ทำอย่างไรจึงจะมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ

พระอาจารย์ตอบ :
พระอาจารย์ตอบ :
“สติ” แปลว่า ความรู้ตัว “การมีสติ” คือ การนำใจมาอยู่กับตัว “การไม่มีสติ” คือ การปล่อยใจคิดฟุ้งซ่าน ใจลอยไปคิดถึงอะไรก็ไม่รู้
“สัมปชัญญะ” มาคู่กับ “สติ” เป็นความรู้สึกตัว วิธีการจะฝึกให้มีสติสัมปชัญญะ ให้ลองสังเกตอิริยาบถของตนเองว่า เราเดินอยู่ มือแกว่ง ขาก้าวไปอย่างนี้ หรือเรากินข้าว เรากำลังเคี้ยว เราอาบน้ำ มือเรากำลังฟอกสบู่ถูตัวอยู่ ไม่ว่าเราจะกำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้รู้สึกตัว มีสติอยู่กับตัว อย่างนี้เป็นการฝึกสติเบื้องต้น
แต่การฝึกสติชั้นสูง คือ การน้อมนำใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายที่กลางตัว เอาใจนิ่งๆ อยู่ที่กลางท้อง ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปคิดเรื่องอื่น สติชั้นสูงเป็นเครื่องรองรับสมาธิ
บางคนสงสัยว่า “สติ” กับ “สมาธิ” ต่างกันอย่างไร ถ้าจะเปรียบสติเหมือนกับตะปู เรานำตะปูมาจ่อไว้ตรงเป้าที่เราจะตอก ส่วนสมาธิคือการตีตะปูให้จมลงไปในเนื้อไม้ ลึกลงไปตามลำดับ
ถ้าไม่มีสติ สมาธิก็เกิดยาก เหมือนกับเรายังไม่ได้นำตะปูมาจ่อตรงตำแหน่งที่จะตี ไม่รู้ว่าจะตีลงไปตรงจุดใด ตะปูยังส่ายไปมาในอากาศ ก็ตีตอกลงไปในเนื้อไม้ไม่ได้
“สติ” คือ การนำใจเรามาจดจ่อที่ศูนย์กลางกาย ส่วน “สมาธิ” คือ การที่ใจดิ่งเข้ากลางของกลางลงไป ชาวต่างชาติบางคนยังเข้าใจสับสนระหว่างสติและสมาธิ เขาเข้าใจว่า การฝึกสติเป็นการฝึกสมาธิ แต่ความจริงแล้วคนละส่วนกัน แต่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน ดังนั้น เขาอาจจะยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์
บางคนอาจจะเคยมีความรู้สึกว่า พอเอาใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกาย บางทียังไม่ค่อยมา เพียงวูบเดียวใจก็ไปเที่ยวที่อื่นแล้ว ทำอย่างไรถึงจะเอาใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายได้ ความฟุ้งซ่านลดน้อยลงได้ และใจนิ่งเป็นสมาธิมากขึ้นได้
วิธีการคืออย่าละเลยการฝึกสติเบื้องต้น ตอนทำกิจต่างๆ ไม่ว่าเราจะเดิน นั่ง กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามให้มีสติอยู่กับตัว รู้สึกถึงอิริยาบถที่เราเคลื่อนไหวอยู่เสมอ หากทำได้อย่างนี้แล้ว พอถึงคราวมานั่งสมาธิเอาใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายใจจะนิ่งขึ้น
คนที่ฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอจะสามารถน้อมนำจิตใจไว้ที่ศูนย์กลางกายได้เรื่อยๆ เพราะไปถึงชั้นสูงแล้ว ก็ขอให้ทำต่อไปเลย แต่ใครที่ทำชั้นสูงแล้วไม่ค่อยนิ่ง เผลอเรื่อยไป ก็ให้กลับมาฝึกที่ชั้นต้น คือ รู้ตัวในทุกอิริยาบถ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วสมาธิจะเกิด สติชั้นสูงก็จะเกิดไล่ขึ้นไปตามลำดับ
เจริญพร.
โฆษณา