25 มิ.ย. เวลา 04:57 • หนังสือ

เ​ วี​ ย​ ง​ แ​ ว่ น​ ฟ้ า

เล่มแรกในนิยายชุดล้านนา
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ล้านนาเรื่อง “เวียงแว่นฟ้า” เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในชุดนิยายที่เล่าเรื่องอาณาจักรล้านนาของ กฤษณา อโศกสิน ซึ่งท่านได้แต่งไว้เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔ ในนิตยสารสกุลไทย ผู้อ่านที่ชื่นชอบงานเขียนของท่านย่อมไม่ควรพลาด
.
“เวียงแว่นฟ้า” ไม่เพียงบอกเล่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ล้านนาที่ผู้เขียนใช้ประกอบกับจินตนาการแต่งเรื่องขึ้นเพื่อสะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชนชาติเก่าแก่ทางตอนเหนือคือเชียงใหม่ (เจียงใหม่หรือล้านนา) ไทใหญ่ (ไตใหญ่หรือเงี้ยว) พม่า (ม่าน) เท่านั้น แต่ผู้อ่านยังได้รับความรู้ว่า ล้านนาเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนชาติใดบ้าง ปกครองเชียงใหม่ได้อย่างไร และทำไมล้านนาจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม
.
ล้านนาเคยเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาแล้วสองร้อยกว่าปีคือช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๐๑-๒๓๑๗ ช่วงนั้นแม้ว่าอาณาจักรสยามจะให้ความช่วยเหลืออาณาจักรล้านนาเพื่อกำจัดอิทธิพลและอำนาจพม่าบ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จ ยังต้องใช้เวลาต่อสู้ต่อมาอีกยาวนานถึง ๓๐ ปี จึงสามารถขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้ในปี พ.ศ. ๒๓๔๗ อาณาจักรล้านนาจึงกลายมาเป็นประเทศราชของสยาม
.
เนื้อหาของนิยายเรื่อง “เวียงแว่นฟ้า” เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ครอบคลุมช่วงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของอาณาจักรล้านนาหลายเรื่องคือ ๑) การที่ล้านนาเป็นเมืองขึ้นของสยามและยังมีการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ๒) สงครามระหว่างล้านนา พม่า และไต ที่ยังไม่สงบ และ ๓) ช่วงการผลัดแผ่นดินสยามหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ ๔
 
.
ช่วงต้นของเรื่องนี้ผู้เขียนเอ่ยถึงล้านนาและความเป็นมาของเจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ที่แยกไปปกครองเชียงราย ลำพูน ละคอน (ลำปาง) แพร่ และน่าน โดยเน้นในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อคือ ช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ พระเจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ ๖ และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ (ชื่อของพระองค์ได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ด้วย)​
 
.
2
เรื่องเริ่มที่ฉากคุ้มของเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ที่เรียกว่า ‘พ่อเจ้าแลแม่เจ้าชีวิต’ ซึ่งมีเจ้าบุรีรัตน์เป็นตำแหน่งเจ้าราชบุตรเขยช่วยปกครอง และ สามัญชนหรือไพร่ ซึ่งมีตัวละครที่อยู่ในคุ้มที่มีความรักความสัมพันธ์ต่อกันคือ บัวบุรี เมืองราม และม่อน
.
เมืองรามหนุ่มน้อยวัยยี่สิบจากเมืองละคอนมาเชียงใหม่กับพ่อที่เป็นพรานป่า และนำของป่ามาถวายเจ้าหลวง และต่อมาได้อยู่ที่คุ้มหลวงของเจ้าบุรีรัตน์เป็นช่างไม้ ที่นี่เขาได้รู้จักกับบัวบุรี หรือ อี่รี ลูกสาวนางบัวผันที่กำพร้าพ่อจากเหตุสงครามเจียงตุง (เชียงตุง) ครั้งที่สาม บัวบุรีอยู่ในความดูแลของเจ้าหญิงดารกาเด่นดวงพระธิดาองค์โตของเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่และเป็นพระชายาของเจ้าบุรีรัตน์
.
วันหนึ่ง บัวบุรีได้พบกับม่อน หนุ่มต่างเมืองที่ดูหยิ่งยโส ซึ่งต่อมาเขาก็เข้ามาทำงานเป็นช่างไม้ในคุ้มโดยพักร่วมอยู่กับเมืองราม บัวบุรีไม่ได้สนใจม่อนสักเท่าไหร่ เพราะรักเมืองราม เจ้าหญิงดารกาเด่นดวงให้เมืองรามและคนในคุ้มเฝ้าดูม่อน เพราะสงสัยว่าเป็นเงี้ยวที่แอบเข้ามาอยู่ในคุ้มหรือเปล่า
 
.
ม่อนชอบผจญภัยไปตามเมืองต่าง ๆ เขาเคยออกจากบ้านไปอยู่กับฝรั่งที่เมืองมะละแหม่งในพม่าตั้งแต่เด็ก จึงพูดภาษาอังกิ๊ด (ภาษาอังกฤษ) ได้และยังรู้เรื่องการป่าไม้ดีทีเดียว เขาเดินทางไปเที่ยวเมืองเชียงใหม่ จึงพบกับบัวบุรีโดยบังเอิญ และพึงพอใจในตัวเธอตั้งแต่แรกเห็น ทั้งเมืองรามและม่อนต่างหลงรักบานบุรี ขณะที่บัวบุรีนั้นรักเมืองราม
 
.
เจ้าหญิงดารกาเด่นดวงพอรู้เรื่องก็พยายามจะช่วยเรื่องราวความรักของบัวบุรีและเมืองรามกำลังเริ่มจะไปด้วยดี แต่ความรักของทั้งคู่ก็ไม่ได้ราบรื่นแม้เจ้าหญิงดารกาเด่นดวงและเจ้าบุรีรัตน์จะสนับสนุน และนางบัวผันเองที่ไม่ค่อยชอบเมืองรามและอยากให้บัวบุรีได้แต่งงานกับคนอื่นที่มีเชื้อเจ้า ...
.
แต่แล้วก็มีเหตุให้เมืองรามหายตัวไปเฉย ๆ ขณะที่บัวบุรีก็ถูกลักพาตัวไปจากคุ้มที่เชียงใหม่ ...
.
ช่วงที่สองของเรื่อง ผู้เขียนพาเราไปรู้จักอาณาจักรไตใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างล้านนาและพม่า ที่นี่เจ้าฟ้าแต่ละเมืองปกครองกันเอง ภายหลังถูกยึดครองโดยพม่าสมัยพระเจ้าบุเรงนองและต้องส่งส่วยถวายกษัตริย์และราชวงศ์พม่า
.
ชาวไตใหญ่ก็มักเดินทางไปค้าขายที่เชียงใหม่ รวมทั้งมีคนจากจีน ยูนนาน พม่า ค้าขายไปมาในย่านนี้ ผู้แต่งยังได้สื่อถึงความรักชาติโดยเปรียบเทียบสภาพที่ชาวไตกับเชียงใหม่เป็นอยู่ในฐานะประเทศราชว่า
“...ข้าเจ้าได้ยินเจ้าฟ้าพูดถึงม่าน เจ้าบ่เคยคิดเรื่องนี้บ้างดอกกา ... ไตเป็นเมืองขึ้นของม่านเหมือนเจียงใหม่เป็นเมืองขึ้นของสยาม ข้าเจ้าอยากถามเจ้าว่าเมื่อใดไตจึงจะหลุดจากม่านเจ้า...เมื่อใด...เจ้าฟ้าไปต่อรอง คราวนี้จะหลุดบ๋อ” (น.๔๖๖)
.
นวนิยายเรื่อง “เวียงแว่นฟ้า” ไม่ได้เอ่ยถึงความรักของตัวละครสามัญชนเท่านั้น ตลอดเรื่องผู้อ่านจะได้รับรู้ความเป็นมาเป็นไปของเจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่ และความผูกผันของตัวละครต่ออาณาจักรสยาม และเกร็ดประวัติศาสตร์ว่าทำไมล้านนาจึงเข้ามาสวามิภักดิ์กับอาณาจักรสยาม และทำไมใคร ๆ อยากมีโอกาสสักครั้งในชีวิตที่จะไปเยือนสยามหรือกรุงเทพฯ
.
เมื่อบัวบุรีโศกเศร้าขณะถูกลักพาตัวไปจากคุ้มหลวง ผู้เขียนก็เลือกใช้ ถ้อยคำเปรียบเปรยมีสัมผัสและความงดงามของภาษาว่า “...ความเศร้าคราวนี้มากมายราวหยดน้ำในแม่ปิง เป็นความจริงที่เกินเชื่อ หากก็เป็นไปได้ จนกระทั่งความเป็นหรือความตายหมดความหมายโดยสิ้นเชิง ใครเลยจักคาดคิดว่าวันนี้มีอยู่ วันที่เคราะห์กรรมพรูเข้ามาพลัดพรากจากมารดาแลขาดลอยจากคนรัก นับเป็นบาปอันหนักของชีวิต” (น.๓๐๔)
.
เรื่องราวในอาณาจักรล้านนาจะเป็นอย่างไรต่อไป ความรักของบัวบุรีและเมืองรามจะลงเอยด้วยดีไหม ทั้งคู่จะได้กลับมาเจอกันอีกหรือไม่ ใครเป็นผู้ลักพาตัวเธอไป ม่อนนั้นแท้จริงเป็นใครมาจากไหน
.
เรื่อง “เวียนแว่นฟ้า” ทิ้งท้ายไว้ให้เราได้ติดตามความเป็นไปของอาณาจักรล้านนา พม่า และประเทศสยามต่อในเล่มที่สองและสามตามลำดับคือ “หนึ่งฟ้าดินเดียว” และ “ขุนหอคำ” ซึ่งแอดจะนำเสนอรีวิวในวันต่อไป​ ผู้อ่านที่ชื่นชอบงานของคุณกฤษณา อโศกสิน ควรหามาอ่านสักครั้ง
.
ผู้อ่านที่สนใจหนังสือชุดนี้สามารถติเต่อได้ที่นี่ค่ะ
หมายเหตุ
- บทความวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทีมแอดมินเพจ
- หนังสือนี้มิได้รับแจกเป็นบรรณาการจากสำนักพิมพ์ และเพจมิได้รับค่าตอบแทนในบทวิจารณ์แต่อย่างใด
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #เวียงแว่นฟ้า #กฤษณาอโศกสิน #นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ #อาณาจักรล้านนา #อาณาจักรสยาม #ไตใหญ่ #ยุคล่าอาณานิคม
โฆษณา