24 มิ.ย. เวลา 10:25 • การเมือง

#อภิปรายงบ68 “พรรคประชาธิปัตย์” ทำหน้าที่ “พรรคฝ่ายค้าน” ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล

ไปปรับปรุงแก้ไข ให้การใช้งบประมาณ เป็นไปอย่างคุ้มค่าสูงสุดแก่ประเทศ
ส.ส. ของพรรคทุกคน อภิปรายครบถ้วน ตรงประเด็น สร้างสรรค์ เรียกร้องผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนทุกคน “สอบผ่าน” ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์
การอภิปรายครั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า #งบประมาณปี68 ที่กำลังเสนอต่อสภานั้น มีจุดบกพร่องส่วนใดบ้าง เมื่อเทียบกับงบประมาณปีที่แล้ว และคิดคำนวณสัดส่วนจากผลงานที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปีนี้
จะเห็นได้ว่า...งบประมาณบางกระทรวงลดลงชัดเจน อีกทั้งมีการใส่งบประมาณของนโยบายดิจิทัลวอลเลต ที่หลายฝ่ายกำลังเป็นกังวล เข้ามาเพิ่มเติมด้วย ในจุดนี้ก็ยังไม่มีอะไรระบุชัดเจน ในกรอบนโยบายเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ ส.ส., นักวิชาการ, นักเศรษฐศาสตร์ และนักกฎหมายหลายท่าน ยังคงเป็นกังวล
.
รัฐบาลควรแก้ไข และจัดสรรงบประมาณใหม่ ปรับงบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด มิใช่จัดสรรงบเพื่อนโยบายใดนโยบายหนึ่งเพียงอย่างเดียว
“พรรคประชาธิปัตย์” จะติดตามต่อ…ในชั้นคณะกรรมาธิการ เพื่อนำงบประมาณประเทศไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ และคุ้มค่า โดยยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เป็นหลักสำคัญ
.
และจะมุ่งมั่นที่ทำงานเพื่อนำพาพรรคด้วยความเป็นเอกภาพ ทำงานให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศต่อไปครับ
.
ผู้แทน “ประชาธิปัตย์”
ผู้แทน “ประชาชน”
.
#ไม่สร้างความขัดแย้ง
#แค่สร้างความชัดเจน
#พร้อมทำทุกหน้าที่ #เต็มที่ทุกบทบาท
#เราพร้อมพูดแทนประชาชน
👉สิ่งเป็นประโยชน์ต่อชาติ เราพร้อมสนับสนุน
👉สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องก็พร้อมค้านอย่างสร้างสรรค์ และให้ข้อเสนอแนะ ไปปรับปรุงแก้ไข
.
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
“จุรินทร์” สับ งบ’ 68 “ขี้หกขี้เหร่” ตั้งฉายา “นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ” เชื่อวาระ 3 อาจส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 โดยได้สะท้อนความน่าเป็นห่วงที่มีต่อสภาพการทางการเมือง เศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจภาคประชาชน และการไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลภายใต้การบริหาร
สำหรับ งบปี 68 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภา ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของรัฐบาลชุดนี้ เรียกได้ว่าเป็นฉบับ “อิเหนาทำเองร้อยเปอร์เซ็นต์” ไม่ได้มีฐานรากมาจากรัฐบาลที่แล้วแต่อย่างใด ซึ่งนายจุรินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ได้มีการใส่ ดิจิทัล วอลเล็ต โดยสารมาด้วยในงบกลาง 152,700 ล้านบาท
ขณะที่งบปี 68 ได้ตั้งเงินรวมไว้ทั้งสิ้น 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่างบปี 67 ถึง 7.8% เมื่อตนไปพลิกดูหลายรอบ ก็พบว่า “ทั้งขี้หกทั้งขี้เหร่” ที่บอกว่าขี้หกเพราะหากได้ติดตามการอภิปรายงบประมาณปี 67 นายกรัฐมนตรีได้ให้สัญญาไว้กลางสภาตอนพิจารณางบวาระหนึ่งว่า ถัดไปจะทำ 4 เพิ่ม 1 ลด เช่น เพิ่มรายได้ให้ประเทศและลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่พอมาเปิดตัวเลขลึกลงไปในรายละเอียด กลายเป็น “ละครคนละซีรี่ส์” เหมือนเห็น “สภาเป็นศาลาโกหก”
และหากดูลึกลงไปยิ่งกว่านั้น รายละเอียดก็ไม่ได้งดงามอย่างที่นายกฯ ได้อภิปรายต่อสภาเมื่อช่วงเช้า แต่กลับพบความขี้เหร่ซุกซ่อนอยู่มากมาย
“ดิจิทัล วอลเล็ต จากนโยบายเรือธง วันนี้กลายเป็นนโยบายเรือเกลือ” สัญญาจะทำทันที แต่ล่วงเลยเวลามามาก ตนต้องทวงถามแทนประชาชนทุกครั้ง เพราะเมื่อพรรคการเมืองไปสัญญากับประชาชนไว้แล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบ
“มีคนนินทาว่า สุดท้ายคงจะไปเอามาจากงบฉุกเฉิน ปี 67 ที่ตั้งไว้ 99,500 ล้านบาท และพบพิรุธ คือเบิกจ่ายงบฉุกเฉินปีนี้ต่ำมากๆ เบิกไปจริงมีคนบอกว่าเพียงแค่หลักพันล้าน แสดงว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ ตั้งใจว่ายอมไม่ใช้งบ ปี 67 ให้เหลือเงินฉุกเฉินเยอะๆ แล้วจะได้เอาไปแปลงเป็นดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อกู้มาแจก
บรรลุเป้าหมายพรรคการเมืองได้ แต่ถ้าทำแบบนี้จริง รัฐบาลนี้ใจดำมาก เพราะพยายามไม่ใช้เงินปี 67 มันจะส่งผลให้ จีดีพี 67 มันโตต่ำเตี้ยหนักเข้าไปอีก เพราะอันนี้คือตัวจีในสมการจีดีพีทางเศรษฐศาสตร์เพียงเพื่อให้เหลือเงินไปสนองพรรคการเมือง”
“ที่ต้องถามเพราะมาถึงวันนี้ บางคนในรัฐบาล เสียงเริ่มแปร่ง และที่ต้องถาม เพราะรู้สึกเป็นห่วงว่าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ถ้ามี จะเปลี่ยนจากนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง ถูกเปลี่ยน พันธุกรรมเป็นนิรโทษกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะอดีตเคยสอนเรามาแล้ว
จากนิรโทษกรรมครึ่งเข่งกลายเป็นนิรโทษกรรมยกเข่ง และสุดท้ายบ้านเมืองเสียหายยับเยิน ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลตอบได้ กรุณาช่วยตอบด้วยจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง” นายจุรินทร์ กล่าว และว่าสุดท้ายตนเชื่อว่าวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ตอนลงมติงบประมาณ วาระ1 ปี 68 ผ่านสภา เพียงแต่วาระ 3 อาจจะต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ
“ยุทธการ” จี้ นายกฯ - รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แจงงบพัฒนากีฬาแต่ละจังหวัด ระบุชัด ไม่จริงใจจัดสรรงบปรับลดไม่มีเพิ่ม
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลชุดนี้ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.4 ล้านล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้ตั้งไว้ 3.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวน 272,000 ล้านบาท ด้านงบกลาง ปี 2567 รัฐบาลได้ตั้งงบกลางไว้ที่ 6.14 แสนล้านบาท มาปีนี้ปี 2568 ร่างงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลชุดนี้ได้ตั้งไว้ที่ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.9 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมกับงบที่ซ่อนไว้อีก 1.5 แสนล้านบาท
ต่อจากปี 2566 การกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้ทุกจังหวัดเลย ปีนั้นงบประมาณเป็น 0 บาท สุดท้ายผู้บริหารกีฬาหลายจังหวัดเรียกร้องให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ของบประมาณเป็นงบกลางจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมานายกฯ ได้อนุมัติงบประมาณให้กับ 77 จังหวัดจำนวน 40 ล้านบาท
ยังไม่จบแค่นั้น มาเป็นงบประมาณในปี 2567 ขณะนี้ทราบว่างบประมาณได้ตัดลดลงเหลือเพียง 30 ล้านบาทลดลงจากปีงบประมาณ 2565 30 ล้านบาท ลดมาครึ่งต่อครึ่ง เมื่อนำมาหารงบประมาณ 30 ล้านบาทให้กับ 77 จังหวัดจัดสรรให้ตามตัวชี้วัดหรือผลประเมินของ กกท.เห็นแล้วน่าใจหายงบประมาณน้อยนิด
ถ้าหากว่าได้รับงบประมาณเท่านี้ และให้ทุกจังหวัดพัฒนากีฬาไม่รู้จะพัฒนาไปได้อย่างไร รัฐบาลไม่ได้เติมเต็มงบประมาณให้กับจังหวัด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ลดงบประมาณของทุกจังหวัดลงไปอีก จะไม่ให้คิดได้ไงว่านายกรัฐมนตรี และ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ไม่จริงใจหรือไม่สนใจต่อการพัฒนากีฬาชาติอย่างแท้จริง
“ประมวล” เรียกร้องรัฐบาล ทบทวนงบ ก.คมนาคม หนุนสร้างถนนสายรอง - มอเตอร์เวย์เชื่อม 14 จังหวัดภาคใต้ แนะจับตา ดิจิทัลวอลเล็ต เพชฌฆาต! เอสเอ็มอีไทย
อภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่เกี่ยวกับงบประมาณกระทรวงคมนาคม ในโครงการโลจิสติกส์ จำนวน 133,317 ล้านบาท ว่า ทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วยระบบราง น้ำ อากาศ ถนน ที่ผ่านมา สส. ภาคใต้ลงชื่อส่งเรื่องถึง กมธ. คมนาคม ถึง รมว. กระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้สนับสนุนการสร้างถนนสายรอง เพชรเกษม สาย 4 และมอเตอร์เวย์เชื่อม 14 จังหวัดภาคใต้
ในฐานะที่ ตนเป็น สส. ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เชื่อมกับเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถือว่าเป็นต้นทางปากขวด ก่อนที่จะขยายไปสู่จังหวัดชุมพร มีความยาว 300 กว่า กม. ไม่มีถนนสายรอง ทำให้เกิดความกังวลว่า หากเกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้น จะทำให้ไม่มีเส้นทางหลีกเลี่ยง จึงฝากให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ได้ตั้งงบประมาณ แผนงาน เพื่อสร้างถนนเส้นดังกล่าว
ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์ ระหว่างชะอำ เพชรบุรี ไปจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นช่วงคอขวด ตนมองว่ายังมีรายละเอียดในแผนงานน้อยเกินไป ขณะที่ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นนครปฐม ปากท่อ (M8) ความยาว 68 กม. ก็ไม่พบในแผนงานของงบประมาณ ปี 68 จึงอยากฝากให้กรมทางหลวง นำแผนงานเสนอเข้า ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติการก่อสร้าง
ปัญหาเกษตรด้วยว่า ขณะนี้ภัยแล้งส่งผลกระทบกับเกษตรกรเพราะกรมชลประทานไม่สามารถเชื่อมโครงข่ายให้น้ำไปถึงพื้นที่ได้ ผู้ที่จะดำเนินการได้เร็วที่สุดคือกรมน้ำบาดาล ดังนั้นกรมน้ำบาดาลต้องเร่งเข้าไปแก้ไขให้เกษตรกรทั่วประเทศ และกรมทรัพยากรน้ำก็ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในเขตพื้นที่ด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดขอให้เพิ่มงบประมาณให้กรมฝนหลวง และควรจะซื้อเครื่องบินเพิ่มเพื่อขึ้นทำฝนหลวง เพราะที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ ดังนั้นรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับกรมฝนหลวงเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เจอภาวะแห้งแล้งได้
ส่วนเรื่องราคาสินค้าเกษตรกร ทั้งปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ใส่ใจเกษตรกร และขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณสนับสนุนให้กับกรมต่างๆ ที่เข้าไปดูแลเกษตรกร เพราะความสุขเกษตรกรอยู่ที่ ความใส่ใจของหน่วยงานราชการ การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ และกระทรวงต่างๆ
นอกจากนี้ ยังกังวลต่อนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาลจะมีการอนุญาตให้สามารถซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Lazada Shopee ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ อาจทำให้เอสเอ็มอีไทยสู้ไม่ไหว รัฐบาลควรศึกษาเรื่องนี้ให้ดี เพราะหากเป็นความจริงกระทบกับเอสเอ็มอีไทยแน่นอน
“ราชิต” ไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบ’ 68 เหตุจัดสรรงบประมาณไม่ตรงจุด ไม่จริงใจแก้ปัญหายาเสพติด แนะ ควรเพิ่มงบช่วยบำบัดผู้เสพติด 50% เพื่อลดภาระครอบครัวผู้เสพยา
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบประมาณที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 7.8% ในเรื่องยาเสพติดเช่นเดียวกันเพิ่มขึ้นจากคราวที่แล้ว 19% จาก 4,243 ล้านบาท เป็น 5,087 ล้านบาท
การตั้งงบประมาณอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จึงเป็นการแก้ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงเท่านั้น ถ้าเป้าหมายไม่ได้กระทบต่อการพัฒนาประเทศ เหมือนจะไม่ให้ความสำคัญการทำงาน ต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน 28 ส่วนราชการประกอบด้วย 8 กระทรวง 26 หน่วยงาน โดยมีสำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพหลักเพื่อเป็นการเชื่อมโยงภารกิจการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน
การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีกระบวนการสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. การป้องกัน 2. การปราบปราม และ 3. การบำบัด ซึ่งในปีงบประมาณ 67 - 68 งบประมาณเพิ่มขึ้นก็จริง แต่งบประมาณในการป้องกันลดลงจาก 35% เหลือ 32% งบปราบปรามเท่าเดิม งบประมาณรักษาเท่าเดิม งบประมาณเพิ่มเป็นเล็กน้อย การแก้ปัญหาไม่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการป้องกันควรจะเพิ่มงบประมาณ ไม่ใช่ลดงบประมาณ เพิ่มให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ ในการป้องกัน
รัฐบาลควรรีบแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ตามที่นายกฯ เคยแถลงไว้ว่า จะแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติและมีเป้าหมายเสร็จภายใน 1 ปี อีก 3 เดือน ก็จะครบ 1 ปีแล้ว ยังไม่มีอะไรเลย
หากมีผู้เสพยาเสพติดมากเท่าไร ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมนุษยชาติ การล่มสลายของสถาบันครอบครัว ชุมชน สังคม ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และความมั่นคงของประเทศระยะยาว
“กาญจน์” ชี้ชัดรัฐบาล จัดทำงบ’ 68 ไม่เหมาะสม ไม่จริงใจ ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา ทั้งเรื่องเด็กและผู้สูงอายุ
เรื่องของคนในชาติที่อ่อนแอ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ จากปัญหายาเสพติด ที่ระบาดอยู่ทุกหย่อมหญ้าในทุกพื้นที่ของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนว่า งบประมาณที่ได้มาจากการเก็บภาษีของประชาชน รวมถึงรายได้จากแหล่งอื่น ๆ ไม่ได้ถูกใช้ไปในการแก้ปัญหา หรือลงทุนในโครงสร้างหลัก ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์เหมือนที่เคยประกาศไว้ใช่หรือไม่
มีคำกล่าวว่า ประเทศจะพัฒนา ชาวประชาจะเป็นสุขได้ จะต้องดูที่รัฐสวัสดิการ จึงเป็นที่มาที่ตนจะอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
งบประมาณที่ได้จากการจัดสรรของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในปี 2568 อยู่ที่ 26,000 กว่าล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณปี 2567 ที่ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 25,000 กว่าล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจริงเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,500 กว่าล้านบาท แต่ในความเป็นจริงแล้ว งบประมาณนี้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในเชิงนโยบาย หรือพูดง่าย ๆ คือ งบไปไม่ถึงชาวบ้าน
เมื่อปีงบประมาณ 2567 ตนก็ลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ เพราะปี 67 ตกหล่นอยู่ที่ 2 ล้านราย ปีนี้เหลือ 1.5 ล้านราย แต่ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจเลย เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่า ถ้วนหน้า ถ้าถ้วนหน้าจริง ตัวเลข 1.5 ล้านต้องเป็น 0 ต้องไม่มีเด็กตกหล่น แล้วอย่างนี้เด็กเกิดใหม่ พ่อแม่ที่ไหนจะมั่นใจว่า ลูกของเขาที่เกิดมาจะอยู่ในฝ่าย 1.5 ล้าน ที่ตกหล่นหรือไม่
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เคยเงิน 600, 700, 800 บาท ไม่เคยได้ปรับขึ้นมาเป็นเวลา 13 ปีแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการสวัสดิการสภาผู้แทนราษฎร เคยเสนอรายงานฉบับนี้ต่อสภาแห่งนี้ และมีเพื่อนสมาชิกทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วยและสนับสนุนกับร่างรายงานของคณะกรรมาธิการ ไม่มีใครค้านสักคน
เพราะว่าในร่างรายงานฉบับนั้น เป็นการเสนอหาแนวทางในการปรับขึ้นจาก 600 บาทเป็น 1,200 บาท แบบถ้วนหน้า ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาแถลงข่าวดีว่าโอกาสที่จะปรับเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาท
เห็นใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพราะงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในกรมกิจการผู้สูงอายุของปีนี้ อยู่ที่ 1,400 กว่าล้านบาท ซึ่งมากกว่าเดิมจากงบประมาณปี 2567 ที่ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 1,100 กว่าล้านบาท แต่จริง ๆ แล้วเนื้อในหรือรายละเอียดสาระสำคัญไม่ได้ถูกใช้ไปกับการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท ตามที่รัฐมนตรีได้แถลงข่าวออกไป
ยังไม่นับถึงเบี้ยฌาปนกิจที่มีปัญหาอยู่ทุกจังหวัด มีปัญหาอยู่ทุกพื้นที่ ส่วนตัวมีความสงสัยจริง ๆ ว่าทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถึงทำไม่ได้อย่างที่แถลงข่าวออกไป เรื่องของเงินผู้สูงอายุ ตนมีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร เพราะยังไม่ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องอย่างจริงใจ
“พิทักษ์เดช” ไม่เห็นด้วย งบ’68 รับไม่ได้ รัฐไม่เหลียวแลปัญหายาเสพติด “เศรษฐกิจก็เสดสา พัฒนาก็ค้างคาใจ ยาเสพติดก็ติดกันไป สบายใจรัฐบาลเศรษฐี”
หากย้อนไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 นายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ซึ่งระบุว่ารัฐบาลจะดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการเปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษา บำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพให้กลับสู่สังคมไทย
โดยใช้มาตรการปราบปรามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดและดึงประชาชนออกมาจากวงจรการค้าอย่างถาวร แต่เมื่อมาดูงบประมาณ 2568 ในส่วนแผนงานบูรณาการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้รับจัดสรรงบประมาณไป 5 พันกว่าล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2567 แต่ยังถือว่าน้อยอยู่ ราวกับว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อพี่น้องประชาชน ทั้งๆ ที่แถลงนโยบายว่าจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เรียกได้ว่า “คุณสมบัติของยา ไม่ตรงกับฉลาก”
ในสังคมวันนี้ไม่ว่าจะในเมือง หรือชนบท มีผู้ป่วยยาเสพติดมาก ที่ผ่านมามีนัยยะความหมายว่า คนเสพตาย คนขายติดคุก แต่วันนี้กว่าคนเสพจะตาย ก็ได้ทำร้ายคนอื่น ส่วนคนขายติดคุกนั้น ก็ต้องจับให้ได้ก่อน
สิ่งสำคัญเหล่านี้ เมื่อผู้ป่วยยาเสพติดเพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดและนำมาแก้ไข โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผน การบริหารจัดการผู้เสพที่เข้าสู่กระบวนการการรักษาให้มากกว่านี้ เชื่อมต่อเครือข่าย เป็นศูนย์กลางติดตามช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลับมาใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม และมีอาชีพ มีความสุข
“วันนี้รัฐบาลไม่มีหน่วยงานกลาง ไม่ได้บูรณาการแผนในการจัดการรักษาผู้ป่วยยาเสพติด กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปส. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จับผู้ป่วยไปแต่ไม่รู้จะเอาไปไหน เมื่อผู้ป่วยกระทำละเมิดต่อพี่น้องประชาชน ทำร้ายร่างกายครอบครัว ทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต แต่รัฐบาลยังนั่งดูดาย นายกฯ ที่ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน วันนี้ทำแล้วเป็นหน้าเป็นตาที่สุดคือ เวลานักข่าวถามแล้วท่านจะทำคิ้วขมวด และปากจู๋ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท่านทำอยู่เป็นประจำ แล้วเป็นหน้าเป็นตาอยู่ในสื่อโซเชียลมากมาย”
“วันนี้สงสาร สงสารกรมการปกครอง สงสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สงสารเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สารวัตร แพทย์ผู้ช่วย เวลามีผู้ป่วยขึ้นในชุมชนจะต้องไปจับเพื่อรักษา แต่ไม่รู้จะพาไปไหน อุปกรณ์ที่ไปจับ ไทยเรามีแต่ไม้ง่าม เหมือนไม้แขวนเสื้อไว้เกี่ยวคอ รัฐบาลไม่คิดจะสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ให้หน่วยงานที่ดูแลยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ ล้วนล้าหลังเสื่อมถอยทั้งหมด”
พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ตนในฐานะผู้แทนราษฎร เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้ก็รับไม่ได้ จึงมีข้อเสนอที่อยากให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี เพิ่มจัดการบริหารด้านยาเสพติด ตนจึงไม่เห็นด้วยกับร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 “เศรษฐกิจก็เสดสา พัฒนาก็ค้างคาใจ ยาเสพติดก็ติดกันไป สบายใจรัฐบาลเศรษฐี”
“สุพัชรี” วอนนายกฯ จัดการงบ’ 68 ให้สอดคล้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชน
รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 3.752 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล การตั้งงบประมาณในครั้งนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 7.8% ถ้ามองดูทั่วไปแล้ว อาจจะดูดีสวยหรูได้งบเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเรามองเจาะลึกลงไปในตรงงบประมาณ มันจะเป็นงบประมาณที่หลอกตาประชาชน
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ถ้าเราดูทั้งสิ้น คือ เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำถึง 72% รายจ่ายเพื่อการลงทุนเพียงแค่ 24% เท่านั้น และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 4% ซึ่งรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้นั้นใกล้เคียงกับงบประมาณรายจ่ายประจำ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเอามาเป็นรายจ่าย เพื่อการลงทุนและกู้เงิน เพื่อมาชดเชยการขาดดุลดังกล่าว เพื่อที่จะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้
รัฐบาลพยายามที่จะบริหารจัดการทางการเงิน โดยการลดอัตราดอกเบี้ยผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตนยังคงกังวลอยู่ว่า อาจจะทำให้มีผลต่อภาระหนี้สินครัวเรือน ที่อาจจะมีอัตราที่สูงมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในขณะนี้อัตราหนี้สินครัวเรือนของพี่น้องประชาชนถึง 91.3% ต่อ GDP อีกทั้งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล
ซึ่งวันนี้เรายังเห็นแล้วว่า ยังไม่เป็นผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควรและตอนนี้ธุรกิจ SME ถ้าเราเห็นติดตามข่าวอยู่ ก็จะมีการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำมาก และบางบริษัทปิดเปิดมาหลายปีแล้วตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้ ต้องมีการปิดตัวไปทำให้พนักงานแล้วก็ลูกจ้างต่าง ๆ นับ 1,000 คนไม่สามารถที่จะมีรายได้ขึ้นมาได้นี่คือปัญหาที่ใหญ่หลวงของรัฐบาลชุดนี้ที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหา
จะเห็นได้ว่าการบริหารงบประมาณของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สอดคล้องกับการแถลงนโยบาย ในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหายาเสพติด นายกฯ ต้องจัดงบประมาณแบบบูรณาการให้หน่วยงานต่างๆทำงานให้สอดคล้องกันตามยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมโยงไม่ใช่ต่างคนต่างทำหรือท่านเป็นแค่มิสเตอร์ Marketing หรือเป็นผู้นำที่อยู่ภายใต้ท่านใดท่านหนึ่งเท่านั่น
“วุฒิพงษ์” วอนนายกใช้งบกลาง ให้เป็นประโยชน์กับทุกคนทุกฝ่าย และเร่งบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อุบลและลุ่มน้ำโขงชีมูล
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 256 ทางรัฐบาลได้ตั้งไว้ถึง 3.75 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7.8% จากข้อมูลของการรายงานของรัฐบาล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นงบแบบขาดดุลจะต้องกู้ชดเชยการขาดทุนงบประมาณเป็นวงเงินสูงถึง 865,700 ล้านบาท การกู้ลงมาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ขอให้ลงทุน เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ไฟฟ้า ปากท้อง น้ำมัน พลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของพี่น้องประชาชน
ปีที่แล้วตนได้เสนอรัฐบาลให้ทำให้ตั้ง พระราชบัญญัติอากาศสะอาด ให้เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 67 ได้งบ 30,190 ล้านบาท ปี 68 ได้เพิ่มขึ้น 35,284 ล้านบาท ได้ยอดวงเงินเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วสูงถึง 2,094 ล้านบาท เพราะฉะนั้นยอดส่วนที่เพิ่มขึ้น 2,000 กว่าล้านนั้น ตนจึงอยากตั้งข้อสังเกตว่าอยากให้มุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหาของ PM 2.5 โดยกรมควบคุมมลพิษ
ทุกวันนี้ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนทุกหน่วยงาน ที่ช่วยบริหารจัดการเรื่องของ PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ จิตอาสารวมถึงพี่น้องประชาชน ส่วนตัวที่เป็นกังวลก็คือค่าดัชนี AQI ซึ่งของประเทศไทยต่ำกว่าค่ามาตรฐาน คือตั้งค่ามาตรฐานไว้ที่ 50 AQI แต่ของประเทศไทยเรานี้สูงกว่าค่ามาตรฐาน 100 ขึ้น 100 ขึ้นเกือบทุกพื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพตามมามันกระทบประชาชน
แนะนำ 3 ประเด็นเพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการงบประมาณ ในเรื่องของคาร์บอนเครดิตและสภาวะโลกร้อนสภาวะเรือนกระจก
1. รัฐบาลต้องส่งเสริมสนับสนุนประชาชนทั่วไปในการใช้พลังงานสะอาดลดพลังงานสกปรกโลกร้อน
.
2. ลดขั้นตอนความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปของประชาชนทั่วไปในการเข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิตนะ
.
3. ภาษีคาร์บอนกับโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่อากาศภายนอก เก็บภาษีเปลี่ยนแบบอัตราก้าวหน้า ใช้ไปเยอะเก็บเยอะ ปล่อยคาร์บอนเครดิตเยอะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ เก็บเยอะ
และนายกรัฐมนตรี รับปากกับพี่น้องประชาชน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับปากกับพี่น้องประชาชน ชาวอุบลราชธานีเอาไว้ ซึ่งงบกลางที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน 805,000 ล้านบาท งบกลางจะเป็นงบชดเชยเยียวยาใช้จำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน และเป็นสวัสดิการต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ปัญหาเดียวที่พี่น้องอุบลราชธานี และพี่น้องประชาชนคนไทย 25 ลุ่มน้ำ ประสบพบเจอ และเป็นปัญหามากที่สุด คือ ในเรื่องของภัยพิบัติน้ำท่วมไม่แตกต่างกัน
“ชัยชนะ” ชี้ จัดงบ’ 68 แบบขาดดุลต่อเนื่อง หวั่นมีปัญหาวินัยการคลังระยะยาว พร้อมมองงบอุดหนุนท้องถิ่นไม่เหมาะ แนะ นายกฯ ปรับสูตร ส่วนกลาง 60% ท้องถิ่น 40%
รัฐบาลจัดงบประมาณปี 2568 เหมือนเป็นนักวิ่งราวทรัพย์ เพราะกู้เงินวงเงินสูงเพื่อมาแจกประชาชน และบอกว่าเป็นผลงานของตัวเอง ทั้งนี้กู้แล้วแตกให้ประชาชนถือว่ามีจิตสำนึก หากกู้แล้วเก็บไว้เอง เท่ากับปล้นทรัพย์ อย่างไรก็ดีกรณีที่รัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุล โดยเฉพาะ ปี68 ตั้งงบขาดดุลสูงสุดรอบ 36 ปี นอกจากนั้นพบว่ามีการตั้งบเพื่อชดเชยสูงถึง 4.5%ของจีดีพี จากเกณฑ์ที่ไม่เกิน 3% ของจีดีพี ขณะที่ปีที่แล้วพบยอดตั้งงบชดเชยอยู่ที่ 4.3% เมื่อรวม 2 ปีรวมกัน ตนมองว่าจะผลกระทบต่อวินัยการคลังระยะยาว
“การตั้งงบที่ขาดดุล และกู้ชดเชยต้องพิจารณาไม่สูงเกิน 3% ของจีดีพี และงบตั้งงบหนี้ภาครัฐ 4 แสนล้านบาท เงินต้น 1.5 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 2.5แสนล้านบาท ดอกเบี้ยหนี้สาธารณะอยู่ระดับ 9% ทั้งนี้มีข้อกำหนดไม่เกิน 10% ทั้งนี้หนี้สาธารณะสูงสุดในรอบ 9 ปี 67.9% สูงกว่าค่ากลาง 7.9% ดังนั้นสัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้สูงขึ้นทุกปี
เงินที่ได้มีภาระจ่ายดอกเบี้ย เครดิตความเชื่อถือของประเทศลดลง ทั้งนี้นายกฯ เป็นนักบริหารบริษัท แต่มาบริหารประเทศเกือบ 1 ปี ทำประเทศเข้าสู่วิกฤตและเกือบเจ๊ง ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนและตั้งการ์ดให้ดี เชื่อว่า ครม. มีคนเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ มีคณะทำงาน ดังนั้นควรเลือกใช้คนที่เหมาะกับงาน”
การจัดงบประมาณให้กับท้องถิ่น ด้วยว่า ปี 68 จัดสรรให้จำนวน 8.39แสนล้านบาท ทั้งนี้ในรายละเอียดพบว่า ส่วนของ อบจ. 76 แห่ง มีประชากร 60 ล้านคน ได้รับงบ 2.9หมื่นล้านบาท ขณะที่กทม. ได้รับจัดสรร 2.8หมื่นล้านบาท มีคน 5 ล้านคน ทั้งที่งบท้องถิ่นคาดหวังว่าจะได้รับจัดสรรเต็ม 35% แต่ได้เพียง 29% ดังนั้นขอให้นายกฯคนที่ไหว้สวยที่สุดในประเทศ นำงบกลาง 1.7 แสนล้านบาท จัดสรรให้กับท้องถิ่นเพิ่มได้หรือไม่ หากให้ได้ท้องถิ่นมีงบ 35% เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ดูแลราษฎรในพื้นที่ดีกว่านี้
“สิ่งที่น่าช้ำใจกับคนท้องถิ่น และ อบจ. คือ งบปี 2567 ได้รับถ่ายโอน รพ.สต. 4276 แห่ง 62 อบจ.รับแล้ว ทั้งนี้มีสัดส่วนเงินอุดหนุน เพียง ขนาดเล็ก 4แสน ขนาดกลาง 6 แสนบาท ขนาดใหญ่ 1 ล้านบาท จากเดิมที่ระบุว่าจะให้งบประมาณมากกว่าจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้การบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ ขอให้นำสูตรการจัดสรรงบประมาณ ส่วนท้องถิ่นของผมไปใช้จากเดิมที่แบ่งส่วนให้ท้องถิ่น 29.1% ส่วนกลาง 70.9% ขอให้เปลี่ยนแปลงสูตร ให้ท้องถิ่น 40%% ส่วนกลาง 60% เพื่อให้คนท้องถิ่นรักนายกฯ”
“สุรินทร์” แนะ แก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กรตำรวจ ต้องเปลี่ยน ตร.เป็นกระทรวง
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ประมาณ 7 พันกว่าล้านบาทนั้น ขณะนี้เกิดความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความจริงเกิดจากโครงสร้าง ที่มีตำรวจสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว คือ ผบ.ตร. เหมือนยอดพีระมิด
เมื่อครั้งที่มีการแถลงนโยบายของรัฐบาลครั้งนั้น ตนนำเรียนนายกรัฐมนตรีว่า เอา พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์
เตมียเวส มาดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะได้ดูในเรื่องการทุจริตต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผลจนเกิดเหตุขึ้นมามากมาย
ปัญหามันเกิดจากโครงสร้าง ควรเปลี่ยนระบบราชการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นกระทรวงตำรวจ เป็นกระทรวง เหมือนกับกระทรวงกลาโหม ที่มีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจก็ตามกรม กรมสอบสวนพิเศษ กรมปราบปรามฯ กรมนครบาลกรมภูธร กรม ตชด. ฯลฯ เพื่อไม่ให้เกิดการย้ายข้ามหน่วย
ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องของน้ำมันเถื่อน ส่วยทางหลวง กำนันนก ฯลฯ เกิดขึ้นหนักที่สุด ในช่วงหลังจากมีการรัฐประหาร คำสั่งคณะปฏิวัติ เปิดช่องว่างให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แต่งตั้งระดับบุคลากรตั้งแต่ พลตำรวจ จนถึง พลตำรวจเอก ในช่วงนั้นกระแสนั่นในวงการตำรวจ พูดว่า ต้องมีการจ่ายเงินจ่ายทอง
ขอวิงวอน นายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาช่วยกันแก้ไขวิกฤตตำรวจนี้ ในการยกสถานะตำรวจ จัดแบ่งส่วนราชการเสียใหม่ ให้เป็นกระทรวงตำรวจ เหมือนกระทรวงมหาดไทย จะไม่มีปัญหา
่“ทรงศักดิ์” แนะ รบ. จัดงบฯ กำจัดขยะให้ครอบคลุมทั้งประเทศและเป็นธรรมกับทุกจังหวัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
การบริหารจัดการขยะ เราจะโยนภาระไปให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ การทำงานต้องเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อที่จะให้เกิดประสิทธิภาพ สถิติปี 2566 ประเทศไทย มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตันต่อวัน กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
ซึ่งมีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเทียบกับสัดส่วนประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 1.12 กิโลกรัม ต่อคน ต่อวัน เป็นการบ่งบอกว่าตัวเลขที่สูงขึ้นเป็นภาระเป็นความท้าทายของภาครัฐ ที่จะต้องดำเนินการร่วมกันแก้ไขด้วยกัน แน่นอนว่าขยะเหล่านี้อาจจะเกิดจากภาคประชาชน ภาคเอกชน หรือเจ้าของกิจการต่าง ๆ
ปี 2568 จะเห็นได้ว่าภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี่ที่ประสงค์จะเพิ่มศักยภาพด้านจัดการขยะการยกระดับสถานที่ในการจัดการขยะด้วยเงินอุดหนุนจากยอดเงิน 567,219,100 บาทเขาสามารถที่จะวางระบบดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพกับการจัดการขยะให้มากกว่าเดิมหากแต่ต้องเราต้องลองเปรียบเทียบจำนวนขยะและปัญหาวันนี้นี่จำนวนขยะมีปัญหามีจำนวนปริมาณที่มากแต่งบประมาณที่เราได้มามีอยู่ขีดจำกัด
โดยเฉพาะการที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเองตนว่าสถานที่รวมถึงจำนวนเงินอาจจะไม่สอดคล้องกันปัจจุบันนี้สถานที่ที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินการอยู่ในประเทศของเรามีอยู่ทั้งสิ้น 2,079 แห่ง
เป็นสถานที่ที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2000 แห่ง แบ่งออกเป็นสถานที่ที่กำจัดขยะอย่างถูกต้องมีเพียง 82 แห่งและไม่ถูกต้องมีถึง 1919 แห่งทั้งยังมีการดำเนินการโดยภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบให้เอกชนดำเนินการอีก 78 แห่งแล้วก็ดำเนินการถูกต้องเพียง 32 แห่งและไม่ถูกต้องอีก 46 แห่ง
การพัฒนาและเสริมสร้างระบบการจัดการขยะจำเป็นที่จะต้องนำงบไปเน้นที่การสร้างระบบการจัดการขยะที่ถูกต้องโดยคำนึงว่าการจัดการขยะนี้จะช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลงจริงและช่วยให้ขยะเหล่านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
นอกจากประเด็นเรื่องระบบการดำเนินการประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนงบประมาณแล้วนะยังมีในเรื่องของการกระจาย งบประมาณให้ในการพัฒนาก่อสร้างระบบการจัดการขยะให้แต่ละท้องถิ่นที่กระจุกอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้นตนคิดว่านี่คงเป็นประเด็นสำคัญวัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบประมาณในการจัดการขยะในระดับจังหวัดไม่ควรจะจัดสรรเน้นไปบางจังหวัดเพียงเท่านั้นควรจัดสรรให้เสริมสร้างและพัฒนาระบบการจัดการขยะในทุกๆจังหวัดเช่นกันมิเช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในสังคมของเรา
ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตงบประมาณปี 68 รัฐบาลควรมีการจัดสรรงบโดยเน้นระบบการจัดการขยะที่มีความถูกต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกระจายให้กับหน่วยงานท้องถิ่นมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
่“ร่มธรรม” ชวน ปชช. ร่วมจารึกประวัติศาสตร์ “รัฐบาลเสดสา ทวีหนี้สิน” งบ’ 68 เป็นงบแห่งการกู้ ในรัฐบาลแห่งการก่อหนี้
วาระของในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นวาระที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเงินงบประมาณเหล่านี้มาจากภาษีของพี่น้องประชาชน ดังนั้นจึงต้องใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบว่ารัฐบาลจะนำเงินของพี่น้องประชาชนไปทำอะไร นอกจากนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปียังเป็นเครื่องสะท้อนว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศอย่างไร จะนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติโดยวิธีใด และที่สำคัญรัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้หรือไม่
“เราคาดหวัง แม้จะรู้ว่าไม่มีหวังว่าการจัดทำงบประมาณปีนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชน และตอบสนองความท้าทายของประเทศ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ค่าของชีพสูงขึ้น น้ำมัน ค่าไฟ
ราคาสินค้าทางการเกษตรผันผวน อีกทั้งมีปัญหาความเป็นอยู่คุณภาพชีวิต มิจฉาชีพระบาด ยาบ้าเต็มเมือง คุณภาพการศึกษาตกต่ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งมลพิษทางอากาศ สารเคมี ภัยแล้ง ไปจนถึงภาวะโลกร้อน สิ่งที่ปรากฏก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะเป็นงบประมาณที่ตั้งหน้าตั้งตากู้เงินมาแจก สร้างหนี้ให้กับประเทศ แต่กลับเมินเฉยต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและความท้าทายของประเทศ”
“ผมไม่อยากจะเชื่อว่า นี่เป็นฝีมือของผู้บริหารธุรกิจ ท่านจะบอกว่าจะก่อพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ก่อสึนามิการลงทุนบ้างแต่เท่าที่ดู ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้คือการก่อมรสุมเงินกู้ ที่จะโปรยหนี้ให้ท่วมกันทั่วหน้ามากกว่า เพราะหนี้เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับ ที่ต้องมาจ่ายภาษี จ่ายเงินกู้ทั้งเงินต้นและเงินดอก
บางคนก็แซวว่าโครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือจะกระตุ้นยอดขายให้กับบริษัทกันแน่ ซึ่งนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต จากนโยบายเรือธงวันนี้ได้กลายเป็นนโยบายเรือเกลือ เหมือนที่ท่าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้กล่าวไป และผมคิดว่าในสุดท้ายก็จะกลายเป็นนโยบายเรือล่มในที่สุด”
พร้อมกับแนะรัฐบาลว่า จะต้องคำนึงถึงการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนที่มีความยั่งยืนในทุกมิติมากกว่านี้ เราต้องพัฒนาเรื่องพื้นฐานให้มาก ทั้งเรื่องการพัฒนาคน การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจฐานรากที่เท่าเทียมให้กับประชาชน โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กรายย่อย และการลงทุนกับสิ่งใหม่ๆ ธุรกิจสีเขียว ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่คิดว่าเอาเงินในอนาคตมาแจกแล้วตกให้เป็นภาระของประชาชนและภาระรัฐบาลต่อไป
“เราในฐานะตัวแทนของประชาชนสามารถหยุดยั้งงบประมาณที่สร้างหนี้ก้อนโต แต่ประชาชนต้องตายผ่อนส่งฉบับนี้ได้ ผมจึงขอให้เราได้ร่วมกันลงมติในวันนี้อย่างรอบคอบและนึกถึงเจ้าของเงินงบประมาณที่แท้จริง นั่นก็คือประชาชนทุกคน และหากร่างงบประมาณฉบับนี้ผ่านในวาระรับหลักการ เราจะจดจำและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยว่างบประมาณปี 68 คืองบประมาณแห่งการกู้ และรัฐบาลนี้คือรัฐบาลแห่งการก่อหนี้ “รัฐบาลเสดสา ทวีหนี้สิน”
โฆษณา