Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เนื้อติดมัน
•
ติดตาม
24 มิ.ย. เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก
กัมพูชาลดความสัมพันธ์เวียดนาม เลือกซบอกจีน เร่งเครื่องเมกะโปรเจคท์ “คลองฟูนัน-เตโช”
นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ออกมายืนยันว่า โครงการ “คลองฟูนัน-เตโช” มีกำหนดจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน โครงการนี้เป็นกิจการร่วมค้าโดยท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ ท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญ บริษัทเอกชนและนักลงทุนต่างชาติภายใต้สัญญา Build Operate Transfer (BOT)
.
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 คณะรัฐมนตรีกัมพูชาอนุมัติโครงการระบบนำทางและลอจิสติกส์โตนเลบาสซัค (Tonle Bassac Navigation Road and Logistics System Project : BNRLS) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งทางน้ำของกัมพูชา โดยการเชื่อมต่อระบบแม่น้ำโขงเข้ากับทะเล โดยไม่ต้องผ่านเวียดนาม
แม่น้ำบาสซัค (Bassac) เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโตนเลสาบและแม่น้ำโขงที่เริ่มต้นในกรุงพนมเปญแล้วไหลลงใต้ไปยังหมู่บ้านเกรย์โถม (Chrey Thom) ของจังหวัดกันดาล BNRLS Project หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโครงการ "คลองฟูนัน-เตโช" (Funan Techo Canal) เป็นทางน้ำสายใหม่ที่จะช่วยลดระยะทางในการคมนาคมลงมากกว่า 69 กิโลเมตร จากท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญไปยังท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ ผ่านท่าเรือก๋ายแม็บ (Cai Mep) ของเวียดนาม และ 135 กิโลเมตร จากท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญไปยังท่าเรือระหว่างประเทศกำปอต
.
โครงการขุดคลองฟูนัน-เตโช เป็นการร่วมทุนระหว่างกัมพูชากับต่างประเทศ สัดส่วน 51 : 49 และคาดว่าจะมีบ้านเรือนประชาชนถูกเวนคืนอย่างน้อย 2,000 ครัวเรือน โดยคลองมีระยะทาง 180 กิโลเมตร กว้าง 80 – 100 เมตร ลึก 5.4 เมตร (ความลึกเดินเรือ 4.7 เมตร และระยะปลอดภัย 0.7 เมตร) มีช่องทางเดินเรือ 2 ช่องทาง เขื่อนกั้นน้ำ 3 เขื่อน สะพาน 11 แห่ง มูลค่ารวม 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเปิดดำเนินการได้ภายในปีพ.ศ. 2571
พิมพ์เขียวของคลองที่ส่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารแจ้งของ MRC
ตามพิมพ์เขียว “คลองฟูนัน-เตโช” มีต้นกำเนิดจากเปรกตาแก้วในแม่น้ำโขง ผ่านเปรกตาเอกและเปรกตาฮิง บนแม่น้ำบาสซัค อำเภอเกาะธม และขยายไปสู่จังหวัดแกบ เส้นทางนี้ตัดผ่านสี่จังหวัด ได้แก่ กันดาล ตาแกว กัมปอต และแกบ ครอบคลุมประชากร 1.6 ล้านคนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ และเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงพนมเปญกับชายฝั่งทางใต้ ใกล้กับจังหวัดเกียนซาง (Kien Giang) ของเวียดนาม
.
โดยคาดว่าจะช่วยให้เรือบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกรวมสูงสุด 3,000 ตัน สามารถแล่นผ่านได้ในช่วงฤดูแล้ง และน้ำหนักบรรทุก 5,000 ตัน แล่นผ่านได้ในช่วงฤดูฝน
.
กัมพูชาหวังที่จะลดการพึ่งพาเส้นทางการค้าที่ควบคุมโดยเวียดนามตามแนวแม่น้ำโขง และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาผลประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ คลองฟูนัน-เตโชจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และคาดว่าจะมีรายได้จากการขนส่ง 88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ภายในปีพ.ศ. 2593
ภาพจำลอง คลองฟูนัน-เตโช
วันที่ 16-17 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต เดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรก ร่วมงานอาเซียน-ไชนา เอ็กซ์โป ครั้งที่ 20 ที่นครหนานหนิง ประเทศจีน ได้พบกับผู้นำและนักลงทุนจีนหลายคน รวมถึงนายหวัง ตงโจว ประธาน China Bridge and Road Cooperation (CBRC) รัฐวิสาหกิจจีนที่ทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหญ่หลายแห่งในกัมพูชา ผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน และหนึ่งเดือนต่อมากัมพูชาก็ลงนามข้อตกลงกับ CBRC ลงทุนสร้างคลองฟูนัน-เตโช
ซัน จันทอล (ขวา) ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างกระทรวงเพื่อการศึกษาและดำเนินโครงการการเดินเรือและลอจิสติกส์โตนเลบาสซัค และตัวแทนของบริษัท China Bridge and Road Corporation (ซ้าย) ลงนามข้อตกลงเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน . ภาพ: นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต เฟซบุ๊ก
เว็บไซต์ข้อมูลออนไลน์ ThinkChina จากสิงคโปร์ รายงานว่า ตามสัญญาสัมปทานของคลองฟูนัน-เตโช บริษัทจีนจะบริหารจัดการคลอง รวมถึงบำรุงรักษาและสร้างรายได้จากการเรียกเก็บค่าผ่านคลองช่วงระยะเวลาหนึ่งประมาณ 40 ถึง 50 ปี หลังจากนั้นบริษัทจีนจะโอนการจัดการคลองไปให้รัฐบาลกัมพูชา
.
ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงในปี 2538 โครงการที่กระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขงต้อง “ได้รับการประเมินทางเทคนิค” จากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และรับฟังข้อมูลจากประเทศสมาชิก ประกอบด้วยเวียดนาม ลาว และไทย
.
วันที่ 8 สิงหาคม 2566 สองสัปดาห์ก่อนนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ลาออก คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา (Cambodia National Mekong Committee : CNMC) ได้ส่งประกาศอย่างเป็นทางการไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อแจ้งการก่อสร้างโครงการคลองสายสำคัญแห่งใหม่ในแม่น้ำโขง “คลองฟูนัน-เตโช”
.
เอกสารของ CNMC ระบุว่า โครงการจะส่งเสริม “การพัฒนาระบบขนส่งแบบบูรณาการของกัมพูชา สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของเครือข่ายการขนส่งทางน้ำแห่งชาติ ลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ทางสังคม ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาเพื่อให้บรรลุความก้าวหน้าครั้งใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาที่ประสานกันของภูมิภาค เศรษฐกิจ" และแจ้งว่าเป็นการขุดคลองสาขา ซึ่งเป็นทางระบายน้ำของกระแสหลัก
.
อย่างไรก็ตาม อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่าคลองไม่ได้เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งไม่สอดคล้องกับพิมพ์เขียวของคลองที่ CNMC ชี้แจงไปยัง MRC นอกจากนี้ ท่าทีของรัฐบาลกัมพูชาที่เริ่มการก่อสร้างอย่างรวดเร็ว โดยโครงการไม่ได้รับการตรวจสอบทางเทคนิคและกระบวนการอื่น ๆ จาก MRC จึงเป็นที่สงสัยว่าอาจมีการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในความตกลงแม่น้ำโขงปี 2538
.
เวียดนามได้แสดงความกังวลว่าคลองฟูนัน-เตโชอาจส่งผลกระทบต่อการสัญจรในท่าเรือของตนเอง รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสมดุลทางธรรมชาติริมแม่น้ำโขง และการดำเนินการโครงการคลองดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 และข้อบังคับของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)
แม่น้ำโขงเป็นทางน้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทอดยาวเกือบ 5,000 กิโลเมตร จากแหล่งกำเนิดบนที่ราบสูงทิเบตในประเทศจีนไปจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านหกประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมาร์ ไทย สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไหลลงสู่ทะเลทะเลจีนใต้ มีพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงประมาณ 40,000 ตารางกิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมากกว่า 17.4 ล้านคน ซึ่งเวียดนามถือเป็นยุ้งฉางหลักของประเทศ
.
ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขงในปี พ.ศ. 2538 และได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในความร่วมมือด้านแม่น้ำโขงระดับทวิภาคี นอกจากนี้ เวียดนามและกัมพูชายังได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำในปี พ.ศ. 2552 โดยอนุญาตให้สินค้าเข้าและออกจากกัมพูชาผ่านท่าเรือเวียดนามและผ่านแม่น้ำโขง ซึ่งครอบคลุมแม่น้ำโตนเลสาบ แม่น้ำบาสซัค ของกัมพูชา และแม่น้ำวัมเนา ตลอดจนคลองหลายแห่งในเวียดนาม
.
ตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ซึ่งลงนามโดยรัฐบาลของสี่ประเทศสมาชิก ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและการจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขง รวมทั้งทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงสายหลักได้รับการ "ทบทวนทางเทคนิค" โดย MRC และรับข้อเสนอแนะจากประเทศสมาชิกสี่ประเทศ ซึ่งมีจีนและเมียนมาร์เป็นคู่เจรจา
.
การมีอยู่ของ MRC เป็นเพียงภาคีประสานงานที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ เจรจาร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของแม่น้ำโขง แต่ไม่สามารถออกมาตรการคว่ำบาตรเป็นการเฉพาะได้ ดังนั้น ปัญหาลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมา เช่น เมื่อมีการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลัก MRC ไม่สามารถตัดสินใจได้ เนื่องจากเป็นเพียงเวทีสำหรับทั้งสองฝ่ายในการเจรจาแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม MRC ยังคงมีความสำคัญในฐานะเป็นกลไกระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
แผนที่ฉบับปรับปรุงในเอกสารแจ้งเตือนของ MRC
กรณีคลองฟูนัน-เตโช MRC มีความเห็นว่า หากคลองมีไว้สำหรับการชลประทานในฤดูแล้งของกัมพูชา CNMC ควรปรับปรุงเอกสารชี้แจงเพื่อระบุหน้าที่นี้อย่างชัดเจน และขอคำปรึกษาล่วงหน้าตามมาตรา 5 ของความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 โดยการสร้างแบบจำลองน้ำท่วมยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มั่นใจถึงผลประโยชน์ระยะยาวของโครงการ ตลอดจนการทำความเข้าใจผลกระทบของโครงการปลายน้ำ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเขื่อนและการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมที่เกิดจากคลองซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในเอกสารแจ้งโครงการ
.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่เจาะจงและถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการคลองฟูนัน-เตโชบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ท่าเรือระหว่างประเทศ Cai Mep ภาพ: VGP/PT
ท่าเรือก๋ายแม็บ (Cai Mep) เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของเวียดนาม ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เกิดจากการร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจท่าเรือไซง่อน (Port of Saigon) กับการท่าเรือสิงคโปร์ (Singapore Port Authority) ทำให้การขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำลึกของเวียดนามไม่ต้องผ่านท่าเรือแห่งอื่นใดในระหว่างทางอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือ เกาหลี ใช้เวลาในการขนส่งน้อยลง ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสามารถประหยัดค่าขนส่งกับค่าบริการต่างๆ ได้ 200-300 ดอลลาร์ต่อคอนเทนเนอร์
.
ปัจจุบัน กัมพูชาส่งออกและนำเข้าสินค้าจำนวนมากผ่านทางท่าเรือเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านท่าเรือก๋ายแม็บ การขุดคลองฟูนัน-เตโช เชื่อมต่อท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญเข้ากับท่าเรือน้ำลึกที่วางแผนไว้ในจังหวัดแกบ และท่าเรือน้ำลึกที่สร้างไว้แล้วในจังหวัดสีหนุวิลล์ หมายความว่าการค้าส่วนใหญ่ของกัมพูชาไม่จำเป็นต้องผ่านเวียดนามอีกต่อไป
เมื่อคลองฟูนัน-เตโชเปิดดำเนินการ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดในชีวิตประจำวัน เกษตรกรรม การผลิตเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ลึกและบ่อยขึ้น และระบบนิเวศจะถูกรบกวน
Le Anh Tuan อาจารย์อาวุโสของวิทยาลัยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและสถาบันวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัย Can Tho กล่าว
คลองฟูนัน-เตโชจะควบคุมแหล่งน้ำ การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของน้ำที่รุนแรงยิ่งขึ้น สิ่งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเวียดนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวกัมพูชาที่อยู่ท้ายลำคลองนี้ด้วย
.
ที่ผ่านมา ปัญหาหลักสำหรับประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม เกิดจากการสร้างเขื่อนอย่างไม่ระมัดระวังโดยจีน ซึ่งเป็นประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนบน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างลดลงอย่างมากเนื่องจากเขื่อนต้นน้ำกักเก็บน้ำไว้ แม้ว่ากลไกระดับอนุภูมิภาคที่เรียกว่า “ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง” ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2559 กับจีน ยังคงอยู่ และปัญหาที่ตามมานั้นยังสะสมอยู่จนถึงปัจจุบัน
.
นักอนุรักษ์นิยมวิเคราะห์ว่า เกิดจากการไม่เต็มใจของจีนในการแบ่งปันข้อมูล และใช้การไหลของแม่น้ำเป็นอาวุธเพื่อบีบบังคับประเทศชายฝั่งตอนล่างเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีน
.
บทวิเคราะห์ของ เอสดี ปราธาน (SD Pradhan) ใน Times of India เห็นว่า สำหรับจีน น้ำเป็นอาวุธเชิงกลยุทธ์ในการจัดการกับพฤติกรรมของรัฐริมชายฝั่งตอนล่าง และเป็นเครื่องมือสำคัญของแผนกลยุทธ์ที่มีอำนาจเหนือกว่า ในปี 2562 จีนจงใจปิดกั้นกระแสน้ำของประเทศชายฝั่งตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสี่สิบปี และนาข้าวของเวียดนามได้รับความเดือดร้อนอย่างมหาศาล
.
จีนได้แผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวางจนกลายมาเป็นผู้สนับสนุนหลักของกัมพูชา โดยให้ทุนสนับสนุนสำหรับเส้นทางรถไฟ สะพาน ท่าเรือ และโครงการคลองประวัติศาสตร์ "ฟูนัน-เตโช"
.
กัมพูชาคาดการณ์ว่า หากในอนาคตความสัมพันธ์กับเวียดนามตกต่ำ การขนส่งของกัมพูชาผ่านสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอาจถูกปิดกั้นได้ คลองฟูนัน-เตโช จึงเป็นการลดความเสี่ยง และเพิ่มความมั่นคงให้กับประเทศกัมพูชา ในขณะเดียวกันก็เป็นการตัดทอนอำนาจยุทธศาสตร์ทางทะเลจีนใต้ของเวียดนามด้วย หากกัมพูชาสามารถพึ่งพาการขนส่งทางน้ำของตนเองได้ เวียดนามจะสูญเสียรายได้จากการขนส่งทั้งหมดจากกัมพูชา รวมทั้งอิทธิพลของเวียดนามที่มีต่อกัมพูชาจะลดลง
.
แต่ในความเป็นจริง สินค้าส่งออกของกัมพูชาจำนวนมากถูกส่งออกซ้ำโดยเวียดนามไปยังประเทศจีน สิ่งที่พนมเปญคิดว่าการบูรณาการการขนส่งทางน้ำจะสามารถตัดพ่อค้าคนกลางของเวียดนามออกไปได้นั้น อาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ เนื่องจากยังมีกับดักห่วงโซ่อุปทานของเวียดนาม
.
กัมพูชายังต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าการเกษตรไปยังตลาดเวียดนาม ศักยภาพแรงงานที่ไม่พร้อมต่อการแข่งขัน ขาดความแข็งแกร่งจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความล้มเหลวในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของเศรษฐกิจจีน ทั้งหมดนี้ทำให้กัมพูชายังต้องพึ่งพาการให้บริการห่วงโซ่อุปทานของเวียดนาม
เรือรบจีน 2 ลำถูกพบเห็นที่ฐานทัพเรือ Ream ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2024 (Planet Labs)
จากบทความของ จูกิ ตรินห์ เผยแพร่ใน LOWY INSTITUTE กล่าวถึงความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ตามแนวแม่น้ำโขง โครงการคลองฟูนัน-เตโช ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเชื่อมต่อภายในประเทศของกัมพูชา และอาจช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกองทัพของจีนในประเทศอีกด้วย คาดว่าคลองแห่งนี้จะเชื่อมกับฐานทัพเรือ เรียม (Ream) ในเมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งได้รับการปรับปรุงด้วยเงินทุนจากจีน โดยมีรายงานของ CNN เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าเรือฟริเกตของกองทัพเรือจีน 2 ลำจอดเทียบท่าที่ฐานทัพดังกล่าว
.
นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองในภูมิภาคที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง การอ้างสิทธิทางทะเลที่ทับซ้อนกันระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนามมีพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่ที่สุดกับจีน รอยร้าวที่เกิดจากความสัมพันธ์ของเวียดนามกับไต้หวันของจีน ซึ่งนักธุรกิจเวียดนามมีการการค้า-การลงทุน กับจีนไทเปในหลาย ๆ ด้าน คลองฟูนัน-เตโชที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน จุดประกายความกลัวในเวียดนามว่าเรือรบจีนจะสามารถใช้คลองดังกล่าวได้
.
อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน มองว่า ข้อกังวลเหล่านี้ ถือเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่มีมูลไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่จะพิสูจน์ว่าคลองดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพทางทหารของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือโครงการนี้จะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาคแต่อย่างใด ในฐานะประเทศอธิปไตย กัมพูชามีสิทธิ์ดำเนินโครงการพัฒนาภายในอาณาเขตของตน ในขณะที่เวียดนาม ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความกังวลตามผลประโยชน์ของตนเอง
.
"คลองฟูนัน-เตโช" ภายใต้โครงการระบบนำทางและลอจิสติกส์โตนเลบาสซัค ของกัมพูชา จะสอดรับกับโครงการ 'Land Bridge' ของไทย ซึ่งคาดว่าจีนจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ลงทุนที่มีศักยภาพในโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยจะตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ 'Land Bridge' อย่างไร? จะไปต่อ หรือ พอแค่นี้.
ที่มา:
[1]
https://www.prd.go.th/th/file/get/file/202308304c7c1463063e8c0b98b8ed65c06c716c100147.pdf
[2]
https://vietnamnews.vn/society/1654422/cambodian-funan-techo-canal-might-reduce-water-flow-to-hau-river-experts.html
[3]
https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/water-woes-cambodia-vietnam-clash-over-funan-techo-canal
[4]
https://www.phnompenhpost.com/national/pm-funan-techo-canal-groundbreaking-set-for-august-5-
[5]
https://www.ditp.go.th/post/127916
[6]
https://www.thinkchina.sg/politics/bris-funan-techo-canal-could-steer-cambodia-away-vietnam-and-towards-china
[7]
https://timesofindia.indiatimes.com/blogs/ChanakyaCode/the-role-of-vietnam-in-promoting-cooperation-in-the-mekong-region/?source=app&frmapp=yes
ข่าวรอบโลก
เศรษฐกิจ
ธุรกิจ
บันทึก
7
2
7
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย