28 มิ.ย. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"หนี้ครัวเรือน” ธปท. อยู่ตรงไหนบนเส้นทางแก้หนี้

โดยทั่วไป ประเด็นหนี้ครัวเรือนมักไม่ใช่ข่าวใหญ่ทางเศรษฐกิจสักเท่าไหร่ เพราะสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งหมายรวมถึง “ธนาคารกลาง” ด้วย) การเป็นหนี้ไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง ตรงกันข้าม หากบริหารจัดการได้ดี “หนี้” จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเป็นการโยกทรัพยากรจากคนที่มีสภาพคล่องเหลือ (ผู้มีเงินออม) มายังผู้ที่ขาดสภาพคล่อง (ผู้กู้) โดยมีสถาบันการเงินเป็นตัวกลาง
1
หากการก่อหนี้เป็น “หนี้ดี” ที่สร้างผลิตภาพ หรือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เช่น หนี้บ้าน หนี้เพื่อการศึกษา การเป็นหนี้ย่อมตอบโจทย์เศรษฐกิจในภาพใหญ่
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยกลายเป็นข่าวที่ถูกพูดถึงทั้งในและต่างประเทศ เพราะไม่เพียงแต่ระดับหนี้ที่สูงเท่านั้น แต่คุณภาพหนี้ก็ยังมีหลายจุดที่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภคที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต และมีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสีย
ถ้าไม่รีบแก้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” อาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจและสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อดูแลเสถียรภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบชำระเงิน
ยุทธศาสตร์แก้หนี้ของ ธปท. : ครบวงจร ตรงจุด และถูกหลักการ
ที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อย่างการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างแบบปูพรมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนต่างได้รับผลกระทบและเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่อง ต่อมาเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจึงได้ปรับมาตรการช่วยเหลือให้เป็นแบบเฉพาะเจาะจง โดยยึดหลักการ “ครบวงจร ตรงจุด และถูกหลักการ”
2
เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในปี 2566 ธปท. จึงได้จัดทำ “แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงเชิงลึกเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทย ตลอดจนสื่อสารหลักการสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรและยั่งยืนในระยะยาว
ธปท. มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันตามลักษณะหนี้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน แก้ไขผ่านการเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ และกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ รวมถึงการสร้างตัวช่วยให้ลูกหนี้โดยให้มีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อช่วยลูกหนี้รายย่อยที่จ่ายหนี้ไม่ไหวให้ได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง
1
2. หนี้เรื้อรัง แก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ดีที่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ ให้เห็นทางปิดจบหนี้ โดยผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน ที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ต่อเดือนตามที่หลักเกณฑ์กำหนด[1] เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดก่อน
3. หนี้ใหม่ ที่เพิ่มขึ้นเร็วและเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียหรือหนี้เรื้อรังในอนาคต โดยการออกเกณฑ์เพื่อดูแลให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ รวมถึงคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืน เพื่อให้ลูกหนี้ยังมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการดำรงชีพ และสนับสนุนให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (risk-based pricing) รวมถึงส่งเสริมให้สถาบันการเงินนำพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีของลูกหนี้มาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถรีไฟแนนซ์ได้สำเร็จและได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง
4. หนี้ที่ไม่รวมอยู่ในหนี้ครัวเรือน เช่น หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ โดย ธปท. จะผลักดันให้มีระบบติดตามข้อมูลที่ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น ด้วยการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาข้อมูลด้านรายได้และพฤติกรรมการจ่ายเงิน สำหรับใช้ในการประเมินความเสี่ยงและปล่อยสินเชื่อของเจ้าหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบด้วยต้นทุนที่เหมาะกับศักยภาพของแต่ละบุคคลมากขึ้น
[1] ลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท หรือลูกหนี้ non-bank ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท
“เจ้าหนี้รับผิดชอบ” และ “ลูกหนี้มีวินัย” หัวใจของมาตรการแก้ปัญหาหนี้
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือน โดยมีทั้งมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้เดิมทั้งหนี้เสียและหนี้เรื้อรัง และมาตรการเพื่อดูแลการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี 2567
มาตรการ Responsible Lending เป็นการยกระดับความเข้มข้นในการดำเนินการ จากการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ มาเป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในทุกกระบวนการของสินเชื่อ ตั้งแต่การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ การดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้และดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืนในระยะยาว
ก่อนที่จะมาเป็นมาตรการ Responsible Lending เบื้องหลังการทำงานที่สำคัญก็คือ การหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียสำคัญทุกกลุ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และสนับสนุนให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่และศักยภาพของตนเอง โดยหัวใจสำคัญของมาตรการนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน นั่นก็คือ “เจ้าหนี้รับผิดชอบ” และ “ลูกหนี้มีวินัย”
ส่วนที่ 1 “เจ้าหนี้รับผิดชอบ”
1. ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs (ที่ไม่เคยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อน) ซึ่ง “เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย” จะได้รับการเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง เพื่อให้ยังเหลือเงินเพียงพอเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีพและดำเนินธุรกิจ โดยผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการช่วยเหลืออย่างน้อย 1 ครั้ง
สำหรับลูกหนี้ที่ “เป็นหนี้เสีย” ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการช่วยเหลืออีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะไม่ถูกโอนขายหนี้ก่อน 60 วัน นับจากวันที่เสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้
2. ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็นหนี้เสียและ “ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา” จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น โดยจะได้รับการแจ้งเตือนเพื่อกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและร่วมแก้ปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้โดยเร็ว
ลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท และลูกหนี้นอนแบงก์ที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ซึ่ง “ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมใน 5 ปีที่ผ่านมา” สามารถเลือกเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) เพื่อเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี เพื่อให้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างวินัยให้กับลูกหนี้ จึงกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้ให้บริการตั้งค่าเริ่มต้นใน mobile application ให้เป็นการชำระเต็มจำนวน โดยหากลูกหนี้เลือกชำระที่ขั้นต่ำ หรือกำหนดเอง จะต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาในการปิดจบหนี้ที่จะนานขึ้น
1
3. คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
การดูแลสิทธิของลูกหนี้เป็นเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ได้แก่ ไม่ถูกคิดค่าปรับกรณีไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรก
ซึ่งเป็นช่วงที่สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยต่ำ (teaser rate) กับลูกหนี้ ไม่ถูกคิดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งผู้ให้บริการจำเป็นต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และไม่ถูกคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ารายย่อย ซึ่งรวมถึงสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (overdraft)
นอกจากนี้ ลูกหนี้จะได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้อง ครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมวินัยทางการเงินผ่านการให้ข้อมูลของผู้ให้บริการตลอดวงจรหนี้ เช่น การมีคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” และอัตราดอกเบี้ยต่อปีต่ำสุด-สูงสุดในสื่อโฆษณา การแจ้งเตือนเมื่อจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ตลอดจนการแจ้งข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือกในการแก้หนี้
ส่วนที่ 2 “ลูกหนี้มีวินัย”
เพื่อให้การแก้หนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ลูกหนี้จำเป็นต้องปรับตัวและสร้างวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้น (responsible borrowing) เช่น เรียนรู้สิทธิและเงื่อนไขสำคัญของสินเชื่อก่อนกู้ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ชำระหนี้ตรงเวลา และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ให้รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้
ภารกิจแก้หนี้ ต้องมีความร่วมมือ
การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของ ธปท. อยู่บนพื้นฐานของ “การรับฟังมุมมอง ปัญหา และข้อจำกัดจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง” เป็นสำคัญ เพื่อให้การดำเนินมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนเป็นไปอย่างตรงจุด ตลอดจนสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดย ธปท. ได้หารือกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งภาคประชาชน ภาคสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในการแก้หนี้ ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์ Responsible Lending จากกระทรวงการคลัง สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สภาองค์กรของผู้บริโภค และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการแก้หนี้
เป้าหมายสำคัญในการรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะที่หลากหลายของพันธมิตรในการแก้หนี้ของ ธปท. ก็คือ เพื่อรวบรวมความเห็นและนำมาออกแบบหลักเกณฑ์ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล และสามารถนำมาสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอย่างยั่งยืนนั่นเอง
เรื่อง : ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน
เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ วารสารพระสยาม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา