25 มิ.ย. 2024 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

คลุมผ้ากันแดดให้ธารน้ำแข็ง ไอเดียสู้ปัญหาโลกเดือดของชาวสวิสฯ ข้อดีและข้อเสีย

สถิติวันนี้บ่งชี้ชัดว่าธารน้ำแข็งหลายแห่งทั่วโลกกำลังละลายลงอย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าจะขั้วโลกเหนือหรือใต้ บนภูเขาสูงในยุโรป แอฟริกา หรือเอเชีย ต่างมีชะตากรรมอยู่รอดไม่พ้นสิ้นศตวรรษนี้อย่างแน่นอน - หากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงสถานะเช่นกาลปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน แม้ว่าในบางพื้นที่น้ำแข็งยังไม่อันตธารหายสิ้นเสียทีเดียว แต่เท่าที่เหลืออยู่ก็บรรลัยในระดับทำให้ชีวิตผู้คนเริ่มอยู่ไม่เป็นสุขกันบ้างแล้ว
จนบางหนบางแห่งประชาชนเริ่มอดรนทนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง
หนึ่งในหตุการณ์ที่น่าสนใจ เกิดขึ้นกับชาวบ้านร้านตลาดที่อาศัยและทำธุรกิจสกีและรีสอร์ตอยู่บนเทือกเขาแอลป์ ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์
พวกเขาลงมือแก้ไขปัญหาโลกเดือด-น้ำแข็งละลายด้วยตัวเองกันแบบง่ายๆ ด้วยการเอาผ้ามาห่มให้ธารน้ำแข็ง
หวังกันแดดกันลม กันอุณหภูมิที่ผิดเพี้ยน ช่วยยืดอายุธารน้ำแข็งไม่ให้ละลายไปไวกว่าที่เป็นอยู่
ไม่ต้องคิดเยอะ รอตกผลึกให้ลึกซึ้งหรือต้องคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ แต่อย่างใด ใช้แค่ผ้าขาวนี่ล่ะ ห่มคลุมธารน้ำแข็งเอาไว้ ง่ายๆ แบบนั้นเลย
และพวกเขาก็ลงมือทำอย่างนี้กันมาตั้งแต่ปี 2009 โน้นแล้วด้วย
เหตุที่ผู้คนแถบนั้นเร่งรีบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง เป็นเพราะธุรกิตสกีและรีสอร์ตนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาการมีอยู่ของธารน้ำแข็งอย่างเลี่ยงไม่ได้
เมื่อน้ำแข็งลดลงเร็ว นั่นหมายถึงฤดูกาลท่องเที่ยวต้องปิดไวกว่าปกติ นำไปสู่รายได้ที่ลดลง
สถานการณ์เฉพาะหน้าบีบบังคับแล้ว มัวแต่เราประชาคมโลกคงไม่ไหว
ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการเอาผ้ามาคุลม หลังจากการทำต่อเนื่องมาหลายปี ได้ให้ผลลัพธ์เชิงสถิติเป็นที่น่าพอใจ
โดยวิธีการดังกล่าวสามารถลดการละลายของน้ำแข็งลงได้ 59 เปอร์เซ็นต์ และยืดอายุช่วงเวลาฤดูท่องเที่ยวออกไปได้อีกหน่อย ไม่ได้หดสั้นลงอย่างที่เคยทำนายกันไว้
หากอ้างอิงตามทฤษฎี สีขาวของผ้าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปมากกว่าดูดซับไว้ ส่วนผ้าที่คลุมก็เป็นผ้าจำพวกเส้นใยสังเคราะห์ที่ประกอบด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์และโพรพิลีน
อย่างไรก็ตาม ถึงวิธีนี้จะได้ผล แต่ทุกเรื่องราวย่อมมีสองด้าน และผลที่ตามมา ก็ค่อนข้างจะน่ากังวลทีเดียว
เรื่องแรก คือราคาที่ต้องจ่ายในการผลิตผ้ามาคลุม ซึ่งมีราคาอยู่ที่ตารางกิโลเมตรละ 320 บาท
แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ คือราคาการติดตั้ง (ค่าจ้างแรงงาน) และบำรุงรักษา ที่เพิ่มทวีคูณสูงจากเริ่มต้นที่ 20,000 เป็น 300,000 บาทต่อตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว (หรือเฉลี่ยตารางกิโลเมตรละ 170,000 บาท)
ซึ่งหากนำวิธีนี้ไปใช้กับธารน้ำแข็งในสวิสเซอร์แลนด์ทั้งหมด ซึ่งมีมากกว่า 1,000 แห่ง ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งต้นน้ำให้กับคนในประเทศ จะต้องใช้เงินโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี
หรือกล่าวได้ว่า วิธีแบบนี้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบที่ต้องใช้ต้นทุนมหาศาลเอามากๆ และคงไม่เหมาะกับพื้นที่อีกหลายๆ แห่งที่คนท้องถิ่นไม่ได้มีต้นทุนสำหรับการลงทุนอะไรเยี่ยงนี้
ไม่นับว่าในบางครั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายอาจผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมอย่างคาดไม่ถึง
เช่นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต้องหยุดชงักลง กำไรมีไม่เพียงพอสำหรับค่าซ่อมแซม เจ้าของกิจการบางรายจึงจำยอมต้องปล่อยให้ผ้าขาดวิ่นลดงบดูแลธารน้ำแข็ง เพื่ออุ้มธุรกิจตัวเองให้รอดไปก่อน
ขณะเดียวกัน ในเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็ค่อนข้างกังวลถึงวัฏจักรการละลายตามธรรมชาติ อาจส่งผลต่อคนใช้น้ำจากธรรมชาติที่รออยู่ด้านล่างอีกไม่น้อย
เพราะเมื่อน้ำแข็งถูกห้ามไม่ให้ละลาย ก็ย่อมไม่มีน้ำไหลออกมาเท่ากับปริมาณที่ควรจะมีตามฤดูกาล
แต่ในประเด็นนี้ ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จริงจังหรือเป็นรูปธรรมมากนัก
แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างเชื่อว่า วิธีแก้ที่เจ้าของลานสกีและรีสอร์ตจะมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าค่าผ้า การบำรุงรักษา ซึ่งหมายถึงมูลค่าการซ่อมแซมระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบจากการคลุมผ้าเอาไว้
ตัวอย่างเช่น เมื่อเส้นใยสังเคราะห์ผุกร่อน ไหลรวมไปในระบบนิเวศก็สามารถสร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำได้อีกด้วย
เรื่องราวนี้จึงปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะแนวโน้มการลดก๊าซเรือนกระจกยังไม่มีทีท่าจะมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
แต่เมื่อผลกระทบมันดันเกิดขึ้นแล้ว - การลงมือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้
ต่อกรณีการแก้ไขปัญหาบนเทือกเขาเอลป์ของกลุ่มผู้ประกอบการสกีและรีสอร์ตในสวิสเซอร์แลนด์ นักธรณีวิทยาคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยซูริก และเป็นคนที่ศึกษาวิจัยจนพบว่าวิธีการใช้ผ้าคลุมลดการละลายของธารน้ำแข็งได้มากถึง 59 เปอร์เซ็นต์ ให้ความเห็นว่า
“คงจะดีกว่านี้ ถ้าเราเอาเงินลงทุน (ทำผ้าคลุม) ทั้งหมด มาพัฒนาเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลในวงกว้างกับทั้งโลก ไม่ใช่แค่ธารน้ำแข็งเพียงประเทศเดียว”
แต่… แล้วมันจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ล่ะ ?
อ้างอิง
Columbia Climate School. Geotextiles Could Slow Glacial Melt, but at What Cost? https://shorturl.asia/IsM1y
Columbia Climate School. Glacier Blankets in Switzerland Highlight Global Disparities in Fighting Climate Change. https://shorturl.asia/qVn43
Grivel. Wrapping Glaciers to Save them ? https://shorturl.asia/jHdS7
โฆษณา