25 มิ.ย. เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์

6 นิสัยการเงินเล็กๆ ที่เปลี่ยนแล้วสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้ชีวิต

💳 ผมไม่เคยสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และการจับจ่ายของตัวเองเลย
1
จนกระทั่งวันหนึ่งไปอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่อง ‘การจับจ่ายด้วยอารมณ์’ หรือ Emotional Spending หรือการจับจ่ายใช้เงินเพราะความรู้สึกเครียด กังวล หงุดหงิด หรือ ไม่ค่อยมีความสุข พอใช้เงินสักหน่อย ซื้อของบนแอปฯชอปปิง หรือไปเดินซื้อของที่ห้าง ก็จะอารมณ์ดีขึ้น
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าการชอปปิงกระตุ้นสมองส่วนที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นคล้ายกับความสุข โดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องอารมณ์ความสุข (มีชื่อเล่นว่าสาร “รู้สึกดี” ) จะถูกปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจนั่นเอง (ระหว่างมีเซ็กส์ เสพยา หรือกินอาหารอร่อย ๆ ก็มีโดพามีนหลั่งออกมาเช่นเดียวกัน)
ตอนเราเครียด ๆ หรือรู้สึกเศร้า เหงา ท้อแท้ สิ้นหวัง ความรู้สึกเหล่านี้จะกดให้เรารู้สึกอึดอัด ทำอะไรไม่ได้ เหมือนตัวเองไม่ดีพอ การใช้เงินหรือซื้อของเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้อีกครั้ง เหมือนได้บางอย่างคืนมาและทำให้ความเครียดลดลง
1
การใช้เงินเพื่อซื้อของหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เป็นการเทคนิคในการเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากปัญหาที่อยู่ตรงหน้า บางอย่างที่ก่อความเครียดแต่เรายังไม่อยากไปเผชิญ
2
ความสุขเล็กๆ ชอปปิงเพื่อลดความเครียด ซื้อความสุขให้ตัวเองเล็กน้อย (บางคนเรียกว่า ‘Retail Therapy’) เป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่ว่าหากสถานการณ์บานปลาย ควบคุมไม่ได้ เครียด เหงา เศร้า กังวล เมื่อไหร่ ‘ต้องจ่ายเงิน’ ทีนี้แหละครับปัญหาอาจจะกลายเป็นเสพติดการชอปปิง (Compulsive Buying) ไปโดยไม่รู้ตัว
1
จากสถิติแล้วทั่วโลกมีคนประมาณ 5%-8% ที่เสพติดการชอปปิง ตีเป็นตัวเลขประชากรในบ้านเราก็ประมาณ 3.6 ล้านคน - 5.7 ล้านคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้อยู่
2
คนที่เสพติดการชอปปิงมักหมกมุ่นอยู่กับการซื้อของชิ้นต่อไป และอาจใช้เงินจำนวนมากไปกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น บางอย่างไม่เคยใช้หรือเสื้อผ้าที่ไม่เคยใส่เลยด้วยซ้ำ จะควบคุมตัวเองให้หยุดซื้อไม่ได้ แม้จะไม่มีเงินและเป็นหนี้บัตรเครดิตใบแล้วใบเล่าก็ตาม ยิ่งเครียดยิ่งใช้ ยิ่งจ่ายยิ่งจนลงไปเรื่อย ๆ
⭐ [[ #แก้ไขยังไงดี ]]
แม้ว่าส่วนตัวผมอาจจะยังไม่ถึงขั้นเป็นคนที่เสพติดการชอปปิง แต่ก็รู้สึกว่าการพึ่งพาการใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองนั้นไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จึงพยายามเปลี่ยนนิสัยการเงินของตัวเองให้ดีขึ้น และนี่คือ 6 นิสัยการเงินเล็กๆ ที่ลองทำแล้วสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับชีวิตเลย
✅ 1. ลงทุนกับตัวเอง
ช่วงที่ผ่านมาถ้านับการใช้เงินของผมแล้ว ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ใช้อะไรเลยนอกจากหนังสือ พวกเสื้อผ้า ของใช้แกดเจ็ตต่างๆ แทบไม่มีซื้อเลยจริงๆ
2
การลงทุนกับความรู้และสิ่งที่ช่วยพัฒนาความสามารถของตัวเองนั้นทำให้มีความสุขมากขึ้นกว่าเสื้อตัวใหม่บนชั้น
4
✅ 2. ก่อนจะซื้อ...ให้รอก่อน
ผมเคยคิดว่ามีเงินอยากซื้อ...ก็ซื้อ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร
เห็นอะไรที่อยากได้ก็ตัดสินใจตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเลย บางทีเห็นของบางอย่างที่ไม่รู้ว่าอยากได้มาทำไม แต่เห็นคนอื่นมี ก็พยายามไปหาเหตุผลมาโน้มน้าวตัวเอง (เช่นไปนั่งดูรีวิว ยูทูบต่างๆนานา เพื่อบิ้วตัวเองก็มี) เพื่อให้กดสั่ง
6
มันเป็นวงจรอุบาทว์ที่แย่มากๆ เพราะสุดท้ายแล้วของที่ซื้อมาก็แทบไม่ได้ใช้ ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือมีความสุขก็แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ผมเลยลองเปลี่ยนนิสัยนี้โดยการเว้นช่องว่างให้ตัวเอง รอก่อนซื้อ เห็นอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วก็คิดว่า “เดี๋ยวอาทิตย์หน้าค่อยดูว่าอยากได้อยู่ไหม” ซึ่งส่วนใหญ่แบบ 99% แทบไม่กลับมาคิดถึงมันอีกเลย
2
✅ 3. หยุดเปรียบเทียบ
1
อันนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะในโลกของโซเชียลมีเดีย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะเห็นว่าคนอื่นมีชีวิตที่ดีงามสวยหรูขนาดไหน
คนนั้นมี iPhone รุ่นใหม่ล่าสุด คนนั้นมีกล้องตัวใหม่ที่โคตรหล่อ คนนั้นไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารอย่างหรู ฯลฯ
วิธีที่ผมใช้แล้วได้ผลคือการบอกกับตัวเองว่าโซเชียลมีเดียเป็นเพียง ‘ด้านหนึ่ง’ ของชีวิตทุกคนเท่านั้น เราไม่รู้หรอกว่าชีวิตทั้งหมดแต่ละคนเป็นยังไง เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปอิจฉาเขา มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
ถ้ายังอดเปรียบเทียบไม่ได้ ลองยาแรงอีกหน่อย ลบแอปฯ ทิ้งสักช่วงหนึ่ง หรือกำหนดเวลาเล่นโซเชียลมีเดียในแต่ละวันเลยก็ได้
✅ 4. ถามตัวเองว่า ‘นี่คือของที่อยากได้หรือจำเป็น’
ล่าสุดผมเพิ่งไปเที่ยวญี่ปุ่นมากับครอบครัว ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบมาริโอมากและมีโอกาสได้ไป Universal Studio Japan ที่มีโซนมาริโอเปิดใหม่ด้วย ก่อนไปผมคิดว่าคงจะเสียเงินกับของฝากจากที่นี่เยอะมากๆ แน่นอน
1
แต่จังหวะที่ไปถึงจริงๆ แม้ของฝากต่างๆ จะน่ารักและอยากกวาดกลับบ้านมาทุกชิ้น แต่พอถามตัวเองจริงๆ ว่า “นี่คือของที่อยากได้หรือจำเป็น” ต้องบอกว่านี่คือของที่อยากได้ทั้งสิ้น ซื้อกลับไปแล้วก็คงกลายเป็นของที่ตั้งวางระเกะระกะทั่วบ้าน
สุดท้ายเลือกตัวฟิกเกอร์มาริโอเล็กๆ มาหนึ่งตัวเพื่อตั้งบนโต๊ะทำงาน เพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำสำหรับเวลาแห่งความสุขในตอนนั้นที่เไปเที่ยว แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว
4
ลองถามตัวเองบ่อยๆ ครับ ‘อยากได้หรือจำเป็น’ จะประหยัดเงินได้เยอะเลย
✅ 5. หากิจกรรมที่เรามีความสุขทำ
ผมค้นพบว่าตัวเองใช้เงินหรือซื้อของด้วยอารมณ์อยู่บ่อยๆ ตอนที่เบื่อ รู้สึกว่าไม่มีอะไรทำเลยไปนั่งไถมือถือเล่น สักพักหนึ่งรู้ตัวคือกดซื้อของที่ไม่จำเป็นอีกแล้ว
เพราะฉะนั้นวิธีแก้สำหรับผมคือการเขียนและการอ่านช่วงเวลาว่างๆ แทน ซึ่งก็เป็นกิจกรรมยามว่างที่ชื่นชอบอยู่แล้ว (โชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานในด้านนี้ด้วย) การมีงานอดิเรกที่เราทำเวลาว่างๆ ชีวิตในแต่ละวันจะผ่านไปเร็วมาก แทบไม่ได้หยิบมือถือขึ้นมาดู หรือไปส่องสินค้าใหม่ๆ บนแอปฯชอปปิงเลย
6
✅ 6. ลองค้นหาสาเหตุลึกๆ ว่าทำไมเราถึงซื้อของด้วยอารมณ์
1
มันอาจจะมีอะไรที่ซ่อนอยู่ข้างในมากกว่านี้
คุณกำลังไม่มีความสุขรึเปล่า? กำลังพยายามหนีความรู้สึกอะไรอยู่ไหม? ความรู้สึกกลวงเปล่าข้างในนั้นคืออะไรกันแน่? เรากำลังพยายามถมช่องว่างของอารมณ์ด้วยการใช้เงินใช่รึเปล่า?
6
ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขและการไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
ส่วนตัวพบว่าการใช้เงินเพื่อซื้อของมาเติมเต็มช่องว่างของความรู้สึกนั้นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาระยะยาว จริงอยู่ที่เราจะมีความสุขช่วงสั้นๆ ดีดขึ้นมาตอนที่ได้ของ แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะหายไป
2
เงินก็เรื่องหนึ่ง ความรู้สึกหรืออารมณ์ของเราก็เรื่องหนึ่ง ถ้าพยายามใช้เงินแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมาจากความรู้สึกข้างในที่เราไม่เข้าใจตัวเอง เงินมากแค่ไหนก็คงไม่พอ
🎯 สรุป 6 นิสัยการเงินเล็กๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาการจับจ่ายด้วยอารมณ์ได้ดังนี้
1. ลงทุนกับตัวเอง เช่น ซื้อหนังสือหรือสิ่งที่ช่วยพัฒนาความสามารถ แทนที่จะซื้อเสื้อผ้าหรือของใช้ไม่จำเป็น
2. ก่อนจะซื้อ ให้รอสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อไตร่ตรองดูว่าอยากได้จริงๆ หรือแค่ชั่วครู่ชั่วยาม ส่วนใหญ่มักจะไม่กลับมาคิดถึงสิ่งนั้นอีก
3. หยุดเปรียบเทียบกับคนอื่นบนโซเชียลมีเดีย เพราะมันเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิตเขาเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
4. ก่อนซื้อ ให้ถามตัวเองว่า "นี่คือของที่อยากได้หรือจำเป็น" เพื่อกรองสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
5. หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ทำให้มีความสุขในยามว่าง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการซื้อของ
4
6. ลองค้นหาสาเหตุลึกๆ ว่าทำไมถึงซื้อของด้วยอารมณ์ เพราะอาจมีปัญหาหรือความรู้สึกบางอย่างที่ซ่อนอยู่ การใช้เงินซื้อความสุขเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
1
#MakeRichGeneration #การเงิน #การจัดการเงิน #การเงินส่วนบุคคล #นิสัยการเงิน #personalfinance
โฆษณา