับเป็นลายรดน้ำที่มีรูปแบบความนิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย คือรูปบุคคลมีฐานะชนชาติต่างๆที่เป็นชาวตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา โดยในภาพแวดล้อมด้วยลายพรรณพฤกษา ฯลฯ
ภาพลายรดน้ำตามบานหน้าต่างของหอไตรฯ แสดงรูปแบบบุคคลชาวตะวันตกที่เข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย  ภาพ: ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร
โฆษณา