Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SWING Thailand
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2024 เวลา 09:00 • ประวัติศาสตร์
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)
เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ‘กะหรี่ไทย’ จะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน?
24 มิถุนายน 2475 คนส่วนใหญ่จดจำเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการเปลี่ยนการปกครองของไทย นับแต่นั้นมา กระแสความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองก็ไม่เคยหยุดนิ่งจวบจนปัจจุบัน ทว่า การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ก็ก่อให้เกิดการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ที่ทั้งสร้างความหวังและผิดหวัง จนเกิดบทกวีที่สร้างขวัญกำลังใจจากคนเดือนตุลาว่า “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”
เชื่อว่าต้องมีคนบางกลุ่มที่เห็นคำว่า ‘กะหรี่’ ในหัวข้อแล้วรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ไม่เหมาะสมตามจารีตประเพณี หลายทศวรรษคำว่ากะหรี่นั้นถูกใช้เป็นคำด่ามากกว่าถูกเรียกเป็นอาชีพ แล้วกะหรี่ที่ไม่ใช่คำด่า มีที่มาจากไหน เริ่มใช้คำนี้ตั้งแต่เมื่อไรกัน?
มีข้อสันนิษฐานจากราชบัณฑิตฯ ซึ่งได้อธิบายคำว่า ‘กะหรี่’ นั้นอาจจจะแผลงมาจากภาษาฮินดีคือคำว่า ‘โฉกกฬี’ (Chokari) ซึ่งใช้เรียกเด็กผู้หญิงและน่าจะใช้เรียกกันมาแล้วไม่เกินศตวรรษ แต่ในสมัยอยุธยาตอนต้น อาชีพกะหรี่ถูกเรียกด้วยหลายชื่อ อาทิ หญิงนครโสเภณี โสเภณี นางจ้าง เป็นต้น หญิงเหล่านี้เริ่มอาชีพจากการเป็นนางทาสหรือเป็นทาสจากการเป็นเชลยศึกสงคราม กล่าวคือ นายทาสหากินกับเรือนร่างนางทาสของตนด้วยการส่งไปที่โรงโสเภณี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือต้นยุครัตนโกสินทร์ การติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจ การค้าขายต่างๆ ก็ดีขึ้นตามมาด้วย รวมถึงธุรกิจโสเภณีที่เติบโตเฟื่องฟูถึงขนาดมีตรอก มีย่านขึ้นชื่อผุดขึ้นมามากมาย หนึ่งในย่านที่โด่งดังรู้จักกันชื่อ ย่านโคมเขียวหรือย่านสำเพ็งนั่นเอง รัฐสยามขณะนั้นต้องการจะหาเงินเพื่อมาพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย จึงเริ่มมีการเก็บภาษีอื่นๆ มากขึ้น อาทิ ภาษีปลากัด ภาษีปลาทู และหนึ่งในนั้นก็คือภาษีโสเภณี ซึ่งรัฐเรียกเงินที่ได้จากอาชีพนี้ว่า ภาษีบำรุงถนน
สำเพ็งสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)
เอาล่ะ...เมื่อกะหรี่เสียภาษี แล้วกะหรี่ได้ประโยชน์อะไรจากรัฐ?
ช่วงแรกวิธีการเก็บภาษีของรัฐสยามจะให้นายภาษีอากรเป็นคนทำหน้าที่เก็บเงินและส่งให้รัฐ เมื่อนายภาษีอากรร่ำรวยขึ้นก็เปิดโรงโสเภณีเอง ซึ่งเกิดช่องโหว่ให้รัฐไม่ได้รับเงินภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงแก้ปัญหาด้วยการที่รัฐเข้าไปเก็บภาษีที่โรงโสเภณีโดยตรงโดยไม่ผ่านนายภาษีอากรหรือผู้เป็นเจ้าของโรงโสเภณีเอง เหตุนี้ตัวกะหรี่เองก็ถูกรัฐมองเห็นและให้ความสำคัญกับอาชีพนี้ แม้จะเป็นการมองต่ออาชีพนี้ด้วยผลประโยชน์ แต่อย่างน้อย กะหรี่ก็พอจะพื้นที่ มีปากมีเสียงขึ้นอยู่บ้าง
รัฐได้มีการเขียนกฎหมายอย่างเป็นระบบ เช่น นายทาสไม่มีสิทธิ์บังคับทาสหญิงไปเป็นโสเภณีโดยไม่ยินยอม ซึ่งต้องเป็นการสมัครใจจากทาสหญิงเองและต้องขึ้นทะเบียนโสเภณีตามกฎหมาย หรือ หากนายทาสแอบให้นางทาสไปทำอาชีพโสเภณี โดยไม่มีการขึ้นทะเบียนเพื่อเลี่ยงภาษี นายทาสจะโดนปรับเงินและถ้าหากนางทาสฟ้องกลับ หญิงคนนั้นจะหลุดพ้นจากการเป็นนางทาสทันที
ขณะเดียวกันก็มีความย้อนแย้งปรากฏให้เห็น เมื่อเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้น แล้วโสเภณีเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ แต่กลับไม่มีสิทธิ์ขึ้นศาลในฐานะพยานได้เลย เพราะรัฐมองว่ากะหรี่ซื้อได้ด้วยเงินจึงไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอ
ภาพจากละคร "บางกอกคณิกา" ที่มีฉากหลังการดำเนินเรื่องเกี่ยวกับโสเภณีในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ช่องวัน 31)
อ่านมาถึงตรงนี้ คงสงสัยกันใช่มั้ยว่า กะหรี่จะเป็นใหญ่กี่โมง?
