23 มิ.ย. เวลา 05:29 • ความคิดเห็น

Dec แปลว่า 10 แต่ทำไม December คือเดือน 12?

ปฏิทินเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก แม้สมัยนี้เราจะไม่ค่อยได้ใช้ปฏิทินตั้งโต๊ะหรือปฏิทินแขวนแล้ว แต่เราก็ยังใช้ Calendar ที่อยู่ในคอมและมือถือในการนัดหมายอยู่ดี
เรารู้ว่าวันจันทร์คือวันเริ่มต้นทำงาน (Thank God It's Monday!) และวันเสาร์อาทิตย์คือวันหยุดพักผ่อน หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน หนึ่งเดือนมี 30 วัน หนึ่งปีมี 365 วัน
อะไรที่อยู่ใกล้ตัวเรามากเรามักจะไม่ค่อยตั้งคำถาม เพราะคิดว่ามันเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ทั้งที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาทั้งนั้น
วันนี้ก็เลยอยากนำบางแง่มุมของปฏิทินที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาเล่าให้ฟัง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มาจาก Brian Klaas ผู้เขียนหนังสือ Fluke ที่ผมยกให้เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024 นั่นเอง
.
1. Dec แปลว่า 10 แต่ทำไม December คือเดือน 12?
คำอะไรก็ตามที่ขึ้นต้นด้วย Dec มักจะแปลว่า 10
Decade แปลว่าทศวรรษ
Decimal system คือเลขฐานสิบ (ถ้าเลขฐานสองจะเรียกว่า binary system)
Decacorn คือบริษัทสตาร์ทอัปที่มีมูลค่า $10 billion (Unicorn = $1 billion)
คำถามคือทำไม December ที่ควรจะเป็นเดือน 10 ถึงกลายเป็นเดือน 12 ไปได้
ถ้าใครเคยเรียนภาษาฝรั่งเศสจะรู้ว่า Sept แปลว่า 7 และ Neuf แปลว่า 9
แต่ September คือเดือน 9 และ November คือเดือน 11
เหมือนเลขเดือนกับชื่อที่ใช้ตั้งจะเหลื่อมกันอยู่ 2 เดือน
เหตุผลก็คือในสมัยก่อนเก่านั้น ชาวโรมันแบ่งปีออกเป็น 10 เดือน โดยดูตามพระจันทร์
(เผื่อใครไม่ได้สังเกต Month มาจากคำว่า Moon ส่วน "เดือน" ในภาษาไทย ก็หมายถึงพระจันทร์เช่นกัน)
December เป็นเดือนที่ 10 ของปี ดังนั้นชื่อนี้ก็สมเหตุสมผลแล้ว
แต่พอมีแค่ 10 เดือนในหนึ่งปี แถมเดือนนึงมีแค่ 29-31 วัน แต่ละปีของโรมันจึงมีแค่ 304 วันเท่านั้น ยังขาดไปอีกเยอะกว่าโลกจะโคจรรอบพระอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ สมัยนั้นก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มช่วงหน้าหนาวให้ยาวนานขึ้น ซึงแต่ละปีก็เพิ่มไม่เท่ากันอีก
จนกระทั่งประมาณ 700 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์โรมันนาม Numa Pompilius (ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีตัวตนอยู่จริงทางประวัติศาสตร์ก็ได้) จึงเพิ่มเดือนเข้าไปให้อีกสองเดือนคือเดือน January และ February โดย ChatGPT บอกว่า
"January was named after Janus, the god of beginnings and transitions, and February was named after Februa, a Roman festival of purification."
โดยตอนที่เพิ่มเข้าไปใหม่ๆ นั้น เดือน January คือเดือนที่ 11 และ February คือเดือนที่ 12 ซึ่งก็เมคเซนส์เพราะเป็นเดือนที่เพิ่มมาทีหลัง (เดือนแรกของปีคือ March หรือมีนาคม)
1
แต่พอวันเวลาผ่านไปหลายร้อยปี อาจเพราะว่า Janus เป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น จักรวรรดิโรมันจึงค่อยๆ ปรับให้ "ปีใหม่" เริ่มในเดือน January แทน ทำให้ March กลายไปเป็นเดือนที่สามของปี และนั่นคือเหตุผลที่ December ที่เคยเป็นเดือนที่ 10 ขยับไปเป็นเดือนที่ 12 นั่นเอง
ปฏิทิน 12 เดือนของ Numa ปรับจาก 304 วัน เป็น 355 วันแล้ว ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น แต่ก็ยังขาดไป 10 วันอยู่ดี
.
2. 24 กุมภาพันธ์เหมือนหนัง Groundhog Day
ในสมัย 46 ปีก่อนคริสตกาล (46 BC) จูเลียส ซีซ่าร์ ได้ขึ้นมาปกครองกรุงโรมและปฏิรูปหลายสิ่งหลายอย่าง รวมถึงปฎิทินด้วย
เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินที่ผ่านมา ทำให้วันเดือนปีเพี้ยนไปหมด ซีซ่าร์จึงประกาศให้ปี 46 BC มี 445 วันเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเข้ารูปเข้ารอย
สมัยนั้นทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า โลกใช้เวลาประมาณ 365 กับอีก 1/4 วันสำหรับการโคจรรอบดวงอาทิตย์
1
ซีซาร์จึงปรับให้ปฏิทินปีเพิ่มจาก 355 วันเป็น 365 วัน โดยเดือนที่ปรับมีดังนี้
Ianuarius (January): 29 วัน ปรับเป็น 31 วัน (+2)
Februarius (February): 28 วัน ไม่ปรับ ยกเว้นปีอธิกสุรทิน หรือ Leap Year ที่จะปรับให้มี 29 วัน
Martius (March): 31 วัน ไม่ปรับ
Aprilis (April): 29 วัน ปรับเป็น 30 วัน (+1)
Maius (May): 31 วัน ไม่ปรับ
Junius (June): 29 วัน ปรับเป็น 30 วัน (+1)
Quintilis (July): 31 วัน ไม่ปรับ (เดือน Quintilis ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Julius เพื่อเป็นเกียรติแก่จูเลียส ซีซ่าร์)
Sextilis (August): 29 วัน ปรับเป็น 31 วัน (+2) (เดือน Sextilis ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Augustus เพื่อเป็นเกียรติแก่ Augustus Caesar ที่ขึ้นมาปกครองโรมต่อจากจูเลียส ซีซ่าร์)
September: 29 วัน ปรับเป็น 30 วัน (+1)
October: 31 วัน ไม่ปรับ
November: 29 วัน ปรับเป็น 30 วัน (+1)
December: 29 วัน ปรับเป็น 31 วัน (+2)
ปฏิทินของซีซ่าร์จึงมี 355+10 = 365 วันตามที่ตั้งใจไว้
ในช่วงแรกๆ ในปีอธิกสุริทินหรือ Leap Year ที่ต้องมี 366 วัน จะกำหนดให้เดือนกุมภาพันธ์มี "วันที่ 24 กุมภาพันธ์" ซ้ำกันสองหน!
ดังนั้นถ้าคุณเป็นชาวโรมันก่อนคริสตกาล และเข้านอนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ในปีอธิกสุรทิน คุณจะตื่นมาเจอวันที่ 24 กุมภาพันธ์อีกครั้งเหมือนหนังเรื่อง Groundhog Day
เพิ่งจะมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15 นี้เองที่เริ่มใช้วันที่ 29 กุมภาพันธ์แทนการใช้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ซ้ำในปีอธิกสุรทิน
.
3. 29 กุมภาพันธ์ไม่ได้มีทุก 4 ปี
ผมเข้าใจมาโดยตลอดว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์โดยใช้เวลา 365.25 วัน
ดังนั้นทุกๆ 4 ปีจึงควรมีวันเพิ่มมา 1 วัน
แต่แท้จริงแล้ว โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์โดยใช้เวลา 365.24219* วันต่างหาก
ดังนั้นการเพิ่ม 1 วันในทุก 4 ปี จึงแอบ "เพิ่มเกิน" ไปนิดนึง
ในทศวรรษที่ 16 Pope Gregory XIII จึงได้ปรึกษานักวิทยาศาสตร์นาม Aloysius Lilius และได้รับคำตอบว่า ใน 400 ปี ควรจะมี Leap Year แค่ 97 ครั้งเท่านั้น (แทนที่จะมี 100 ครั้ง)
Pope Gregory จึงตัดสินพระทัยว่า ปีคริสตศักราชที่หารด้วย 100 ลงตัว จะไม่ใช่ปีอธิกสุรทิน ยกเว้นว่าปีนั้นจะหารด้วย 400 ลงตัว
ปี 1600 และ ปี 2000 จึงเป็น leap year
แต่ปี 1700, 1800, และ 1900 ไม่ใช่ leap year แม้ว่าจะหาร 4 ลงตัวก็ตาม
ลองตรวจสอบง่ายๆ ด้วยการกูเกิลว่า
day of the week 28 Feb 1900 จะได้คำตอบว่า Wednesday
แต่ถ้า day of the week 29 Feb 1900 จะไม่มีคำตอบ
และ day of the week 1 Mar 1900 จะได้คำตอบว่า Thursday
ปีนี้ปี 2024 ก็เป็น leap year (เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน)
ปี 2028,2032,...2096 ก็จะมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์
แต่ปี 2100 จะไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ครับ
และด้วยการปรับการนับ leap year หรือปีอธิกสุรทินให้เป๊ะขึ้น ทำให้ทั่วโลกเปลี่ยนจาก Julian Calendar ของ Julius Caesar มาใช้ Gregorian Calendar ของ Pope Gregorian XIII นั่นเอง
-----
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมหลายร้อยปีที่แล้วต้องซีเรียสเรื่องความเป๊ะเรื่องปฏิทินขนาดนั้น
คำตอบอาจโยงใยไปถึงความเชื่อของชาวคริสเตียนที่ต้องการจะสวดมนต์หรือเฉลิมฉลองให้ตรงกับวันที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์
เช่น Easter ซึ่งเป็นวันสำคัญสำหรับชาวคริสเตียนในการฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์จากความตาย โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 4 ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิของทุกปี
หรือถ้าจะให้ละเอียดไปกว่านั้นก็คือต้องเป็นวันอาทิตย์แรกหลังพระจันทร์เต็มดวงหลัง "วันวิษุวัตร" หรือ equinox ของฤดูใบไม้ผลิ
วิษุวัต หรือ จุดราตรีเสมอภาค เป็นศัพท์ดาราศาสตร์ หมายถึงช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งวันนั้นกลางวันจะเท่ากับกลางคืน โดยในหนึ่งปีจะมี equinox สองครั้ง คือในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงของชาวยุโรป (ประมาณวันที่ 20 มีนาคม กับ 23 กันยายน)
ดังนั้น การมีปฏิทินที่ถูกต้องไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่สิบกี่ร้อยปี จะทำให้วันของ equinox นั้นไม่คลาดเคลื่อน ทำให้สบายใจได้ว่าจะจัดงาน Easter ได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์เดิมนั่นเองครับ
-----
ขอบคุณข้อมูลส่วนใหญ่จาก The Garden of the Forking Paths: The Ten Days That Didn't Exist by Brian Klaas.
* หนึ่งปีมี 365.24219 วันเป็นตัวเลขที่ Brian Klaas อ้างอิงจาก Atlas Obscura แต่ถ้าผมถาม ChatGPT จะได้คำตอบ 365.2425 และถ้าถาม Gemini จะได้คำตอบ 365.256 ซึ่งถ้าตัวเลขมากกว่า 365.25 แบบนี้ แสดงว่าเราควรมี leap year บ่อยกว่า 4 ปีครั้งหรือไม่ เผื่อใครอยากไปหาข้อมูลต่อครับ
โฆษณา