เป็นใหญ่จริงทำไมแค่ขึ้นศาลเป็นพยานยังไม่ได้เลย?
เรื่องมันมาก้าวกระโดดหลังจากรัชกาลที่ 5 สั่งให้มีการเลิกทาส ทาสหลายคนออกไปทำมาหากินได้อย่างอิสระและยังมีอีกหลายคนที่เป็นทาสมาตั้งแต่เกิด ไม่มีความรู้ต่อยอดทำอาชีพอะไรได้ จึงหันมาเป็นโสเภณีซะเลย เมื่อธุรกิจโสเภณีเติบโตขึ้นหลายเท่า รัฐสยาม จึงให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ของอาชีพนี้มากขึ้นตามไปด้วย
แน่นอน อันดับแรกต้องแก้ให้กะหรี่ขึ้นศาลได้ มันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ทำให้กะหรี่เป็นประชาชนคนหนึ่ง จึงได้มีการแก้ไขกฏหมายตราสามดวงที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.1894 และได้เขียนกฎหมายขึ้นใหม่ใน พระราชบัญญัติลักษณะพยาน ร.ศ.113 ใจความหลักคือไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรหรือผิดชอบชั่วดีในแง่ศีลธรรมแค่ไหนก็สามารถขึ้นศาลได้ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ
เมื่อธุรกิจโสเภณีเฟื่องฟู ก็ได้ก่อให้เกิดกามโรคระบาดหนัก รัฐแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเขียนกฎหมายขึ้นมาเพิ่มอีกหนึ่งฉบับนั่นคือ 'พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127' ใจความหลักคือ พอมีกามโรคปุ๊บไม่ใช่จะห้ามค้าประเวณีปั๊บ แต่รัฐสั่งการให้เจ้าของโรงโสเภณีดูแลความสะอาดเรียบร้อยอย่างดีเยี่ยมและต้องตรวจโรคโสเภณีก่อนให้บริการทุกครั้ง
เพราะเหตุการณ์นี้หญิงโคมเขียวจึงถูกขึ้นทะเบียนการเป็นโสเภณีให้กับรัฐ ซึ่งครั้งนี้เป็นทางการมากขึ้นกว่ายุคก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่อาชีพโสเภณีมีใบอนุญาตจากรัฐหรือเรียกง่ายๆ ว่ากะหรี่ผ่าน QC มาแล้ว ได้ประโยชน์ทั้งโรงโสเภณีและตัวกะหรี่เอง ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่า ‘โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฏหมาย’
ทีนี้แหละถึงเวลากะหรี่ไทยเป็นใหญ่ในแผ่นดินของแทร่!
หนึ่งในสัญลักษณ์ความพีคขั้นสุดของกิจการกะหรี่ก็คือ ‘โคมเขียวแห่งสำเพ็ง’ หรือโรงโสเภณีของยายแฟง ในสายตาของนางทาสเธอคือแม่พระผู้โอบอุ้มหญิงสาวซึ่งไร้ที่ซุกหัวนอน ในสายตาของรัฐเธอคือหนึ่งผู้สร้างรายได้ให้กับหัวเมืองหลัก และในสายตาของสังคมเธอเป็นเศรษฐินีผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในย่านสำเพ็ง
เมื่อรัฐและสังคมยอมรับ ศาสนาย่อมเปิดใจให้กับแม่เล้าผู้นี้ รายได้จากธุรกิจโลกีย์ภายใต้โรงโคมเขียวของเธอ นอกจากจะเป็นภาษีก้อนโตให้กับรัฐ เธอยังมีเงินเหลือพอที่จะสร้างวัดเพื่อทำนุบำรุงศาสนา หนึ่งในวัดที่โด่งดัง เรารู้จักกันในชื่อ ‘วัดคณิกาผล’ นั่นเอง
รูปหล่อจำลอง 'ยายแฟง' เจ้าของ ‘โคมเขียวแห่งสำเพ็ง’ ที่สามารถนำเงินจากการเปิดโรงโสภีมาสร้างวัดได้ ซึ่งในปัจจุบันคือ 'วัดคณิกาผล' (เว็บไซต์ ชีวจิต 'วัดคณิกาผล ผลแห่งศรัทธาของนางโลม')
จุดพลิกผันของกะหรี่ไทย จากเป็นใหญ่กลับต้องไร้ตัวตน...
พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 (พ.ศ.2452) ใช้มานาน และได้ยกเลิกใช้ในปี พ.ศ.2503 หรือในยุคเรืออำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น เนื่องจากองค์กการสหประชาชาติมีนโยบายรณรงค์ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเด็ก ทำให้ออก 'พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503' นับแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยแนวคิดที่ว่าการค้าประเวณีเป็นอาชญากรรมหรือผิดกฎหมาย
โดยมีบทลงโทษจำคุกอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 6 ผู้ใดกระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิดหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
แม้จะมีกฎหมายปรามกะหรี่และบทลงโทษอย่างชัดเจน แต่ด้วยบริบทสังคมหลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดสงครามเวียดนาม ทำให้มีฐานทัพทหารอเมริกาตั้งอยู่ที่ไทยในหหลายพื้นที่ ทำให้การค้าประเวณีในไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้น โดยแฝงอยู่ในโรงเหล้าหรือโรงน้ำชา เป็นต้น ขณะเดียวกันรัฐมองว่าผู้ค้าประเวณีเป็น ‘เหยื่อ’ ในธุรกิจนี้ และอ้างว่าต้องการเข้ามาปราบปรามและช่วยเหลือเหยื่ออย่างจริงจัง จึงได้ยกเลิกพ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 และออก 'พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539' ที่ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ความตั้งใจของรัฐที่ต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้ คือเพื่อป้องกันมิให้มีการค้าประเวณีและจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพเรียกโดยย่อว่า ก.ค.อ. โดยทำหน้าที่เยียวยาเหยื่อหรือผู้ที่จะต้องอยู๋ในความดูแลเพื่อมิให้มีการค้าประเวณีเกิดขึ้น
คุณทราย เจริญปุระ กับบทบาท น้ำผึ้ง โสเภณีจอมโลภในภาพยนต์เรื่อง 'นาคปรก' (เว็บไซต์ Sanook)
“เหยื่อ” “คณะกรรมการ” “พัฒนาอาชีพ”?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพโสเภณีมีเหยื่อจริง เหยื่อจากการค้ามนุษย์ เหยื่อที่เป็นเยาวชน หรือเหยื่อจากการถูกทำร้ายร่างกาย เป็นต้น เหยื่อที่ยกตัวอย่างมานั้นล้วนแต่มีกฎหมายคุ้มครองทั้งสิ้นในภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่อย่าลืมว่าเมื่อเหยื่อเหล่านี้มีอาชีพโสเภณี ซึ่งรัฐไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพมาตั้งแต่ต้น จึงอยากชวนตั้งคำถามว่า เหยื่อที่เกิดจากทำอาชีพโสเภณีได้ความคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน
อีกประการ ผู้ที่ดูแลหน่วยการที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองและพัฒนาอาชีพนั้น แทบจะไม่มีพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการและโสเภณีเข้ามาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย อยากรู้เหมือนกันว่าการพัฒนาอาชีพกะหรี่โดยไม่มีกะหรี่มาสอน จะพัฒนากันอย่างไร
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนตามบริบทของสังคม หากแก้ไขให้เกิด “Sex work is work” เชื่อว่าเหยื่อที่เกิดขึ้นจากธุรกิจนี้จะถูกมองเห็นและได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง เมื่อโสเภณีไม่ได้มองว่าเป็นอาชญากรรม กะหรี่ไทยจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน(อีกครั้ง)
เขียนโดย
วิมุตตินันท์ เชื้อสาวะถี
ภาพการชุมนุมบริเวณรอบอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563
ที่มา
1.
งานวิจัย ‘ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการ ค้าประเวณี พ.ศ.2539’ โดย ปรีชาวัชร์ เศวตภัทรไพศาล และ พีรพจน์ ปิ่นทองดี
2.
'โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503 โดย ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์'
https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/66180
3.
ปริศนาโบราณคดี “กะหรี่” มาอย่างไร? ทำไมถึงเรียกแบบนี้… ผู้รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษเพศ?... โดยเพ็ญสุภา สุขคตะ
https://www.matichonweekly.com/column/article_125145
ภาพประกอบ
1.
ภาพยนตร์ “นาคปรก” (2551)
2.
https://www.lungthong.com/product/65721/สนิมสร้อย
3.
https://www.silpa-mag.com/history/article_24103
4.
ละคร "บางกอกคณิกา" ช่องวัน31 (2567)
5.
https://cheewajit.com/healthy-mind/99984.html
sexwoker
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย